www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

โอม รัชเวทย์ เวทมนตร์บนลายเส้นคอมิค
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-06-09 14:19:51

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: เชิดพิพัฒน์ วัฒนวิกกิจ

เด็กรุ่นใหม่ไม่เกิน 20 ปีคุ้นเคยกับภาพประกอบเด็กชายหัวจุกใน "วรรณคดีลำนำ" ของแบบเรียนภาษาไทยที่เขาวาด คนทำงานวัย 30 ขึ้นไปยิ่งจดจำผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่เขาร่วมสร้าง "พระมหาชนก" และ "คุณทองแดง" ผู้ใหญ่วัย 40 ปีขึ้นไปยากจะลืมความทรงจำในวัยเยาว์ที่มีต่อ "ชัยพฤกษ์การ์ตูน"  เขาคือ โอม รัชเวทย์ ศิลปินนักวาดการ์ตูนระดับแนวหน้าของเมืองไทย ผู้เสกเวทมนตร์ในการ์ตูนและแอนิเมชั่นเพื่อสร้างการ์ตูนไทยเป็นศิลปะทรงคุณค่า 



เริ่มวาดการ์ตูนเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกรูปอะไรคะ
ช่วงอนุบาลจำได้ว่าเราเห็นแบบเรียนชั้น ป.4 เป็นหนังสือภาพภาษาอังกฤษ เรารู้สึกประทับใจว่ามันสวยงามมาก การเขียนรูปมันมหัศจรรย์สำหรับเรา เมื่อไปเรียน ป.1 เราก็ไปขอให้รุ่นพี่ ป.2 วาดรูปให้ พอเริ่มวาดได้เอง เราจะชอบวาดฮีโร่ในหนังสือการ์ตูน ปี 2510 หนังจีนกำลังภายในดัง นักเขียนการ์ตูนไทยก็จะสร้างฮีโร่กึ่งไทยปนจีน เช่น เจ้าชายผมทอง สิงห์ดำ ดังมากขนาดที่ว่าแฟน ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดจะไปรอหนังสือเล่มใหม่ที่รถไฟ เพราะหนังสือส่งทางรถไฟ คนไหนเราชอบ เราก็จะวาดตาม เราไม่อยากเรียนหนังสือเลย ในแบบเรียนก็วาดแต่การ์ตูน มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อการ์ตูนหมด

ในหนังสือการ์ตูนจะมีคอลัมน์ถามตอบ เราอ่านทุกตัวอักษร เขาไปซื้อกระดาษกันที่ไหน ดินสอ ปากกา พู่กันใช้อะไรก็จะเลียนแบบ มันเป็นความคลั่งไคล้แบบเดียวกับดารา ตอนนั้นอยู่ ป.5-ป.6 ขึ้นรถเมล์ไม่เป็น ก็ให้เพื่อนพาไปยืนหน้าสำนักพิมพ์หน่อย เราอยากเห็นนักเขียนมากเลย เราอยากมาในที่ที่นักวาดเขารวมตัวกัน

อะไรทำให้มั่นใจว่าโตขึ้นเราจะเป็นนักเขียนการ์ตูน
พ่อแม่ไม่ส่งเสริม ในสายตาของพ่อแม่ นักวาดมีอยู่สองอาชีพ หนึ่งเป็นครู สองเป็นนักเขียนคัตเอาท์ตามโรงหนัง ถ้าเราอยากวาดรูปต้องแอบวาด รอพ่อแม่นอนหลับก่อน ตอนจบมัธยมเขาคงต้านเราไม่ไหว อีกอย่างพ่อแม่มีลูกหลายคนก็เลยปล่อยสักคน เราเข้าเพาะช่าง รู้แต่ว่าเขาสอนวาดรูป แต่ไม่รู้ว่าการวาดรูปในเชิงศิลปะที่ร่ำเรียนกันมันใช่อย่างที่เรากำลังวาดอยู่หรือเปล่า ช่วงที่เรียน การ์ตูนไม่ค่อยสอดคล้องกับงานศิลปะที่เขานิยมในขณะนั้น เราก็ฝึกหัดตามสไตล์ของคนเรียนอาร์ต เราเริ่มละทิ้งความเป็นการ์ตูน สักพักก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เลยกลับมาเขียนแบบเดิม ก็ไม่ถูกใจครูเท่าไหร่ แต่โชคดีที่มีคนเห็นว่าเขียนการ์ตูนได้ เลยมีรายได้ที่จะมาซื้ออุปกรณ์รวมถึงลงเรียนหนังสือ

เริ่มอาชีพนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่เรียนจบเลยไหม
หลัง 14 ตุลา เราสนใจการเมือง คิดว่าเราควรจะแสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่การวาดรูปอย่างเดียว พอจบเพาะช่างผมออกต่างจังหวัดทันที ไปอยู่อีสานเกือบสองปี เงินใกล้หมด ช่วงนั้น “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” โด่งดังมาก ยอดขายเป็นแสนต่อเดือน เราก็กลับมาวาดรูปไปเสนอไทยวัฒนาพานิช สำนักพิมพ์ที่ผลิตชัยพฤกษ์การ์ตูน แต่เขาอยากให้ไปเขียนแบบเรียน เอาไงดีวะ เราก็เลยขอเอางานชัยพฤกษ์การ์ตูนไปทำที่บ้านแบบไม่คิดเงิน เพื่อให้งานการ์ตูนได้ลงหนังสือ แล้วก็ประสบความสำเร็จในแง่การตอบรับจากผู้อ่าน

เรามีความฝันว่าอยากทำหนังสือเด็ก หนังสือภาพ เป็นสายโลกสวย ทำชัยพฤกษ์การ์ตูน 8 เดือน บก.วิธิต อุตสาหจิต เจ้าของ “ขายหัวเราะ” ติดต่อมาว่าอยากให้เราเขียน คำนวณดูแล้วถ้าเราเขียนให้ขายหัวเราะหนึ่งปี เราจะมีเงินทำหนังสือเด็กได้ พอครบปีเราก็ได้ทุนไปทำออฟฟิศ ตอนนั้นทีมเรา 5-6 คนทำหนังสือเด็กไม่ต่ำกว่า 500 ปก คงไม่มีใครทำได้ขนาดเรา

เข้าสู่วงการโฆษณาและแอนิเมชันเมื่อไหร่
“ลินตาส” เอเยนซี่เบอร์หนึ่งของเมืองไทยมาชวนให้เขียนงาน หลังจากนั้นชีวิตเปลี่ยนไป ไม่มีโอกาสได้นั่งเขียนการ์ตูนถึง 12 ปี เรากลายเป็นฝ่ายติดต่อลูกค้า เพราะเราวาดรูปเป็น เวลาไปขายงาน พี่อยากได้อะไร เราดรออิ้งให้เลยว่าใช่ไหม จบปั๊บเราเข้าออฟฟิศสั่งงานน้องต่อ

ลินตาสเป็นคนทำ “ตาวิเศษ” บ้านเราตอนนั้นติดนิสัยการทิ้งเกลื่อนไปหมด ไอเดียคือการรณรงค์ไปที่เด็กเยาวชนให้เปลี่ยนนิสัย คนออกแบบตาอยู่ในลินตาส เรายังคิดว่าทำไมต้องทำตาโกรธ ไม่น่าเป็นโลโก้แต่มันเวิร์ค หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปช่วยทำแอนิเมชันตาวิเศษ จริง ๆ แล้วโฆษณาการ์ตูนแอนิเมชันที่เก่าแก่คือรุ่นอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง จากนั้นก็หายไป มาเกิดอีกในยุคเอเจนซี่นี่แหละ เราทำแอนิเมชันให้ไอศกรีมโฟร์โมสต์ ยาสีฟันเปปโซเดนท์ ทีมงานปรับจากเขียนหนังสือเด็กมาเป็นแอนิเมเตอร์กันหมด



แอนิเมชันสมัยก่อนทำยากง่ายแค่ไหน
โหดมากเลยนะ ต้องเขียนลงไปในแผ่นใส มันมี 24 เฟรม เราต้องเขียนอย่างต่ำ 12 เฟรมให้มีคุณภาพ งานโฆษณามันสั้น หนึ่งนาทีก็ยาวแล้ว ครึ่งนาทีเป็นมาตรฐาน ทำให้ต้องทำเป็นพัน ๆ ภาพ จากที่ไม่มีองค์ความรู้ ไปซื้อหนังสือของ วอลต์ ดิสนีย์ เป็นภาษาอังกฤษมาแปลว่าเขาทำยังไง ถ่ายยังไง ยุคนั้นเรามีพนักงาน 20 กว่าคน ถึงขนาดให้น้องถอดแบบแท่นถ่ายหนัง ไปจ้างโรงกลึงสร้างเป็นแท่นถ่ายหนังการ์ตูน ถ่ายหนังความยาวเกือบชั่วโมง ใช้ฟิล์มที่เขียนภาพเป็นหมื่น ๆ ชิ้น งานถ่ายด้วยกล้อง 16 มิลลิวินาที ต้องถูกส่งไปล้างที่ฮ่องกง กว่าจะได้ดูหนังที่เราทำ ไปฮ่องกงกว่าจะกลับมาอีก

จุดหักเหที่ทำให้ได้เขียนการ์ตูนอีกครั้ง
โฆษณาเป็นงานการ์ตูนที่ดีที่สุดก็ว่าได้เพราะค่าตอบแทนสูง แต่ตอนนั้นเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทุกอย่างหยุดนิ่งไปเลย เราไปขับแท็กซี่ได้พักหนึ่ง จนมานั่งคิดว่าตัวเองไม่ได้เขียนรูปมาสิบกว่าปี ถ้าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว เราจะทำเหมือนเดิมก็ยังได้ แต่เรายังมีความฝันที่อยากเขียนการ์ตูนแบบสไตล์เราอยู่ ก็เลยกลับมาเป็นนักวาดอีกครั้ง

หากจะให้คำนิยามลายเส้นการ์ตูนของตัวเอง
เราอยากทำคอมิค นิยายภาพแบบสากล คือจะเขียนการ์ตูนเป็นงานเรียลลิสติก งานที่กึ่งเหมือนจริงที่เป็นเทรนด์ทางอเมริกาหรือยุโรป แต่บ้านเราเป็นเทรนด์แบบญี่ปุ่นหรือเป็นการ์ตูนรูปร่างผิดเพี้ยนจากความจริง ในเชิงวิชาชีพ แนวคอมิคจะอยู่ยาก การ์ตูนอยู่ง่าย เพราะงานเรียลลิสติกวันหนึ่งอาจจะเขียนไม่จบหนึ่งหน้า แต่ถ้าเป็นการ์ตูนผมสามารถเขียนได้วันละ 3-4 หน้า ราคาการ์ตูนก็ดีกว่าคอมิคอีก

คนที่มองว่าลายเส้นของคุณโอมมีความเป็นไทยสูง ก็ไม่ใช่
การ์ตูนญี่ปุ่นที่เรียกว่ามังงะ เห็นชัดว่าพัฒนามาจากภาพพิมพ์ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นสืบทอดการเขียนจนมีสไตล์เป็นของตัวเอง อย่างเราถือว่าเป็นผู้รับอิทธิพล ไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรือตะวันตก และเป็นผู้เสพมากกว่าจะเป็นผู้สร้าง แต่ถ้าถามว่าลายเส้นแบบไทยล่ะ ผมคิดว่าสิ่งที่จะแสดงว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยหรือการ์ตูนไทยไม่มีอะไรมาก นอกจากคุณเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับตัวคุณและสิ่งแวดล้อมของคุณ เช่น ชีวิตของเด็กห้องแถว ไม่มีทางที่คุณจะเขียนถึงห้องแถวญี่ปุ่นได้
ยกตัวอย่าง การ์ตูนมีสัญลักษณ์ของมัน เช่น อาการคนตกใจหงายเงิบ “ดร.สลัม” ก็จะหงายท้องยกขาขึ้น ถ้าคนไทยชอบก็จะเอามาใช้ ซึ่งเท่ากับคุณไปหยิบของญี่ปุ่นมาใช้ ของฝรั่งก็อีกแบบ ถามว่าเราดีไซน์ได้ไหมอาการหงายเงิบแบบคนไทย ถ้าดีไซน์ได้นั่นแหละไทยแล้ว หรืออาการเขินอายที่ต้องเอานิ้วมาจิ้ม มันเป็นญี่ปุ่นใช่ไหม แล้วเขินอายแบบไทยทำยังไง

ยืนยันว่าลายเส้นคุณโอมเป็นแบบตะวันตก แล้วความอ่อนช้อยต่าง ๆ ล่ะ
ไม่มีไทยแท้ ส่วนความอ่อนช้อยเป็นความรู้สึก คนบอกว่าไม่ต้องเซ็นชื่อก็รู้ว่าคุณเขียน มันก็ส่วนหนึ่งเพราะเราทำงานมานาน ใครก็เห็นงานเรา ถ้าเราเลิกทำก็ไม่มีใครรู้จักหรอก เวลาบอกนักเขียนรุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จยังไง คุณเขียนไปเถอะ เดี๋ยวมันสำเร็จเอง ถ้าคุณไม่ตายหรือไม่เลิก คนก็ต้องได้เห็นงานของคุณ

นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่จะหาสไตล์การวาดของตัวเองยังไง
ทุกคนต้องเคยเลียนแบบกันมาก่อน ทุกคนต้องมีฮีโร่ในใจ เขียนก็อปปี้มาก่อนแหละ แต่ถ้ามีแบบแล้วอยากประสบความสำเร็จไม่ยากเลย ก็ลืมแบบไป เขียนจนลืมแบบ แล้วทำในสิ่งที่ยาก อย่าทำในสิ่งที่ง่าย ถ้าทำในสิ่งที่ง่ายไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้เลย เช่น ถ้าคุณเขียนด้วยปากกาสำเร็จรูป มียากกว่านั้นไหม ไปเขียนพู่กันเลย จะชอบไม่ชอบไปทำแล้วเดี๋ยวค่อยมาหาตัวตนของเราทีหลัง เมื่อไหร่ที่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ คือจบชีวิตนักเขียนการ์ตูนแล้ว สมมติมีสำนักพิมพ์ติดต่อเข้ามา กลับไปถามว่าจะให้ค่าเขียนเท่าไหร่ ซึ่งเป็นคำถามที่ผิดมาก คุณต้องพูดถึงเนื้องาน นักเขียนต้องเอาผลงานตัวเองเข้าไปพิสูจน์



ผลงานที่ภาคภูมิใจมากที่สุดคืออะไร
ไม่อยู่ในความทรงจำทั้งหมดเลย อาจจะชื่นชมสักแป๊บหนึ่ง คืนนี้เราวาดรูป ทำไมมันดีจังเลย เช้าตื่นมายังอิ่มกับมันอยู่ ผ่านไปอีกวัน ไม่ดีแล้ว เราเห็นข้อบกพร่องแล้ว ถ้าเราเห็นข้อบกพร่องนี่เราโชคดี เพราะเราจะได้ก้าวต่อ แต่ถ้าเรายังชื่นชมมันอยู่ตลอดเวลาแสดงว่าเราไม่ไปไหนแล้ว (ไม่มีมาสเตอร์พีซ?) แม้แต่หนังสือสำคัญบางเล่มที่ไปช่วยพี่ชัย ราชวัตร เขียน “พระมหาชนก” หรือ “คุณทองแดง” เราก็ทำเต็มที่ ภูมิใจที่ได้ทำงานพระราชนิพนธ์ของในหลวง แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นที่สุด

ตั้งแต่เริ่มงานที่ชัยพฤกษ์การ์ตูน พ.ศ. 2523 เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรของการ์ตูนไทย
การ์ตูนไทยสมัยก่อนมีสองศาสตร์รวมกันคือ วรรณศิลป์ กับวิจิตรศิลป์ วรรณศิลป์คือคำบรรยายเชิงงดงามสละสลวย ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่บรรยายเหมือนเราดูหนัง แต่มันไม่ได้ผิด เพราะยุคสมัยเปลี่ยน การที่เด็กรุ่นใหม่เขียนแบบญี่ปุ่นเราก็ไม่ต่อต้าน แต่ไม่ใช่ว่าเรารักญี่ปุ่นมาก ไม่ใช่เรารักคนเดียว เกาหลีก็รักญี่ปุ่น แต่ทำไมเกาหลียังเป็นเกาหลีอยู่ เราไม่จำเป็นต้องเขียนลายไทย ไม่ต้องเขียนเด็กหัวจุก ไม่ต้องเขียนสัญลักษณ์อะไรหรอก เราเขียนเอาความรู้สึกเขียนให้มากที่สุด แล้วจะไม่มีคำถามว่าการ์ตูนไทยเป็นยังไง ประเด็นของนักเขียนรุ่นใหม่คือดึงตัวตนออกมาให้ได้มากที่สุด ถ้าชอบตามกระแสก็ตาม แต่ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ คุณก็ต้องออกมานอกกระแส

สำหรับ “โอม รัชเวทย์” การ์ตูนมีคุณค่ายังไง
ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราหล่อหลอมมาจากการ์ตูน การเผชิญปัญหาชีวิต การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม การยอมอดทนเพื่ออะไรบางอย่าง เพราะเราอ่านการ์ตูนมาเยอะ การ์ตูนสอนด้านดีด้านเลว การ์ตูนอาจจะช่วยเยียวยาจิตใจคนได้ อ่านการ์ตูนแล้วจะฮึกเหิม อย่างที่เขาบอก อ่านการ์ตูนนักฟุตบอลแล้วอยากเป็นนักฟุตบอล จนประสบความสำเร็จในชีวิต การ์ตูนมีหน้าที่จุดประกายบางอย่างให้คุณเดินต่อ คุณอยากเป็นพระเอกเรื่องนี้ไหม คุณต้องทำแบบนี้ ทำดี อดทน กล้าต่อสู้ กล้าเอาชนะ การ์ตูนมีพลังสำหรับคนที่รักมัน ผู้สร้างอย่างเราอย่านึกว่าเขียนการ์ตูนหายไปตามลม อ่านแล้วโยนทิ้ง ไม่ใช่ มันจะประทับอยู่ในความทรงจำของคน ถ้าเรารับผิดชอบแบบนี้และมีจิตสำนึก การ์ตูนจะพัฒนาไปเอง

ในเชิงศิลปะ การ์ตูนเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง สมัยก่อนการ์ตูนเหมือนกับของไร้สาระ การ์ตูนเริ่มมาจากติดลม กว่าจะขึ้นมาเป็นบวก เรียกศรัทธาจากคนทั่วไปได้ แต่งานศิลปะพวกทัศนศิลป์มาจากบวกก็เติบโตไปได้ง่าย คนไทยไม่เคยเรียนแอ็บสแตรค แต่พอมายืนอยู่ตรงหน้ารูปแอ็บสแตรค คุณจะดูถูกมันไม่ได้ คุณจะรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่กว่าเรา ทั้งที่ไม่จริงเลย ศิลปะที่ดูง่าย สร้างยาก เพราะคนอ่านรู้เท่าทันเรา แต่ศิลปะชั้นสูง ผู้เสพรู้ไม่เท่าทัน หรือเขาเท่าทัน แต่ก็มักจะดูถูกตัวเองว่าเขียนอะไรนี่เราไม่เข้าใจเลย ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำ แต่เราเขียนสิ่งง่าย เขาวิพากษ์วิจารณ์เราได้


“ทุกคนต้องมีฮีโร่ในใจ เขียนก็อปปี้มาก่อนแหละ แต่ถ้ามีแบบแล้วอยากประสบความสำเร็จไม่ยากเลย ก็ลืมแบบไป เขียนจนลืมแบบ แล้วทำในสิ่งที่ยาก อย่าทำในสิ่งที่ง่าย”