มนัทพงค์ เซ่งฮวด ออกแบบอนาคต กระจูดไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-07-29 13:56:07
เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: เชิดพิพัฒน์ วัฒนวิกกิจ
มนัทพงค์ เซ่งฮวด
ออกแบบอนาคต กระจูดไทย
จากความผูกพันระหว่างแม่กับลูก กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ณัช-มนัทพงค์ เซ่งฮวด เด็กหนุ่มพัทลุงในวัย 27 ปี สานต่ออาชีพหัตถกรรมจักสานกระจูดที่ผู้เป็นแม่ถ่ายทอดฝีไม้ลายมือจากรุ่นสู่รุ่นมายังตัวเขา ด้วยความมุ่งมั่นเพียงต้องการรักษาวิชาชีพของบรรพบุรุษ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำจักสานกระจูดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต มนัทพงค์ใช้ความสามารถด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ศึกษามา แปลงร่างงานหัตถกรรมให้กลายเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งยังถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนบ้านในชุมชน เพื่อช่วยกันต่อลมหายใจงานหัตถศิลป์ประจำชาติที่ค่อยๆ ล้มหายตายจาก ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ให้เป็น “ทายาทหัตถศิลป์” ประจำปี 2557 ที่มีอายุน้อยที่สุด
ความผูกพันกับงานหัตถกรรม
ผมเป็นคนพัทลุงชนบท หมู่บ้านเราทำงานหัตถกรรมจักสานกระจูดอยู่แล้ว คุณแม่ก็สานกระจูดสืบทอดมาจากคุณยายและคุณทวด ผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ห้า เราเห็นตรงนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวของเราหลังจากทำนาทำสวนยางก็มาช่วยกันสานเสื่อกระจูด เป็นเสื่อนอน เป็นกระสอบใส่ข้าวสาร หอม กระเทียมในครัว จากใช้กันเองในครัวเรือนก็เริ่มไปส่งตามร้าน เป็นของฝากของที่ระลึก ขายนักท่องเที่ยวตรงทะเลน้อยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของพัทลุง
กระจูดเป็นพืชในสกุลเดียวกับกก เป็นต้นกลมๆ ข้างในกลวง เขาจะไปถอนมาแล้วเอามาคลุกโคลนสีขาว โคลนตัวนี้จะป้องกันไม่ให้กระจูดกรอบหรือเป็นสีด่างตอนตากแดด และทำให้กระจูดนิ่มด้วย จากนั้นก็เอาไปรีด ทำความสะอาด แล้วเอามาขึ้นโครง จุดเด่นของกระจูดนี่เราขยำมันได้ไม่แตกไม่หัก อีกอย่างหนึ่งมีผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บอกว่าเสื่อกระจูดช่วยรักษาเรื่องแผลกดทับของผู้ป่วยได้ด้วย
หัตถกรรมจักสานกระจูดมีอิทธิพลกับชีวิตขนาดไหน
สิ่งที่เราสัมผัสมาตั้งแต่เด็กมีอิทธิพลนะ ผมเริ่มเรียนศิลปะตั้งแต่มัธยมต้น ทำงานที่คงความเป็นไทยมาโดยตลอด มีส่งผลงานไปประกวดโน่นนี่ เรียนต่อ ปวส. ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ที่นครศรีธรรมราช จบปริญญาตรีสาขาภาพพิมพ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หลังจากนั้นมาต่อปริญญาโทที่ศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์
ปี 2548 ผมเริ่มทำงานออกแบบเพราะอยากเห็นความเป็นไปได้ที่งานหัตถกรรมของเราจะได้รับการพัฒนามากกว่านี้ พอปี 2553 ช่วงนั้นปิดเทอมพอดีเลยลองสมัครเข้าโครงการพัฒนาเอสเอ็มอีภาคใต้ของ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) จากนั้นเลยเริ่มพัฒนาเรื่องแบรนด์ “หัตถกรรมกระจูดวรรณี (VARNI Southern Wickery)” เราตั้งชื่อคุณแม่เพราะแม่เป็นคนที่รวบรวมชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นกลุ่มเล็กๆ
ก้าวแรกภายหลังสร้างแบรนด์ดำเนินไปอย่างไร
กระจูดเป็นพืชทางภาคใต้อยู่แล้ว มองวัสดุปุ๊บก็บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ว่าเป็นของภาคใต้ ในช่วงแรกก็ยังคงเดิมอยู่ ยังไม่ร่วมสมัยเท่าไหร่ ทำตะกร้าใบใหญ่ขึ้น ดัดแปลงเป็นตะกร้าใส่ผ้าในห้องนอน จากนั้นผมเริ่มออกแบบโคมไฟจากงานจักสาน ทำงานศิลปะติดผนังจากงานจักสาน คือมุมมองระหว่างงานจักสานกับงานศิลปะหรือการออกแบบ ถ้าเป็นงานศิลปะมูลค่าจะสูงขึ้น ถ้าเป็นงานหัตถกรรมทั่วไปจะขายราคาสูงค่อนข้างยาก
พอมองเห็นการตลาดก็เห็นว่าชุมชนเรามีกำลังผลิต มีทรัพยากรในท้องถิ่น แล้วจะขายที่ไหนดี ลองทำเพจทางเฟซบุ๊คเพื่อแนะนำร้าน ออกงานแฟร์ทั่วไป หลังจากนั้นก็สมัครเป็นสมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เขาเข้ามาช่วยฝึกอบรมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ศึกษาเบื้องต้นจากอินเทอร์เน็ตว่าใครจะช่วยได้บ้าง เพราะเราก็ตัวเล็กๆ เด็กบ้านนอกคนหนึ่งมาทำอะไรใหญ่โต จะส่งออกต่างประเทศก็ต้องพึ่งพาหน่วยงานสนับสนุนอีกทีหนึ่ง
คุณณัชใช้การออกแบบสมัยใหม่มาพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างไร
เรามองให้งานมีความร่วมสมัยมากขึ้น ปรับรูปแบบเรื่องสีและลายกราฟิกให้เหมาะกับวัยรุ่น และเหมาะกับบ้านสมัยใหม่ มันมีความเปลี่ยนแปลงเพราะบ้านในปัจจุบันมีรูปแบบโมเดิร์นขึ้น กลายเป็นคอนโด ตอนแรกผมมองตลาดไปที่โรงแรมเพราะโรงแรมมักตกแต่งภายในด้วยวัสดุธรรมชาติ และก็เป็นเทรนด์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ออกแบบให้เข้ากับยุคสมัย ดูเทรนด์ในแต่ละปีว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่ทิ้งความเป็นกระจูดและพยายามบอกว่ากระจูดเป็นวัสดุจากภาคใต้ของประเทศไทยนะ
ลายกราฟิกเข้ากับงานหัตถกรรมจักสานได้ด้วยหรือ
ลายกราฟิกเกิดจากที่ว่า ถ้าเรารับผลิตเสื่อลายโบราณหนึ่งผืน คนสานหนึ่งคนใช้เวลาสานประมาณสามอาทิตย์ ถ้าเรารับออเดอร์ 1,000 ผืน ลูกค้าคงรอไม่ไหว เลยคิดว่าต้องออกแบบลายที่ง่ายและทันสมัยที่สุด เลยออกแบบลายกราฟิก ลายสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือลายซ้ำกันแล้วเอามาต่อลายให้ดูทันสมัยมากขึ้น ง่ายต่อการผลิตด้วย
คุณแม่ว่าอย่างไรบ้าง
ตอบรับดี ทั้งคุณแม่ทั้งคนในชุมชนก็ชอบเพราะลายง่ายขึ้นและทำได้เร็ว
อะไรทำให้มั่นใจว่างานหัตถกรรมจะเลี้ยงชีพได้
ตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ยังมีคนซื้องานหัตถกรรม ยังขายได้เรื่อยๆ มันหายไปจากประเทศไทยไม่ได้ เพราะคนไทยมีความผูกพันกับงานหัตถกรรมนะ ถึงจะเป็นเด็กรุ่นใหม่เราก็อยากให้หันมาใช้งานหัตถกรรม เราเลยพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ใช้ได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ เช่น ทำเป็นกระเป๋าคลัทช์ เคสไอแพด ไอโฟน ทำเฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะเก้าอี้ เก้าอี้กระจูดก็เพิ่งได้รางวัล DEmark ในปีนี้
พอเริ่มกลายเป็นผลิตภัณฑ์ เราจะรักษาคุณค่าของงานหัตถกรรมไว้อย่างไร
งานที่เราทำเราตั้งใจทำด้วยมือ ใช้เวลาในการสาน มันมีคุณค่าในตัวอยู่แล้ว เรื่องลายต้องยอมรับว่าเราต้องตอบรับเทรนด์ แต่ก็ยังคงอนุรักษ์ลายเดิมเอาไว้ด้วย คงต้องทำควบคู่กันไป เพราะงานลายดั้งเดิมส่วนใหญ่คนในชุมชนจะเป็นผู้ซื้อ ส่วนลายโมเดิร์นจะเข้าห้างในกรุงเทพฯ และเมืองนอก ซึ่งตอบรับเรื่องแฟชั่นมากกว่า
ทราบว่าคุณณัชมีส่วนเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์หัตถกรรมจักสานกระจูดในชุมชน
ผมได้เป็นวิทยากรของ สสว. และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เพื่อไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ชาวบ้าน ตอนนี้มี 45 ครัวเรือนในกลุ่ม ผู้หญิงจะเป็นหัวหน้าของแต่ละครัวเรือน สานเสื่อโดยให้ลูกช่วย ผู้ชายก็ไปตัดกระจูดบ้าง เราต้องเอาแบบให้เขาดู ลายกราฟิกถ้าไม่เข้าใจก็สอนให้ทำตาม บางทีก็ให้คุณแม่แกะลายให้ ตัวไหนที่เป็นลายโบราณยากๆ ก็ให้คุณแม่ช่วยดู เพราะแม่มีความชำนาญเรื่องการสานอยู่แล้ว ท่านได้รับยกย่องเป็นครูช่างหัตถศิลป์ไทย
ผมไม่หวงเลย เราทำงานตรงนี้เป็นงานชุมชน เราอยากกระจายรายได้ให้ชุมชน และให้สินค้าของชุมชนเรามีชื่อเสียง ทุกคนตื่นตัวนะ บางคนรับออเดอร์มาทำโดยมีความคิดริเริ่มเป็นของตัวเองมากขึ้น จากที่ทำซ้ำๆ แบบเดิมตลอดเวลา เริ่มมีการออกแบบลายขึ้นเองบ้าง อย่างที่บอกเราพยายามเข้าไปสอนให้เขาซึมซับเรื่องการออกแบบ เรื่องเทรนด์ เรื่องสี ให้เขาดูนิตยสารบ้าง
เคล็ดลับในการสร้างสรรค์ผลงานคืออะไร
เรามีแรงบันดาลใจใกล้ตัวในการสร้างงาน บ้านเราอยู่ใกล้ทะเล สีสันของทะเลเอามาใช้ในงาน ออกแบบสีตะกร้าให้เป็นสีทะเลให้มีเอกลักษณ์มีเรื่องราวในตัว การออกแบบที่สำคัญคือการสร้างเรื่องราวให้ผลิตภัณฑ์ด้วย บางทีก็ต้องไปค้นหาข้อมูล ไปสัมผัสสถานที่จริงเพื่อกลับมาคิดและออกแบบ เราใส่ใจปรึกษากับแม่ตลอดเวลา แม่สานแบบนี้ได้ไหม พลิกแพลงลายอย่างไรได้บ้าง บางทีก็วาดรูปไปให้แม่ขึ้นตัวอย่าง หรือลองขึ้นเอง
ในฐานะคนรุ่นใหม่ เห็นจุดเด่นและจุดด้อยอะไรในงานหัตถกรรมพื้นบ้านบ้าง
ผมมองเป็นจุดเด่นนะ ยิ่งถ้าเราได้รู้จักงานประเภทอื่นเช่นงานทอผ้า ถ้าเราใส่ใจออกแบบร่วมกัน ควรเอามาประยุกต์เข้าด้วยกันเป็นงานหัตถกรรมใหม่ สิ่งที่ยังขาดคือนักออกแบบในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ทำให้คนทำตามกัน ถ้ามีนักออกแบบซึ่งพยายามไม่อยู่นิ่ง ออกแบบลายใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ การก็อปปี้คัดลอกงานก็จะไม่เกิดขึ้นมองอนาคตของหัตถกรรมกระจูดวรรณีไว้แค่ไหน
วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ในชุมชนเขาจะทิ้งไม่สานกันแล้ว เราอยากเข้าไปอนุรักษ์ให้งานจักสานกระจูดไม่สูญหาย อันดับสอง สินค้าเราสามารถเป็นของตกแต่ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นของใช้ภายในบ้าน เป็นงานอาร์ต งานตกแต่ง เป็นงานแฟชั่นก็ได้ ตอนนี้กำลังมองเรื่องการแยกแบรนด์ เพราะลูกค้าสับสนว่ากระจูดวรรณีทำทุกอย่างเลย อยากซื้อกระเป๋าก็กระจูดวรรณี อยากซื้อเก้าอี้ก็กระจูดวรรณี ก็คิดจะแยกแบรนด์ย่อยจำพวกแฟชั่น ของใช้ของตกแต่งในบ้าน และแบรนด์ประเภทเฟอร์นิเจอร์
มีคำแนะนำอะไรสำหรับลูกหลานของครอบครัวที่ทำงานหัตถกรรมท้องถิ่น
ตอนแรกผมก็มืดแปดด้าน ผมเรียนเกี่ยวกับศิลปะไม่ได้เรียนบริหารธุรกิจหรือบริหารการจัดการ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะช่วยแนะนำว่าต้องทำอย่างไร ติดต่อตรงไหน ถ้าส่งออกประเทศนี้ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ส่วนตัวผมเองก็พยายามทำงานออกแบบแล้วส่งเข้าประกวดอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์สินค้าให้คนรู้จักเราเร็วขึ้น ตอนนี้โซเชียลเน็ทเวิร์คก็ช่วยได้เยอะ ถ้าเราไม่มีหน้าร้าน เริ่มต้นจากศูนย์ เอาสินค้าที่มีอยู่หรือที่คิดขึ้นใหม่สักชิ้นมาถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ค ลองดูว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร เพื่อนหรือคนอื่นๆ สนใจไหม หลังจากนั้นแหละเป็นตัวที่ผลักดันให้เราทำต่อไปเรื่อยๆ มีคนซื้อชิ้นแรกก็จะมียอดสั่งซื้อเข้ามาในชิ้นที่สองเอง
ผมรู้สึกภูมิใจเวลามีคนชอบงานของเรา ไม่จำเป็นต้องซื้อ แค่เดินเข้ามาชมมาบอกว่างานสวยและประณีต ก็เป็นกำลังใจที่ดีมากเลยครับ ใจผมไม่ได้คิดว่าจะทำให้ดีขนาดไหน ผมแค่อยากทำให้กระจูดของเราไม่หายไป การเป็นทายาทซึ่งมีความผูกพัน ส่วนนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์ผลงานนะครับ ถ้าเรามีแรงบันดาลใจเราก็มีแรงผลักดัน แต่เราก็ต้องศึกษาตลาด พัฒนาให้ร่วมสมัยมากขึ้น เพราะถ้าเรายังคงความดั้งเดิม ทำงานอนุรักษ์อาจจะเข้าถึงตลาดได้เพียงส่วนน้อย ก็ยังมีตลาดที่นิยมของโบราณอยู่ แต่ตลาดที่โตขึ้นคือตลาดที่เป็นโมเดิร์นมากขึ้น มีความสร้างสรรค์มากขึ้น เราก็ควรสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เรื่องของลวดลาย ฟังก์ชั่น แนวคิดในการสร้างสรรค์ สำหรับคนที่ไม่คิดจะสานต่อเป็นการทิ้งอนาคต ทิ้งภูมิปัญญาจากพ่อแม่ปู่ย่าที่สะสมกันเรื่อยมา เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
“สิ่งที่ยังขาดคือนักออกแบบในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ทำให้คนทำตามกัน ถ้ามีนักออกแบบซึ่งพยายามไม่อยู่นิ่ง ออกแบบลายใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ การก็อปปี้คัดลอกงานก็จะไม่เกิดขึ้น”