www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์ เอกปฐมวัย CU
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-03-03 18:46:01

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก


 ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์ 
 ครูปฐมวัย CU 


ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์


อยากเป็นครูอนุบาลเพราะได้อยู่กับเด็ก ได้เล่นกับเด็กน่าจะสนุก สอนเด็กก็คงไม่ยาก? อาจะเป็นความคิดแว้บแรกของน้อง ๆ ชาว #AdGang59 ที่คิดว่าตัวเองรักเด็ก ศิษย์เก่าเอกปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่าง ภัทร์-ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์ ดีกรีจุฬาฯคทากรพ่วงด้วยนักแสดงดาวรุ่งดวงใหม่เต็มไปด้วยละครที่จ่อคิวออนแอร์อย่างบัลลังก์ดอกไม้ สามสหายกับคุณนายสะอาด เดือนประดับดาวและแผนร้ายลงท้ายว่ารัก มาบอกเล่าอย่างหมดเปลือกว่าสิ่งที่คิดกับสิ่งที่ต้องเรียนเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน


เรียนเพราะชอบเด็ก
จริง ๆ ตัวผมเองไม่ได้สนใจว่าอยากจะเป็นครูมาก แต่ว่าผมชอบตรงเอกที่เรียนมากกว่า คือผมเรียนเอกปฐมวัยจะเป็นการสอนเด็กอนุบาล เราชอบเด็ก แล้วเราก็รู้สึกว่ามันน่าจะโอเค ตอนแรกก็ยังลังเลจะชอบไม่ชอบ เรียนไปได้สักพักหนึ่งเทอมแรกมีวิชาที่ให้เราไปโรงเรียน เราก็ไปเจอเด็กทีนี้ตัดสินใจถูกเลยว่า เออเลือกถูกแล้วเรียนเอกนี้แหละ เพราะอยู่กับเด็กแล้วเราไม่ต้องคิดอะไรเยอะอย่างนี้ครับ ปีแรกก็เหมือนเราไปเล่นกับเด็ก ๆ เราก็สนุกของเราครับ
 

ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์


หลักสูตรปฐมวัย

ปีหนึ่ง จะเป็นการปรับตัวให้เรารู้ธรรมชาติของเด็กนิดหนึ่ง มีวิชากลางที่เป็นของมหาวิทยาลัยคือทุกคนเรียนเหมือนกันหมด แล้วก็วิชาของคณะที่เด็กทุกเอกต้องเรียน พวกจิตวิทยาทั่วไป แล้วก็วิชาที่เป็นของเอกผมเองก็จะเป็นพวกเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็กทั้งหลาย กฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ปีสอง เริ่มเข้าเรื่องพัฒนาการเรื่องการเจริญเติบโตของเด็ก เรียนเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก เรื่องสมอง เรื่องเด็กพิเศษ อันนี้เป็นเหมือนคล้าย ๆ วิชาเลือก แต่ว่าทุกคนก็อยากเรียนเพราะว่าโอกาสได้เรียนมันมีน้อยครับ

ปีสาม ถึงจะเข้าไปในส่วนของการเป็นครู เริ่มรู้แล้วว่าต้องไปสอนยังไง ยืนหน้าห้องต้องทำยังไง ต้องควบคุมชั้นเรียนยังไง เวลาเราสอนเด็กอนุบาลมันไม่มีวิชา ไม่มีสอบครับ เวลาเราสอนจะสอนเป็นหน่วย เช่น สมมติว่าหนึ่งหน่วยมีห้าวัน ก็คือจันทร์ถึงศุกร์ เช่นสัปดาห์นี้เป็นหน่วยยานพาหนะ วันแรกเปิดมายานพาหนะคืออะไร เด็กก็จะพูดว่ามีรถ มีเรือ แค่พอให้เขารู้จัก อันนี้ขึ้นอยู่กับระดับของเด็ก เน้นทำกิจกรรม แต่ถ้าสมมติเราไปสอนเด็กอนุบาลสามในหน่วยยานพาหนะ เขาก็ต้องรู้ละเอียดขึ้น เราต้องเตรียมมากขึ้น พอปีสี่ก็มีออกไปฝึกสอน ผมต้องออกไปฝึกสอนทั้งหมดหนึ่งปีเต็มครับ เทอมแรกไปฝึกกับโรงเรียนรัฐบาลทั่ว ๆ ไปแล้วก็เทอมที่สองผมได้ไปฝึกกับเด็กออทิสติก ก็คือสอนแค่เด็กออทิสติกเลย
 

ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์


ครูฝึกสอน

เทอมแรกผมไปสอน รร.อนุบาลสามเสนครับ เด็กค่อนข้างหลากหลายจะสอนแบบเฉพาะมากไม่ได้ เพราะว่าบางคนเรียนรู้ได้เร็ว บางคนก็ช้า เราก็ต้องเตรียมตัวแบบกลาง ๆ ไว้ครับ มันก็จะอยากตรงที่ว่า เราจะทำยังไงให้เด็กที่เขาเร็วกว่าคนอื่นไม่เบื่อที่จะต้องนั่งเรียนกับเด็กที่ช้ากว่า บางทีด้วยความที่เขารู้เรื่องแล้วเขาก็จะเริ่มไม่สนใจแล้วเขาก็จะเล่น ทีนี้ก็จะมีปัญหาเวลาเราคุมชั้นเรียนมันก็จะยาก เพราะว่าเด็กที่ช้าเราก็ต้องสอน เด็กที่เร็วเราก็ต้องเอาให้อยู่อย่างนี้ครับ ต้องหากิจกรรมอะไรมาแทรกตลอดเวลาเพื่อดึงให้เขาต้องอยู่กับเรา เช่น ดึงเด็กคนนั้นออกมาช่วยเราสอน มาช่วยเราทำกิจกรรม ให้มาช่วยติดให้มาช่วยถือ แค่นี้เขาก็ดีใจแล้วครับว่าเหมือนได้มีหน้าที่ให้เขา ก็ลดปัญหาในห้องเรียนได้ครับ
 

เด็กอนุบาลสอนง่ายไหม
ยากตรงที่ว่าบางเรื่องที่เป็นนามธรรมจะอธิบายยาก เช่น เรื่องที่เป็นเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง เช่น ความซื่อสัตย์ เด็กบางคนไม่เข้าใจว่าความซื่อสัตย์คืออะไร พอเรายกเป็นตัวอย่างให้ฟัง เขาก็จะรู้อย่างเดียวว่าความซื่อสัตย์ เช่น เก็บของได้เอาไปคืน เด็กบางคนก็จะจำอยู่แค่นี้ว่าเป็นความซื่อสัตย์ แต่อย่างอื่นไม่เข้าใจแล้วว่าอันนี้ก็เป็นความซื่อสัตย์เหมือนกัน แต่ว่าเขาจะจำอย่างเดียวครับ
 

ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์


ฝึกสอนเด็กออทิสติก
วันแรกที่ได้ไปสอนก็คิดไว้ในระดับหนึ่งว่ามันคงยาก เด็กกลุ่มนี้เขามีห้าคนก็จริงครับ แต่ว่าเด็กหนึ่งคนก็มีปัญหาหนึ่งแบบเด็กห้าคนก็มีปัญหาห้าอย่าง แต่ว่าห้าคนนี้ต้องนั่งเรียนอยู่ด้วยกัน แล้วเราสอนซึ่งจะยากตรงที่ว่าในขณะที่เราพูดไปจะมีคนฟังอยู่แค่สองคนอะไรแบบนี้ครับ อีกสามคนเขาก็จะแบบลอย ๆ ด้วยลักษณะของเด็กกลุ่มนี้ เขาก็จะมีเรื่องจดจ่อของเขา มีครั้งหนึ่งผมเคยสอนบวกเลขแล้วเราก็พยายามหาวิธีที่จะสอนให้เขาเข้าใจ เพราะเรารู้ว่าเขาเป็นเด็กที่เรียนรู้ช้าครับ ก็สอน ๆ มีห้าคน ใครบวกเลขได้ก็จะปล่อยให้ไปเล่น ก็สอนไปทุกคนจนเหลือเด็กคนสุดท้ายที่ช้าสุดอะไรแบบนี้ ก็ไม่เป็นไรก็ค่อย ๆ มานั่งสอนก็ใจเย็นอยู่แล้วครับ จนสุดท้ายก็ยกมือขึ้นมานับว่ามีห้าหายไปสามหรือเท่าไร ก็นับให้เห็น ๆ เขาก็ยังตอบไม่ได้ ผมก็งงว่าทำไมเขาตอบไม่ได้ ก็พยายามเอาใหม่ วนอยู่อย่างนี้ประมาณสิบรอบ จนครูประจำห้องมาบอกผมว่าปล่อยไปเล่นเลยไม่เป็นไร ผมก็งงว่าทำไมครูเขาปล่อยไป แล้วได้คำตอบประมาณว่า วันนี้ไม่ได้ไม่เป็นไร เดี๋ยวพรุ่งนี้สอนใหม่ที่เขาเรียนไม่ได้อยากให้เขาเรียนเพื่อให้เขาเก่ง แต่ให้เขาเรียนเพื่อให้ว่าไปเอาตัวรอดในสังคมได้ สามารถปรับตัวในสังคมได้ดีกว่า คือจุดประสงค์ที่อยากให้เขาได้ สุดท้ายแล้วให้เขาไปอยู่ร่วมกับคนอื่นได้โดยที่เขาไม่ได้ดูแตกต่างหรือว่าแตกแยกออกมา
 

ทำไมถึงเลือกโรงเรียนออทิสติก
เพราะรู้สึกว่าจริง ๆ เด็กกลุ่มนี้เจอยากครับ เหมือนกับว่าโอกาสที่เราจะได้ไปคลุกคลีมันยาก ก็รู้สึกว่ามันท้าทายดี จริง ๆ แล้วมันสนุกตรงที่ได้อยู่กับเด็กเท่านั้นเอง

ตอนที่เราสอนต้องทำรีเสิร์ชไปด้วย อย่างผมที่ไปสอนโรงเรียนออทิสติก เขาจะมีปัญหาเรื่องสมาธิผมก็ดึงเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อรีเสิร์ชเหมือนกับว่าวิธีการฝึกสมาธิสำหรับเด็กออทิสติก ก็คืออาจจะไม่ได้แค่ฝึกในห้องเรียนอาจจะฝึกไปทั้งวันเลยที่เขามาเจอกับเรา เราก็ต้องเหมือนลองหาวิธี เช่น ตามพื้นโรงเรียนมันจะมีเส้นพวกเส้นกระเบื้องครับ เราก็ฝึกให้เดินกับเส้น ให้ตรงเส้นจนสุดทางนะ เราก็ต้องหลอกล่อเขาไปด้วยว่า ถ้าตกไปมันมีจระเข้นะมีนู่นนี่อะไรอย่างนี้ หรือว่าบางทีก็ให้เขานั่งสมาธิ ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ค่อยสำเร็จหรอก มันเป็นอะไรที่อย่างน้อยฝึกให้เขาได้อยู่กับตัวเองไม่ให้เขาไปยุ่งกับเพื่อนครับ คือด้วยความเป็นเด็ก เด็กก็จะไม่ค่อยยอมทำตามหรอก ไม่ยอมหลับตานาน ๆ หลับแป๊ปหนึ่งก็จะลืมตามามอง แต่เราก็ไม่เป็นไรฝึก ๆ ไป
 

ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.facebook.com/Chulakatakorn.fc 


จุฬาฯคทากร
จริง ๆ แล้วผมไม่รู้จัก แล้วก็เพื่อนมาชวนครับ เขาก็อธิบายว่ามันคือดรัมเมเยอร์งานฟุตบอลประเพณี แต่ด้วยนิสัยตอนนั้นและผมก็อ้วน รู้สึกว่าไม่น่าจะทำอะไรแบบนี้ ผมก็บอกว่าไม่เอา ไม่รู้จักใคร แบบไปคนเดียวไม่รู้จะคุยกับใคร เพื่อนก็เลยยอมสมัครด้วย แล้วก็ไปตามกระบวนการเขาไปเรื่อย ๆ ทุกขั้นตอนครับ ก็งงสุดท้ายก็ได้มา

พอได้แล้วก็ต้องซ้อมครับ งานมหาวิทยาลัยเป็นอะไรที่ต้องซ้อมอยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าต้องซ้อมหนักขนาดนั้น ผมซ้อม ปีนั้นเป็นปีน้ำท่วมด้วยครับจากปกติในทุก ๆ ปีเขาก็จะซ้อมกันสามเดือนกว่า แต่พอเป็นปีน้ำท่วมทุกอย่างก็ต้องเลื่อนออก กลายเป็นว่าผมต้องซ้อมห้าเดือนซึ่งต้องซ้อมทุกวัน ช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นจันทร์ถึงเสาร์แต่ช่วงประมาณเดือนสุดท้ายซ้อมจันทร์ถึงอาทิตย์ไม่มีวันหยุด ซ้อมตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงห้าทุ่มทุกวัน วันมาเรียนเลิกเรียนก็มาซ้อมกลับบ้านนอนตื่นมาเรียนวนอยู่อย่างนี้ทุกวัน ๆ ต้องซ้อมหนัก พอเป็นดรัมเมเยอร์ไม้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของตัวเรามันเป็นอะไรที่ควบคุมยาก อย่างรุ่นผมมีเจ็ดคนผู้ชายแรงเยอะก็จะไม่มีปัญหาเท่าไรทำพร้อมกันได้ แต่พอมีผู้หญิงจะยากตรงที่ว่าผู้หญิงเขาแรงน้อยกว่าเรา เขาจะไม่สม่ำเสมอในการทำท่าหรืออะไรอย่างนี้ครับ มันก็เลยทำให้การที่จะให้เจ็ดคนพร้อมกันมันยาก เลยต้องซ้อมหนัก ที่จริงก็มีหลายอย่างที่ต้องทำ เราไม่ได้เป็นดรัมเมเยอร์อย่างเดียวจะมีงานมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เขาก็ให้เราไปช่วย เช่น วันปิยมหาราชก็ไปเดินให้ในนามของจุฬาฯ คล้ายบำเพ็ญประโยชน์
 

ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์


อาชีพอื่นนอกจากครู
ถ้าเป็นด้านที่ผมเรียน บางคนก็ไปทำหนังสือ ทำเกี่ยวกับพวกหนังสือเด็ก ไปอยู่บริษัทของเล่นที่เป็นพวกเสริมพัฒนาการ แล้วก็ไปเป็นนักจิตวิทยาเด็กแต่ว่าถ้าด้านนี้ต้องไปเรียนเพิ่มจิตวิทยาอีกที แต่ก็จะได้พื้นตรงเกี่ยวกับเด็กมาแล้วครับ เป็นครู เป็นได้หลายอย่างครับ ไม่ได้เป็นแค่ครู ถ้านักวิชาการต้องเรียนเพิ่ม บางคนก็ไปเรียนเพิ่มทางด้านเปิดโรงเรียนครับ
 

สิ่งสำคัญของครูอนุบาล
ต้องเข้าใจว่าเด็กทุกคนไม่เหมือนกัน แต่ผมว่าคนที่มาเรียนจะเข้าใจข้อนี้เองโดยอัตโนมัติ ว่าถ้าคนนอกมองจะรู้สึกว่าหรือพ่อแม่ก็ได้จะรู้สึกว่าทำไมลูกเราไม่เก่งเหมือนลูกเขา ทำไมลูกเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เพื่อนเขาทำ คือทุกอย่างมันมีเหตุผลครับ จริง ๆ แล้วทุกคนได้โอกาสเท่ากัน แต่ว่าโอกาสในการมาถึงไม่พร้อมกัน คือเด็กบางคนจะเร็วในการรับรู้เรียนรู้ คือเป็นธรรมชาติที่เกิดมาตั้งแต่เด็ก เด็กคนนั้นเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เด็กเขาก็จะเป็นคนเรียนรู้เร็ว เด็กหัวดีเข้าใจง่าย หรือบางคนก็กลางก่อนเกาะกลุ่มไปหรือบางคนช้าพ่อแม่ก็ต้องเข้าใจว่าลูกช้าแต่ไม่ได้ว่าจะพัฒนาไม่ได้ แค่ให้เวลาเขาหน่อย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้วิธีเดียวกันแล้วจะได้เหมือนกัน ต้องเข้าใจว่าทุกคนต่างกัน ครูจะหาวิธีเองว่าทำยังเพื่อให้เขาไปถึงจุดนั้นได้เหมือนกันครับ

 

 ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์