www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : มายด์ ดลธรัตน์ มีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ บางมด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-05-07 18:46:20

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก


มายด์ ดลธรัตน์

มีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ บางมด


มีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ 

เมื่อการแพทย์เต็มไปด้วยเรื่องราวซับซ้อนของร่างกายมนุษย์ และศัพท์แปลก ๆ ที่มนุษย์ธรรมดายากจะเข้าใจ จึงต้องมีการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ความรู้หรืออธิบายเรื่องยาก ๆ ให้ง่ายขึ้น สาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับการทำสื่อหรือมีเดียเฉพาะด้าน

 


มายด์-ดลธรัตน์ จูฑะมณีโรจน์
รุ่นพี่ปี 3 MTA เปิดรั้วบางมดต้อนรับน้อง ๆ ชาว #AdGang58 ได้รู้จักทุกซอกทุกมุม
 

มีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์


สอบผ่านโครงการ
2B-KMUTT
มายด์เรียนวิทย์-คณิตแต่ว่าชอบวาดรูป และคิดว่าไปทางวิทย์ไม่ไหวแน่ ๆ แต่ว่าถ้าไปทางศิลปะจริง ๆ ก็คิดว่าไม่น่าจะไหวอีก เลยหาคณะกลาง ๆ เห็นอันนี้น่าสนใจ ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.5 ม.6 มีค่ายชื่อ 2B-KMUTT โครงการที่คัดสรรนักเรียนเข้ามาเป็นนักศึกษาทุกภาควิชาของบางมด เข้าค่ายประมาณหนึ่งเดือน อาจารย์จะแยกเป็นแล็บ ๆ เขาจะมีโปรเจ็คต์ให้ เราต้องพรีเซนต์งานเพื่อที่จะให้อาจารย์ดู แล้วเขาจะเลือกสอบสัมภาษณ์ว่าเราอยากได้คณะไหน ของมายด์เป็นมีเดีย พอประกาศผลก็ติดตั้งแต่ขึ้น ม.6 รู้แล้วว่ามีที่เรียนแล้ว ม.6 ก็ชิลเลย ชีวิตสบายเลย

 

เรียนวิทย์คู่ศิลป์
ปีหนึ่ง
เป็นการเรียนพื้นฐานทุกอย่าง ดรออิ้ง พื้นฐานถ่ายภาพ พื้นฐานกราฟิก สอนโปรแกรม illustrator หรือ photoshop

พอขึ้นปีสองก็จะยากขึ้น อย่างดรออิ้งก็จะเป็นดรออิ้งทางการแพทย์ ดรออิ้งกระดูก ได้ออกไปดรออิ้งที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์-คองดอน ศิริราช ดรออิ้งเด็กดองในขวดโหล และถ่ายภาพทางการแพทย์แบบ CSI เรียกว่าถ่ายภาพนิติเวช ถ่ายภาพเวชนิทัศน์ ได้ไปห้องศพถ่ายรูปเวลาชันสูตร ต้องถ่ายว่าเขาหั่นชิ้นนี้ ชิ้นที่เท่าไหร่ หรือกรณีอยู่ที่เกิดเหตุเราต้องวางเลขยังไง แล้วกราฟิกก็ยากขึ้น ไม่ว่าจะทำสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร และเรียนปั้นโมเดลทางการแพทย์ตั้งแต่พื้นฐาน ปั้นนูนสูง นูนต่ำ

ปีสาม ก็มีการเรียนโมเดลทางการแพทย์เหมือนเดิม เรียนการทำภาพยนตร์ที่แม้จะไม่เกี่ยวกับมีเดียแพทย์มากแต่เพื่อให้รู้วิธีทำ การวางพล็อตเรื่อง การนำเสนอเนื้อเรื่อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้จากหนังเป็นสื่อการแพทย์ได้ นอกจากนี้ยังมีวิชาแอนิเมชัน และ 3D ด้วย ที่ MTA สอนโปรแกรม lightwave ของที่อื่นเป็น MAYA

ในส่วนการแพทย์ได้เรียนตลอดตั้งแต่ปีหนึ่งมาจนถึงปีสามเทอมหนึ่ง เรียนเทอมละตัว วิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) สรีรวิทยา (Physiology)
 

มีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์


ฝึกงานหลากหลาย
จริง ๆ แล้วนักศึกษาสามารถฝึกงานได้หลากหลาย เพราะว่าเรียนทุกอย่างคล้าย ๆ นิเทศศาสตร์ รุ่นพี่ไปฝึกงานทั้งที่โรงพยาบาล ไปถ่ายรูปทางการแพทย์ ไปอยู่ฝ่ายโสตทัศนศึกษาในโรงพยาบาล หรือบางคนก็ไปฝึกงานในโปรดักชั่นเฮ้าส์ต่าง ๆ โปรดักชันกราฟิก แอนิเมชัน มีไปออกกองถ่ายวิดีโอด้วย ไปได้หลายทางแล้วแต่ชอบ

ส่วนโปรเจ็คต์ของมายด์ที่วางแผนว่าจะทำไม่ค่อยเกี่ยวกับมีเดียแพทย์เท่าไหร่ แต่จะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ มายด์อยากทำแอปพลิเคชั่นดาราศาสตร์สำหรับเด็กประถมปลาย สอนให้ดูดาวและให้ความรู้เรื่องดาราศาสตร์ค่ะ

 

งาน 3 สบ

รวมสามภาควิชามีเวชนิทัศน์ของศิริราช กับของแก่นที่เรียนเหมือนกัน เหมือนงานสานสัมพันธ์ มาทำกิจกรรมด้วยกันก็มีกินเลี้ยงนิด ๆ หน่อย มีแข่งกีฬา โชว์การแสดงของแต่ละมหาวิทยาลัย

อย่างศิริราชกับขอนแก่นจะเน้นเป็นเวชนิทัศน์ อาจจะเน้นทำงานในโรงพยาบาล แต่ของบางมดจะหลากหลายกว่าคือเน้นด้านสื่อ ด้านดิจิตอลพวกนี้เยอะ
 

มีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์


ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจศัพท์หมอ
ต้องคิด สร้างสรรค์ คุยสื่อสารกับหมอ สมมติว่าเราเรียนแอนิเมชัน วาดรูปมาสวยเนี้ยบ พอไปคุยกับหมอ หมอก็จะบอกว่าไม่ได้ มันผิด เราก็ต้องแก้ยังไงให้ถูกด้วย สวยด้วย เพื่อที่จะเอาไปสื่อให้ถูกต้องและเข้าใจ
 

ตลาดงานหลากหลาย
เท่าที่เห็นรุ่นพี่จบการศึกษาไป ส่วนหนึ่งเป็นฝ่ายโสตทัศนศึกษาในโรงพยาบาล ทำหน้าที่ผลิตสื่อทั่วไปเลยค่ะ กราฟิก แผ่นพับ โปสเตอร์ ถ่ายภาพถ่ายวิดีโอประชาสัมพันธ์ ก็เหมือนกับถ่ายงานข้างนอก คนที่เรียนมาก็ทำได้แต่อาจจะไม่รู้เรื่องชีววิทยา เพราะว่าต้องคุยกับหมอแล้วเข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ก็มีงานด้านกราฟิกในสตูดิโอหรือโปรดักชันเฮ้าส์ 3D ค่ะ

 


“เราเรียนแอนิเมชัน วาดรูปมาสวยเนี้ยบ พอไปคุยกับหมอ หมอก็จะบอกว่าไม่ได้ มันผิด เราก็ต้องแก้ยังไงให้ถูกด้วย สวยด้วย เพื่อที่จะเอาไปสื่อให้ถูกต้องและเข้าใจ”

 

มีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์