ในหลวง : นางแก้วคู่บารมี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.1K views



ในหลวง : นางแก้วคู่บารมี

แต่โบราณมา  พระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระบรมเดชานุภาพเลิศล้ำจักต้องมีสิ่งที่จัดว่าเป็นสมบัติล้ำค่าส่งเสริมพระบุญญาบารมี ประกอบด้วยขุนพลแก้ว   ขุนคลังแก้ว   ช้างแก้ว   ม้าแก้ว  และ  นางแก้ว หรือ รัตนมหิสี 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทย ก็ทรงมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยพระรูปสมบัติ   และพระคุณสมบัติของนางแก้วทุกประการ เป็นคู่พระบุญญาบารมี  โดยนับแต่ทรงราชาภิเษกสมรส ดำรงพระราชฐานะสมเด็จพระราชินี จนถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเคียงคู่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด  และโครงการต่างๆ  ของพระองค์มักจะสอดคล้อง  และมีส่วนสนับสนุนเกื้อกูลกันกับโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่ง ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. ก็ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้เหมือนกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้สร้างอ่างเก็บน้ำ ก็จะทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่าในบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธารขึ้นมาทันที   และในมุมกลับกัน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะสร้างโครงการป่ารักน้ำ  ก็จะมีการสร้างแหล่งน้ำขึ้นมาทันทีเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า โครงการทั้งสองลักษณะนี้ ความจริงเป็นโครงการที่เดินควบคู่กันไปตลอดเวลา  อีกตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ

เมื่อปี  ๒๕๑๓ จังหวัดนครพนมเกิดอุทกภัย มีความเสียหายมาก และทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรพร้อมกับพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ  เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า  ระหว่างพระราชทานสิ่งของนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่า  “การแจกของแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ เปรียบเสมือนโยนก้อนหินเล็กๆ ลงแม่น้ำ  ต้องโยนสักเท่าใดจึงจะเพียงพอให้พวกเขาได้อยู่รอดน่าจะหาอะไรให้เขาทำ  เพื่อมีรายได้สม่ำเสมอตลอดไป” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ทรงรับสนองกระแสพระราชปรารภด้วยการหาทางให้ราษฎรใช้เวลาว่างจากงานอาชีพหลัก หรือพวกสตรีแม่บ้าน มาทำงานฝีมือที่พวกตนคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่นเครื่องมือเครื่องใช้  เครื่องนุ่งห่ม  ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญากันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายายและโดยปกติเคยทำเพื่อใช้เอง  ให้พัฒนาไปสู่การทำเพื่อจำหน่าย  ซึ่งนอกจากจะทำให้ราษฎรรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว    พวกเขาจะมีรายได้จากอาชีพเสริมนี้มาเพิ่มความเป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัวตรงกับพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผ้าไหมมัดหมี่  ซึ่งแต่เดิมชาวอีสานจะทอไว้ใช้เองในโอกาสพิเศษและกำลังจะสูญหายไปจากภาคอีสานเวลานั้น   เป็นงานหัตถศิลป์อันดับแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงส่งเสริมอย่างจริงจัง   ทั้งนี้เนื่องจากทรงเห็นความงดงามของผ้ามัดหมี่ขณะราษฎรสตรีนุ่งมาเฝ้าฯ รับเสด็จ  และทรงทราบว่า ราษฎรอีสานทุกๆ ครัวเรือนรู้จักการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม  และทอผ้าไหมเป็นกันแทบจะทั้งนั้น  เพราะต่างก็ได้สืบทอดภูมิปัญญาและฝีมือกันมาจากบรรพบุรุษของตน  อีกทั้งอุปกรณ์การทอก็มีอยู่แล้ว  ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินลงทุน  

ระยะแรกๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงชักชวนให้ชาวบ้านทอผ้ามัดหมี่เป็นอาชีพเสริมนั้น ได้เสด็จฯ ตรวจผลงานถึงเรือนชานราษฎรด้วยพระองค์เองบ่อยครั้ง และพระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงคุณภาพของชิ้นงานให้ได้มาตรฐาน  เช่นการทอผ้าให้แน่น เนียนเรียบ  การใช้สีย้อมที่มีคุณภาพเพื่อให้ผ้ามีสีเสมอกัน  การปรับปรุงลวดลาย และปรับขนาดผืนผ้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด หรือผู้บริโภค   เช่นให้ขยายฟืมทอผ้าเพื่อให้ได้ผ้าที่มีหน้ากว้างขึ้น  ทอผ้าให้ยาวขึ้นเพื่อสะดวกในการนำไปตัดเสื้อผ้าเป็นชุด หรือตัดเสื้อสูท  นอกจากนั้นยังทรงส่งราชเลขานุการไปพบปะชาวบ้าน ให้คำแนะนำและรับซื้อโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง  พร้อมกันนั้นก็ทรงเป็นผู้นำในการแต่งพระองค์ด้วยผ้าไหมมัดหมี่   ซึ่งเมื่อมาประกอบเข้ากับพระปรีชาสามารถในการนำผ้ามัดหมี่ออกเผยแพร่ต่อนักออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงของโลกได้รู้จัก  ทำให้ผ้าไหมมัดหมี่ได้รับความนิยมในวงกว้าง   ส่งผลให้ราษฎรก็มีรายได้จากการทอผ้าจำหน่ายเป็นกอบเป็นกำ  มีกำลังใจที่จะปรับปรุงงานของตนให้ดียิ่งขึ้นไปอีก  ทั้งคนหนุ่มคนสาวก็หันมาสนใจที่จะขอถ่ายทอดภูมิปัญญาอันมีค่านี้จากผู้สูงอายุที่มีฝีมือ และความชำนาญกันมากขึ้น เพราะจะมีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัว  ซึ่งการถ่ายทอดเทคนิควิธีในการมัดหมี่จากผู้มีฝีมือสู่ผู้เยาว์นี้เอง เป็นผลดีต่อการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ไม่ให้สูญหายไปเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เคยมี แต่ไม่ได้รักษาไว้และเสียดายกันอยู่ทุกวันนี้

ความสำเร็จของโครงการทอผ้าไหมมัดหมี่ นอกจากจะทำให้ราษฎรมีรายได้เสริมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังส่งผลให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมืองอื่นๆ รวมถึงงานศิลปประดิษฐ์ต่างๆ อีกด้วย  เวลานี้งานหัตถศิลป์หลายแขนงเป็นที่นิยม และสร้างรายได้ นำความอยู่ดีกินดีให้แก่ราษฎรในวงที่กว้างออกไปทั่วประเทศ  ทั้งมีหลักประกันว่าภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้จะเป็นมรดกของชาติตลอดไป เพราะได้โปรดเกล้าฯให้มีการบันทึกไว้   สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้ทรงมีรับสั่งกับกลุ่มนักข่าวหญิงเมื่อครั้งขอพระราชทานสัมภาษณ์เรื่องไหมมัดหมี่เมื่อปี ๒๕๒๓ ว่า  “  เรื่องศิลปาชีพเริ่มต้นจากมัดหมี่  ”โดยในปี ๒๕๑๙ นั้นก็ได้มีการรวบรวมโครงการที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคเข้ามารวมในหน่วยงานส่วนกลาง ก็คือ “มูลนิธิศิลปาชีพฯ” ซึ่งมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นประธานกรรมการนั่นเอง     

การปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถดังนี้  จัดว่าทรงเป็นรัตนมหิสี หรือ“นางแก้ว”คู่พระบุญญาบารมีโดยแท้  เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ๑๒ สิงหาคมที่จะเวียนมาบรรจบนี้ จึงควรที่เราชาวไทยจักได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  และพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน



ที่มา  - คุณหญิงกุลทรัพย์  เกษแม่นกิจ  : นิตยสารสกุลไทย  ๒๒, ๒๙ มิ.ย. ๔๗ / ๗, ๑๔, ๒๑ มิ.ย. /๑๒ ก.ค. / ๑๖ ส.ค. ๔๘  
        - อาริยา สินธุ  :  นิตยสารสกุลไทย  ๑๒  ส.ค. ๔๖       
        - หนังสือจากฟ้า-สู่ดิน เล่ม ๒ ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท  เรื่อง  "นางแก้วคู่พระบารมี"  ผลิตโดยงานบริการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ