ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่าน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 97.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการอ่าน

 

หลักทั่วไปของการอ่าน       

ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น ดังนั้นการอ่านจึงเข้ามามีความสำคัญในการทำความเข้าใจสารต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อให้ได้รับความรู้ ความคิด และความบันเทิง ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยแบ่งลักษณะการอ่านเป็น การอ่านออกเสียงและการอ่านในใจ

 

การอ่านออกเสียง

การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว

ควรออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจนด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ ไม่อ่านช้าหรือเร็วจนเกินไป แบ่งวรรคตอนให้ถูกต้อง มีสมาธิในการอ่าน และวางท่าทางให้เหมาะสม สำหรับการอ่านบทสนทนานั้นควรเน้นเสียงให้สอดคล้องกับเจตนาของผู้พูด เช่น เสียงอ่อนโยน  เสียงแจ่มใส เสียงกร้าว  เสียงอ่อนเบา เสียงสูงต่ำ

 

การอ่านออกเสียงร้อยกรอง

การอ่านออกเสียงร้อยกรองอย่างภาษาพูด อ่านเหมือนร้อยแก้ว โดยต้องคำนึงถึงวรรคและจังหวะ ส่วนการอ่านออกเสียงร้อยกรองอย่างทำนองเสนาะ ต้องอ่านให้เต็มเสียง ทอดจังหวะให้ช้า และต่อเนื่องกัน โดยต้องคำนึงถึงผังบังคับของบทประพันธ์แต่ละประเภท ดังนี้

 

           กลอนสุภาพ แบ่งจังหวะละ ๓ คำ ๒ คำ และ ๓ คำ ตามลำดับ

 

          สักวา / ดาวจระเข้ / ก็เหหก

ศีรษะตก / หันหาง / ขึ้นกลางหาว

เป็นวันแรม / แจ่มแจ้ง / ด้วยแสงดาว

น้ำค้างพราว / ปรายโปรย / โรยละออง

ลมเรื่อยเรื่อย / เฉื่อยฉิว / ต้องผิวเนื้อ

ความหนาวเหลือ / ทานทน / กระมลหมอง

สกุณา / กาดุเหว่า / ก็เร่าร้อง

ดูแสงทอง / จับฟ้า / ขอลาเอย

 

           โคลงสี่สุภาพ  วรรค ๕ คำ แบ่งจังหวะละ ๒ คำ และ ๓ คำ, วรรค ๒ คำ แบ่งจังหวะละ ๒ คำ, วรรค ๔ คำ แบ่งจังหวะละ ๒ คำ

 

          ความรู้ / ดูยิ่งล้ำ /

สินทรัพย์

คิดค่า / ควรเมืองนับ /

ยิ่งไซร้

เพราะเหตุ / จักอยู่กับ /

กายอาต- / มานา

โจรจัก / เบียนบ่ได้ /

เร่งรู้ / เรียนเอา

 

 

           กาพย์ฉบัง แบ่งจังหวะละ ๒ คำ

 

          สัตว์จำ / พวกหนึ่ง / สมญา /

พหุ / บาทา

มีเท้า / อเนก / นับหลาย

 

 

           กาพย์ยานี วรรค ๕ คำ แบ่งจังหวะละ ๒ คำ และ ๓ คำ, วรรค ๖ คำ แบ่งจังหวะละ ๓ คำ

 

          รอนรอน / อ่อนอัสดง /

พระสุริยง / เย็นยอแสง

ช่วงดัง / น้ำครั่งแดง /

แฝงเมฆเขา / เงาเมรุธร

 

            กาพย์สุรางคนางค์ แบ่งจังหวะละ ๒ คำ

 

          

เย็นฉ่ำ / น้ำฟ้า

ชื่นชะ / ผกา

วายุ / พาขจร

สารพัน / จันทร์อิน

ชื่นกลิ่น / เกสร

แตนต่อ / คลอร่อน

ว้าว่อน / เวียนระวัน

 

การอ่านในใจ

การมีจุดมุ่งหมายในการอ่านที่ชัดเจนจะทำให้จับใจความได้ดีขึ้น ในการหาข้อสรุปหรือใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านอาจใช้วิธีการอ่านอย่างรวดเร็วเฉพาะหัวเรื่อง คำจำกัดความ ประโยคต้น/ท้าย เพื่อพิจารณาโครงเรื่องแล้วสรุป หรือจะใช้วิธีการอ่านอย่างละเอียด โดยตั้งคำถามและจดบันทึกไปด้วยระหว่างการอ่านก็ได้

 

การอ่านจับใจความสำคัญ

ในหนึ่งย่อหน้าจะประกอบด้วยประโยคใจความสำคัญซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตอนต้นหรือท้าย และประโยคประกอบทำหน้าที่ขยาย (พลความ) ซึ่งอาจมีประโยคประกอบย่อยลงไปอีก ในการจับใจความสำคัญจะต้องอาศัยการลำดับเหตุการณ์หรือลำดับความสำคัญ และต้องคำนึงถึงความหมายของคำและสำนวนควบคู่ไปด้วย

 

โครงสร้างของข้อความหนึ่งย่อหน้า

ใจความสำคัญ

ประกอบย่อย

๑. ประกอบ

ก. ประกอบย่อย

ข. ประกอบย่อย

๒. ประกอบ

ก.ประกอบย่อย

ข.ประกอบย่อย

๓. ประกอบ

ประกอบย่อย

๔. ประกอบ

ก. ประกอบย่อย

ข. ประกอบย่อย

๕. ประกอบย่อย

ประกอบย่อย

 

ตัวอย่าง ข้อความหนึ่งย่อหน้ามีทั้งประโยคใจความสำคัญ ประโยคประกอบและประโยคประกอบย่อย

แม้กระนั้นเราต้องมาพบกับภัยอันเกิดแต่ธรรมชาติ คือ วาตภัยในภาคใต้ (ประโยคใจความสำคัญ) ตามที่ท่านทราบอยู่แล้ว (ประกอบย่อย) ภัยนั้นกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก (๑. ประกอบ) ที่ล้มตายไปมิใช่น้อย (ก. ประกอบย่อย) ทรัพย์สมบัติก็สูญหายอันตรธานพินาศ (ข. ประกอบย่อย) ภัยพิบัติครั้งนี้นำความสลดใจมาสู่ชาวไทยทั้งมวลอย่างหาที่เปรียบมิได้ (ค. ประกอบย่อย) แต่ก็เป็นข้อที่น่ายินดีอยู่อย่างหนึ่ง (๒. ประกอบ)ที่ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นน้ำใจประชาชนทั้งประเทศว่ามีความสามัคคีปรองดองกันเพียงไร (ก. ประกอบย่อย) ความสามัคคีและเมตตาที่ท่านให้เป็นประจักษ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าชาติไทยของเราจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะมีมาในภายหน้า (ข. ประกอบย่อย)

ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๖

  

ตัวอย่างใจความสำคัญ จากคำพูดของก๋งที่พูดกับหยก 

ถ่านถังนั้นแหละคือค่าแรงละ จำไว้ว่าคนที่ทำงานไม่เคยมีใครขาดทุนหรอก เพียงแต่จะได้ผลตอบแทนเป็นอะไร หรือมากน้อยเพียงใด ค่าแรงหรือกำไรไม่ได้มาสู่เราในรูปของเงินเสมอไป

                                                                                    

เมื่อสรุปใจความสำคัญจากประโยคต้นและประโยคท้าย สารที่ก๋งสื่อแก่หยก คือ หยกได้ค่าแรงเป็นถ่านถังเดียว จะไม่ได้เป็นเงินอีก ส่วนข้อความที่เหลือนอกจากใจความสำคัญ เรียกว่า พลความ

 

การอ่านเพื่อแยกข้อเท็จจริงและความคิดเห็น

ข้อเท็จจริง คือ ปรากฏการณ์ หรือสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ ส่วนข้อคิดเห็น เป็นความคิดส่วนตัวที่ได้จากการสรุปข้อเท็จจริง ทั้งนี้ความน่าเชื่อถือของข้อคิดเห็นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติผู้พูด และความเหมาะสมของข้อเท็จจริง

 

นักเรียนอ่านข้อความต่อไปนี้แล้วพิจารณาว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น พร้อมแสดงเหตุผล 

๑. “มีข่าวจากหมู่บ้านบาร์โรว์ในอะแลสกา เมื่อวันพฤหัสบดีว่า ปลาวาฬพันธุ์แคลิฟอร์เนียเกรย์ ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่นขนาดยักษ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ สามารถหลุดพ้นจากทะเลที่ผิวน้ำจับเป็นน้ำแข็งสู่มหาสมุทรได้แล้วอย่างปลอดภัย ด้วยความช่วยเหลือของใครต่อใครหลายฝ่าย” 

๒. “โฆษกของกองกำลังรักษาความมั่นคงของอะแลสกา กล่าวว่า ปลาวาฬทั้งสองมีท่าทีตื่นเต้นมากเหมือนกับว่าพวกมันได้กลิ่นอายของอิสรภาพ ก็เป็นความชื่นชมของทุก ๆ คนที่งานนี้ลุล่วงไปท่ามกลางความสบายอกสบายใจของผู้ที่สดับตรับฟัง”

๓. “ถิ่นเดิมของผักตบชวาอยู่ในอเมริกาใต้ และได้กระจายขยายพันธุ์ไปทั่วโลก ส่วนผักตบชวาในประเทศไทยนี้ได้นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ในรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากดอกของมันสวยงามสะดุดตา เมื่อแรกนำมาปลูกไว้ในสระน้ำในวัง ต่อมาเกิดน้ำท่วม ผักตบชวาหลุดลอยออกสู่ลำคลองและแม่น้ำ แพร่พันธุ์ไปถึง ๖๔ จังหวัดในปัจจุบัน”

๔. “จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วเอานภามาแทนกระดาษเอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ”

๕. “เคยสงสัยบ้างไหม ทำไมคนเราจึงต้องมีตาสองข้าง ตาสองข้างไม่ใช่มีไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่มีประโยชน์มหาศาล ทำให้เราเห็นความลึก หรือมองเห็นได้ในสามมิติ เมื่อใดที่เราปิดตาข้างหนึ่ง เราจะเห็นภาพเพียงสองมิติ เหมือนภาพถ่ายแบน ๆ บนกระดาษ”

๖. “เวลาจะปลูกต้นไม้ ไม่ต้องกังวลว่าจะวางเมล็ดพืชหัวกลับ ไม่ว่าจะวางเมล็ดกลับหัวอย่างไรรากก็จะงอกลงดิน และลำต้นก็จะแทงยอดขึ้นฟ้าเสมอ”

๗. “มือที่เคยอยู่ในน้ำเย็นจะรู้สึกว่าน้ำอุ่นร้อน และมือที่เคยร้อน เมื่อมาจุ่มลงในน้ำอุ่นจะรู้สึกเย็น”

๘. “นักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์ออนแทรีโอพิสูจน์ประจักษ์ชัดแล้วว่า เปลือกไข่ฟองเดียวสามารถรับน้ำหนักคนขนาด ๙๐ กิโลกรัมได้อย่างสบายมาก จากเหตุผลนี้เวลาจะสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องการมีเสาให้เกะกะจึงต้องสร้างหลังคาในรูปโดม ตัวอย่างเช่น สนามกีฬา ท้องฟ้าจำลอง ฯลฯ”

๙. “ทำความดีให้มาก ๆ ตายไปจะได้ไปเกิดบนสวรรค์”

๑๐. ผักสดมีประโยชน์ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ๕ ประการ คือ ผักมีวิตามิน เกลือแร่ มีฮอร์โมนเอนไซม์ มีพลังแห่งชีวิต และยังมีเส้นใย

 

การอ่านตีความ

การอ่านที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่เพียงจับใจความได้ แต่ต้องเห็นคุณค่าของเรื่องที่อ่าน

ตัวอย่างการอ่านตีความ


           กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด                ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล
แต่สายชลเจียวยังวนเป็นวงไป                          นี่หรือใจที่จะตรงอย่าสงกา
                                                               (นิราศเมืองแกลง: สุนทรภู่)

บทประพันธ์นี้กล่าวถึง การเดินทางทางเรือของสุนทรภู่ เมื่อพบกระแสน้ำที่ไหลวนคดเคี้ยวก็นำมาเปรียบเทียบกับจิตใจของคน

 

การเล่าเรื่องและการย่อเรื่องจากการอ่าน

การเล่าเรื่อง

การเล่าเรื่องเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด โดยอาจมุ่งเพื่อความบันเทิง เพื่อให้ความรู้ เพื่อให้ทราบเรื่องราว ผู้เล่าเรื่องที่ดีต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่เล่า ลำดับความคิดอย่างราบรื่น เล่าตรงตามวัตถุประสงค์ ใช้ได้ภาษาถูกต้อง และสามารถชักจูงความสนใจของผู้ฟังได้ตลาดทั้งเรื่อง

 

การย่อเรื่อง

การเรียบเรียงเนื้อหาให้สั้นลงแต่ยังคงแนวคิดที่สำคัญไว้อย่างสมบูรณ์ จะต้องอ่านเรื่องอย่างละเอียดและจับใจความสำคัญให้ได้ แล้วจึงเรียงลำดับใจความใหม่ให้เป็นเรื่องราวที่เข้าใจง่าย ด้วยภาษาที่ถูกต้องและกระชับ ข้อความที่ย่อให้ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ หากเรื่องที่อ่านเป็นร้อยกรองต้องเรียบเรียงใหม่เป็นร้อยแก้ว

 

ตัวอย่างการย่อเรื่อง

ความเหมือนในความแตกต่าง

           ปัญหาบ้านเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ฉันเติบโตมาจนถึงวัยอาวุโสขนาดนี้ ปัญหาของบ้านเมืองก็ไม่พ้นไปจากเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สาเหตุของปัญหาคือความแตกต่างทางความคิดซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่จะเพราะประชาธิปไตยของเรายังไม่เต็มใบสักที หรือเพราะอะไรไม่ทราบ แทนที่ความแตกต่างทางความคิดจะจบลงด้วยมติหรือข้อยุติอย่างสวยงาม แต่ความแตกต่างกลับกลายเป็นความแตกแยกหรือการแตกความสามัคคีไป จุดนี้แหละที่เป็นสัญญาณอันตราย ถ้าการแตกความสามัคคีนั้นเป็นไปอย่างรุนแรงกว้างขวางและเป็นการถาวร แต่ก็นับว่าบ้านเมืองเรายังโชคดีเพราะเรามีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นศูนย์รวมดวงใจของผู้คนที่แตกความสามัคคี เป็นที่ทราบกันดีว่าประชาชนคนไทยทุกคนเคารพรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนยอมรับในเรื่องนี้ ปรากฏการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องยืนยันได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่คนทั้งประเทศสวมใส่เสื้อเหลือง และพร้อมใจถวายพระพรในวันที่พระองค์ท่านทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี หรือการที่ทุกคนแสดงความห่วงใยและวิตกกังวลในคราวที่พระองค์ทรงพระประชวร และในกรณีอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นข้อยืนยันประเด็นนี้ แต่เราน่าจะถามกันว่า เราได้แสดงความรักที่มีต่อพระองค์ท่านอย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือยังเราถวายพระพรแทบเบื้องพระยุคลบาทว่า “ขอจงทรงพระเจริญ” คำกล่าวนี้ เป็นความประสงค์และเจตนารมณ์จากความจริงใจของเรา เราอยากให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เราเคารพนับถือดลบันดาลหรือถวายการอภิบาลให้พระองค์ท่านทรงมีความสุขความเจริญยิ่งยืนนานเพื่อเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของเราอยากให้เราระลึกถึงภาพที่เห็นกันมาจนชินตา ตั้งแต่เรารู้ความมาจนถึงปัจจุบัน ภาพที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนดูแลพสกนิกรทุกแห่งหนทั่วประเทศอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ไม่มีฤดูกาล ทรงตรากตรำพระวรกายในการบุกป่าฝ่าดงไปในถิ่นทุรกันดาร ไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้องจะหนาวเหน็บหรือแห้งแล้งร้อนระอุเพียงใดก็ตาม หลายครั้งจะประทับนั่งพับเพียบบนพื้นดินที่แตกระแหงเพื่อทรงทอดพระเนตรแผนที่และทรงอยู่ซักถามปัญหาหรือความทุกข์ยากของประชาชนพระองค์ทรงสร้างความสุขให้แก่ประชาชนตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นับตั้งแต่ทรงครองราชย์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนานกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลก พระองค์ทรงเป็นพ่อแห่งแผ่นดินหรือพ่อของปวงชนชาวไทย ทรงปฏิบัติหน้าที่ของพ่อโดยครบถ้วนด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้

            หากถามกันว่า เมื่อระลึกรู้เช่นนี้แล้ว เราควรจะทำสิ่งใดที่จะทำให้พระองค์ท่านไม่ทรงเป็นทุกข์คนที่เป็นพ่อมีความทุกข์เมื่อเห็นลูก ๆ ทะเลาะกันฉันใด พระผู้ทรงเป็นพ่อแห่งแผ่นดินก็ทรงเป็นทุกข์ฉันนั้น ถ้าลูกของแผ่นดินมีความแตกแยก ไร้ความรักสามัคคีจนบ้านเมืองขาดความร่มเย็นเป็นสุข  ฉันแน่ใจว่าถ้าเราถามคนสองฝ่ายที่มีความแตกแยกและขัดแย้งกันอย่างสุดขั้วทีละคนด้วยภาษาสามัญว่า “คุณรักในหลวงไหม?” ฉันเชื่อว่าทุกคนจะตอบอย่างหนักแน่นเหมือนกันว่า “รักมาก” นี่แหละคือความเหมือนในความแตกต่าง  ฉันอยากให้คนไทยทุกคนมีความปรองดองกันเพื่อสร้างความสมานฉันท์ สามัคคีในชาติ อยากให้ทุกคนคิดถึงพระราชดำรัสซึ่งอัญเชิญจากหนังสือ ชีวิตงานตามคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว โดย รศ.มัลลิกา ตัณฑนันท์ และคณะ อันแสดงถึงพระราชประสงค์ที่จะให้ลูกของแผ่นดินหันหน้าเข้าหากัน

            “ความปรองดองกันนี้บางทีก็ยาก เพราะว่าตัวมีความคิดอย่างหนึ่ง ก็บอกความคิดของตัว และยอมฟังความคิดของอีกคนหนึ่ง ถ้าไม่สามารถที่จะปรองดองกันระหว่างสองคน ก็หาอีกคนหนึ่งมา ให้ฟังข้อคิดเห็นของแต่ละคน และอธิบายกันว่าทำไมมีความคิดอย่างนั้น ถ้าขัดกันจริง ๆ ก็ต้องหาทางที่จะให้ปรองดองจนได้ ไม่ว่าคนหนึ่งจะชนะ หรือคนหนึ่งจะแพ้ ต่างคนต่างชนะถ้าปรองดองกันมีแต่ชนะไม่มีแพ้ ถ้าเราทะเลาะกันมีแต่แพ้...”

             ถ้าเราซึ่งเปรียบประดุจลูกของพระองค์ท่านมีความสามัคคีปรองดองกันก็เท่ากับเรามีส่วนในการทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งที่จะสร้างความสบายพระราชหฤทัยแด่พระองค์ท่านนับเป็นการแสดงความกตัญอันเป็นเครื่องหมายของคนดี คนดีที่ได้ถวายความดีเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระผู้ทรงเป็น “พ่อ” แห่งแผ่นดินผืนนี้

(สโรชา : ความเหมือนในความแตกต่าง หนังสือความเหมือนในความแตกต่าง หน้า ๑๑๓–๑๑๘)

 

             ย่อบทความเรื่อง ความเหมือนในความแตกต่าง ของสโรชา จากหนังสือความเหมือนในความแตกต่าง หน้า ๑๑๓–๑๑๘ ความว่า ความแตกต่างทางด้านความคิดเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือการแตกความสามัคคีของคนในสังคม แต่สังคมไทยยังโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันให้สังคมสงบสุข คนไทยทุกคนให้ความเคารพรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเห็นได้จากปรากฏการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การร่วมใจกันสวมเสื้อเหลือง และถวายพระพรในวันที่พระองค์ท่านทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เหล่านี้เป็นเพราะคนไทยมีความรักและมุ่งหวังให้พระองค์ท่าน “ทรงพระเจริญ” และเชื่อว่าหากตั้งคำถามกับคนไทยแต่ละฝ่ายที่มีความแตกแยกและขัดแย้งกันอย่างสุดขั้วทีละคนว่า “คุณรักในหลวงไหม” เชื่อว่าทุกคนต้องตอบอย่างหนักแน่นตรงกันว่า “รักมาก” ในเมื่อมีความเหมือนในความแตกต่างเช่นนี้แล้ว เหตุใดคนไทยจึงไม่ร่วมกันทำให้พระองค์ท่านผู้เปรียบเสมือน “พ่อของแผ่นดิน” ที่ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทยมาตลอดพระชนมชีพมีความสุข และความสบายพระราชหฤทัย ด้วยการที่ลูกของแผ่นดินมีความปรองดองสามัคคีกัน เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้

 

สุขลักษณะในการอ่านหนังสือ

อ่านหนังสือในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ พักสายตาบ่อย ๆ และรับประทานอาหารเพื่อบำรุงสายตา ไม่ควรอ่านหนังสือในที่กระเทือนหรือกลางแดดจ้า เพราะทำให้เซลล์ประสาทตาเสื่อม

 

มารยาทในการอ่าน

เลือกอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ รักษาหนังสือให้คงสภาพเดิมและอ้างอิงเนื้อหาทุกครั้ง มีวิจารณญาณในการอ่าน ไม่อ่านออกเสียงดังหรือพูดคุยรบกวนผู้อื่น


การเลือกอ่านและพิจารณาหนังสือ

การเลือกหนังสืออ่าน ควรดูชื่อหนังสือให้ตรงตามความต้องการและเลือกฉบับใหม่ล่าสุด ดูประวัติผู้เขียน คำนำ สารบัญ บทวิจารณ์ หรืออ่านเนื้อหาผ่าน ๆ เพื่อทราบโครงเรื่องของหนังสือ แล้วพิจารณาเลือกหนังสือที่มีคุณค่าและมีกลวิธีในการเขียนที่ดี ซึ่งจะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการเลือกหนังสืออ่านไม่ว่าจะเป็น เพื่อทราบสาระของเรื่อง รายละเอียดของเรื่อง หรือจุดเด่นจุดด้อย

 

การเลือกอ่านหนังสือประเภทต่างๆ

๑.  หนังสือทั่วไป เช่น สารคดี บันเทิงคดี หนังสืออ้างอิงทางวิชาการ เลือกตามความสนใจ ให้ความรู้และความสนุกสนาน แฝงไปด้วยคติ มีการใช้ภาษาเหมาะสมและน่าเชื่อถือ

๒. สิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน เลือกอ่านหลาย ๆ ฉบับ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง นิตยสารและวารสาร จุลสาร เลือกอ่านตามความสนใจ

๓.  สื่อการอ่าน  เลือกอ่านอย่างมีวิจารณญาณจะได้ไม่หลงเชื่อข้อความโน้มน้าวใจ

 

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการค้นคว้าข้อมูลข่าวสารและความรู้

เทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ได้แก่ ซีดีรอมส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมทางด้านการศึกษา และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงทั่วโลก นับว่าเป็นแหล่งข่าวสารความรู้ที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ยังมี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสื่อความรู้ เช่น  e-Learning, e-book, e-library, e-classroom

 

สรุป

การอ่านหนังสือที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่เพียงว่าอ่านออก แต่ควรมีวิจารณญาณในการแยกแยะข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ความเข้าใจในสำนวนหรือจุดประสงค์ที่ผู้เขียนต้องการสื่อ จึงจะสามารถนำสาระความรู้จากเรื่องที่อ่านไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างเต็มที่

 

คำสำคัญ   การอ่านออกเสียง, การจับใจความสำคัญ, การแยกแยะข้อเท็จจริงและความคิดเห็น, การตีความ, การย่อเรื่อง, การเลือกหนังสือ, เทคโนโลยีสารสนเทศ 

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th