ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง การสร้างคำตามหลักเกณฑ์ของภาษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 60.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ การสร้างคำตามหลักเกณฑ์ของภาษา

 

การสร้างคำในภาษาไทย

คำมูล

          คำมูล คือ คำพื้นฐานที่มีความหมายชัดเจนในตัวเอง ใช้เรียกสิ่งของและบอกลักษณะอาการทั่วไป อาจเป็นคำไทยแท้หรือคำยืมจากภาษาต่างประเทศก็ได้ เช่น เชษฐา (บาลี-สันสกฤต) ผกา (เขมร) กิน (ไทย) โต๊ะ (จีน) เซ็น (เปลี่ยนรูปและเสียงมาจากคำว่า sign)

 

คำประสม

          คำประสม เกิดจากคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป อาจเป็นคำไทยแท้หรือคำที่มาจากภาษาต่างประเทศมารวมกันแล้วเกิดคำที่มีความหมายใหม่ โดยคำมูลที่มีความหมายหลักจะอยู่หน้า ส่วนคำขยายจะอยู่หลัง เช่น สะพานลอย ภูเขาไฟ แม่ครัว พลเรือน ดาวเทียม ชาวนา เครื่องจักร

          ข้อสังเกต

          –   หากรวมกันแล้วคงความหมายเดิม ไม่จัดว่าเป็นคำประสม เช่น แกงร้อนเกินไปจนกินไม่ได้ (ประโยค)

          –   คำประสมบางคำ คำตั้งอยู่หลัง คำขยายอยู่หน้า โดยคำตั้งมักมาจากภาษาอื่นๆ คำขยายมักมากจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น พระแสง ราชวัง

          –   คำประสมจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของคำตั้ง เช่น ถั่วเขียว (นาม) กินใจ (กริยา)

 

คำซ้อน

          คำซ้อน เกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน หรือตรงข้ามกัน อาจเป็นคำไทยแท้หรือคำจากภาษาอื่นมาซ้อนกัน แล้วได้ความหมายใหม่ที่ชัดเจนขึ้นหรือกว้างขึ้น โดยความหมายหลักอาจอยู่พยางค์ใดก็ได้และอาจมีสัมผัสระหว่างคำ เช่น เนื้อตัว รูปร่าง เสื่อสาด แบบฟอร์ม พี่น้อง ดูแล ถูกแพง ยากดีมีจน

          ชนิดของคำซ้อน

          ๑. คำซ้อนเพื่อความหมาย เน้นความหมาย (เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน ตรงข้ามกัน) เช่น มากมาย ดีร้าย

          ๒. คำซ้อนเพื่อเสียง เน้นเสียง ทำให้เกิดความไพเราะ เช่น ขรุขระ โผงผาง ตูมตาม จู้จี้ อ้างว้าง

 

คำซ้ำ

          คำซ้ำ เกิดจากการกล่าวซ้ำคำมูล คำใหม่ที่ได้อาจมีความหมายหนักขึ้น เบาลง หรือเปลี่ยนไป เช่น พี่ ๆ อยู่ในห้อง (พหูพจน์) ซ้วยสวย (เน้นหนัก) พูดดัง ๆ (คำสั่ง) งู ๆ ปลา ๆ (เปลี่ยนความหมาย)

          ลักษณะของคำซ้ำ อาจซ้ำคำมูล ซ้ำคำซ้อน ซ้ำคำประสม หรือซ้ำโดยเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ก็ได้ เช่น เด็ก ๆ อด ๆ อยาก ๆ ลม ๆ แล้ง ๆ เบื๊อเบื่อ

          ข้อสังเกต

          –   คำที่ออกเสียงซ้ำกันบางคำไม่ได้เป็นคำซ้ำ เพราะไม่ได้เกิดคำใหม่ เช่น เขาเอาแต่ซนซนตลอดวัน

          –   คำบางคำมีเสียงพยางค์ซ้ำกันแต่ไม่ใช่คำซ้ำ เช่น จะจะ นานา ไยไย

 

สรุป     

          การสร้างคำในภาษาไทย มีทั้งคำที่สร้างโดยเฉพาะ เรียกว่า คำมูล และคำที่สร้างขึ้นใหม่จากคำมูลเพื่อให้มีคำใช้มากขึ้น ได้แก่ คำประสม คำซ้ำ คำซ้อน

 

คำสำคัญ    คำมูล, คำประสม, คำซ้ำ, คำซ้อน

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th