ภาษาไทย ม. 3 เรื่อง พระบรมราโชวาท
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 1.1M views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 
 

 



นำเรื่อง
   พระบรมราโชวาท คือ คำสอนของกษัตริย์ที่พระราชทานแก่กลุ่มชนต่าง ๆ เป็นได้ทั้งคำพูดหรือบทพระราชนิพนธ์ ส่วนมากจะเป็นคำพูด แล้วจึงนำมาตีพิมพ์เผยแพร่

   “พระบรมราโชวาท” ที่จะได้ศึกษานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ เพื่อพระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสชุดแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ต่างประเทศ ได้แก่ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช) เนื้อความแสดงความผูกพันระหว่างรัชกาลที่ ๕ และพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ ในฐานะของพ่อและลูก เป็นคำสอนที่มีคุณค่านำมาเป็นแบบในการดำเนินชีวิต



 

 

 

 

 

 



ศัพท์น่ารู้
เขม็ดแขม่                                        รู้จักประหยัดในการใช้จ่าย
คุมเหง                                            ข่มเหง รังแก
ตั้งลงไว้                                          กำหนดไว้
ทิฐิ                                                 ดื้อดึงในความเห็นตน
บรรดาศักดิ์                                      ฐานะของขุนนางซึ่งได้รับพระราชทานเนื่องจากตำแหน่งหน้าที่ทาง
                                                      ราชการ เช่น ขุน หลวง พระ พระยา
ปฏิญาณ                                          ให้คำมั่นสัญญา
ฟุ้งซ่าน                                           ในที่นี้หมายถึง มากเกินไป ใช้ในความว่า“อย่าไปอวดมั่งอวดมี
                                                     ทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด”
มลทิน                                             ความมัวหมอง
มานะ                                               ความอวดดี
ยศ                                                  เครื่องกำหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล เช่น พลตำรวจเอก ร้อยตรี

 

 


ประวัติผู้แต่ง
   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) พระองค์เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีพระองค์ที่ ๕ ขณะพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา และเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์ได้เสด็จออกทรงพระผนวชประมาณ ๑ เดือน จากนั้นทรงจัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง





   พระองค์ทรงปรับปรุงบ้านเมืองให้ทัดเทียมตะวันตก เช่น ประกาศเลิกทาส เป็นต้น และสนพระราชหฤทัยด้านการศึกษา จึงได้ส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการที่ต่างประเทศ ทรงสนับสนุนกิจการโรงเรียนเพื่อหวังให้นำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติ

   ผลงานด้านการประพันธ์ของพระองค์มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น พระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน, บทละครเรื่อง เงาะป่า, พระราชพิธีสิบสองเดือน

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สิริรวมพระชนมายุ ๕๘ พรรษา

 



สาระน่ารู้
   พระราชประวัติของพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์โดยสังเขป


 


 

ขุนนางฝรั่ง
   ขุนนางหรือเจ้านายฝรั่ง (อังกฤษ) มีบรรดาศักดิ์เรียงจากสูงไปหาต่ำ ดังนี้
   ๑. Duke เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามตระกูล สามารถนำชื่อตำแหน่งวางไว้หน้านามโดยตรง
   ๒. Marquis เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามตระกูล สามารถนำชื่อตำแหน่งวางไว้หน้านามโดยตรง
   ๓. Earl เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามตระกูล มักเรียกคำนำหน้าว่า Lord
   ๔. Viscount เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามตระกูล มักเรียกคำนำหน้าว่า Lord
   ๕. Baron เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามตระกูล มักเรียกคำนำหน้าว่า Lord
   ๖. Baronet เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามตระกูล มักเรียกคำนำหน้าว่า Sir
   ๗. Knight เป็นตำแหน่งเฉพาะบุคคล มีคำนำหน้าว่า Sir


   กรณีที่เป็นเชื้อพระวงศ์ จะใช้คำนำหน้า ได้แก่ His (Her) Royal Highness Prince (Princess) ใช้กับพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า พระเจ้าหลานเธอที่เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า His (Her) Highness Prince (Princess) ใช้กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า His (Her) Serenc Highness Prince (Princess)ใช้กับหม่อมเจ้า

 

 


แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม


   เนื้อเรื่อง
   พระบรมราโชวาทนี้สะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษา จึงส่งพระราชโอรสไปศึกษาที่ต่างประเทศ เพื่อจะได้นำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ โดยพระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแด่พระเจ้าลูกยาเธอที่จะเสด็จไปศึกษาต่างประเทศในหลักปฏิบัติอันสมควร

 


   ศิลปะการประพันธ์
   ๑. ใช้คำว่า “จง...” ในประโยคที่เป็นคำเตือน ให้ความรู้สึกเหมือนพ่อแม่ที่ตามไปตักเตือนลูก เช่น


   “...จงนึกไว้ให้เสมอว่าเงินทองที่แลเห็นมาก ๆ ไม่ได้เป็นของหามาได้โดยง่ายเหมือนเวลาที่จ่ายไปง่ายนั้นเลย...”


   ๒. ใช้ภาษาสั่งสอนที่คมคายกินใจ โดยการใช้โวหารเปรียบเทียบที่รุนแรง เช่น


   “...ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่ง ๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบายดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากิน ๆ นอน ๆ แล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่างยังมีหนังมีเขามีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างสัตว์ดิรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก...”


   ๓. ใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพที่ชัดเจน เช่น


   “...ชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา...”

 


   ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนควรประพฤติตัวให้เหมาะสม ตั้งใจเรียน รู้จักวางตัว และใช้จ่ายอย่างประหยัด จึงจะเกิดผลดีแก่ตัวเอง

 


   การนำไปใช้ในชีวิตจริง
   ๑. เราไม่ควรถือยศศักดิ์ เพราะจะทำให้เข้าสังคมลำบากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
   ๒. ผู้เล่าเรียนควรรู้ค่าของเงินและตระหนักในความลำบากพ่อแม่ที่หาค่าใช้จ่ายมาให้
   ๓. เราควรมีความรู้ในวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ช่วยเปิดกว้างด้านอาชีพ ส่วนคณิตฯ จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สูง

 


สรุป
   พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นงานเขียนรูปแบบจดหมายร้อยแก้วที่พระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ที่เสด็จไปศึกษาวิชาการ ณ ต่างประเทศ แสดงให้เห็นความรักความห่วงใยของพ่อที่มีต่อลูก และแนวคิดในฐานะกษัตริย์ ซึ่งสามารถน้อมนำไปใช้ในหลักการดำเนินชีวิตได้

 



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th