ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 78K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

 

 

องค์ประกอบของการสื่อสาร
การสื่อสารแต่ละครั้งจะสมบูรณ์และประสบความสำเร็จเมื่อมีองค์ประกอบ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ผู้ส่งสาร คือ ผู้พูด เขียน หรือแสดง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว จะต้องเรียบเรียงให้ชัดเจนและเหมาะสมกับผู้รับสาร
๒. สาร คือ ข้อความที่ส่งไปถึงผู้รับสาร ต้องสมบูรณ์และสื่อความหมายชัดเจน
๓. สื่อ คือ ตัวกลางที่ใช้ถ่ายทอดสาร เช่น คลื่นเสียง กระดาษ สายโทรศัพท์
๔. ผู้รับสาร คือ ผู้ฟัง อ่าน หรือรับชมข้อความ ต้องจับประเด็นและพิจารณาสารเพื่อตอบสนองได้ตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร 

การแยกองค์ประกอบของการสื่อสารตามสถานการณ์ พิจารณาสถานการณ์แล้ววิเคราะห์องค์ประกอบ ๔ ประการ เช่น “ฉันโทรศัพท์หาแม่” แยกองค์ประกอบได้ว่า ผู้ส่งสาร คือ ฉัน, สาร คือ คำพูด, สื่อ คือ โทรศัพท์, ผู้รับสาร คือ แม่


ภาษาในการสื่อสาร
๑. วัจนภาษา คือ ถ้อยคำในภาษาพูดและภาษาเขียน ใช้สื่อความโดยตรงระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร
๒. อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำ ใช้เสริมวัจนภาษา เช่น ท่าทาง สายตา น้ำเสียง รวมทั้งเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ


ภาษาพูด ภาษาเขียน
๑. ภาษาพูด
     ๑) ภาษาปาก เป็นกันเอง คำง่าย กะทัดรัด อาจเป็นคำไม่สุภาพ ภาษาถิ่น คำสแลง มักใช้กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว เช่น ขับรถอย่างกับเป็นเจ้าถนน ไม่เกรงใจใครเลย
     ๒) ภาษากึ่งทางการ ใช้สนทนาทั่วไป สุภาพกว่าภาษาปาก ใช้กับคนไม่ค่อยสนิท ขอบคุณมากนะคะที่กรุณาช่วยเหลือมาตลอด
๒. ภาษาเขียน เลือกใช้ภาษาอย่างเคร่งครัด เป็นระเบียบแบบแผน สุภาพ อาจใช้คำเฉพาะหรือศัพท์วิชาการ เช่น วันนี้ผมจะชี้แจงให้ทุกท่านทราบ


ข้อสังเกตในการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียน
๑. ภาษาเขียนสละสลวยกว่าภาษาพูด เช่น
ภาษาพูด เธอนี่เดินซุ่มซ่ามจริง ดูซิเลอะเทอะไปหมดแล้ว
ภาษาเขียน เธอเดินไม่ระมัดระวังเลย เปื้อนหมดแล้ว
๒. อาจตัดบางสำนวนในภาษาพูดทิ้งเมื่อเรียบเรียงเป็นภาษาเขียน เช่น
ภาษาพูด ฝนตกหนักอย่างกับฟ้ารั่วขนาดนี้ เราจะกลับบ้านยังไงกันนี่
ภาษาเขียน ฝนตกหนักขนาดนี้ เราจะกลับบ้านได้อย่างไร
๓. ภาษาพูดมักมีหางเสียง เช่น นะ สิ ล่ะ เถอะแต่ภาษาเขียนไม่มี เช่น
ภาษาพูด ขอฉันไปด้วยคนสิ
ภาษาเขียน ขอฉันไปด้วยคน
๔. ภาษาพูดอาจออกเสียงไม่เหมือนรูปเขียน แต่ก็ต้องเขียนให้ถูกต้องตามหลักพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เช่น เมื่อใด ออกเสียงเป็น เมื่อไหร่ เขา ออกเสียงเป็น เค้า
๕. ภาษาพูดมักใช้คำสรรพนามตามหลังคำนาม เช่น คุณยายท่านเลี้ยงดูฉันเป็นอย่างดี คำว่า ท่าน หมายถึง คุณยาย จึงเป็นประธานร่วมของประโยค
ดังนั้นการเลือกใช้ภาษาพูดหรือภาษาเขียนต้องพิจารณาจากสถานการณ์ จุดมุ่งหมาย สถานภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร


สำนวนไทย
สำนวนไทย คือ ถ้อยคำคมคาย ความหมายกระชับ เป็นค่านิยมของคนไทยที่ชอบพูดเชิงเปรียบหรือให้ข้อคิดด้วยคำคล้องจอง มี ๓ ชนิด ได้แก่
๑. สำนวน คือ ถ้อยคำเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย มีลักษณะดังนี้
     ๑. ใช้คำสัมผัสคล้องจองเพื่อให้ไพเราะน่าฟัง มีจังหวะการอ่านแบบ ๔ คำ เช่น อดอยากปากแห้ง ๖ คำ เช่น ปากเป็นเอก เลขเป็นโท ๘ คำ เช่น รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี และ ๑๐ คำ เช่น สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แต่ทั้งนี้ บางสำนวนก็ไม่มีคำคล้องจองกัน เช่น น้ำน้อยแพ้ไฟ ทองไม่รู้ร้อน
     ๒. ใช้คำซ้ำ ในสำนวนที่มี ๔ คำ เช่น ปากหอยปากปู เข้าด้ายเข้าเข็ม
     ๓. ใช้การเปรียบเทียบ เช่น โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน หมายถึง ชายชราที่มีภรรยาสาว
๒. สุภาษิต คือ ถ้อยคำสื่อความหมายสอนใจ มีคำคล้องจองหรือไม่ก็ได้ เช่น น้ำขุ่นอยู่ใน น้ำใสอยู่นอก หมายถึง เก็บความไม่พอใจไว้ข้างใน ให้แสดงแต่ท่าทางเป็นมิตรต่อผู้อื่น
๓. คำพังเพย คือ ถ้อยคำมีความหมายแฝงซ่อนอยู่ ไม่ได้มุ่งเป็นคำสอนแบบสุภาษิต เช่น อมพระมาพูด หมายถึง พยายามพูดให้น่าเชื่อถือ
๔. การใช้สำนวน สุภาษิต และคำพังเพย ต้องใช้ให้ถูกความหมาย และสอดคล้องกับสถานการณ์ นอกจากใช้สำนวนไทยถูกต้องแล้ว ยังต้องใช้สำนวนภาษาในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องด้วยคือการเรียงประโยคแบบ ประธาน กริยา กรรม รวมทั้งเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและระดับบุคคล

 

สำนวน:      อ้อยเข้าปากช้าง      ความหมาย      สิ่งที่เสียไปแล้ว ย่อมเอาคืนได้ยาก
                                          ตัวอย่าง          ฉันให้เงินเขาเอง อ้อยเข้าปากช้างแล้ว จะไปขอคืนคงยาก
สุภาษิต:     พึ่งลำแข้งตัวเอง      ความหมาย      รู้จักทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร
                                          ตัวอย่าง          พ่อสอนให้มีศักดิ์ศรี รู้จักพึ่งลำแข้งตัวเอง อย่าให้ใครมาดูถูก
คำพังเพย:   เลือกนักมักได้แร่      ความหมาย       เลือกมากมักได้ของที่ไม่ดี (มักใช้กับการเลือกคู่ครอง)
                                           ตัวอย่าง          คู่ครองที่มีความรู้ รูปร่างหน้าตาดี มีทรัพย์สินมาก นั้นหายาก            
                                                               ยิ่งเลือกมากจะเข้าตำราเลือกนักมักได้แร่เสียเปล่า ๆ 

๕. ประเภทของสำนวน
     ๑. สำนวนที่มีความหมายแฝง เช่น ถือหาง ความหมายตรงคือ การบังคับหางเสือเรือให้แล่นไปทิศที่ต้องการ ความหมายแฝงคือ การยุให้ทำจนเหลิง
     ๒. คติมุ่งสั่งสอน เช่น ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ หมายถึง ให้กระทำการอย่างรอบคอบ
     ๓. สำนวนเปรียบเทียบ เช่น กระดี่ได้น้ำ หมายถึง ดีใจจนตัวสั่น เหมือนปลากระดี่ที่คนนำไปปล่อยลงน้ำ
     ๔. สำนวนแบบอุปมาอุปไมย เช่น งงเป็นไก่ตาแตก หมายถึง สับสน เหมือนไก่ชนที่ตาแตก
     ๕. คำอ้างอิง เช่น ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก หมายถึง การสั่งสอนเด็กย่อมง่ายกว่าสอนผู้ใหญ่
๖. คุณค่าของสำนวนไทย
     ๑. สั่งสอนให้ประพฤติดี เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
     ๒. สะท้อนความเชื่อในสังคมไทย เช่น เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด
     ๓. สะท้อนวิถีชีวิต เช่น ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน
     ๔. ช่วยสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษา

 

สรุป
การสื่อสารในชีวิตประจำวันให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ผู้สื่อสารต้องมีความรู้เรื่ององค์ประกอบของการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน รวมทั้งสำนวนไทย

 

คำสำคัญ  องค์ประกอบของการสื่อสาร  วัจนภาษา  อวัจนภาษา  สำนวน สุภาษิต  คำพังเพย

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th