เซลล์ประสาท
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 252.4K views



  
เซลล์ประสาท  (nerve cell)
 
ร่างกายคนมี  เซลล์ประสาท  (nerve cell) หรือ นิวตรอน  (neuron)จำนวนมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้และการตอบสนอง แต่ละเซลล์อาจมีการเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเซลล์ประสาทอื่นเป็นพันๆเซลล์ นับเป็นเรื่องอัศจรรย์มากที่เซลล์จำนวนมากสามารถทำงานเกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณระหว่างสิ่งเร้าภายนอกกับภายในร่างกายได้อย่างมีระบบ
         เซลล์ประสาท ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญสองส่วน คือ ตัวเซลล์  (cell body) และ  ใยประสาท  (nerve fiber) ตัวเซลล์เป็นส่วนของไซโทรพลาซึมและนิวเคลียส ตัวเซลล์มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-25 ไมโครเมตร ภายในมีออร์แกเนลล์ที่สำคัญ คือไมโทรคอนเดรีย เอนโดรพลาสมิกเรติคูลัมและกอลจิคอมเพล็กซ์จำนวนมาก ใยประสาทเป็นส่วนของเซลล์ที่ยื่นออกมาตัวเซลล์มีลักษณะเป็นแขนงเล็กๆ ใยประสาทที่นำกระแสประสาทเข้าสู่ตัวเซลล์ เรียกว่า เดนไดรต์ (dendrite) ใยประสาทที่นำกระแสประสาทออกจากตัวเซลล์เรียกว่า แอก ซอน  (axon) เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์จะมีเดนไดรต์แยกออกจากตัวเซลล์หนึ่งใยหรือหลายใยส่วนแอกซอนมีเพียงใยเดียวเท่านั้น
ภาพที่ 1 โครงสร้างเซลล์ประสาท ก. ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ ข. ภาพวาด
กรณีที่ใยประสาทยาว ซึ่งมักเป็นใยประสาทของแอกซอนจะมี  เยื่อไมอีลิน  (myelin sheath) มาหุ้มใยประสาท เยื่อไมอีลินมีสารจำพวกลิพิดเป็นองค์ประกอบ เมื่อตรวจภาคตัดขวางของเยื่อไมอีลินด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่าเยื่อไมอีลินติดต่อกับ  เซลล์ชวันน์  (Schwann cell) ซึ่งเป็นเซลล์ค้ำจุนชนิดหนึ่ง แสดงว่าเยื่อไมอีลินเป็นส่วนหนึ่งของเยื่อหุ้มของเซลล์ชวันน์ ส่วนของแอกซอนตรงบริเวณรอยต่อระหว่างเซลล์ชวันน์แต่ละเซลล์เป็นบริเวณที่ไม่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม เรียกว่า โนดออฟแรนเวียร์  (node ofRanvier)
 
ภาพที่ 2 เยื่อไมอีลินติดต่อกับเซลล์ชวันน์ 
         เซลล์ประสาทจำแนกตามหน้าที่ได้ 3 ชนิด ได้แก่
         เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (sensory neuron) คือ เซลล์ประสาทที่รับกระแสประสาทจากหน่วยรับความรู้สึกแล้วถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังเซลล์ประสาทสั่งการโดยอาจผ่านเซลล์ประสาทประสานงานหรือไม่ผ่านก็ได้ ตัวเซลล์ประสาทรับความรู้สึกอยู่ที่ปมประสาทรากบนของไขสันหลัง
        เซลล์ประสาทสั่งการ  (motor neuron) มักมีใยประสาทแอกซอนยาวกว่าเดนไดรต์ อาจยาวถึง 1 เมตร เพราะเซลล์ประสาทสั่งการที่อยู่ในไขสันหลังต้องส่งกระแสประสาทออกจากไขสันหลัง เพื่อนำกระแสประสาทไปยังหน่อยปฏิบัติงานเช่นกล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากไขสันหลังมาก
        เซลล์ประสาทประสานงาน (association neuron) เซลล์ประสาทชนิดนี้อยู่ในสมองและไขสันหลัง จะเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทรับความรู้สึกกับเซลล์ประสาทสั่งการ ใยประสาทของเซลล์ประสาทประสานงาน อาจมีความยาวเพียง 4-5 ไมโครเมตรเท่านั้น
เซลล์ประสาทมีรูปร่างและจำนวนใยประสาทแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดและหน้าที่ของเซลล์ ถ้าใช้จำนวนใยประสาทต่อหนึ่งเซลล์ประสาทเป็นหลัก อาจแบ่งเซลล์ประสาทออกเป็น 3 ประเภทคือ  เซลล์ประสาทขั้วเดียว (unipolar neuron) เป็นเซลล์ประสาทที่มีใยประสาทแยกออกมาจากตัวเซลล์เพียง 1 เส้นใย ได้แก่ เซลล์รับความรู้สึกที่มีตัวเซลล์อยู่ในปมประสาทรากบนของไขสันหลังเซลล์ประสาทบางชนิดมีใยประสาทแยกออกมาจากตัวเซลล์ 2 เส้นใยเรียกว่า  เซลล์ประสาทสองขั้ว  (bipolar neuron) เช่น เซลล์ประสาทที่บริเวณเรตินา เซลล์รับกลิ่นและเซลล์รับเสียง อย่างไรก็ตามเซลล์ประสาทส่วนใหญ่มีเดนไดรต์แยกออกมาจากตัวเซลล์มากมายและมีแอกซอน 1 เส้นใย เรียกว่า เซลล์ประสาทหลายขั้ว  (multipolarneuron) เช่น เซลล์ประสาทประสานงานและเซลล์ประสาทสั่งการ
ภาพที่ 3 รูปร่างเซลล์ประสาทในสัตว์ชั้นสูง
ก.เซลล์ประสาทขั้วเดียว  ข. เซลล์ประสาทสองขั้ว  ค. เซลล์ประสาทหลายขั้ว 
      อย่างไรก็ตามเซลล์ประสาทไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ แต่จะสานต่อกันเป็นเครือข่าย ส่วนปลายแอกซอนของเซลล์ประสาทอาจแตกออกเป็นกิ่งก้านหลายอัน แล้วไปอยู่ชิดกับตัวเซลล์ประสาทหรือส่วนของเดนไดรต์ของเซลล์ประสาทอื่นหรือเซลล์กล้ามเนื้อหรือหน่วยปฏิบัติงานเพื่อถ่ายทอดกระแสประสาท บริเวณที่อยู่ชิดกันนั้น เรียกว่า ไซแนปส์  (synapse) ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
 
ภาพที่ 4 ไซแนปส์ระหว่างเซลล์ประสาทรับความรู้สึก เซลล์ประสาทประสานงาน และเซลล์ประสาทสั่งการ
 
 
เครดิต :  บทความปี 2546 หัวข้อ:เซลล์ประสาทและการรับส่งกระแสประสาท
https://www.ipst.ac.th/biology/Bio-Articles/monthly-mag.html