สมเด็จพระสุริโยทัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 337.1K views



พระราชประวัติ

พระราชประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง ๗ เดือน เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่า-รามัญเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามี จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระราชสวามีไว้ เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนาน - นามว่า "วัดสบสวรรค์" (หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์)

พระราชโอรสและพระราชธิดา

สมเด็จพระสุริโยทัย มีพระราชโอรส-พระราชธิดา ๕ พระองค์ ซึ่งน่าจะเรียงลำดับดังนี้

พระราเมศวร พระราชโอรสองค์โต เป็นพระมหาอุปราช ถูกจับเป็นองค์ประกันแก่พม่า และสิ้นพระชนม์ระหว่างไปหงสาวดี

พระบรมดิลก พระราชธิดา เสียพระชนม์ชีพพร้อมพระมารดาในสงครามคราวเสียพระสุริโยทัย

พระสวัสดิราช พระราชธิดา ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระวิสุทธิกษัตรีย์ อัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและเป็นพระชนนีของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ

พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์รอง ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ใน ปี พ.ศ.๒๑๑๒

พระเทพกษัตรี พระราชธิดา ภายหลังถูกส่งตัวถวายแด่พระไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งระหว่างการเดินทางถึงชายแดนสยามประเทศพระนางถูกพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งพม่าทำการชิงตัวไปยังกรุงหงสาวดี สาเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองชิงตัวไปก็เพราะพระเทพกษัตรีเป็นหน่อเนื้อของพระสุริโยทัย

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย

วีรกษัตรีแห่งกรุงศรีอยุธยา

 

ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๓๔ ถึงพ.ศ. ๒๐๗๒ เป็นสมัยที่ราชอาณาจักร อโยธยามีเจ้าเหนือหัวครองราชย์ ถึง ๒ พระองค์ หนึ่งนั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ ราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่ กรุง อโยธยาศรีรามเทพนคร ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงพระนามว่า พระอาทิตยา ครองราชย์อยู่ยังเมืองพิษณุโลกอันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ

พระสุริโยไท ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือแห่งราชวงศ์พระร่วง ได้อภิเษกสมรสกับพระเยาวราช จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือพระเฑียรราชา โอรสขององค์อุปราชพระอาทิตยา วงศ์ กับพระสนม

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สิ้น พระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๐๗๒ พระอาทิตยาวงศ์ ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาเมืองหลวง รวมถึงพระเฑียรราชา และพระสุริโยไทซึ่งมีพระโอรส พระธิดาทั้งสิ้น ๕ พระองค์ ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช

ครั้นสมเด็จพระบรมราชาหน่อ พุทธางกูร สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ พระรัฏฐาธิราชกุมารพระโอรส วัย ๕ พรรษา อันประสูติจากพระอัครชายาวัย ๑๗ พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทนพระไชยราชาผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ระหว่างนั้นบ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางทุจริตคือพระยายมราชบิดาของอัครชายา พระไชยราชาจึงให้สำเร็จโทษพระรัฏฐาธิราชตามราชประเพณีโบราณ และขึ้นครองราชย์แทน ออกรบปราบปรามหัวเมืองอยู่ตลอดจึงทรงแต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้น เป็นพระอุปราชว่าราชการแทนพระองค์ที่กรุง อโยธยา

ต่อมาพระมเหสีของพระไชยราชา คือท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับขุนชินราช ผู้ดูแลหอพระ สมคบลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า โอรสพระไชยราชา จึงได้ขึ้นครองราชย์แทนขณะที่มีพระชนม์ ๑๐ พรรษา แต่ต่อมาก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนา ขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า ขุน วรวงศา

ระหว่างนั้นพระเฑียรราชาได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไทครองพระองค์อยู่ในวัง โดยมีขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเส่หานอกราชการ หลวงศรียศ คุ้มกันภัยให้ และต่อมาก็ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง อัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่าพระมหาจักรพรรดิ ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑

ในปี ๒๐๙๑ นี่เอง ที่ทางพม่านำโดยกษัตริย์นามว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้รวบรวม กำลังแผ่ขยายอำนาจรุกรานไทย เดินทัพมายังอยุธยา เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี เหตุการณ์ ตรงนี้เองที่ได้กล่าวถึงพระสุริโยไทว่าทรงปลอมพระองค์เป็นชายเข้าสู้รบกับพม่าจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานกันว่าในสงครามครานั้นพระองค์มิได้สิ้นพระชนม์เพียงพระองค์เดียว หากแต่มีพระราชบุตรีอีกพระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้นด้วย

จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แต่งขึ้นในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ได้กล่าวถึงศึกระหว่างพระมหาจักรพรรดิกับ พระเจ้าหงสาวดี และการสูญเสียพระสุริโยไท ไว้ว่า

"เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรับศึกหงสานั้น สมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นชนม์กับคอช้างนั้น"

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้บรรยายการต่อสู้ครั้งนั้นไว้โดยพิสดารว่า

         "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกเช่นนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยไทเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับพระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยไทแหงนหงายเสียทีพระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสะพระสุริโยไทขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวร กับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันเข้าแก้พระราชมารดาได้ทันที พอพระชนนีสิ้นพระ ชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก

            สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึงให้เชิญพระศพพระสุริโยไท ผู้เป็นพระอัคร มเหสีมาไว้สวนหลวง" พระศพสมเด็จพระสุริโยไทได้รับการเชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวงตรงที่สร้างวังหลัง ต่อมาเมื่อเสร็จสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยไทที่ในสวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างพระอารามขึ้นทรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ เรียกว่าวัดสวนหลวงสบสวรรค์ หรือบางแห่งเรียก วัดศพสวรรค์

            เรื่องต่อจากนั้นก็มีว่า ทัพพม่าไม่สามารถจะตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้เพราะฝ่ายไทยได้เปรียบในที่มั่น และหัวเมืองฝ่ายไทยยังมีกำลังมาก โดยเฉพาะทัพของพระมหาธรรมราชาซึ่งเสด็จไปครองพิษณุโลก ได้ยกมาช่วยตีกระหนาบ พระเจ้าหงสาวดีจึงโปรดให้เลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่จากเอกสารพม่าที่จดจากปากคำให้การเชลยไทยคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ในชื่อว่า คำ ให้การชาวกรุงเก่าบันทึกความทรงจำหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ เล่าว่าศึกครั้งนี้ พระมหาจักรพรรดิได้รับคำท้าทายที่จะประลองยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แต่เมื่อถึงวันนัด หมายกลับประชวร พระบรมดิลกพระราชธิดาพระองค์หนึ่งจึงรับอาสาฉลองพระองค์ปลอม เป็นชายขึ้นช้างทำยุทธหัตถีเสียทีถูกพระแสงของ้าวกษัตริย์พม่าสิ้นพระชนม์ นับเป็นหลักฐานแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว พระนามของพระนางที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ ซึ่งบันทึกหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชสมบัติโดยมีพระนางอยู่ในตำแหน่งมเหสี พระราชพงศาวดารมากล่าวพระนามอีกครั้งเมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ยกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยาหลังการเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน โดยครั้งนั้นพระนางได้ป้องกันพระราชสวามีไม่ให้ได้รับอันตรายโดยไสช้างขวางกั้นพระราชสวามีจากแม่ทัพพม่า จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

            นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยว่าสมเด็จพระสุริโยไททรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้าง "พลายทรงสุริยกษัตริย์" สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ซึ่งวิเคราะห์แล้วถือเป็นช้างที่สูงมากในขบวนช้างแม่ทัพฝ่ายไทย เพราะช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิคือ พลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว ช้างทรงพระราเมศวร คือพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว และช้างทรงพระมหินทราธิราช คือพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ส่วนช้างของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ คือช้างต้นพลายมงคลทวีปนั้นสูงถึงเจ็ดศอก และช้างของพระเจ้าแปรผู้ประหารพระนาง คือพลายเทวนาคพินายสูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว สูงกว่าช้างทรงพระสุริโยไทคืบเจ็ดนิ้วเต็ม ร่องรอยแห่งอดีตกาลสั่งสมผ่านบันทึกประวัติศาสตร์ แม้นไม่อาจสัมผัสได้ด้วยสายตา แต่วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรสตรีผู้ทรงนาม "พระสุริโยไท" จะยังคงประจักษ์อยู่ในหัวใจ อนุชนรุ่นหลังมิรู้ลืมเลือน

 พระราชานุสาวรีย์สุริโยทัย

เป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย วีรสตรีไทยสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง

ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่

เจดีย์พระศรีสุริโยทัย

เจดีย์พระศรีสุริโยทัย อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก อยู่ติดกับสำนักงานโบราณคดี

และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 ถนนอู่ทอง อ. พระนครศรีอยุธยา จ. อยุธยา

รูปและเนื้อหาบางส่วน : https://www.royjaithai.com/phrasrisuriyotai.php

ที่มา : https://academicdev.aru.ac.th/content/view/45/10/