ร.๒ : ปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 10.1K views




ร.๒ : ปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถพิเศษนอกเหนือจากการทหารและการปกครอง  คือทรงเป็นศิลปินและกวีด้วยนั้นมีหลายพระองค์   แต่ถ้าจะกล่าวถึงพระองค์ที่ถือกันว่าทรงเป็นปฐมบรมศิลปินก็ย่อมเข้าใจได้ในทันทีเช่นกันว่า  คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.๒  ผู้ทรงมีผลงานด้านศิลปะมากมายหลายแขนงตกทอดเป็นมรดกของชาติมาจนทุกวันนี้  จึงได้มีการกำหนดให้ใช้วันพระราชสมภพของพระองค์ (๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐) เป็นวันศิลปินแห่งชาติ

     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  ที่จริงจะกล่าวว่าทรงเป็นกษัตริย์นักรบก็น่าจะได้เพราะได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถในการศึกสงครามมาตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษาเท่านั้นในสมัยกรุงธนบุรี   แม้เมื่อพระบรมชนกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว   พระองค์ก็ยังต้องเสด็จราชการสงครามอีกถึง ๔ ครั้ง  ครั้งสำคัญที่สุดคือ ศึกลาดหญ้าและท่าดินแดง  แต่เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระองค์เองที่เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ  กลับเป็นช่วงเวลาที่แทบจะว่างเว้นจากศึกสงครามเลยทีเดียว  พม่ามีหนังสือแจ้งขอเป็นไมตรีมาก็ทรงยอมรับไมตรี จึงเป็นการปิดฉากสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่างประเทศทั้งสอง  เนื่องจากทรงมีนโยบายที่จะรักษาไมตรีกับนานาประเทศ  เป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและอุดมสมบูรณ์  ทำให้ทรงมีเวลาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นการใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสำคัญๆ  และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ  ทรงบำเพ็ญพระราชานุกิจที่ทำให้พระสงฆ์ต้องตื่นตัวค้นคว้าศึกษาข้อธรรมในพระพุทธศาสนาให้ถ่องแท้อยู่เสมอ   ที่สำคัญได้ทรงฟื้นฟูประเพณีบำเพ็ญกุศลวันวิสาขบูขา   และทรงสามารถแสดงออกซึ่งพระปรีชาสามารถด้านศิลปะได้เต็มที่ด้วย 

     ในด้านศิลปะการดนตรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีความชำนาญและโปรดซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง  ทรงมีซอคู่พระหัตถ์อยู่คันหนึ่งพระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด”  มีเรื่องเล่ากันว่า   คืนวันหนึ่งทรงสีซอจนดึกแล้วเสด็จเข้าที่พระบรรทม  ทรงสุบินนิมิตรว่าได้เสด็จในรมณียสถานแห่งหนึ่งที่ดวงจันทร์สาดแสงนวลทั่วบริเวณ  ทั้งมีเสียงดนตรีไพเราะเพราะพริ้ง  เมื่อทรงตื่นบรรทมได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงไว้  เพลงนี้คือเพลงบุหลันลอยเลื่อนหรือบุหลันเลื่อนลอยฟ้าที่ได้นำไปขับร้องในบทละครเรื่องอิเหนาตอนหนึ่งด้วย   

     เมื่อพูดถึงละคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสนพระราชหฤทัยในการละครมากได้ทรงฝึกหัดและจัดตั้งคณะละครเล่นดีจนมีชื่อเสียง  อีกทั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครอิเหนาและรามเกียรติ์ขึ้นใหม่เพื่อใช้เล่นละครโดยเฉพาะการร้องจึงสอดคล้องกับการรำ  โดยได้โปรดเกล้าฯให้เจ้านายซ้อมกระบวนรำ  แล้วรำถวายทอดพระเนตรเพื่อทรงแก้ไข แล้วจึงถือเป็นแบบแผน  ละครในบทพระราชนิพนธ์ ร.๒  จึงงดงามพร้อมมูลในแง่ศิลป์   และให้ความรู้ในด้านการศึกษา   ขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย  นอกจากนั้นยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกอีก ๕ เรื่อง ที่ทรงใช้สำนวนชาวบ้าน เนื้อเรื่องสนุก สอดแทรกคติธรรม ได้แก่ ไชยเชษฐ์กับสังข์ทอง เป็นเรื่องส่อเสียดในราชสำนัก  แต่เรื่องสังข์ทองจะแฝงคติไม่ให้ตัดสินคนจากรูปร่างภายนอก,  เรื่องไกรทองเป็นเรื่องหึงหวงในครอบครัว  เรื่องมณีพิไชยเป็นเรื่องของแม่ผัวกับลูกสะใภ้  และคาวี เป็นเรื่องตัวอย่างของพี่น้องที่รักกันจริง      

     นอกจากละคร  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขนที่พรรณาด้วยสำนวนโวหารกินใจจับใจไว้หลายตอน  ได้ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์ในลักษณะเห่เรือ แต่เนื้อเรื่องบรรยายอาหารคาวหวาน  และผลไม้ที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมการกินของไทยได้เป็นอย่างดีว่ามีความประณีตในการประดิดประดอยอย่างไร  แล้วก็ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์เสภาไว้อีกหลายตอน  ซึ่งบทเสภาพระราชนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดกลอนเสภาได้แก่บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนทั้งยังทรงริเริ่มให้มีปี่พาทย์มาประกอบการขับเสภาเพื่อให้มีความไพเราะขึ้น   ในขณะที่ผู้ขับเสภาก็จะมีช่วงเวลาได้หยุดพักบ้าง  

     นอกจากจะทรงเป็นศิลปินและกวีด้วยพระองค์เองแล้ว  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังทรงอุปถัมภ์การดนตรีทั้งการสร้างเครื่องและการเล่น  ตลอดจนกวีในรัชสมัยของพระองค์เป็นอย่างดียุคนี้จึงถือเป็นยุคทองแห่งนาฎศิลป์  ศิลปกรรม  และวรรณกรรมอย่างแท้จริง


เรื่องเกี่ยวเนื่อง

     - การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นการใหญ่นั้น  นอกจากจะทำเพื่อฟื้นฟูจิตใจของประชาชน และด้วยใจรักแล้วยังทรงมีเป้าหมายสำคัญคือ  เพื่อให้ชาวต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยตั้งตัวได้แล้ว  บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองเหมือนเมื่อก่อนเสียกรุงฯ

     - กล่าวกันว่าทรงเป็นผู้ปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม

     - เชื่อกันว่าทรงร่วมกับช่างฝีมือชั้นเยี่ยมสมัยนั้นแกะสลักบานประตูกลาง  ด้านหน้าของพระวิหารที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม  เป็นรูปป่าเขาลำเนาไพรและสิงสาราสัตว์นานาชนิดอย่างมีชีวิตชีวางดงามน่าพิศวง

     - ทรงแกะสลักไม้รักเป็นหน้าหุ่นไว้คู่หนึ่ง  เรียกว่า พระยารักใหญ่  พระยารักน้อย 

     - ทรงออกแบบตกแต่งลวดลายไม้สักที่ทำพื้นพระที่นั่งสนามจันทร์อันเป็นไม้หน้ากว้างถึง1 ½เมตร อันเป็นของหายากยิ่ง

     - ทรงสร้างสวนขวาในบริเวณพระบรมมหาราชวัง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเข้าชมเมื่อมีงานนักขัตฤกษ์  เมื่อมีผู้แทนต่างประเทศเดินทางมาถึงก็จะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานพาเข้าชม  เพื่อเป็นเกียรติยศของแผ่นดิน  ความงดงามของสวนเป็นที่เลื่องลือในหมู่ชาวต่างประเทศ

     - ในแต่ละวันจะทรงมีพระราชปุจฉาข้อธรรมให้พระสงฆ์ตอบ  ทำให้พระสงฆ์ต้องมีความตื่นตัวค้นคว้าตรวจสอบบาลีมาถวายวิสัชนาโดยตลอด

     - มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีและแก้ไขการสอบเปรียญตรี  เปรียญโท  เปรียญเอก  เป็นประโยค ๑ ถึงประโยค ๙ 

     - มีการแปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และโปรดเกล้าฯให้ฝ่ายในสวดมนต์เป็นภาษาไทยทำนองต่าง ๆ ถวายด้วย

     - ทรงมีความชำนาญในซอสามสายมาก  และซอสามสายนั้นนอกจากจะเป็นซอที่หัดยากกว่าซอชนิดอื่นแล้ว   กะลามะพร้าวที่จะใช้ทำกะโหลกซอก็หายากมากด้วยเช่นกัน  เพราะเป็นพันธุ์เฉพาะที่มีแห่งเดียวในประเทศไทยคือที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น แม้ที่สมุทรสงครามเองก็หายาก     ในสมัยของพระองค์ บ้านใดมีมะพร้าวซอที่ลักษณะดีแล้วนำไปถวายจะได้รับพระราชทาน “ตราภูมิคุ้มห้าม” คือได้รับการยกเว้นภาษีต่าง ๆ


เรียบเรียงจาก
     - วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ผศ.พรพรรณ ธารานุมาศ
     - หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลโทนายแพทย์ มล.จินดา สนิทวงศ์  
     - เดลินิวส์ : ๑๒ ม.ค.๓๙


ข้อมูลจาก  บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท  เรื่อง  "ร.๒ : ปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์"  ผลิตโดย   งานบริการการผลิต   ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ   ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ