เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 10.1K views



เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

วันที่  ๔  กรกฎาคม  เป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  ผู้ทรงมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น  ทรงมีผลงานมากมายจนประชาชนพากันขนานพระนามพระองค์ว่า “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีทรงสนพระทัยเรื่องของวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่แรก  เมื่อเสด็จเข้าทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงทรงเลือกศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ และอักษรศาสตร์   และทรงศึกษาอย่างจริงจัง  แม้ว่าในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่บางครั้งจะต้องโดยเสด็จฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักในภูมิภาคต่างๆ  เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร  ก็มิได้ทรงหยุดการศึกษา  ในบางวิชาจะมีพระอาจารย์ไปถวายการสอน  และบางวิชาก็จะทรงถอดจากเทปบันทึกการสอนด้วยพระองค์เอง  ส่วนการปฏิบัติการในห้องทดลอง ก็จะเสด็จไปทรงทดลองด้วยพระองค์เองเช่นเดียวกัน   โดยระหว่างนั้นทรงสนพระทัยเรื่องการถนอมอาหารเป็นพิเศษ  ได้ทรงนำวิธีการถนอมอาหารที่ถูกต้องไปเผยแพร่แก่ราษฎรที่หุบกะพงและทรงรณรงค์ให้ถนอมอาหารกันอย่างถูกต้อง   ทรงจัดนักวิทยาศาสตร์ไปคอยให้คำแนะนำแก่ราษฎรให้เกิดผลิตผลใหม่ๆ ขึ้น  ทั้งยังมีการทดลองกลั่นหัวน้ำหอมจากดอกไม้ไทยๆ ด้วย  เช่นกุหลาบ  และมะลิ เป็นต้น 

การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  อัครราชกุมารีได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง  ได้ทรงก่อตั้ง “ทุนจุฬาภรณ์” ขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย  การดำเนินการทางการแพทย์และสาธารณสุข  เนื่องจากขณะเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบเห็นความเดือดร้อนที่เกิดจากการขาดแคลนทั้งบุคลากรและเครื่องอุปกรณ์การแพทย์  ต่อมาได้พัฒนา “ทุนจุฬาภรณ์” ขึ้นเป็น “มูลนิธิจุฬาภรณ์”  อันมีขอบข่ายการปฏิบัติงานที่กว้างกว่า  ประกอบด้วย

- ให้ทุนเพื่อการส่งเสริม ศึกษา วิจัย ในสาขาแพทยศาสตร์,เทคนิคการแพทย์,ทันตแพทย์,วิทยาศาสตร์,เคมีและการพยาบาล

- สนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ในการแพทย์, เทคนิคการแพทย์, ทันตแพทย์, วิทยาศาสตร์, เคมี และการพยาบาลให้แก่สถาบันที่เกี่ยวข้อง

- จัดซื้อและมอบอวัยวะเทียมให้แก่ผู้พิการที่ยากไร้

- ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น  หรือดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์

- ทรงก่อตั้ง “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งความร่วมมือร่วมใจของนักวิทยาศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย

- ส่งเสริมการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและเพื่อการพัฒนาประเทศ

- เป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรระดับสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อผลิตผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

- เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ

- เป็นแหล่งระดมสติปัญญาของนักวิชาการระดับสูง และระดมทรัพยากรต่างๆมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ เช่นปัญหาทางด้านสาธารณสุข  ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านการเกษตรเป็นต้น

ทรงมีพระราชประสงค์เกี่ยวกับหลักการในการทำงานของสถาบันวิจัยจุฬากรณ์ว่า 

“งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มิใช่งานวิจัยบนหอคอยงาช้าง  หากทว่าเป็นงานวิจัยเพื่อความอยู่ดีกินดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพสกนิกรชาวไทย”

และเนื่องจากประเทศไทยเรามีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว  มีการนำสารเคมีมาใช้ทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย  ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  ยิ่งนับวันสิ่งแวดล้อมต่างๆ ยิ่งเสื่อมลงไม่ว่าจะคุณภาพน้ำหรืออากาศ  ในอาหารก็มีสารเคมีปนเปื้อนมากขึ้น  วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนด้วย  และผู้คนมีความเครียดมากขึ้น  ต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้คนไทยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ทรงเห็นว่าแทนที่จะรอให้โรคมะเร็งมาคุกคามแล้วจึงรักษา  ก็ควรทำอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้โรคมะเร็งมากล้ำกลายจะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง  จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษา :  วิจัยและบำบัดโรคมะเร็ง”  ขึ้นภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งดำเนินการตามวัตถุประสงค์หลักดังนี้

- ทำวิจัยทั้งระดับพื้นฐานและคลีนิกเกี่ยวกับโรคมะเร็ง โดยเฉพาะที่พบบ่อยในประเทศไทย

- สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับมะเร็ง

- สนับสนุนการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยรูปแบบต่างๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

- แสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและวิจัยทั้งใน และต่างประเทศ   ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งในแง่มุมต่างๆ ร่วมกัน

จากผลงานด้านต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดังที่กล่าวมาแล้ว    พระปรีชาสามารถในพระองค์จึงมิได้เป็นที่ประจักษ์เฉพาะในประเทศไทย  หากแต่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก  ทำให้ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่างๆ  และทรงได้รับการทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริการในสถาบันชั้นนำของโลก  ดังนี้

- ยูเนสโกได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองไอน์สไตน์ (EINSTEIN GOLD MEDAL)

- ราชสมาคมเคมีของอังกฤษ ( ROYAL SOCIETY OF CHEMISTRY,RSC) ถวาย  HONORARY FELLOW, CHARTERED CHEMIST  และ  MEMBER OF RSC

- มหาวิทยาลัยยูท่าห์  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ทูลเกล้าฯ ถวาย PRESIDENTIAL AWARD

- สมาคมวิชาการระดับนานาชาติ ENVIRONMENTAL MUTAGEN SOCIETY     ALEXANDER HOLLAENDER FUND FOR INTERNATIONAL PROGRAM

ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล EMS- HOLLAENDERINTERNATIONAL FELLOW AWARD 2002  นับเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้

- มหาวิทยาลัยเอฮิเมะ ประเทศญี่ปุ่น ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ นับเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้

- ทรงเป็น ๑ ในกรรมการบริหารองค์การนานาชาติทางวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนา

- ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์กองทุน HERITAGE TRUSTซึ่งเป็นกองทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม

- ทรงเป็น ๑ ใน ๒๕  ผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน IDNDRซึ่งเป็นโครงการเพื่อช่วยลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามคำทูลเชิญขององค์การสหประชาชาติ

- ทรงเป็นที่ปรึกษาพิเศษของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนป)

ชาวไทยนั้นโชคดี  นอกจากจะมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้าแล้ว  แม้พระราชธิดาในพระองค์ก็สามารถช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในการพัฒนาประเทศชาติและประชาชนได้เป็นอย่างมาก  ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีทรงปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้  เมื่อวันที่  ๔ กรกฎาคมอันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเวียนมาถึง  จึงสมควรที่เราชาวไทยทุกคนจะได้ร่วมใจกันถวายพระพรขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน


ที่มา  :  ส่วนข้อมูล  สำนักข่าวไทย  บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน
        :  เจ้าฟ้านักทรงงาน  นิตยสารผู้หญิง  ก.ค. ๒๕๔๐, นิตยสารศรีสยามรายปักษ์ ก.ค. ๔๒



ข้อมูลจาก  บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท  เรื่อง  "เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ