ในหลวงกับการครองราชย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 14.4K views



ชนชาติไทยเป็นชาติที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองมายาวนานและต่อเนื่อง แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์บ้าง แต่ก็ไม่เคยว่างกษัตริย์  และทุกพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมืองและประชาชนต่างๆ กันไปตามความจำเป็นหรือเหมาะสมสำหรับยุคสมัยนั้นๆ   ไพร่บ้านพลเมืองเองก็มีความจงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด  และเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์จะ ครบ  ๖๐   ปี ณ วันที่ ๙ มิถุนายน  ๒๕๔๙  อันจะนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกด้วยเมื่อเทียบกับบรรดากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน  สถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. จึงจะขออัญเชิญพระราชกรณียกิจนานัปการอันกอปรด้วยพระ-ปรีชาสามารถ และพระเมตตา  ที่ได้ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย  ตลอดจนความจงรักภักดีที่ทวยราษฎรมีต่อพระองค์มาเผยแพร่เพื่อเฉลิมพระเกียรติตลอดปีแห่งการเฉลิมฉลองดังต่อไปนี้


ครองราชย์        

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อ วันที่  ๙  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๘๙  ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษา  และยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษาอยู่  จึงยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง  รัฐสภาจึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการขึ้นประกอบด้วยสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร  และพระยามานวราชเสวี 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อยังประเทศสวิทเซอร์แลนด์อีกครั้งในเดือนสิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๘๙  ได้ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นวิชารัฐศาสตร์   รัฐประศาสนศาสตร์  กฎหมาย และวิชาอักษรศาสตร์จนทรงมีพระปรีชาสามารถในภาษาต่างประเทศหลายภาษา  เช่น  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมันและภาษาลาติน   เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมในอันที่จะรับพระราช-ภาระปกครองและบริหารประเทศสืบต่อไป   ซึ่งจากวิชาการต่างๆ ที่ทรงร่ำเรียน  เมื่อได้มาผนวกเข้ากับพระ-ปรีชาสามารถส่วนพระองค์  พระอัจฉริยภาพในศิลปะหลายแขนง  และน้ำพระราชหฤทัยที่งดงามเปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตาที่ทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นอย่างดีมาโดยตลอด  ทำให้พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรของพระองค์ได้ผลดีอย่างยั่งยืนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปในกาลต่อมา

ระหว่างที่ประทับศึกษาในต่างประเทศนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบหม่อมราชวงศ์-สิริกิติ์  กิติยากร  ซึ่งภายหลังได้ทรงหมั้นเมื่อวันที่  ๑๙  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๙๒  ณ  เมืองโลซานน์  และต่อมาในวันที่  ๒๘  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๙๓  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์   กิติยากร  ณ  พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ในวังสระปทุม   ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

ในวันที่  ๕  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๔๙๓  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี  (เราเรียกวันนี้ว่าวันฉัตรมงคล)  ทรงรับการเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า  “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์  สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”  พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  และในโอกาสนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  สถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์  ขึ้นเป็น  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี   ทรงมีพระราชโอรสธิดา ๔ พระองค์คือ

๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์  ต่อมาทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ สยามมกุฏราชกุมาร

๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์  ต่อมาทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติสยามบรมราชกุมารี

๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  อัครราชกุมารี

ทุกพระองค์ล้วนทรงมีส่วนช่วยให้พระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของพสกนิกรสำเร็จลุล่วงโดยรวดเร็ว


พระร้อยรัดดวงใจไทยทั้งผอง

ถ้าจะกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยผูกพันและห่วงใยพสกนิกรไทยมาตั้งแต่ก่อนเสด็จฯ ครองราชย์แล้ว   ก็คงจะไม่เป็นการกล่าวที่เกินความจริง  เพราะนอกจากจะเห็นได้จากการโดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ออกมาเยี่ยมเยียนราษฎร ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว  ในภายหลังผู้คนทั่วไปยังได้มีโอกาสรับทราบข้อความในบันทึกประจำวันที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อก่อน และระหว่างเดินทางจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราช-ทานเป็นการเฉพาะแก่  “วงวรรณคดี”  ซึ่งจะขออัญเชิญมาดังนี้

“วันที่   ๑๙   สิงหาคม  พุทธศักราช ๒๔๘๙  วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว  พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง  แล้วก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกตและพระภิกษุสงฆ์   ลาเจ้านายฝ่ายหน้า   ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่งแล้วไปขึ้นรถยนต์  พอรถแล่นไปได้ไม่ถึง  ๒๐๐  เมตร  มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถ แล้วส่งกระป๋องให้เรา  ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด  เมื่อเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นท๊อฟฟี่ที่อร่อยมาก   ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ   ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง  กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งขาใครเข้าบ้าง  รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด  ถึงวัดเบญจมบพิตรรถแล่นได้เร็วขึ้นบ้าง  ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆว่า  “อย่าละทิ้งประชาชน”   อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า  “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า  แล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งประชาชนอย่างไรได้” แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”…

เป็นที่น่าประหลาดว่าต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้พบชายผู้ที่ร้องตะโกนนั้นขณะที่เขาเป็นชาวนาอยู่ต่างจังหวัด  ชายผู้นั้นได้กราบบังคมทูลฯว่า  ตอนนั้นเขาเป็นพลทหาร และที่ร้องไปนั้นเพราะเขารู้สึกว้าเหว่และใจหายที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จจากเมืองไทย  กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีกเพราะคงจะทรงเข็ดเมืองไทย  เห็นเป็นเมืองที่น่ากลัว น่าสยดสยอง  เขาดีใจที่ได้มาเฝ้าอีก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า   “เขาเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้พระองค์เสด็จกลับพระนคร”

ความผูกพัน ความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกร   ความจงรักภักดี  ความเทิดทูนที่ราษฎรทรงมีต่อพระองค์ มีอยู่เช่นนี้  จึงขอให้ชาวไทยทุกคนพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระพร  ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เพื่อพสกนิกรชาวไทยได้ร่มเย็นภายใต้พระบารมีตลอดไป


เรียบเรียงจาก  - หนังสือพระมหาราชาผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม : ธรรมสภา
                      - หนังสือ 200 ปี มหาจักรีบรมราชวงศ์ : วิวัฒนาการของระบบข้าราชการพลเรือน
                      - เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการสื่อสาร : 2539



พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

…ความซื่อสัตย์สุจริตนั้น  ขอวิเคราะห์ศัพท์ว่า   ความตรงไปตรงมาต่อสิ่งทั้งหมดน้อยใหญ่ ส่วนงานของราชการ ส่วนงานของตัวเองเป็นส่วนตัว ทั้งหมดคือความซื่อสัตย์สุจริตและคำว่าสุจริตนี้ก็มาจากคำว่าการท่องเที่ยวของจิตในทางที่ดี หรือคิดให้ดี คิดให้สุจริตทั้งฉลาดด้วย ทั้งไม่เบียดเบียนผ฿อื่นหรือการงานของตัว ทั้งไม่เบียดเบียนส่วนรวมด้วย จึงจะเป็นผู้สุจริต  คำว่าสุจริตนี้คงฟังจนเบื่อแล้วว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต  แต่ถ้าไปคิดว่าคำสุจริตนี้ แปลว่าอะไร ก็อาจทำให้ท่านทำหน้าที่ได้อย่างสะดวกใจขึ้น เพราะว่าคำว่าสุจริตนั้นไม่ใช่คำที่ล้าสมัย สิ่งใดที่สำเร็จก็เพราะว่าสุจริต เพราะว่าคิดถูก ถ้าคิดไม่ถูกแล้วอาจได้ผลชั่วแล่น และในที่สุดก็พัง ถ้าตัวเองไม่พัง บ้านเมืองก็พัง ถ้าบ้านเมืองพังเราแต่ละคนก็พัง…

(พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชา อาจารย์ และนายทหารนักเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ ๕๗ เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๒)



ข้อมูลจาก บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท เรื่อง  “ในหลวงของเรา” ผลิตโดย งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ