ในหลวงกับการแพทย์-การสาธารณสุข
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 16.1K views



ชนชาติไทยเป็นชาติที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองมายาวนานและต่อเนื่อง  แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์บ้างแต่ก็ไม่เคยว่างกษัตริย์    และทุกพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมืองและประชาชนต่างๆกันไปตามความจำเป็นหรือเหมาะสมสำหรับยุคสมัยนั้นๆ  ไพร่บ้านพลเมืองเองก็มีความจงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด  และเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์จะครบ ๖๐ ปี  ณ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙  อันจะนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกด้วย  เมื่อเทียบกับบรรดากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน  สถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท.  จึงจะขออัญเชิญพระราชกรณียกิจนานัปการอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถ และพระเมตตาที่ได้ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย  ตลอดจนความจงรักภักดีที่ทวยราษฎรมีต่อพระองค์ มาเผยแพร่เพื่อเฉลิมพระเกียรติตลอดปีแห่งการเฉลิมฉลองดังต่อไปนี้


พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์-การสาธารณสุข

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติประเทศไทย ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษานั้น กิจการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้  ทั้งพสกนิกรที่อยู่ห่างไกลความเจริญก็ยังไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างดีพอ  พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาจากระยะแรกคือ การทะนุบำรุงการแพทย์และการสาธารณสุขให้ก้าวหน้า และมีศักยภาพพอสำหรับจะให้บริการแก่พสกนิกรไทยได้อย่างเท่าเทียมกัน อันจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศสำเร็จได้โดยง่าย   ดังจะได้อัญเชิญพระราชกรณียกิจบางส่วนมาดังนี้

- ในปี  ๒๔๘๙  ได้ทรงรับที่จะดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภ์สภากาชาดไทย

- ในปี  ๒๔๙๓  ผู้คนยุคนั้นกำลังประสบปัญหาจากวัณโรคที่ร้ายแรง   ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสร้างอาคารมหิดลวงศานุสรณ์ สำหรับใช้ในกิจการทางด้านวิทยาศาสตร์ และผลิตวัคซีน บี.ซี.จี. ขึ้นใช้เองแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ   วัคซีนบี.ซี.จี. ที่ไทยเราผลิตได้เองนั้น นอกจากจะใช้คุ้มกันวัณโรคให้แก่คนไทยอย่างได้ผลดีแล้ว องค์การสงเคราะห์แม่และเด็ก  ยูนิเซฟยังได้สั่งซื้อเพื่อส่งไปให้ประเทศในเอเซียได้ใช้ด้วย 

- ได้ทรงริเริ่มสร้างภาพยนตร์ส่วนพระองค์  พระราชทานจัดฉายเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือในทางการแพทย์  เช่น  สร้างตึกอานันทมหิดล ที่ รพ.ศิริราช  , สร้างตึกวิจัยประสาท ที่ รพ.ประสาทพญาไท ทั้งพระราชทานทุนวิจัยโรคประสาทแต่ละชนิดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น,สร้างตึกราชสาทิส รพ.สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อให้คนไข้มีสถานที่เพิ่มขึ้นจะได้มีจิตใจดีขึ้น,สร้างตึกวชิราลงกรณ์ สภากาชาดไทย,สร้างอาคารทางการแพทย์ รพ.ภูมิพล และจัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัยเพื่อผู้ป่วยโรคเรื้อน  เป็นต้น

- ในปี  ๒๔๙๕  เกิดโรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) ระบาดอย่างรุนแรง ผู้ที่เป็นโรคนี้  ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ และถึงแม้พ้นขีดอันตรายก็มักเป็นอัมพาตจำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟู  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนประเดิมสำหรับจัดตั้งทุน “โปลิโอ สงเคราะห์” ขึ้น และให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต (ที่โปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งขึ้นในปีเดียวกัน) ออกประกาศชักชวนประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศลได้เงินจำนวนมาก ส่งไปพระราชทานแก่ รพ. พระมงกุฏเกล้าฯ  และ มหาวิทยาลัยมหิดล (รพ.ศิริราช) เพื่อนำไปสร้างตึก และจัดซื้อเครื่องอุปกรณ์    เครื่องเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาต และในปีเดียวกันนั้นยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ต่อเรือบรรเทาทุกข์และรักษาพยาบาลประชาชนที่อยู่ตามลำน้ำ พระราชทานแก่สภากาชาดไทยด้วย   ได้แก่ “เรือเวชพาหน์ “ซึ่งจัดเป็นเรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลำแรกของโลก   และปัจจุบันก็ยังออกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่อยู่ตามลำน้ำอยู่

- ในปี ๒๕๐๑  เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง  เริ่มจากกรุงเทพฯก่อน แล้วแพร่ไปต่างจังหวัด   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนประเดิมก่อตั้งทุนปราบอหิวาตกโรค มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก  และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับผลิตวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ได้ปริมาณมากขึ้นกว่าที่เคยผลิตได้หลายเท่าตัว  พระราชทานเครื่องผลิตน้ำกลั่นแก่โรงงานเภสัชกรรม  แก่สถาบันพยาธิวิทยากรมแพทย์ทหารบก  โดยเฉพาะที่สถาบันพยาธิวิทยานี้ได้พระราชทานเงินจัดซื้อเครื่องมือขนาดใหญ่  สำหรับทำการวิจัยหิวาตกโรคด้วย   ทำให้เจ้าหน้าที่ค้นคว้าหาสมุฏฐานของโรคได้ภายในเวลา ๓ เดือนต่อมา โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา   นอกจากนั้นแล้วยังได้พระราชทาน  เครื่องมือแพทย์และเครื่องเวชภัณฑ์เพิ่มเติมให้แก่  รพ.ในพระนคร  และกรมอนามัยด้วย เนื่องจากทรงคาดว่าจะต้องรับภาระปราบอหิวาตกโรคและรักษาคนไข้ในต่างจังหวัดเมื่อโรคระบาดออกไป  จากการพระราชทานความช่วยเหลืออย่างรีบด่วน และด้วยพระบรมราชวินิจฉัยอันรอบคอบ รวมถึงหน่วยราชการทุกหน่วยได้ร่วมมือกันเต็มที่  ทำให้สามารถปราบอหิวาตกโรคซึ่งเป็นการที่ใหญ่มากสงบลงสิ้นเชิงได้ในเวลาประมาณ ๑ ปี ๕ เดือน ในภายหลังยังได้พระราชทานเครื่องอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องเวชภัณฑ์แก่ รพ.อื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศตามความเหมาะสมอีกด้วย

- ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรท้องถิ่นทุรกันดารนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณฯให้แพทย์ประจำพระองค์และแพทย์ที่ตามขบวนเสด็จฯ  ทำการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยในหมู่ราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ทุกครั้ง  ต่อมาคนไข้เพิ่มจำนวนมากขึ้น  จึงทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีหน่วยงานรับผิดชอบให้การบำบัดรักษาเป็นไปอย่างสมบูรณ์ จึงได้เกิดหน่วยงานต่างๆ ด้านนี้ ขึ้นหลายโครงการ และหลายหน่วยงาน เช่น

- หน่วยแพทย์พระราชทานซึ่งเป็นคณะแพทย์ที่ทรงแต่งตั้งให้ออกไปทำการตรวจรักษาราษฎรผู้เจ็บป่วยถึงบ้าน    

- โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน  ได้แก่แพทย์หลวงที่ตามเสด็จฯ ขณะแปรพระราชฐานต่างหวัด และโปรดเกล้าฯ ให้ออกทำการตรวจรักษาคนไข้ ณ จุดตรวจบริเวณหน้าพระตำหนักที่ประทับ  

- โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ ได้แก่ คณะแพทย์ของหน่วยราชการที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปให้บริการตรวจรักษาประชาชนในพื้นที่ที่การคมนาคมไม่สะดวกเป็นประจำ ตามพระราชประสงค์               

- ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรนั้น ทรงพบว่าบางหมู่บ้าน ห่างไกลคมนาคมมากบางแห่งต้องเดินถึง  ๓  วันกว่าจะออกมาถึงสถานพยาบาล  คนพิการ  ผู้เจ็บป่วย  ได้รับความลำบาก  ทั้งความเจ็บไข้ส่วนใหญ่ก็ เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ   จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการอบรมหมอหมู่บ้านขึ้น โดยคัดเลือกคนในหมู่บ้านที่พอจะอ่านออกเขียนได้มารับการฝึกอบรมในเรื่องของหลักการพยาบาลเบื้องต้น  การรักษาโรคอย่างง่ายๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือกันในเบื้องต้นได้  ถ้ารายใดควรส่ง รพ. หมอหมู่บ้านก็จะเป็นผู้ดำเนินการให้

- เนื่องจากมีคนไข้จำนวนมากที่ต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาใน รพ.หรือแม้ที่สุดต้องส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ.ในกรุงเทพฯ    ได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่ในราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ผู้เจ็บป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ได้รับบริการอย่างดีและเรียบร้อย

- ศ. (พิเศษ) ทพ.ญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา   เตชะกัมพุช  ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทานและทันตแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้บรรยายเรื่องในหลวงกับงานทันตกรรมไว้ตอนหนึ่งว่า  “เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓  ภายหลังจากที่ทำพระทนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า “เวลาที่พระองค์ท่านมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน มีทันตแพทย์มาช่วยกันแลดูรักษา  แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญมีหมอช่วยดูแลรักษาหรือเปล่า”  เมื่อได้ทรงทราบจากทันตแพทย์ผู้ถวายการรักษาว่าไม่มี   แม้แต่จังหวัดบางจังหวัดเช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่มีทันตแพทย์ประจำ อำเภอแทบทุกอำเภอในขณะนั้นไม่มีทันตแพทย์เลย   เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบจึงรับสั่งว่า “โรคฟันเป็นโรคของทุกคน การที่จะให้ราษฎรผู้ยากไร้และอยู่ห่างไกลความเจริญต้องทิ้งท้องไร่ท้องนาเข้ามารับการรักษาในเมืองคงเป็นไปไม่ได้  น่าที่ทันตแพทย์จะเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว  “ซึ่งพระราชดำรัสในครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้น  งานทันตกรรมเคลื่อนที่หรืองานทันตแพทย์ชนบทเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรถทำฟันเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ครบ ๑ คัน พนักงานขับรถและผู้ช่วย  และขอทันตแพทย์อาสาสมัครจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  ครั้งละ ๒ คน ออกไปให้บริการทำฟันและดูแลสุขภาพในช่องปากให้กับราษฎรที่ยากจนตามตำบลและอำเภอต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้  ทรงเจิมรถทันตกรรมเคลื่อนที่คันแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ออกบริการประชาชนที่อำเภอทับสะแก ใกล้เขตแดนพม่าเป็นครั้งแรก   ทันตแพทย์อาสาจะผลัดเปลี่ยนกันทุกอาทิตย์ การให้บริการทำตลอดปี ยกเว้นฤดูฝน โดยย้ายไปตามอำเภอต่างๆ อำเภอละ ๑ วัน ในระยะแรกการให้บริการเป็นการถอนฟัน  และให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพในช่องปากเป็นส่วนใหญ่ เพราะราษฎรไม่เคยได้รับการดูแลเรื่องฟันมาเลยในชีวิต”    ปัจจุบันการให้บริการของหน่วยทันตกรรมพระราชทานก้าวหน้าไปมากจนสามารถให้บริการได้อย่างเดียวกับ รพ.ใหญ่ ๆ พร้อมทั้งกำลังของทันตแพทย์อาสาสมัคร ก็เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอแก่ปริมาณผู้มาใช้บริการ  ทั้งยังมีทันตแพทย์อาสาสมัครชาวต่างประเทศให้ความสนใจมาร่วมงานด้วย  หน่วยทันตกรรมพระราชทาน  จึงเป็นหน่วยทำฟันเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้พระราชทานค่าใช้จ่ายทุกประการ

- น้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น  มิได้จำกัดอยู่แต่ความไข้ของคนไทยเท่านั้น  แม้สัตว์ที่เจ็บป่วยก็ทรงเผื่อแผ่ไปถึง  ได้พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดงให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการตามพระราชกระแสหลายโครงการด้วยกัน  อาทิ  โครงการตรวจหาเครื่องหมายดีเอ็นเอของสุนัขสายพันธุ์ไทย   โครงการเฝ้าระวังและการพัฒนาวินิจฉัยโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส,  โครงการระวังโรคระบาดในสัตว์ปีก และโครงการพัฒนาน้ำเชื้อแข่แข็งสุนัข,  โครงการเครื่องมือแพทย์,  โครงการพระราชทานคุณทองแดงช่วยเพื่อนและโครงการกองทุนรักษาสัตว์ป่วยอนาถา เป็นต้น  มีการสร้างสระว่ายน้ำ “สุวรรณชาด”  สำหรับบำบัดรักษาสุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกและระบบประสาทแบบธาราบำบัด โดยได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการ “สระสุวรรณชาด” เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘         

จากพระราชกรณียกิจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่อัญเชิญมาเพียงบางส่วนนี้ จะเห็นได้นี้ถึงความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีแก่พสกนิกรไทยได้เป็นอย่างดี  เป็นบุญเหลือเกินแล้วที่เราชาวไทยได้มีโอกาสเกิดมาภายใต้ร่มเงาพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราพระองค์นี้


พระร้อยรัดดวงใจไทยทั้งผอง

- ศ.(พิเศษ) ทพ.ญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา   เตชะกัมพุช  ได้บรรยายเรื่อง “ในหลวงกับงานทันตกรรม” ตีพิมพ์ในหนังสือในหลวงกับงานทันตกรรม ของกระทรวงสาธารณสุขไว้ตอนหนึ่งซึ่งแสดงถึงความห่วงใยและความเป็นกันเองที่พระราชทานแก่ราษฎรผู้ทุกข์ยากว่า  “ จากการได้มีโอกาสเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเล่าว่า   วันหนึ่งเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดขอนแก่น มีราษฎรคนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ร่างกายซูบผอม ไม่สบาย  พระองค์ท่านรับสั่งถาม “เป็นอะไร ไม่สบายหรือ ? ” ราษฎรผู้นั้นทูลตอบว่า  “ไม่สบาย ฟันไม่มี กินอะไรไม่ได้” พระองค์ท่านจึงบอกว่า “ไปใส่ฟันซะ แล้วจะเคี้ยวอะไรได้   ร่างกายจะได้แข็งแรง”  ในปีต่อมาเมื่อพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดขอนแก่นอีกครั้ง  ราษฎรผู้นั้นได้มาเฝ้าและทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “ไปใส่ฟันมาแล้วตามที่ในหลวงแนะนำ  ตอนนี้กินอะไรได้สบายแล้ว”


เรื่องพิเศษ

วันที่  ๒๘   เมษายน  (๒๔๙๓)  เป็นวันราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ   จึงขอนำราชาภิเษกสมรสสดุดี ประพันธ์โดยนายเปรื่อง ศิริภัทร์มาไว้ดังนี้

ในโอกาสอภิเษกสมรส                     ขอประณตบทบงส์พระทรงศรี
ภูมิพลขัตติยงค์พงศ์จักรี                    ราชินีสิริกิติ์วิจิตรวรรณ
ขอพระองค์ทรงพระเกษมสุข              นิรทุกข์นฤภัยไร้โศกศัลย์
สิริสวัสดิ์พิพัฒน์ยิ่งทุกสิ่งอัน               ทรงหมายมั่นต้องประสงค์จำนงใด
จุ่งสัมฤทธิ์ประสิทธิ์สมพระมนัส           ธำรงค์รัฐราษฎร์สุขทุกข์กษัย
เป็นที่พึ่งทวยนาครนิกรไทย                ยังชาติให้วัฒนาถาวรเทอญฯ
                                              ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม  ขอเดชะ


พระบรมราโชวาท  

“การเข้าถึงประชาชน  ท่านจะต้องช่วยบำบัดบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นท้องที่ใดและกาลเวลาใด  ขอให้เตรียมใจให้พร้อมเพื่อปฏิบัติหน้าที่นี้  และจงเชื่อมั่นว่าการทำประโยชน์และความเจริญแก่ส่วนรวมนั้นย่อมเป็นประโยชน์และความเจริญของตนด้วยเสมอ..”



ที่มา  -  บทความพิเศษฉลองสิริราชสมบัติครบ  ๕๐ ปี  ของสำนักข่าวไทย ประจำวันที่ ๑๓, ๑๖ มิถุนายนและวันที่  ๒๖, ๒๗, ๒๙  พฤศจิกายน๒๕๓๙
        -   นสพ.มติชน  ๗  พฤษภาคม  ๒๕๔๘
        -   หนังสือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชกับการศึกษาไทย
        -   ศ.(พิเศษ) ทพ.ญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา   เตชะกัมพุช :  หนังสือในหลวงกับงานทันตกรรม   กระทรวงสาธารณสุข



ข้อมูลจาก บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท เรื่อง  “ในหลวงของเรา” ผลิตโดย งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ