ในหลวงกับการพัฒนา ตอนที่ 4
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7K views




จากที่ สถานีวิทยุ อสมท.ได้นำเสนอพระราชกรณียกิจนานัปการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงปฏิบัติเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ๔๙ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่ทรงครองราชย์ฯ  ครบ ๖๐ ปีนั้น  คงจะทำให้ทุกคนได้ตระหนักในพระเมตตา และความเสียสละ ตลอดจนพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันเป็นอย่างมาก   และจะยิ่งมากขึ้น  ถ้าท่านได้ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในอีกบางเรื่องบางตอน  ที่สถานีวิทยุ อสมท จะนำเสนอต่อไปนี้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนา (ตอนที่ ๔)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น  นอกจากจะทรงได้ชื่อว่าเป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา”แล้ว  ยังได้ชื่อว่า ทรงเป็น  “นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ด้วย   เนื่องจากทรงเข้าพระทัยในระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง   และได้ทรงนำมาใช้ในการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ  อย่างได้ผลดี  เช่น

ให้ราษฎรรู้จักใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์  เพื่อประหยัดเงินค่าใช้จ่ายในการลงทุนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  

นำหลักการสร้างความสมดุลให้กับสภาพแวดล้อมแบบธรรมชาติมาใช้  เช่น  ปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีปลูกไม้ใช้สอยรวมกับพืชไร่ เพื่อให้พืชไร่ได้อาศัยร่มเงาของไม้ใช้สอยและได้รับความชุ่มชื้นจากดินมากกว่าที่จะอยู่กลางแจ้ง  หรือปลูกพืชที่ให้ประโยชน์ในการบำรุงดิน ทำให้ดินมีคุณภาพดี รวมถึงนำวัชพืช  และมูลสัตว์ มาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก แทนการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น  

การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก  ดังพระราชดำริตอนหนึ่งที่ว่า  “...การปลูกพันธุ์ไม้เหล่านี้  ควรจะกระจายพันธุ์ลดตามสันเขาลงมา  นอกจากนี้ควรเป็นพันธุ์ไม้ที่มีเมล็ด  เพราะพันธุ์เหล่านี้จะได้ตกลงพื้นที่สูงมาสู่ที่ต่ำและสามารถงอกขึ้นได้ตามธรรมชาติ  นอกจากนี้จะยังเป็นอาหารของสัตว์ป่าได้  อีกทางหนึ่งการปลูกป่าโดยวิธีการกระจายพันธุ์ไม้จากแนวสันเขาลงมาด้านล่างนี้จะทำให้เกิดสภาพป่าที่หนาทึบและสมบูรณ์ในอนาคต...”

สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น(Check dam) ซึ่งมีหลายแบบ  จะทำหน้าที่กักน้ำอยู่หน้าฝาย และทำเป็นเหมืองเล็กๆ กระจายน้ำออกไปสองข้างลำห้วย  ทำให้ความชื้นกระจายออกไปทั่วพื้นที่ ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตได้ดี นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว ยังจะเป็นแนวป้องกันไฟป่าได้ด้วย

ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ   “หญ้าแฝก” เป็นหญ้าที่คนไทยในชนบทรู้จักกันมาช้านาน เพราะเป็นหญ้าที่ขึ้นได้ในทุกสภาพดินจึงมีอยู่ทั่วไป  ในสมัยก่อนนอกจากใช้มุงหลังคาแล้ว ก็แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อื่น ดูจะเป็นวัชพืชที่ต้องกำจัดด้วยซ้ำไป  แต่ด้วยพระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงทรงสามารถนำลักษณะพิเศษของหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างได้ผล  นั่นก็คือ หญ้าแฝกมีความทนทาน  อายุยืน  แตกกอง่าย  และรากที่ยาวมากของมันนั้น (๗๕ เซนติเมตร-๓ เมตร) จะสานตัวกันเองอย่างเหนียวแน่นหยั่งลึกอยู่ใต้ผิวดินโดยธรรมชาติ   ดังนั้นแน่นอนว่าเมื่อนำหญ้าแฝกมาปลูกในแนวระดับที่เหมาะสม ขวางการลาดเทของพื้นที่แล้ว  หญ้าแฝกจะแตกกอออกได้รวดเร็ว ทั้งยังยึดติดกับพื้นดินได้อย่างเหนียวแน่น  ส่วนบนจะเป็นกำแพงธรรมชาติที่ช่วยชะลอความแรงของน้ำ  ช่วยกรองสารพิษ หรือสารเคมีต่างๆ ไว้ชั้นหนึ่ง  ก่อนที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ    ส่วนรากที่สานตัวกันหยั่งลึกอยู่ใต้พื้นดินก็จะดูดซับน้ำรักษาความชื้นภายในดินไว้  นอกจากนั้นยังสามารถนำหญ้าแฝกมาทำปุ๋ยได้อีกด้วย


หลักการพัฒนาที่อิงกับธรรมชาติเสมอของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว เป็นที่สนใจและยอมรับจากนานาประเทศ

- มีประมุขและผู้นำจากหลายประเทศมาเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการอื่นๆ หลายโครงการ    

- มีการประสานขอความร่วมมือช่วยเหลือกันกับประเทศเพื่อนบ้านก่อตั้งโครงการพัฒนาฯเช่นโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ในพื้นที่ของหมู่บ้านนายาง เมืองนาทรายทอง  เขตน้ำเกลี้ยง  แขวงเวียงจันทน์  และโครงการศูนย์พัฒนาเกษตร- ป่าไม้ควันตัน ในพื้นที่ลุ่มน้ำควันตัน ในคอมมูนเคียนลา อำเภอลุคหงะ จังหวัดปัคซาง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนามเป็นต้น 

- ไทยเราได้รับมอบหมายให้จัดสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๓๙  และปี  ๒๕๔๓  

- ได้รับเกียรติเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายหญ้าแฝกของประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก(Pacific Rim Vetiver Network-PRVN) 

- องค์กร Landscape Development Interventions (LDI)ได้ขอความร่วมมือนักวิชาการหญ้าแฝกของไทยไปร่วมทำการศึกษาและให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการทางวิศวกรรมผนวกกับการใช้หญ้าแฝกแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายที่เกิดขึ้นกับทางรถไฟสาย FCE   ของประเทศมาร์ดากัสการ์ 

- จัดฝึกอบรมการขยายพันธุ์  การปลูก และการดูแลให้กับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกที่ขอความร่วมมือทั้งยังสนับสนุนกล้าแฝกให้กับประเทศที่ร้องขออีกด้วย

จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  และได้ขยายผลออกไปในนานาประเทศอย่างที่กล่าวมาแล้ว  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จึงได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญทอง  Gold Medal of Distinctionประกาศเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจดีเด่นเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่  ๓๐  มิถุนายน  ๒๕๓๑  มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีการบริหารสิ่งแวดล้อมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถที่ทรงบริหารจัดการกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างกระทบกระเทือนน้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด


พระราชอัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในการสื่อสารเป็นอย่างมาก  ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิทยาการสมัยใหม่ด้านการสื่อสารทุกแขนงอยู่เสมอ  และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน  เช่น

- ทรงมีพระราชดำริให้มีการทดลอง ค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับงานทางวิทยุสื่อสารและสายอากาศ โดยทรงกำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานตลอดจนคุณสมบัติทางเทคนิคด้วยพระองค์เอง แนวพระราชดำรินี้เป็นจุดเริ่มต้นให้มีการพัฒนาสายอากาศและการติดต่อสื่อสารทางวิทยุในประเทศอย่างแท้จริง   ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในการติดต่อประสานงานและติดตามผลงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งมีอยู่ในทุกภูมิภาคให้ได้ผลสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดีแล้ว  ยังเกิดประโยชน์ในงานบรรเทาสาธารณภัย   เกิดประโยชน์ในการช่วยชีวิตราษฎรที่ป่วยหนักให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีด้วย  เช่น ครั้งหนึ่ง  เกิดวาตภัยที่ตำบลสวนผึ้ง  จังหวัดราชบุรี  ราษฎรเดือดร้อนมาก   ก็ได้มีกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มหนึ่งออกอากาศประสานงานกับศูนย์สายลมกรมไปรษณีย์โทรเลขในอันที่จะร่วมกันเดินทางไปช่วยเหลือ  มีการวางแผนจะติดตั้งเครือข่ายเฉพาะกิจขึ้นในพื้นที่ที่เกิดวาตภัย และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมถ่ายทอดรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ให้นักวิทยุสมัครเล่นอื่นๆ และทางราชการได้รับทราบข่าวสารโดยเร็ว  จะได้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที   การติดต่อดำเนินไปประมาณ ๑๐ นาที    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชนผ่านทางเครื่องมือสื่อสารระบบต่างๆ เป็นประจำทุกวัน ก็ได้ทรงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์สายลม และได้พระราชทานคำแนะนำวิธีการติดตั้งข่ายสื่อสาร  ตลอดจนการเตรียมอุปกรณ์สำรองต่างๆ  อย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดินทางถึงพื้นที่แล้วอุปกรณ์ใช้งานไม่ได้  ซึ่งนักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มนั้นก็ได้ดำเนินงานตามพระกระแสรับสั่ง  ประสบผลสำเร็จในการแจ้งข่าวสารและระดมความช่วยเหลือได้รวดเร็วสมความตั้งใจ

ระหว่างการเสด็จฯ  เยี่ยมราษฎร หากทรงพบว่าผู้ใดกำลังเจ็บ ป่วย จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จฯ ดูแลตรวจรักษาทันที  บางรายที่ป่วยหนักจำเป็นต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ว่าจะระดับท้องถิ่น หรือกรุงเทพมหานคร   หากทรงมีเวลาพอจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยที่เกี่ยวข้อง  เช่นตำรวจตระเวณชายแดน ขอพาหนะมานำผู้ป่วยส่งไปยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง  หากโอกาสไม่อำนวยก็จะมีพระราชกระแสรับสั่งโดยตรงหรือทางวิทยุให้กรมราชองครักษ์ดำเนินการ  แต่จะทรงสดับตรับฟังความคืบหน้าในการปฏิบัติการอยู่ทุกระยะ  จนกว่าจะแน่พระทัยว่าคนไข้ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เกี่ยวข้องแล้ว  การที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้ได้ช่วยชีวิตราษฎรไว้ได้จำนวนไม่น้อย

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในกิจการสื่อสารอุตุนิยมวิทยาด้วยเช่นกัน  ได้ทรงศึกษามาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน  เนื่องจากทรงเห็นว่าการรู้จักสภาวะอากาศจะอำนวยประโยชน์ในการเพาะปลูก  อีกทั้งยังจะช่วยในการป้องกันภัยธรรมชาติให้แก่ราษฎรที่หนีความแออัดและขยับขยายเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ล่อแหลมต่ออันตรายจากสภาวะอากาศหรือภัยธรรมชาติซึ่งยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ด้วย  การพยากรณ์ลักษณะอากาศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น  ทรงใช้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาทั้งในประเทศและต่างประเทศมาศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ด้วยพระองค์เอง แล้วจึงพระราชทานคำแนะนำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้า  ซึ่งทรงพยากรณ์ฯ  ได้แม่นยำอย่างยิ่ง   คงยังจำกันได้ว่าเมื่อครั้งเกิดพายุ  “Angela”ในปี ๒๕๓๘  ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้รับข้อมูลชัดเจนว่าพายุลูกนี้จะเข้าประเทศไทยแน่นอน โดยจะเข้ามาทางจังหวัดมุกดาหารและอุบลราชธานี  และแม้ศูนย์อุตุนิยมวิทยาของต่างประเทศเช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ก็ระบุว่าจะผ่านมาประเทศไทยเช่นเดียวกัน  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนยันว่า พายุ “Angela”ไม่เข้าประเทศไทยแน่นอน  ผลปรากฏว่าเป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ไว้จริงๆ  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า  เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นในที่ใดก็ตามมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ของพระองค์จะไปให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยได้ก่อนหน่วยงานอื่นๆ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านการสื่อสารของพระองค์ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ยกมาข้างต้นอีกมาก  ไม่ว่าจะในด้านการศึกษา หรือในกิจการแพทย์เป็นต้น  แต่มีเรื่องที่นายทองต่อ  กล้วยไม้ เขียนไว้ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสื่อสารตอนหนึ่งได้เล่าถึงการที่ทรงใช้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิตให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างน่าสนใจ ดังจะขอยกมาเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันดังนี้

“เมื่อเริ่มตั้งสถานีใหม่ ๆ  ทรงปรับเครื่องส่งวิทยุเอง ทรงจัดรายการและเปิดแผ่นเสียงเอง  ทรงบันทึกเสียงรายการวงดนตรีที่มาบรรเลงที่สถานี  โปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชนมาบรรยายเพื่อเป็นวิทยาทาน เหมือนกับวิทยุศึกษาในปัจจุบัน  เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ  สถานีวิทยุ  อ.ส. พระราชวังดุสิตร่วมกับสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการทหารสื่อสาร ได้ถ่ายทอดการเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง ทำให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ฟังพระสุรเสียงที่พระราชทานแก่ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ด้วย  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงสนทนากับคณะผู้จัดงาน ไอทีเฉลิมพระเกียรติตอนหนึ่ง  ทรงเล่าว่าเรื่องที่สมัยก่อนไม่เคยมี  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำเป็นพระองค์แรกคือ  การรับบริจาคเงินช่วยการกุศลผ่านทางวิทยุ  ตอนนั้นมีวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก  ทรงเล่นดนตรีให้คนขอเพลง โดยบริจาคช่วยผู้ประสบภัยที่แหลมตะลุมพุก  เป็นการใช้สื่อวิทยุในกิจการนี้เป็นครั้งแรก  ที่จำได้มีคนโทรศัพท์บริจาคเงิน ขอเพลงและมีคนโทรศัพท์มาบริจาคเงินขอให้หยุดร้องด้วย  คงล้อกัน  แต่ว่าขำดี  ก็รวบรวมเงินได้พอควร  มีผู้บริจาคเป็นเสื้อผ้า เป็นของอะไรเยอะแยะ  ต่อจากนั้นจึงได้ทำเป็นเรื่องเป็นราว ตั้งเป็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เป็นต้นกำเนิดตรงนั้น”

นับเป็นบุญของคนไทยเหลือเกินที่มีพระมหากษัตริย์ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย กำลังพระสติปัญญา ในการศึกษา ค้นคว้า หาวิถีทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพสกนิกรตลอดเวลา  สมควรที่ทุกคนจะได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  และประพฤติปฏิบัติตนตามพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ในหลายๆ โอกาส เป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณโดยถ้วนหน้ากัน


พระร้อยรัดดวงใจไทยทั้งผอง

มีเหตุการณ์ที่ชาวกรมทางหลวงเขาเล่าขานกันถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาจนทุกวันนี้  ก็คือเรื่องที่ทรงหาวิธีการที่จะให้ราษฎรอยู่ดีกินดีอยู่เสมอ  ทรงมอบหมายสิ่งใดไปให้ผู้ปฏิบัติแล้ว ก็จะทรงติดตามตรวจการทำงานอย่างใกล้ชิด  พร้อมทั้งพระราชทานคำแนะนำจนกว่าการนั้นจะบรรลุเป้าหมายตามพระราชประสงค์  กับเรื่องที่  ทรงห่วงใยขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารอยู่เสมอ  โดยเรื่องที่เล่ากันเป็นเรื่องของนางจันทร์สม อินภิรมย์  พนักงานรับ-ส่ง วิทยุของเขตการทางพิษณุโลกเมื่อ ๓๐ – ๔๐ ปีก่อน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว  เรื่องมีอยู่ว่า

“นางจันทร์สม  อินภิรมย์ผู้นี้  เป็นพนักงานรับ-ส่งวิทยุชั้นผู้น้อยของเขตการทางพิษณุโลกแต่พนักงานวิทยุของกรมทางหลวงทั่วประเทศซึ่งมีกว่า ๑๐๐ หน่วยงานเรียกเธอว่า “พี่ใหญ่”  เนื่องจากมีอาวุโสสูงกว่าเพื่อน  ทั้งเป็นผู้มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่สูงด้วย  คือพร้อมจะทำงานตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  เวลานอนก็จะนำวิทยุติดตัวไปด้วยเสมอ  พล.ต.ประถมบุรณศิริ อดีตรองอธิบดีกรมทางหลวงเคยเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชมเชยการปฏิบัติงานของนางจันทร์สมมาก  และรับสั่งถามว่า “พี่ใหญ่” คือใคร  และรับสั่งให้ศูนย์สื่อสารสวนจิตรลดาส่งวิทยุชมเชย “พี่ใหญ่” ว่าปฏิบัติงานดี มีความสามารถ รับฟังข่าวและผ่านข่าวให้หน่วยงานอื่นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลและอยู่ในเขตคุกคามของผู้ก่อการร้ายอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

เมื่อครั้งที่หน่วยก่อสร้างทางสาย ทุ่งช้าง-ปอน-ห้วยโก๋น ถูกผู้ก่อการร้ายซุ่มโจมตี  มีทั้งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงและทหาร บาดเจ็บ -  เสียชีวิตหลายคน  รถ APCของกรมทหารม้าที่ ๒ ก็ถูกยิงด้วยระเบิด RPG จนเสียหายใช้การไม่ได้   นายบุญญฤทธิ์ ศุภวิญญู พนักงานวิทยุประจำโครงการ ทุ่งช้าง-ปอน-ห้วยโก๋นได้วิทยุแจ้งมายังเขตการทางพิษณุโลกให้คอยรีเลย์ข่าวส่งส่วนกลาง และขอเฮลิคอปเตอร์จากฝ่ายทหารหน่วยใดก็ได้  ให้มารับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต  แต่ทางทหารได้วิทยุมาที่หน่วยชุดคุ้มกันการก่อสร้างทางว่าไม่สามารถบินได้ (อาจจะเป็นเพราะทัศนวิสัยไม่ดี)   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ซึ่งเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าจะทรงติดตามข่าวสารทางวิทยุเสมอ)  คงจะทรงวิทยุอยู่ในเวลานั้น ได้ทรงให้ราชองครักษ์แจ้งเขตการทางพิษณุโลกว่า

อีก ๑ ชั่วโมงจะส่งเฮลิคอปเตอร์มา”  และอีกประมาณ ๑ ชั่วโมงต่อมา ก็มีเฮลิคอปเตอร์ ๒ ลำ มาลงจอดที่บริเวณริมลำน้ำปอน เพื่อรับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปส่งที่โรงพยาบาลจังหวัดน่าน 

เหตุการณ์ครั้งนั้นยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างเหลือล้นแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานอย่างเสี่ยงภัยในพื้นที่อันตรายเหล่านั้นมาจนทุกวันนี้

ในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๖ 

พิษณุโลก พิษณุโลก” เสียงเรียกขานซึ่งพนักงานวิทยุของกรมทางหลวงในภาคเหนือได้ยินทั่วกันอย่างชัดเจน แต่ไม่ทราบว่าเป็นเสียงเรียกจากที่ใด เพราะเสียงนี้ไม่เคยได้ยินมาก่อน 

นางจันทร์สม ซึ่งเป็นพนักงานวิทยุก็ไม่ได้ขานตอบ เพราะไม่ทราบว่าเป็นใคร  

พี่ใหญ่   พี่ใหญ่”   เสียงเดิมเรียกมาอีก

“ตอบค่ะ  ไม่ทราบว่าจากหน่วยไหนคะ”  นางจันทร์สมขานรับ

จากเดโชชัย ๑

นางจันทร์สมจึงได้เรียกทุกเขต  แขวง โครงการ และศูนย์  ด้วยความตื่นเต้น ให้บิดคลื่นไปที่ช่อง ๑๒ โดยด่วน  แต่ก็มีพนักงานวิทยุหลายหน่วยไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร เนื่องจากยังฟังไม่ชัดเจนนัก  นางจันทร์สมจึงย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “จากเดโชชัย ๑ นะ” ทุกคนจึงได้เงียบสงบ  เพราะทราบดีว่า  “เดโชชัย ๑”  คือองค์พระมิ่งขวัญของชาวไทยทั้งปวง  จากนั้นก็ได้ยินพระราชดำรัสพระราชทานพรปีใหม่ทางวิทยุมาชัดเจนว่า          

สวัสดีปีใหม่ พี่ใหญ่ และเจ้าหน้าที่วิทยุทุกคน  ขอให้มีความสุขตลอดทั้งครอบครัว ให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง  ปลอดภัย มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ  สวัสดี

พรปีใหม่ที่พนักงานวิทยุกรมทางหลวงทั่วประเทศได้รับพระราชทานอย่างไม่คาดฝันนั้น ถือเป็นสิ่งมงคลสูงสุดที่ทุกคนประทับใจและอยู่ในความทรงจำเสมอมา  ต่างเล่าขานต่อกัน  ด้วยความปลื้มปีติ  ด้วยความสำนึกในน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกร  ทั้งมิได้ทรงละลืมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเสี่ยงภัยอย่างพวกเขาด้วย 


พระบรมราโชวาท

“.....บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีอิสรภาพและความร่มเย็นเป็นปรกติสุขสืบมาช้านาน  เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติ  และต่างสำนึกตระหนักว่า  คนไทยทุกคนจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจกันบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ  ตามหน้าที่ ให้สอดคล้องและเกื้อกูลกันและกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ  รักษาความสามัคคีพร้อมเพรียงกันไว้ในสรรพกิจการงานทั้งปวง  อย่าแตกแยกทำลายกันเอง  เพราะไม่มีใครอื่นที่จะช่วยเราได้นอกจากไทยเราเอง......”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   พระราชทานในการเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  พ.ศ. ๒๕๑๒



ที่มา  - ใจถึงใจ  เล่ม ๒  เม.ย. – ก.ย. ๒๕๓๙
        - นิตยสารสกุลไทย  ๘ พ.ย. , ๖ ธ.ค. ๒๕๔๘
        - สำนักข่าวไทย  ๓ ส.ค. ๒๕๓๙
        - หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสื่อสารของกรมไปรษณีย์โทรเลข  ๒๕๓๙  หนังสืออัครมหาราชา ปิ่นฟ้าคมนาคม ของกระทรวงคมนาคม



ข้อมูลจาก บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท เรื่อง  “ในหลวงของเรา” ผลิตโดย งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ