เจ้าแห่งเพลงขลุ่ย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 9.5K views



เจ้าแห่งเพลงขลุ่ย

 วันที่ ๔ กันยายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของคีตกวีไทยท่านหนึ่ง  ที่มีความเชี่ยวชาญในการเดี่ยวเครื่องดนตรีไทยหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปี่  ขลุ่ย  หรือระนาดเอก  ทั้งยังได้เคยเดี่ยวขลุ่ยถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ เมื่อปี  ๒๔๒๘  เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก ได้รับสั่งถามว่า “เวลาเป่า หายใจบ้างหรือไม่”  เพราะเสียงขลุ่ยดังกังวานอยู่ตลอดเวลา  คีตกวีไทยท่านนี้คือพระยาประสาน ดุริยศัพท์ ชื่อเดิมคือนายแปลก  ประสานศัพท์  นักดนตรี  ๑ ใน ๑๙  คนที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปแสดงฝีมือดนตรีไทยในประเทศอังกฤษ  เนื่องในงานมหกรรมแสดงสินค้าและดนตรีนานาชาติที่รัฐบาลอังกฤษจัดขึ้นและได้เชื้อเชิญประเทศสยามให้เข้าร่วมแสดงดนตรีด้วย   

จากความรู้ความสามารถในดนตรีไทยเป็นเลิศนั้น  ทำให้นายแปลก ฯ  มีความก้าวหน้าในราชการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนประสานดุริยศัพท์  หลวงประสานดุริยศัพท์ พระประสานดุริยศัพท์ จนถึง พระยาประสานดุริยศัพท์  เป็นเจ้ากรมปี่พาทย์หลวงในสมัย ร.๖  อันเป็นตำแหน่งสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่วัฒนธรรมการดนตรีตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดเช่นปัจจุบัน  ถ้าจะถามว่ามีใครรู้จักเพลงของพระยาประสานดุริยศัพท์บ้าง  นอกจากคอดนตรีไทยจริงๆ แล้ว ก็คงจะพากันปฏิเสธ  เพราะสมัยนี้คนไทยไม่ค่อยได้ฟังดนตรีไทยแบบดั้งเดิม  แต่จะได้ฟังเพลงไทยสากลบ้าง  เพลงลูกทุ่งบ้างที่ดัดแปลงมาจากทำนองไทยเดิม  ฟังโดยไม่รู้ที่มา บางคนอาจคิดว่าแต่งขึ้นใหม่ แต่ความจริงใช้ทำนองไทยเป็นหลักอยู่  ซึ่งในส่วนของพระยาประสานฯ  ก็มีเพลงของท่านที่ถูกนำมาดัดแปลง เรียบเรียงใหม่หลายเพลงและยังนิยมกันอยู่ถึงปัจจุบัน  อย่าง เพลงมัทรีร้องไห้ ร้องโดยบุษยา รังสี ...ยามเย็นจวนค่ำ.. ตะวันต่ำ.. อกช้ำ..น้ำตานองใจ..นั่นก็มาจากเพลงธรณีร้องไห้ หรือธรณีกรรแสง  เพลงดำเนินทราย  ...แสงจันทร์นวลผ่อง  พี่อยู่กับคู่ประคอง..เพลงยอดนิยมสำหรับคู่บ่าวสาว (สมัยยังไม่มีเพลงแต่ปางก่อน) นั่นก็มาจากเพลงลาวดำเนินทราย  ที่พระยาประสานดุริยศัพท์ท่านนำทำนองร้องสักวาของจ่าโคมมาแต่งทำนองดนตรี  และความไพเราะของเพลงลาวดำเนินทรายนี้เอง  ก็ทำให้กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนขึ้นมาบ้าง  พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) รับราชการมาจนถึงต้นปี ๒๔๖๗ ก็ล้มเจ็บ  และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๕ มีนาคมปีนั้นเอง  ซึ่งพระยาภูมีเสวินกล่าวไว้ว่า การสูญเสียชีวิตของพระยาประสานดุริยศัพท์ เท่ากับเป็นการสูญเสียตำราดนตรีตู้ใหญ่ที่สุดตู้หนึ่งไป

ที่นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ไว้  ก็เพื่อให้คนไทยได้รู้จักคีตกวีคนสำคัญของไทย และไม่หลงลืมผู้ที่สร้างสรรค์วัฒนธรรมการดนตรีไว้เป็นมรดกของชาติ

 

ที่มา  
     - หนังสือประวัติการดนตรีไทย  ของปัญญา รุ่งเรือง,  หนังสือดนตรีไทยครั้งที่ ๕ (มหาวิทยาลัย) ๙ มค. ๒๕๑๔
     - คนไทยในราชสำนักพระนางวิคตอเรีย  คณะเหม เวชกร พ.ศ. ๒๔๗๘

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท  เรื่อง "เจ้าแห่งเพลงขลุ่ย"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ