วันสิ่งแวดล้อมไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.6K views



วันสิ่งแวดล้อมไทย

 วันที่ ๔ ธันวาคม ของทุกปีถือเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย   ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔   ทั้งนี้มีความสืบเนื่องมาจากกระแสพระราชดำรัสแสดงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมทั้งของไทยและของโลกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ไว้ก่อนหน้านั้น

ในเรื่องของการกอบกู้หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น บางทีบางคนฟังดูแล้วอาจจะเหมือนเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่คนตัวเล็กๆจะปฏิบัติได้ผลเพียงลำพัง จึงพากันมุ่งมองไปที่ภาคอุตสาหกรรมอันเป็นแหล่งใช้สอยทรัพยากรคราวละมากๆ และก็มีของเสียที่ต้องบำบัดมากด้วยเช่นกัน ว่าได้มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายกำหนดหรือไม่  ถ้าไม่  ก็ต้องตกเป็นจำเลยสำคัญในฐานะเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมรายใหญ่   ความเข้าใจเช่นนี้แม้ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วคนทุกคนมีส่วนใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติและมีส่วนสร้างมลพิษตั้งแต่เกิด  แต่ถ้าทุกคนพร้อมใจกันใช้ข้าวของซึ่งต้องทำจากทรัพยากรธรรมชาติด้วยความประหยัด ใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างคุ้มค่าที่สุด  ก็จะส่งผลให้การซื้อหาของจากภาคอุตสาหกรรมน้อยลง  การผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคก็น้อยลงตาม  ปริมาณการใช้ทรัพยากรก็น้อยลง  ขยะเหลือใช้ที่จะเป็นตัวทำลายมลภาวะก็น้อยลง อันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม  ในสภาวะที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายมากเช่นนี้   ทุกคนจึงควรลองทบทวนดูให้ชัดเจนว่าในการใช้ชีวิตประจำวันของเราแต่ละวันนั้น  ยังจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยประหยัดในส่วนใดได้บ้างและมีอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดมลพิษโดยไม่รู้ตัว  แล้วจะได้แก้ไขเพื่อช่วยกันกอบกู้สิ่งแวดล้อม   ซึ่งเราก็มีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวที่สุดมาบอกกันดังนี้

- อาหารการกินเป็นสิ่งแรกที่ควรพิจารณาเพราะปัจจุบันมีความนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติคเป็นภาชนะกันมากทุกครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นถุง เป็นจาน หรือแก้วน้ำ   พลาสติคนั้นนอกจากจะใช้ผลผลิตจากปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป  ยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย  บางชนิดถูกความร้อนขณะใช้ก็จะละลายสารพิษเข้าสู่ร่างกาย   เมื่อหมดประโยชน์ใช้สอยถ้าทิ้งไม่ถูกที่ทางเกิดหลุดลงท่อระบายน้ำ ก็จะอุดตัน  หรือถ้าตกลงในแหล่งน้ำก็เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ  การย่อยสลายก็ยาก  ถ้าใช้วิธีเผา  หมึกพิมพ์หรือสีบนถุงหรือบนภาชนะซึ่งมีสารแคดเมี่ยมปะปนอยู่ก็จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ   จึงควรใช้ภาชนะอื่นที่สามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้ หรือย่อยสลายได้ง่ายกว่า   การหันไปหาวิธีโบราณเช่นเวลาซื้อของก็หาตะกร้าหรือถุงกระดาษใส่   เวลาเก็บของในตู้เย็นก็ใส่ภาชนะที่นำมาทำความสะอาดแล้วใช้ได้อีกเป็นต้นน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าหรือถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็พยายามใช้ให้น้อยที่สุด  และก่อนจะทิ้งขยะทุกชนิดควรสำรวจดูก่อนว่าสามารถดัดแปลงเป็นของใช้อย่างอื่นต่อไปอีกหรือไม่   ควรทิ้งขยะในที่ที่เหมาะสมถ้าใครเขาจะนำขยะไปผ่านกรรมวิธีแปรสภาพเป็นของใช้อย่างอื่นได้อีกก็ควรสนับสนุน  ทำอย่างนี้ได้ก็เท่ากับช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

- โฟมเป็นภาชนะอีกอย่างหนึ่งที่นิยมมากในปัจจุบัน  ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรใช้ให้น้อยที่สุด เพราะโฟมผลิตจากสารเบนซินผ่านการสังเคราะห์เป็นสไตลีนแล้วอัดก๊าซเข้าไปกลายเป็นโฟม และถึงแม้จะมีความพยายามหากระบวนการผลิตอื่นที่เกิดอันตรายต่อบรรยากาศน้อยลงแล้วก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด  อีกทั้งโฟมเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากมาก จะสามารถอยู่บนพื้นโลกได้นานนับร้อยปีแถมกินเนื้อที่เยอะเมื่อทิ้งเป็นขยะ ถ้าอยู่ในน้ำเมื่อแตกตัวก็ไม่ย่อยสลายจึงเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำที่อาจจะคิดว่าเป็นอาหาร แล้วกินเข้าไป   ถ้าจะทำลายด้วยวิธีเผาก็ต้องใช้ความร้อนสูงมากกว่าการทำลายขยะชนิดอื่น

- กระดาษชำระที่กลายเป็นของใช้คู่บ้านในทุกกรณีไปแล้วทุกวันนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรใช้อย่างประหยัดด้วยเหมือนกัน   ถึงแม้จะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย แต่การผลิตเยื่อกระดาษก็ทำมาจากต้นไม้ ทั้งการที่มีสีขาวน่าใช้นั้นในกระบวนการผลิตก็จะเกิดสารพิษไดออกซินที่จะแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำ ดังนั้นถ้าจะใช้ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าขี้ริ้ว ซึ่งสามารถทำความสะอาดแล้วนำมาใช้ได้ใหม่แทนกระดาษชำระก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทุกคนได้ช่วยโลกรักษาสิ่งแวดล้อม

- การใช้น้ำ-ไฟ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนคงไม่ค่อยจะมีใครเก็บข้อมูลเป็นรายวันว่าใช้กันไปวันละเท่าใด แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างการประปาได้เคยแสดงตัวเลขไว้ว่าถ้าเปิดก๊อกน้ำไว้ ๑ นาที จะมีน้ำไหล ๓–๕แกลลอน   ใครที่ใช้น้ำแบบเปิดทิ้งไว้ขณะฟอกตัว ฟอกหน้า หรือฟอกจาน-ชามก็ลองคำนวณความสิ้นเปลืองของน้ำได้ตามเวลาที่เปิด    การใช้ไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน  ปัจจุบันมีเครื่องใช้ไฟฟ้ามากมายที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ แม้บางสิ่งบางอย่างที่ดูจะไม่ค่อยจำเป็นก็มีผู้หาไว้ใช้ ซึ่งการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นหรือไม่สมเหตุสมผลกับประโยชน์ที่จะได้รับนั้น ก็เป็นตัวการที่จะทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน สิ้นเปลืองทรัพยากร  ถ้าทุกคนลดส่วนที่ไม่จำเป็นนี้ลงได้ ก็เท่ากับช่วยต่ออายุให้โลกได้

ยกตัวอย่างของใกล้ตัวมาเพียงเท่านี้คงจะช่วยต่อขยายแนวคิดไปสู่สาเหตุความสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ใช้กันในชีวิตประจำวันและวิธีแก้ไขได้อีกมากมาย    แต่ถ้าคิดไม่ออกหรือยังไม่อยากคิดก็มีหลักง่ายที่สุดคือคิดทุกครั้งก่อนจะซื้อหาข้าวของมาใช้   ใช้แล้วต้องให้สมประโยชน์ที่สุดโดยวิธีที่ประหยัดที่สุด  เมื่อจะทิ้งเป็นขยะก่อนทิ้งก็ขอให้คิดถึงความเป็นไปได้ว่าจะนำมาแปรสภาพเป็นของใช้อย่างอื่นได้อีกหรือไม่ และท้ายที่สุดคือต้องทิ้งขยะด้วยความรับผิดชอบให้ถูกที่ถูกทางเพื่อขยะจะได้รับการทำลายอย่างถูกวิธี สิ่งแวดล้อมจะได้ไม่เสียหายมากกว่านี้

เรียบเรียงจาก
- สมุดภาพวัยฝันวันโลกสวย : โครงการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมเพื่อเด็ก : มูลนิธิเด็ก, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัทไทยประกันชีวิต
- 108 ซองคำถามเล่ม 3 : สำนักพิมพ์สารคดี

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "วันสิ่งแวดล้อมไทย"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ