วันน้ำโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 2.2K views



วันน้ำโลก
22 มีนาคมของทุกปี
 

 


            
ยิ่งนับวัน  ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ และภัยธรรมชาติในบ้านเมืองของเราก็ยิ่งเกิดบ่อยขึ้น คนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เสมอ  คงจะจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้บางจังหวัดในภาคเหนือทั้งๆ ที่หมดฤดูฝนแล้ว ก็เกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วมเสียหายไปไม่ใช่น้อย ต่อมาอีกไม่นานก็เกิดภาวะแห้งแล้งจนแม้แต่หญ้าที่จะใช้เป็นอาหารสัตว์ก็ยังขาดแคลน  ภาคอีสานก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน ในบางจังหวัดเกิดความแห้งแล้งจนต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้ง ภาคใต้ก็ฝนตกหนักน้ำท่วมเสียหาย   สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ยังจะเป็นสัญญาณเตือนภัยที่หนักแน่นพอหรือยัง   สำหรับคนไทยจะได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่า ต้นน้ำลำธารและประหยัดการใช้ทรัพยากรทุกชนิดให้เข้มข้นขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากร “น้ำ”

 

          วันที่  ๒๒  มีนาคมนี้ (๒๕๔๙) เป็น “วันน้ำโลก” โดยที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ประกาศมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖   เนื่องจากตระหนักได้ถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรณรงค์ชักชวนให้ชาวโลกร่วมกันบำรุงรักษาและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  ก่อนที่จะใช้กันตามสบายจนไม่มีจะใช้ เพราะเคยมีผู้คาดการณ์ไว้ว่า เมื่อถึงปี ๒๕๖๘ หรืออีกไม่ถึงยี่สิบปีโดยประมาณพื้นที่หนึ่งในสามของโลกที่กันดาร ขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว   จะขยายตัวเป็นสองในสามของโลก ซึ่งก็เท่ากับบอกว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นมากเกินกว่าจำนวนทรัพยากรน้ำจะรองรับการอุปโภคบริโภคได้    สหประชาชาติเสนอแนะว่าโดยปกติคนหนึ่งคนจะใช้น้ำ  ทั้งดื่ม  ปรุงอาหาร ชำระล้าง ฯลฯ  รวมแล้วไม่ต่ำกว่า  ๕๐ ลิตร ต่อวัน แล้วก็มีตัวเลขจากการสำรวจตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ด้วยว่าคนอีกมากกว่าหนึ่งพันล้านคน ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการดำรงชีพตามมาตรฐานถัวเฉลี่ยของโลกด้วย  การที่จะทำให้ทุกคนมีน้ำใช้เพียงพอตามมาตรฐาน  ประชากรของโลกจะต้องลดการใช้น้ำของตนลงร้อยละ ๑ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะเท่ากับทุกคนจะต้องเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว  แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้  ถ้าทุกคนเกิดความเมตตาต่อผู้ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในสภาพขาดแคลน และสำนึกได้ในภัยอันอาจจะเกิดกับตนเองได้  ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติดำเนินต่อไปโดยไม่มีการสะกัดกั้น


สำหรับเมืองไทยเราที่ค่อนข้างจะโชคดีเพราะอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่าเขาอื่น ขณะนี้ก็เริ่มมีสิ่งบอกเหตุมาเตือนบ้างแล้ว จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น   


แนวคิดข้อปฎิบัติในการประหยัดน้ำ ดังนี้


- ไม่ทราบว่าชาวกรุงเทพมหานครรู้หรือไม่ว่า เราเป็นผู้ได้ชื่อว่าใช้น้ำเปลืองมากมีอัตราใช้โดยเฉลี่ยถึง  ๒๖๕ ลิตร/คน/วัน มากกว่าชาวฮ่องกงใช้เป็นเท่าตัว  แสดงว่าเราสามารถใช้น้ำอย่างประหยัดลงได้อีก  ซึ่งอาจทำได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำในชีวิตประจำวันเสียใหม่เช่นเคยอาบน้ำโดยใช้อ่างอาบน้ำก็เปลี่ยนมาอาบโดยฝักบัว หรือตักราดซึ่งจะประหยัดน้ำได้มากกว่า ระหว่างใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าจะด้วยการ   สีฟอก หรือขัด  อย่าเปิดน้ำทิ้งไว้


- การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเช่นยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาขัดห้องน้ำ ฯลฯ ควรใช้แต่น้อย เพราะนอกจากจะยืดระยะเวลาซื้อให้ห่างออกไปเป็นการประหยัดเงินแล้ว  น้ำเสียซึ่งเป็นน้ำที่มีสารเคมีผสมอยู่ก็จะเป็นน้ำเสียที่เจือจางมีสารเคมีน้อย  เมื่อทิ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ความเสียหายที่จะเกิดต่อแหล่งน้ำจะได้ลดน้อยลง  (ในกรณีนี้สามารถใช้เป็นแนวคิดในการทำการเกษตร  หรือสนามกอล์ฟซึ่งต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชได้ด้วยเพราะโอกาสที่จะเกิดการชะล้างสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ จากการที่ฝนตกก็ดี หรือรดน้ำก็ดีจะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน)


- บ้านที่มีสนามหญ้ากว้าง ๆ ควรจัดการเรื่องน้ำให้ดี  การรดน้ำชุ่มเกินไป หรือระเหยไปเป็นการเสียเปล่า  จึงมีข้อแนะนำว่า ควรตัดหญ้าให้อยู่ในระดับสูงจากพื้น ๒-๓ นิ้ว เพื่อให้ต้นหญ้ามีรากสมบูรณ์และให้ร่มเงาธรรมชาติแก่พื้นดินทำให้เก็บความชุ่มชื้นไว้ได้   ในเรื่องของการรดน้ำ   สนามหญ้าส่วนใหญ่ต้องการน้ำในปริมาณที่วัดได้ ๑ นิ้ว ใน ๑ สัปดาห์ วิธีคำนวณง่ายๆ และทำเพียงครั้งแรกครั้งเดียวก็คือใช้กระป๋องนม  ๓  ใบ   วางในสนามห่างจากเครื่องพ่นน้ำในระยะต่างกัน เปิดน้ำแล้วจับเวลาดูว่าปริมาณน้ำ ๑ นิ้วในแต่ละกระป๋องใช้เวลาเท่าใด จากนั้นนำเวลาทั้งหมดมารวมกัน หารด้วย  ๓  ก็จะได้ระยะเวลาเฉลี่ยที่จะใช้เป็นกำหนดเวลาสำหรับการรดน้ำในครั้งต่อไป  และการให้น้ำนั้นควรให้ตอนเช้าตรู่จะดีที่สุด   ถ้าให้กลางวันน้ำจะระเหยเร็ว ถ้าให้กลางคืนแม้จะดีกว่าตอนกลางวันเพราะไม่มีปัญหาน้ำระเหย  แต่ก็เสี่ยงกับการเกิดโรครา


- ข้อที่จะแนะนำต่อไปนี้คนที่ชอบบริโภคเนื้อสัตว์คงจะลำบากใจ แต่ก็ต้องบอกกัน  เพื่อเป็นตัวอย่างว่ากว่าจะได้เนื้อวัว ๑ กก.นั้น นอกจากจะต้องใช้ข้าวโพดและถั่วเหลืองประมาณ  ๓๖ กก. แล้ว ยังจะต้องใช้น้ำอีกถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ลิตร ดังนั้นถ้าเราหันมาบริโภคพืชผักให้มากขึ้น แล้วบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลงก็จะเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรอื่นๆ ได้ด้วย นอกเหนือจากน้ำ  แถมเราจะมีสุขภาพดีด้วย


นี่เป็นเพียงข้อเสนอแนะบางส่วนที่เห็นได้จากการใช้ชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่  แต่ในความเป็นจริงย่อมมีอีกมากหลายพฤติกรรมของคนหมู่มากที่ผู้อื่นไม่สามารถรู้ได้ เพียงแต่เจ้าตัวเท่านั้นจะรู้   ดังนั้น  ในทางปฏิบัติจริง แต่ละท่านก็สามารถทบทวนและเห็นได้เองว่ายังมีสิ่งใดอีกบ้างที่จะสามารถช่วยโลกได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตน  ซึ่งก็เหมือนช่วยป้องกันภัยไม่ให้เกิดกับตนเองและลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ ไป



ข้อควรรู้เกี่ยวกับวันน้ำโลก


- ชนชาติกสิกรรมเช่นไทย  มีความเชื่อที่สั่งสมกันมาช้านานในเรื่องของความกตัญญูต่อผู้มีคุณ  จึงเกิดวัฒนธรรมประเพณีหลากหลายในอันที่จะแสดงความกตัญญูต่อธรรมชาติซึ่งเป็นผู้อำนวยความอุดมสมบูรณ์ต่อการดำรงชีวิตของตน  มีการ ประกอบพิธีน้อมระลึกถึงพระคุณของน้ำ  เกิดประเพณีลอยกระทงที่ทุกคนต่างตั้งอธิษฐานขอให้แม่พระคงคาช่วยเหลือหล่อเลี้ยงความอุดมสมบูรณ์สืบต่อไป และขออโหสิกรรมในสิ่งที่ตนชำระ ล้างสิ่งสกปรกลงไปด้วยเหตุที่จำเป็นด้วย 

ในทางปฏิบัติทุกคนจึงต้องระวังรักษาความ สะอาดของแม่น้ำลำคลองเป็นอันดี   ผิดจากปัจจุบันที่ถึงแม้จะมีการสืบต่อวัฒนธรรมประเพณีอันเกี่ยวเนื่องด้วยน้ำอยู่  แต่จิตสำนึกในอันจะเพียรรักษาความสะอาดของน้ำ ลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน  ความเกรงกลัวจะโดนธรรมชาติลงโทษก็น้อยลง  ซึ่งอาจจะ เนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนไปพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น  จึงมีสิ่งปฏิกูลที่ถมทิ้งลงไปในแม่น้ำลำคลองมากมาย    เมื่อน้ำไม่สะอาดพอสำหรับการบริโภค-อุปโภค  ภัยก็จะเกิดกับตัวของมนุษย์เอง



ที่มา

- นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๖๓๗  ปี ๒๕๔๘
- นสพ.ไทยรัฐ  : ๑๙ ม.ค. ๒๕๔๓
- สมุดภาพวัยฝันวันโลกสวย : โครงการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมเพื่อเด็กมูลนิธิเด็ก  คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บริษัทไทยประกันชีวิต
- วัฒนธรรมกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม :  วารสารวัฒนธรรมไทย  กุมภาพันธ์- มีนาคม  ๒๕๔๓

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ  ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "วันน้ำโลก"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ