เยาวชน : ความคาดหวังของผู้ใหญ่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 18.8K views



เยาวชน : ความคาดหวังของผู้ใหญ่

 “เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” , “เด็กฉลาดชาติเจริญ”  เราจะได้ยินคำขวัญทำนองคาดหวัง และปลุกปลอบใจให้เด็กตระหนักในความสำคัญของตนต่อชาติบ้านเมืองอยู่บ่อย ๆ เมื่อใกล้จะถึงวันเด็ก และพอถึงวันเด็ก หน่วยงานทั้งของภาครัฐ และเอกชนที่ตามปกติไม่ค่อยจะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยมากนัก เช่นหน่วยงานที่มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยความมั่นคงแต่มีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เรียกความสนใจใคร่รู้จากเด็ก ๆ ได้เสมอก็จะพากันจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เข้าชม เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้และประสบการณ์ของเด็กให้กว้างขวางออกไปกว่าที่ได้จากชั้นเรียน เด็กจะได้มีความรอบรู้กล้าแสดงออกและกล้าที่จะมีส่วนร่วมในสังคม พ่อแม่ที่พาลูกไปเที่ยวชมกิจกรรมดังกล่าว ก็เพราะปรารถนาจะให้ลูกได้พบสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจกว่าชีวิตปกติและให้ลูกได้เห็นได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่มีโอกาสเข้าใกล้ชิดได้ง่าย ๆ ในเวลาปกติด้วย เด็กเองก็มีความสุขในการได้เที่ยวกับพ่อแม่ ได้สนุกและเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการสร้างความพร้อมให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งสิ้น เราต่างทราบกันดีว่า เด็กจากครอบครัวที่พ่อ-แม่รักเอาใจใส่ต่อความสุข ความต้องการและสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกเสมอ จะเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดี และสุขภาพจิตที่ดีจะส่งผลให้สุขภาพกายดีตามไปด้วย เมื่อเติบโตเป็นเยาวชนที่มีความพร้อมในการศึกษาหาความรู้ สรรพวิทยาการต่าง ๆ ในแง่มุมที่กว้างออกไป  นั่นหมายถึงว่าประเทศชาติจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าในอนาคต เพราะเขาเหล่านั้นย่อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถพอสำหรับการสร้างความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป  ในทางกลับกันถ้าชาติใดมีเด็กและเยาวชนที่สุขภาพอ่อนแอและอ่อนด้อยทางวิชาความรู้ ก็ย่อมส่งผลให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พัฒนาชาติบ้านเมืองได้ช้า ล้าหลังกว่าชาติอื่น

ความสำคัญของเด็กและเยาวชนมีถึงเพียงนี้ นานาประเทศต่างจึงต้องเร่งสร้างความพร้อมให้กับเยาวชนของตน องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ( “เยาวชน” ตามความหมายสากลคือผู้มีอายุระหว่าง 15-25 ปี) ภายใต้คำขวัญ “PARTICIPATION DEVELOPMENT AND PEACE” ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ”

ร่วมแรงแข็งขัน – Participation หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคลที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่า โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั่น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ

ช่วยกันพัฒนา – Development ในสองมิติหนึ่งคือการพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาทางสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วย กระบวนการพัฒนาทั้งสองส่วนนี้มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน และความร่วมมือในระดับนานาชาติจะมีผลสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

ใฝ่หาสันติ – Peace สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพเป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยและสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น มีความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน

สำหรับประเทศไทย สำนักคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบให้ไทยมีวันเยาวชนแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” เพราะวันที่ 20 กันยายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งบรมจักรีวงศ์ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะยังทรงพระเยาว์ถึงสองพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

เป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบัน  เด็กและเยาวชนไทย มีความรู้ ความสามารถมาก เฉพาะอย่างยิ่ง ในทางวิชาการได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ  โดยไปสอบแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกในวิชาที่ยอมรับกันว่ายาก  ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ และคอมพิวเตอร์ ได้เหรียญทอง, เหรียญเงิน, เหรียญทองแดง กันหลายครั้ง และหลายคนมาอย่างต่อเนื่อง ชาวโลกก็ได้ประจักษ์ถึงความรอบรู้ทางวิชาการของเด็กไทย คนไทยก็พลอยชื่นชมยินดี มีหน้ามีตาในฐานะเป็นคนไทยด้วยกัน ต่างก็อยากจะให้เยาวชนทุกคนหันมาเอาใจใส่ เรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ กันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางวิชาการหรือเรื่องอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาจริยธรรม อยากให้จำนวนคนได้รับรางวัลจากการเรียนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนั่นหมายถึงว่าจะมีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นและช่วยนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ตลอดไป สำคัญแต่ว่าสถาบันหลักที่จะต้องทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัวที่จะต้องคงสถานะความเป็นครอบครัวที่ดีที่อบอุ่น มีความรักความเอาใจใส่ซึ่งกันและกันไว้ให้ตลอดรอดฝั่ง หรือรัฐจะต้องมีกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า และการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้นทุกด้าน ความคาดหวังในเรื่องของชาติและเยาวชนก็จะเป็นจริงขึ้นมาได้

 

เรียบเรียงจาก
- บทความเรื่อง 20 กันยายนแห่งชาติ, ส่วนข้อมูลข่าวสำนักข่าวไทย บริษัท อสมท จำกัด มหาชน
- มติชน 25 ก.ค. 48

บทย่อ
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนซึ่งจะเติบโตขึ้น เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ภายใต้คำขวัญ  “PARTICIPATION DEVELOPMENT AND PEACE  ความหมายภาษาไทยคือ ร่วมแรงแข่งขัน ช่วยกันพัฒนาใฝ่หาสันติ”
- ความหมายสากลของคำว่าเยาวชน หมายถึงคนในวัยหนุ่มสาว อายุระหว่าง 15-25 ปี
- สำนักคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) เสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. ให้ไทยมีวันเยาวชนแห่งชาติ ครม. มีมติเห็นชอบ เมื่อ 18 มิ.ย. 2528 โดยกำหนดให้วันที่ 20 ก.ย. เป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” เนื่องจากวันที่ 20 ก.ย. เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ที่เสด็จฯ ครองราชย์ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ถึงสองพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "เยาวชน : ความคาดหวังของผู้ใหญ่"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ