วันสตรีสากล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.8K views



วันสตรีสากล

 วันที่ ๘ มีนาคม ถือกันว่าเป็นวันสตรีสากล  จึงขอนำเรื่องราวความเป็นมาที่ทำให้เกิดวันดังกล่าว  ตลอดจนเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาบอกเล่ากันไว้ดังนี้

ตามความเป็นจริงผู้หญิงของทุกชาติไม่ได้รับความเสมอภาคกับผู้ชายมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว  เพียงแต่ว่าความเสียเปรียบนั้นจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ซึ่งมักจะ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชนชาตินั้นๆ  ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาอันเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดวันสตรีสากล  ผู้หญิงส่วนใหญ่ของเขาก็จะเป็นแม่บ้าน ทำงานบ้าน  ฝ่ายชายจะเป็นคนทำงานนอกบ้าน เป็นผู้หารายได้และดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเอง  ผู้หญิงอเมริกันจะจับจ่ายใช้สอยต้องขอสามี  จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อผู้ชายอเมริกันต้องเข้าสู่สนามรบ  ผู้หญิงอเมริกันจำต้องออกทำงานนอกบ้านตามบริษัทและโรงงาน ผลิตอาวุธยุทธปัจจัยสำหรับส่งกำลังบำรุงให้กับกองทัพ  จึงมีรายได้เป็นของตัวเอง มีอิสระในการจับจ่ายใช้สอยตั้งแต่นั้นมา  และถึงแม้สงครามจะผ่านพ้นไปแล้ว ผู้หญิงอเมริกันก็ยังทำงานนอกบ้านกันอยู่  ได้มีอิสระในการหารายได้มากขึ้น  สำหรับผู้หญิงไทยเราในสมัยก่อนก็ตกเป็นเบี้ยล่างผู้ชายอย่างมากเช่นเดียวกัน เช่น พ่อหรือสามี สามารถนำชื่อหญิงภรรยาไปใส่ในกรมธรรม์ ขายให้กับผู้อื่น โดยที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรู้ก่อน  ในขณะที่ผู้หญิงจะทำกับฝ่ายชายไม่ว่าพ่อหรือสามีในทำนองเดียวกันไม่ได้  แต่ผู้หญิงไทยกลับเป็นฝ่ายได้ดูแลข้าวของ เงิน ทองที่สามีหามาได้ และมีสิทธิในการจับจ่ายใช้สอยตามสมควร นี่คือความแตกต่างที่เป็นไปตามวัฒนธรรม แต่ความไม่เสมอภาคนั้นมีอยู่  เชื่อว่าหลายๆ ชาติก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน  แต่ทีนี้เหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดที่สหรัฐอเมริกา ที่โรงงานทอผ้าเมืองชิคาโก กรรมกรหญิงเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน  ถูกนายจ้างกดขี่  ทารุณ  และเอารัดเอาเปรียบ   ต้องทำงานวันละ ๑๒–๑๕ ชม. แต่ได้รับค่าจ้างน้อยนิด  ถ้าตั้งครรภ์ก็มักจะถูกไล่ออก  ในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗  (ตรง กับ พ.ศ. ๒๔๕๓)  บรรดากรรมกรหญิงซึ่งนำโดยคลาร่า แซทคิน ชาวเยอรมัน ได้พากันลุกขึ้นประท้วงนัดหยุดงาน  เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานลงให้เหลือวันละ ๘ ชม. แล้วให้ปรับปรุงสวัสดิการในโรงงาน ทั้งขอให้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย  การเรียกร้องครั้งนั้นแม้ยังไม่สำเร็จพลันทันที แต่ก็เหมือนกับการจุดประกายให้ผู้หญิงอีกทั่วโลกออกมาสนับสนุน   ต้องใช้เวลาถึง ๓ ปีจึงเป็นผลสำเร็จ  ในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ ตัวแทนผู้หญิงจาก๑๘ ประเทศ ก็มาเข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ ๒ ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  โดยที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรหญิง ให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชม.  ให้ศึกษาหาความรู้ ๘ ชม. และให้พักผ่อน ๘ ชม.  ค่าแรงก็ให้เท่ากันกับแรงงานชาย  ทั้งยังได้มีการคุ้มครองสวัสดิการผู้หญิงและเด็กด้วย   และมีการประกาศให้ วันที่  ๘ มีนาคมเป็น วันสตรีสากล  พอถึงวันดังกล่าวเมื่อใดองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิงในหลายประเทศทั่วโลกก็จะจัดงานเฉลิมฉลองระลึกถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคของกรรมกรหญิงเหล่านั้น ทั้งยังจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดความเคลื่อนไหวไปสู่การแก้ปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานยังประสบอยู่ 

สำหรับประเทศไทยเราได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติใช้ชื่อย่อว่า กสส. ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  และมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลทุกปีเช่นเดียวกัน

ในเรื่องของสิทธิสตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๕, ๖ และ ๓๐ รับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรีให้มีสิทธิเท่าเทียมเสมอภาคกับบุรุษ และห้ามมิให้เลือกปฏิบัติต่อสตรีในการที่ไม่เป็นธรรม  ซึ่งก็นับว่าไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิเสรีภาพแก่ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย    และเมื่อผู้หญิงไทยได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียมมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่แสดงความสามารถในการงานอาชีพอย่างทัดเทียมผู้ชาย  เรามีรัฐมนตรีหญิง  อธิบดีหญิง  นักธุรกิจหญิงที่มีความสามารถโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับโลกจำนวนไม่น้อย

ผู้หญิงเก่งระดับผู้นำประเทศ
- นางสิริมาโว บันดาราไนยเก อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา  ถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก ก่อนนางอินทิรา คานธี  ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดียและเป็นผู้พาอินเดียให้เป็นอิสระจากอังกฤษ)
- ฟิลิปปินส์ มีประธานาธิบดีหญิงถึงสองคน ได้แก่นางโคราซอน อาคิโน (๑๙๘๖-๑๙๙๒) กับนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย สาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อ ๒๐ มค.๒๐๐๑
- นางจันทริกา บันดาราไนยเก  กุมารตุงคะ  ประธานาธิบดีหญิงหลายสมัยของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (นางจันทริกาเป็นลูกสาวของนางสิริมาโว  บันดาราไนยเก)
- นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี  ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอินโดนีเซีย (๒๐๐๑ - ๑๐๐๓)

 

ที่มา 
     - วรนุช อุษณกร : ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก : โอเดียนสโตร์  ๒๕๔๓
     - วาทตะวัน สุพรรณเภษัช  :  ผู้จัดการออนไลน์ ๒๐ เม.ย. ๒๕๔๗
     - ส่วนการประชาสัมพันธ์  สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรม ประชาสัมพันธ์
     - นิตยสารกุลสตรี  :  กุมภาพันธ์  ๔๙

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ  ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "วันสตรีสากล"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ