บั้งไฟพญานาค
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.6K views



บั้งไฟพญานาค

วันที่ ๗ ตุลาคมนี้  เป็นวันออกพรรษา  เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ก่อให้เกิดประเพณีทางศาสนาที่สำคัญหลายประเพณีด้วยกัน  ได้แก่
- พระภิกษุสงฆ์จะกระทำพิธีปวารณาต่อกัน คือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดีโดยไม่โกรธเคืองกัน

- พุทธศาสนิกชนจะพร้อมกันทำบุญตักบาตรที่วัด  วัดใดที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงก็มักจะจัดให้มีพิธีตักบาตรเทโว  โดยจำลองเหตุการณ์ให้ใกล้เคียงกับตำนานความเชื่อที่ว่า  พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับจากการจำพรรษาและเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์  และประชาชนที่ต่างก็คิดถึงพระพุทธองค์ได้ไปคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่ที่เชิงบันไดเนรมิตรซึ๋งทอดจากเทวโลกสู่มนุษย์โลกกันมากมาย (ดูรายละเอียดจากบทความเรื่องวันออกพรรษา และ วันตักบาตรเทโว  เดือนตุลาคม  ๒๕๔๘ ใน Intranet)

- ในภาคของราษฎรนิยมจัดให้มีเทศน์มหาชาติ  ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องบุพจริยาของพระพุทธเจ้า  เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรที่ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่ก่อนจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า  มี ๑๓ กัณฑ์ด้วยกัน รวมพันพระคาถา  จึงเรียกการเทศน์แบบนี้ได้อีกอย่างหนึ่งว่าเทศน์คาถาพัน  ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าใครได้ฟังจบทั้งพันพระคาถาภายในวันเดียวจะเกิดอานิสงส์มากเช่นจะได้เกิดในศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย,  จะไม่ตกนรก จะได้เกิดในสวรรค์, จะเป็นผู้มีลาภ ยศ เป็นต้น (ดูรายละเอียดได้จากบทความเรื่องเทศน์มหาชาติ เดือนตุลาคม ๒๕๔๘ ใน Intranet)

- ก่อน ออกพรรษาหนึ่งวัน  ชาวบางพลี สมุทรปราการจะจัดงานประเพณีรับบัว-โยนบัว  ตามที่คนมอญกับคนไทยแต่ก่อนได้ตกลงกันไว้ว่า ก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน คนไทยจะเตรียมดอกบัวไว้ให้คนมอญนำไปบูชาหลวงพ่อโตส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งนำไปบูชาพระคาถาพันที่วัดในวันออกพรรษา ให้คนมอญจัดเรือมารับ  (ดูได้จาก Intranet) ปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ ๔-๕ ตุลาคม

- หลัง ออกพรรษาหนึ่งวัน   เริ่มตั้งแต่วันแรม  ๑ ค่ำ เดือน  ๑๑ ไปจนถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  (ระยะเวลา ๑ เดือน)  ถือเป็นเทศกาลกฐิน จัดเป็นกาลทาน  เพราะถ้าพ้นจากกำหนด ๑ เดือนนี้แล้วจะไม่นับว่าเป็นการทอดกฐิน ส่วนการทอดผ้าป่า ทำได้ไม่จำกัดเวลาแต่มักทอดพร้อมกับกฐิน (ดูรายละเอียดได้จากบทความเรื่องกฐินกาล เดือนตุลาคม ๒๕๔๘ ใน Intranet)

นอกจากประเพณีทางศาสนาที่ยกมานี้แล้ว ในวันออกพรรษา หรือหลังออกพรรษาหนึ่งวันของทุกๆ ปีจะเกิดปรากฏการณ์ประหลาดที่ชาวบ้านเรียกว่า “บั้งไฟพญานาค”ขึ้นในลำน้ำโขง  ย่านอำเภอโพนพิสัย  จังหวัดหนองคาย  และที่หนองน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่อำเภอแก่งอาฮง   คือจะมีลูกไฟขนาดต่างๆ  สีแดงอมชมพู  หรือสีแดงทับทิมพุ่งจากใต้น้ำขึ้นสู่อากาศ โดยไม่มีเสียงและไม่มีเปลวไฟ  เมื่อขึ้นสูงจากผิวน้ำ (ประมาณ ๕๐ – ๑๐๐ เมตร) แล้วก็จะดับหายไปกลางอากาศ โดยไม่ได้หรี่เล็กลง  หรือตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ  ทั้งยังมีเรื่องแปลกกว่านี้อีกก็คือ บั้งไฟพญานาค ที่เกิดในหนองน้ำขนาดใหญ่ เช่นหนองสรวง ที่บ้านร่อนถ่อน ตำบลจุมพล อำเภอแก่งอาฮง สีของลูกไฟที่พุ่งจากใต้น้ำกลับเป็นสีเขียวสว่างไสว ไม่ได้สีแดงอมชมพูเหมือนที่เกิดที่อื่น  ชาวบ้านเชื่อกันว่านั่นเป็นเพราะแก่งอาฮงเป็นเมืองหลวงของพญานาค เป็นสะดือแม่น้ำโขง  และมีถ้ำใต้น้ำที่ทะลุไปออกภูงูของลาวได้ด้วย  สำหรับลูกไฟที่ผุดขึ้นมานั้น ก็เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากบรรดาพญานาคที่อยู่ในแม่น้ำโขงกระทำถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าในโอกาสที่เสด็จจากดาวดึงส์กลับสู่โลกมนุษย์ในวันออกพรรษานั่นเอง

ความเชื่อในเรื่องพญานาคนี้  น่าจะมิได้จำกัดวงอยู่แต่ชาวหนองคายเท่านั้น ทุกที่ที่แม่น้ำโขงไหลผ่านน่าจะมีความเชื่อในทำนองเดียวกัน  เพราะมีตำนานเกี่ยวกับพญานาคและแม่น้ำโขงบอกเล่าเรื่องราวไว้มากมาย เช่น ตำนานสุวรรณโคมคำบอกเล่าถึงกำเนิดแม่น้ำโขงไว้ว่า  เกิดจากพญานาคที่เมืองหนองแส ประเทศจีนทะเลาะกัน  พวกหนึ่งต้องหลบหนีลงใต้  โดยเวลาที่อพยพนั้น หน้าอกของนาคไถไปกับแผ่นดินทำให้เกิดเป็นร่องน้ำใหญ่ก็คือแม่น้ำโขง   อย่างแก่งหลี่ผีที่ขวางกั้นลำน้ำโขงทางตอนใต้สุดของประเทศลาวนั้น ก็เชื่อกันว่าเป็นฝายที่นาคทำขึ้น  ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงยังได้กล่าวถึงนาคว่า  มีปราสาทราชวังอันวิจิตรพิสดารลึกลงไปใต้ดิน ๑ โยชน์ หรือ ๑๖ กิโลเมตรเป็นที่อยู่  จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งชาวไทยและชาวลาวสองฝั่งแม่น้ำโขงจะไม่ค่อยสบายใจนักกับการที่มีใครบางคนมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่พวกตนต่างเชื่อถือศรัทธามานานนับร้อยปี

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อมูลจากงานวิจัย เกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ระหว่างปี ๒๕๓๖-๒๕๔๑  ของนายแพทย์มนัส  กนกศิลป์  ว่า  มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอากาศระดับชิดผิวโลก จากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ โลก  ดวงจันทร์ และพลังงานรังสีจากดวงอาทิตย์  และเมื่อดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดส่วนประกอบอากาศใหม่ที่ผิวโลก ที่สามารถทำปฏิกิริยากับฟองแก๊สธรรมชาติที่มีขนาดและส่วนประกอบที่เหมาะสมผุดขึ้นแทบทุกวัน ลุกติดเป็นดวงไฟ ณ ตำแหน่งและเวลาเดิม ขณะโลกขยับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดยจะพบได้ ๑-๓ วันในช่วงเดือนมีนาคม- พฤษภาคม    และช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม อีก ๒-๕ วัน ส่วนวันที่จะพบจำนวนลูกไฟมากที่สุดคือขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ หรือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑  แต่ก็คาดวันแน่ไม่ได้   แต่สำหรับลุ่มแม่น้ำโขงนี้มีระบบนิเวศน์ที่มหัศจรรย์ และจังหวัดหนองคายเป็นแห่งเดียวในโลกที่เกิดบั้งไฟพญานาคจำนวนมาก และกำหนดวันได้แน่นอนมาเป็นเวลานับร้อยปี

เกร็ดเรื่อง 
คนไทยเรานั้นนอกจากจะได้รับวัฒนธรรมและคติความเชื่อต่างๆ จากพราหมณ์ และอินเดียมาเป็นเวลาช้านานแล้ว  คนไทยส่วนใหญ่ยังได่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอีกด้วย จึงทำให้พลอยได้รับเรื่องราวคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค หรือพญานาคไว้ไม่น้อย เช่น อินเดียมีคติความ เชื่อว่านาคเป็นพาหนะของพระพิรุณ ทำหน้าที่ให้น้ำตามคำสั่ง   เราก็มีการทำนายปริมาณน้ำจะมากจะน้อยในแต่ละปีด้วยการดูว่า “นาคให้น้ำ” กี่ตัว  ถ้านาคให้น้ำตัวเดียว น้ำจะมาก แต่ถ้าปีไหนนาคให้น้ำหลายตัว ยิ่งมากตัว น้ำก็ยิ่งน้อยเพราะเกี่ยงกัน หรือแต่ละตัวกลืนน้ำไว้ในท้องมาก  ทางฮินดูก็มีคติความเชื่อว่านาคหรือพญานาคเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์  เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากโปรดพระพุทธมารดา  ก็เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยบันไดเนรมิตรที่มีพญานาคหนุนบันไดไว้  เราจึงมีการสร้างนาคสะดุ้งไว้ตามราวบันไดโบสถ์  ศาลา และพุทธสถานต่างๆ  ตามคติความเชื่อนั้น   

สำหรับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่มีนาคเข้ามาเกี่ยวข้องก็มีอยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่องของพญานาคที่ชื่อ “มุจลินทร์” ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  ได้แผ่เศียรและใช้ขนดหางของตนวงรอบองค์พระพุทธเจ้าขณะประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้จิก ภายหลังจากตรัสรู้  เพื่อป้องกันลมหนาวและฝนที่ตกพรำมาตลอด ๗ วันไม่ให้ต้องพระวรกาย  เป็นเหตุให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกขึ้นมาบูชา  

ครั้งหนึ่ง  พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัท ได้มีพญานาคตนหนึ่งแปลงกายเป็นมนุษย์มาฟังพระธรรมเทศนาอยู่ด้วย  แล้วเกิดเลื่อมใสศรัทธา ขอบวชเป็นพระภิกษุ  ในพุทธศาสนา  อยู่มาวันหนึ่งขณะหลับ ร่างได้คืนกลับเป็นนาค และมีพระภิกษุรูปอื่นไปพบเห็นเข้า ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงให้พระภิกษุที่เป็นนาคนั้นสึกออกไป นาคนั้นเสียใจมาก ได้ขอถวายคำว่า “นาค” ไว้ให้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวช เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน  เหตุนี้ทำให้ทรงมีพุทธบัญญัติห้ามสัตว์เดรัจฉานบวชเป็นพระภิกษุ  ดังนั้นในจำนวนข้อขัดข้องที่ทำให้บวชไม่ได้ ๘ ประการ ที่พระอุปัชฌาย์จะต้องถามผู้มาขอบวช จึงมีคำถามที่ว่า“ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า” รวมอยู่ด้วย

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระพุทธรูปปางนาคปรก
พระพุทธรูปปางนาคปรกที่อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียร อันถือเป็นพระประจำวันของคนเกิดวันเสาร์นั้น มีสองแบบ  คือแบบนั่งสมาธิบนขนดตัวพญานาค ดูเหมือนนาคเป็นบัลลังก์ มีสง่า เป็นพระเกียรติอำนาจของพระพุทธเจ้าได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพวกพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก   กับแบบนั่งสมาธิภายในวงขนดพญานาคที่ล้อมพระวรกายไว้ถึง ๔-๕ ชั้น จนถึงพระอังสา  เบื้องบนก็มีเศียรพญานาคแผ่ปกคลุม  ซึ่งเป็นแบบที่นิยมสร้างน้อยกว่า หาดูได้ยาก แต่ถ้าพิจารณาดูตามตำนานคือเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธ ๗ วัน แล้วเสด็จไปประทับยังร่มไม้จิก  บังเอิญฝนตกพรำไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญามุจลินท์นาคราชจึงออกจากพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบนเพื่อไม่ให้ฝนลมหรือสัตว์เลื้อยคลานอื่นเข้ามารบกวนแล้ว  แบบหลังน่าจะต้องด้วยตำนานมากกว่า

 

ที่มา  
     - ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ ของพระธรรมโกศาจารย์ อนุจารีเถระ  พิมพ์โดยสถาบัน   ส่งเสริมพุทธศาสน์ วัดเทวราชกุญชร 
     - หงอนพญานาค :  ธวัชชัย เพ็งพินิจ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หนองคาย,  travel.sanook.com

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "บั้งไฟพญานาค"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ