ชนิดของคำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2M views



ชนิดของคำ

คำในภาษาไทยจำแนกได้ ๗ ชนิด คือ

๑. คำนาม
๒. คำสรรพนาม
๓. คำกริยา
๔. คำวิเศษณ์
๕. คำบุพบท
๖. คำสันธาน
๗. คำอุทาน


คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ รวมทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม เช่น เด็ก พ่อ แม่ นก ช้าง บ้าน โรงเรียน ความดี ความรัก ฯลฯ

คำนามแบ่งเป็น ๕ ชนิด ดังนี้

๑. สามมานยนาม คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อทั่วไปไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น พ่อ แม่ นก รถ ขนม ทหาร ตำรวจ ครู คน ประเทศ รัฐบาล ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - นักเรียนอ่านหนังสือ
               - แม่ซื้อผลไม้ในตลาด

๒. วิสามานยนาม คือ นามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เช่น ครูสมศรี ประเทศไทย วันจันทร์ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูลตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี
               - เด็กชายวุฒิชัยได้รับรางวัลเรียนดีเยี่ยม

๓. ลักษณะนาม คือ คำนามที่ใช้บอกลักษณะของนามหรือกริยา เพื่อบอกขนาด รูปร่างสัณฐาน ปริมาณ เช่น ตัว ด้าม เม็ด หลัง ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - บ้านหลังนี้ทาสีสวยมาก
               - ฟันน้ำนมน้องหัก ๒ ซี่

๔. สมุหนาม คือ คำนามที่บอกหมวดหมู่ของนามทั่วไปและนามเฉพาะ เพื่อบอกถึงลักษณะที่รวมกันเป็นหมู่ เป็นพวก เช่น ฝูง โขลง กอง กลุ่ม คณะ ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - กองทหารรักษาการณ์อยู่ตลอดเวลา
               - ฝูงนกบินออกหาอาหารในเวชาเช้าตรู่

๕. อาการนาม คือ คำนามที่บอกกิริยาอาการหรือความปรากฏเป็นต่าง ซึ่งมีคำ "การ" "ความ"นำหน้า
          ตัวอย่าง
               - การเดินทางในครั้งนี้ปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง
               - ความรักทำให้คนตาบอด

- การ ใช้นำหน้าคำกริยา เช่น การเดิน การวิ่ง การพูด การเจรจา การอ่าน การทำงาน การกิน ฯลฯ
- ความ ใช้นำหน้าคำวิเศษณ์และคำกริยาเกี่ยวกับจิตใจ เช่น ความดี ความรัก ความสวย ความเจริญ ความสุข ความคิด ความฝัน ความเข้าใจ ฯลฯ



คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามที่ผู้พูดหรือผู้เขียนได้กล่าวแล้ว หรือเป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้ฟังและผู้พูด เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำ

คำสรรพนามแบ่งเป็น ๖ ชนิด ดังนี้

๑. บุรุษสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนในการพูดจา แบ่งเป็น ๓ พวก คือ
          - สรรพนามบุรุษที่ ๑ หมายถึง คำสรรพนามที่ใช้แทนตัวผู้พูด เช่น ฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า กู เราอาตมา ข้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ
          - สรรพนามบุรุษที่ ๒ หมายถึง คำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ฟัง เช่น เธอ ท่าน คุณ มึง เอ็ง ลื้อ แกใต้เท้า พระองค์
          - สรรพนามบุรุษที่ ๓ หมายถึง คำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ที่พูดถึง หรือสิ่งที่กล่าวถึง เช่น เขา มัน แกท่าน หล่อน พระองค์ ฯลฯ

๒. ประพันธสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือคำสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า และประโยค ทำหน้าที่เชื่อมประโยค ๒ ประโยคให้มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ คำ ที่ ซึ่ง อัน ผู้ เช่น
             ตัวอย่าง
                 - ฉันชอบคนที่มีมารยาทดี
                 - นักเรียนซึ่งนั่งอยู่ในห้องพักครูมีมารยาทดี
                 - บทเพลงอันไพเราะย่อมเป็นที่ประทับใจผู้ฟัง
                 - ครูผู้เสียสละเพื่อนักเรียนสมควรได้รับการยกย่อง

๓. วิภาคสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามเพื่อแบ่งพวก หรือรวมพวก ได้แก่ คำ บ้าง ต่าง กัน
            ตัวอย่าง
                 - นักเรียนบ้างก็เล่นบ้างก็คุยในชั้นเรียน
                 - ชาวบ้านต่างช่วยกันเก็บขยะในบริเวณวัด
                 - ญาติพี่น้องนั่งคุยกัน

๔. นิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่แสดงความชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่ คำ นี่ นั่น โน่น เช่น
           ตัวอย่าง
                 - นี่คือโรงเรียนของฉัน
                 - นั่นเขากำลังเดินมา
                 - โน่นคือบ้านของเขาู่

๕. อนิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่บอกความไม่เจาะจง ได้แก่ คำ ใคร อะไร ไหน อย่างไร อะไร ๆ ผู้ใด ๆ ใด ๆ ซึ่งไม่ใช่คำถาม 
           ตัวอย่าง
                 - เขาชอบพูดโกหกจนไม่มีใครเชื่อเขาอีกแล้ว
                 - อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้พักผ่อน
                 - ผู้ใดไม่ต้องการก็ไม่เป็นไร

๖. ปฤจฉาสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่มีความหมายเป็นคำถาม ได้แก่ คำ อะไร ใคร อย่างไร ทำไม ผู้ใด
           ตัวอย่าง
                 - เธอชอบเรียนอะไรมากที่สุด
                 - ใครนั่งอยู่ในห้องเรียนตอนพักกลางวัน
                 - ทำไมไม่เข้าห้องเรียน



คำอุทาน คือคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งอาจเปล่งออกมาในขณะที่ตกใจ ดีใจ เสียใจ ประหลาดใจ คำอุทานส่วนมากไม่มีความหมายตรงตามถ้อยคำ แต่จะมีความหมายเน้นความรู้สึก และอารมณ์ของผู้พูดเป็นสำคัญ

คำอุทานแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก ดังนี้ี้

๑. อุทานบอกอาการ เช่น โอ๊ย อ้าว ว๊าย โอย โอ๊ย ตายจริง คุณพระช่วย โอ้โฮ ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                  - โอ๊ย ! เจ็บเหลือเกิน
                  - ตายจริง ! ฉันไม่น่าลืมเลย

๒. อุทานเสริมบท เช่น อาบน้ำ อาบท่า, ไปวัด ไปวา, ผ้าผ่อน, เสื้อแสง ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - เด็ก ๆ สกปรกมอมแมม รีบไปอาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย



คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

คำวิเศษณ์แบ่งเป็น ๑๐ ชนิด ดังนี้

๑. ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกลักษณะ ชนิด สี ขนาด สัณฐาน รส กลิ่น เสียง ความรู้สึก ได้แก่ คำ ใหญ่ เล็ก เร็ว ช้า หอม เหม็น เปรี้ยว หวาน ดี ชั่ว ร้อน เย็น ฯลฯ
             ตัวอย่าง
                  - บ้านเล็กในป่าใหญ่
                  - ผักสดมีประโยชน์ต่อร่างกาย
                  - น้องสูงพี่เตี้ย

๒. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเวลาในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เช้า สาย บ่าย เย็น
             ตัวอย่าง
                   - เขาไปทำงานเช้า
                   - เย็นนี้ฝนคงจะตก
                   - เราจากกันมานานมาก

๓. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ ระยะทาง ได้แก่ คำ ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - พี่เดินหน้า น้องเดินหลัง
                 - โรงเรียนอยู่ใกล้ตลาด
                 - แจกันอยู่บนโต๊ะ

๔. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกจำนวนหรือปริมาณ ได้แก่คำ มาก น้อย หนึ่ง สอง หลาย ทั้งหมด ฯลฯ
           ตัวอย่าง
                - เขาไปเที่ยวหลายวัน
                - ฉันเลี้ยงสุนัขสองตัว
                - คนอ้วนกินจุ

๕. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ ชอกกำหนดแน่นอน ได้แก่ คำ นี่ นั่น โน่น นั้น โน้น เหล่านี้ เฉพาะ แน่นอน จริง ฯลฯ

๖. อนิยมสรรพนาม คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความไม่ชี้เฉพาะ ไม่แน่นอน ได้แก่ คำ อะไร ทำไม อย่างไร ไย เช่นไร ฉันใด กี่ ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - เขาจะไปไหนก็ช่างเขาเถอะ
                 - แม่ซื้ออะไรมาเราก็ทานได้ทั้งนั้น
                 - เธอมาทำไมไม่มีใครสนใจ

๗. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเนื้อความเป็นคำถามหรือความสงสัย ได้แก่
คำ อะไร ไหน ทำไม อย่างไร ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - น้องทำอะไร
                 - สิ่งใดอยู่บนโต๊ะ
                 - เธอจะทำอย่างไร

๘. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้ในการเรียกขานและโต้ตอบกัน ได้แก่ คำ คะ ขา ครับ ขอรับ จ๋า จ๊ะ พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - หนูจ๋ามาหาครูหน่อยซิจ๊ะ
                 - คุณพ่อครับผมขออนุญาตไปดูหนังนะครับ
                 - หนูกลับมาแล้วค่ะ

๙. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความปฏิเสธ ได้แก่ คำ ไม่ ไม่ใช่ ไม่ได้ หามิได้ บ่ ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - เขาไม่ทำการบ้านส่งครู
                 - คนพูดโกหกจริงไม่มีใครเชื่อถือ
                 - หนังสือนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันไม่สามารถรับได้

๑๐. ประพันธวิเศษ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมประโยค ให้มีความเกี่ยวข้องกัน ได้แก่ คำที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ ชนิดที่ ที่ว่า ว่า เพราะเหตุว่า ฯลฯ
             ตัวอย่าง
                  - เขาฉลาดอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
                  - แม่ทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก
                  - เขาบอกว่า เขากินจุมาก




คำบุพบท คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคำหนึ่งหรือกลุ่มคำหนึ่งให้สัมพันธ์กับคำอื่น หรือกลุ่มคำอื่น เพื่อแสดงความหมายต่าง ๆ เช่น ความเป็นเจ้าของ ลักษณะ เหตุผล เวลา สถานที่ ประมาณ ความต้องการ เปรียบเทียบ ฯลฯ ได้แก่ คำ ใน แก่ แต่ ต่อ สำหรับ โดย ด้วย ของ แห่ง ใกล้ ไกล ฯลฯ

คำบุพบทแบ่งเป็น ๒ พวก คือ

๑. คำบุพบทที่เชื่อมโยงกับบทอื่น
    ๑.๑ บุพบทนำหน้ากรรม ได้แก่ คำ แก่ ซึ่ง
           ตัวอย่าง
                - อย่าเห็นแก่ตัว
                - เราต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
    ๑.๒ บุพบทนำหน้าคำที่เป็นเจ้าของ ได้แก่ คำ แห่ง ของ
           ตัวอย่าง
                - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
                - หนังสือของนักเรียน
    ๑.๓ บุพบทนำหน้าคำบอกลักษณะ ได้แก่ คำ ด้วย กับ แก่ ต่อ
           ตัวอย่าง
                - ยายกินข้าวด้วยมือ
                - ครูให้รางวัลแก่นักเรียนเรียนดี
    ๑.๔ บุพบทนำหน้าคำบอกเวลา ได้แก่ คำ เมื่อ ตั้งแต่ กระทั่ง จน
            ตัวอย่าง
                - เขามาถึงบ้านเมื่อเช้านี้
                - พ่อทำงานจนเที่ยงคืน
    ๑.๕ บุพบทนำหน้าคำบอกสถานที่ ได้แก่ คำ ที่ ใน เหนือ ใกล้ จาก แต่
            ตัวอย่าง
                - เขามาแต่บ้าน
                - น้ำอยู่ในตู้เย็น
    ๑.๖ บุพบทนำหน้าคำบอกประมาณ ได้แก่ คำ ตลอด เกือบ ทั้ง ราว
           ตัวอย่าง
                - ฝนตกหนักตลอดปี
                - น้องไปโรงเรียนเกือบสาย

๒. คำบุพบทที่ไม่เชื่อมโยงกับบทอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค ใช้เป็นการทักทาย มักใช้ในคำประพันธ์
           ตัวอย่าง
                - ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมเป็นหลักสำคัญทางศาสนา
                - ข้าแต่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าความเมตตาจากท่าน
                - ดูก่อน ท่านผู้เจริญ ความเมตตาต่อสรรพสัตว์เป็นสิ่งพึงกระทำ




คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยคข้อความกับข้อความ หรือ ความให้สละสลวย ได้แก่ คำ และ หรือ แต่ เพราะ ฯลฯ

คำสันธานทำหน้าที่ได้ ๔ ลักษณะ ดังนี้
       ๑. ใช้เชื่อมคำกับคำ เช่น ฉันและเธอชอบเรียนวิชาภาษาไทย, เธอชอบมะลิหรือกุหลาบ
       ๒. ใช้เชื่อมข้อความ เช่น คนเราต้องการอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้
       ๓. ใช้เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น แม่ชอบปลูกไม้ดอกแต่พ่อชอบปลูกไม้ประดับ, น้องไปโรงเรียนไม่ได้เพราะไม่สบาย
       ๔.เชื่อมความให้สละสลวย เช่น เขาก็เป็นคนจริงคนหนึ่งเหมือนกัน, คนเราก็ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา

คำสันธานมี ๔ ชนิด คือ

๑. คำสันธานเชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่ คำ กับ, และ, ทั้ง...และ, ทั้ง...ก็, ครั้น...ก็, ครั้น...จึง, พอ...ก็
        ตัวอย่าง
              - พ่อและแม่รักฉันมาก
              - ฉันอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
              - พอมาถึงบ้านฝนก็ตก

๒. คำสันธานเชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่ คำ แต่, แต่ทว่า, ถึง...ก็, กว่า...ก็
        ตัวอย่าง
             - น้องอ่านหนังสือแต่พี่ฟังเพลง
             - ถึงเขาจะปากร้ายแต่เขาก็ใจดี
             - กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียแล้ว

๓. คำสันธานเชื่อมใจความที่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ คำ หรือ, หรือไม่ก็, มิฉะนั้น, ไม่เช่นนั้น, ไม่...ก็
        ตัวอย่าง
            - เธอจะอ่านหนังสือหรือฟังเพลง
            - เราต้องขยันเรียนมิฉะนั้นจะสอบตก
            - นักเรียนต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียนหรือไม่ก็พัฒนาเขตรับผิดชอบ

๔. คำสันธานเชื่อมใจความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่ จึง, เพราะ, เพราะว่า, เพราะ.....จึง, ฉะนั้น...จึง
       ตัวอย่าง
            - นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนจึงสอบไม่ผ่าน
            - เพราะเขาเป็นคนดีจึงได้รับการยกย่อง
            - สุพิศมีความรับผิดชอบดังนั้นจึงได้รับคัดเลือกเป็นประธานนักเรียน

ข้อสังเกต

๑. คำสันธานบางคำใช้เข้าคู่กัน เช่น เพราะ......จึง, กว่า......ก็ ฯลฯ
๒. คำสันธานอาจอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของประโยค เช่น
         - อยู่ระหว่างคำ ฉันซื้อดอกกุหลาบและดอกบัว
         - อยู่หน้าประโยค เมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ
         - อยู่ระหว่างประโยค เธอจะเล่นหรือจะเรียน
๓. ประโยคที่มีคำสันธานเชื่อมจะแยกได้เป็นประโยคย่อยตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไป
๔. คำบางคำเป็นได้ทั้งคำสันธานและคำบุพบท โดยการพิจารณาการแยกประโยคเป็นสำคัญ เช่น
         - เราทำงานเพื่อชาติ (เป็นบุพบท)
         - เราทำงานเพื่อเราจะได้สนองคุณชาติ (เป็นสันธาน)
๕. คำสันธานอาจเป็นกลุ่มคำก็ได
๖. ประพันธสรรพนาม หรือสรรพนามเชื่อมประโยค ที่, ซึ่ง, อัน จัดเป็นคำสันธานด้วย เช่น
         - สตรีผู้มีความงามย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
         - เขาทำงานอยู่ในท้องถิ่นซึ่งห่างไกลความเจริญ
         - ชายที่ยืนอยู่นั้นเป็นทหาร




Tag :