กุฏิทูสกชาดก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 62.8K views



                                                                            ชาดก

• เป็นวรรณกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นำมาจากพระไตรปิฎก โดยมีเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบารีมีต่าง ๆ ในทุก ๆ ชาติ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๕๕๐ เรื่อง  ชาดกแต่ละเรื่องจะมุ่งสอนคติธรรมและจริยธรรมในทางอ้อม โดยใช้บทบาทของตัวแสดงในนิทาน ซึ่งมีทั้งเทวดา คน และสัตว์ต่าง ๆ แสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันทั้งที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ ในชั้นนี้จะนำชาดกมาแสดง ดังนี้

                                                                    กุฏิทูสกชาดก

• เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ พระเชตวัน พระองค์ทรงปรารภถึงภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งได้เผาบรรณศาลาของพระมหากัสสปะเถระ จึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุที่มาเฝ้า

• เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระ อาศัยในอรัญบุรีซึ่งมีภิกษุสองรูปปรนนิบัติอยู่ รูปหนึ่งตั้งใจปรนนิบัติรับใช้พระเถระ ส่วนอีกรูปหนึ่งนั้นก็ไม่สนใจปรนนิบัติ  แต่จะคอยฉกฉวยโอกาสเอาเปรียบภิกษุที่ตั้งใจ ขยันทำงาน เช่น ภิกษุที่ขยันปรนนิบัติพระเถระได้นำน้ำสำหรับบ้วนปากมาตั้งไว้ให้พระเถระ ภิกษุอีกรูปจึงรับไปหาพระเถระ และกราบเรียนว่าตนได้จัดน้ำไว้แล้วขอให้พระอาจารย์ล้างหน้าเถิด  หรือขณะที่พระเถระออกมา ภิกษุรูปนี้ก็ทำเป็นขยันปัดกวาดเช็ดถูทำเหมือนว่าบริเวณทั้งสิ้นสะอาดเพราะตนปัดกวาด


• พระภิกษุอีกรูปหนึ่งที่ขยันขันแข็งในการทำงาน รู้ทันความคิดของภิกษุผู้นี้ว่าเอารัดเอาเปรียบ จึงคิดหาวิธีแก้เผ็ด โดยต้มน้ำสำหรับอาบไว้ที่หลังซุ้มแล้วต้มน้ำอีกเพียงนิดหน่อยไว้บนเตาไฟ ภิกษุผู้เอาเปรียบตื่นขึ้นมาเห็นไอน้ำพลุ่งขึ้นมา ก็คิดว่าภิกษุรูปนั้นคงเตรียมน้ำไหว้สำหรับพระเถระอาบ จึงรีบไปหาพระเถระและเรียนท่านว่าขอให้รีบมาสรงน้ำที่
ซุ้มเถิด

• พระเถระเจ้าก็รับมาเพื่อสรงน้ำ แต่ก็ไม่มีน้ำ พระเถระเจ้าจึงถามว่า น้ำอยู่ที่ไหน น้ำอยู่ที่ไหน ภิกษุผู้นี้รีบใช้กระบวยเพื่อตักน้ำ แต่น้ำไม่มี  ส่วนภิกษุผู้ขยันขันแข็งได้นำน้ำที่เตรียมไว้จากหลังซุ้ม แล้วเรียนว่า ขอให้พระเถระเจ้าจงสรงน้ำเถิด พระเถระเจ้าสรงน้ำแล้วนึกรู้ว่าภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นผู้เอาเปรียบเพื่อน และเอาความดีเข้าตัว
• ต่อมาในเวลาเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่ภิกษุทั้งสองมาปรนนิบัติ พระเถระจึงสอนภิกษุผู้เอาดีเข้าตัวโดยไม่ได้เป็นผู้ทำงานว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นนักบวชแล้วควรพูดในสิ่งที่ตนทำจริง อย่าพูดมุสา ตั้งแต่นี้ไปอย่าได้ทำเช่นนี้

• ภิกษุรูปนั้นก็โกรธ วันรุ่งขึ้นก็ไม่ออกบิณฑบาตพร้อมกันกับพระเถระตามปกติ  กลับแอบไปบิณฑบาตบริเวณหมู่บ้านที่เป็นตระกูลของผู้อุปถัมภ์พระเถระเจ้า ผู้คนเหล่านั้นสงสัยว่า เพราะเหตุใดพระเถระจึงไม่มา ภิกษุรูปนี้ก็ตอบว่า พระเถระอยู่วัดเพราะไม่สบาย  ผู้คนต่างพากันถวายอาหารให้ตามที่ภิกษุนั้นขอ ภิกษุก็รับมาแล้วนำมาฉันเองโดยไม่มีใครรู้
•  ต่อมาพระเถระเจ้าไปโปรดตระกูลนั้น ซึ่งชาวบ้านถามว่า เมื่อวานนี้พระคุณเจ้าไม่สบายหรือ เมื่อได้ทราบว่าอยู่ในวิหารเท่านั้น พวกเราจึงได้ฝากถวายอาหารให้แก่ภิกษุหนุ่มไป พระคุณเจ้าได้ฉันอาหารแล้วหรือ เมื่อพระเถระได้ฟังเรื่องก็เข้าใจโดยตลอดจึงนิ่งเสีย  ในเย็นวันนั้นก็เรียกภิกษุรูปนั้นมา แล้วกล่าวว่า  การที่ไปขออาหารชาวบ้านมาแล้วมุสาอีก ย่อมเป็นการไม่ควร ขออย่าทำอนาจารเช่นนี้อีกเลย
• ภิกษุรูปนั้นก็โกรธแค้นอาฆาตในพระเถระ โดยคิดว่า เมื่อวานนี้ก็ว่าเราเรื่องน้ำแล้ว วันนี้ยังว่าเราเรื่องอาหารอีก ดีหล่ะพรุ่งนี้จะต้องทำให้ท่านรู้จักเราเสียบ้าง
•  วันรุ่งขึ้นขณะพระเถระออกบิณฑบาต ภิกษุรูปนั้นได้ทำลายทุบสิ่งของเครื่องใช้แล้วเผากุฏิของพระเถระแล้วหนีไป  การกระทำของภิกษุรูปนี้เหมือนได้ตกนรกทั้งเป็น เพราะได้กระทำสิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณชนในทางที่ชั่วร้าย
• บุคคลเมื่อจะเที่ยวไป  ถ้าไม่ประสบคน ที่ดีกว่า  หรือคนเช่นกับตน  พึงทำการเที่ยว ไปผู้เดียวให้มั่นไว้  เพราะความเป็นสหายในคนพาลย่อมไม่มี.


ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร