กิจกรรมพระพุทธศาสนา ๑ วัน ในโรงเรียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 26.5K views



                                               กิจกรรมพระพุทธศาสนา ๑ วัน ในโรงเรียน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทำให้คนไทยมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นเวลานาน ด้านการดำรงชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของคนไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเกือบทั้งสิ้น
• ฉะนั้น เด็กและเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นพลเมืองของประเทศไทยในอนาคตจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง และนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยจัดให้มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้กับนักเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ดังเช่น กิจกรรมพระพุทธศาสนา ๑ วัน ในโรงเรียน กิจกรรมอบรมค่ายคุณธรรมที่จัดในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน เป็นต้น
• กิจกรรมเหล่านี้มุ่งฝึกฝน กาย วาจา ใจของนักเรียนซึ่งเน้นการปฏิบัติโดยการให้นักเรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ในการจัดกิจกรรมเหล่านี้พระภิกษุจะเป็นผู้กำหนดกิจกรรมร่วมกับคณะครูในโรงเรียน

                                             ตัวอย่างตารางพระพุทธศาสนาหนึ่งวันในโรงเรียน
๐๘.๓๐ น. พิธีเปิด
 - ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
 - พระผู้เป็นประธานกล่าวธรรมโอวาท
๑๐.๐๐ น.  แบ่งกลุ่มศึกษาธรรม
 - กลุ่มที่ ๑ ชั้น ป. ๑,ป. ๒ และ ป. ๓
 - กลุ่มที่ ๒ ชั้น ป. ๔,ป.๕ และ ป. ๖

๑๑.๐๐ น.  พักรับประทานอาหาร
๑๒.๓๐ น.  แบ่งกลุ่มศึกษาธรรมกลุ่มที่ ๒ ต่อ ส่วนกลุ่มที่ ๑ ครูผู้สอนจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียนเน้นความสนุกสนาน เกมส์ และเพลง ฯลฯ
๑๕.๐๐ น.  พิธีปิด 

• รายละเอียดของการแบ่งกลุ่ม ขนาดของกลุ่มจะแบ่งตามความเหมาะสม หรือตามปริมาณของวิทยากร
   เรื่องที่จะศึกษา เช่น
                     ๑) พุทธประวัติ                               ๒) ธรรมะ 
                     ๓) ตรงต่อเวลา                              ๔) วาจาไพเราะ
                     ๕) สงเคราะห์ช่วยเหลือ                   ๖) ทำความเชื่อให้ตรง 
                     ๗) ดำรงตนให้น่ารัก                        ๘) มีหลักเพื่ออนาคต 
                     ๙) มารยาทไทย                            ๑๐) สมาธิ ฯลฯ 

การเข้าค่ายคุณธรรมและการเข้าร่วมพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

• เด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ คือ ถือเป็นความหวังของประเทศชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ ถ้าเด็กและเยาวชนประพฤติตนเป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและส่วนรวม เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ก็จะเป็นคนดีมีศีลธรรมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ
• การเข้าค่ายคุณธรรมและการเข้าร่วมพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา นับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อฝึกอบรม กาย วาจา และใจของนักเรียนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
• ซึ่งการเข้าค่ายคุณธรรมเป็นการนำนักเรียนกลุ่มใหญ่มาอยู่และปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน ให้สามารถพัฒนาความคิด รู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตลอดจนมีความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งเกิดความรักความหวงแหนในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และมีจิตสำนึกในความเป็นไทย 

                                                      ลักษณะการจัดอบรมของค่ายคุณธรรม

โดยประยุกต์การสอนธรรมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีการสอนสอดแทรกคุณธรรมด้วยกิจกรรม สื่อ เกมส์ กรณีตัวอย่าง บทบาทสมมุติและสถานการณ์จำลอง เป็นต้น
ตัวอย่างกิจกรรมในการเข้าค่ายพุทธบุตร
๑) แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยประมาณ ๔๐ –๕๐ คน
๒) ศึกษาวิชาธรรมขั้นพื้นฐานให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียน เช่น หลักธรรมเรื่อง โอวาท ๓ พรหมวิหารธรรม ๔ ไตรสิกขา เป็นต้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
๓) ศึกษาวิชาพุทธประวัติ เน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้และเข้าใจได้ถูกต้องเกี่ยวกับพุทธประวัติในฐานะพุทธศาสนิกชน
๔) ศึกษาและปฏิบัติศาสนพิธีตามหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี เพื่อให้ผู้รับการอบรมเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เช่น การไหว้พระ การสวดมนต์ การทำบุญตักบาตร การทอดผ้าป่า เป็นต้น
๕) ศึกษาและปฏิบัติมารยาทชาวพุทธ มารยาทไทย เช่น การเดิน การนั่ง การกราบ การไหว้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ตระหนักถึงความเป็นไทย กิริยามารยาทงดงาม การปฏิบัติตนได้ถูกต้อง และภาคภูมิใจในความเป็นไทย
๖) ศึกษาและปฏิบัติการอบรมการฝึกสมาธิ เช่น การเดินจงกรม การรักษาศีล การแผ่เมตตา เป็นต้น

                                               ตัวอย่างกิจกรรมการสอนสอดแทรกคุณธรรม

๑) ใช้บทสรภัญญะประกอบกิจกรรม
๒) ใช้เกมสร้างสรรค์ นำความคิด สรุปด้วยคุณธรรม
๓) ใช้สื่อ อุปกรณ์ ภาพนิ่ง เครื่องฉายข้ามศีรษะ
๔) จุดเทียนแห่งปัญญา ทอดผ้าป่ากิเลส
๕) การใช้กิจกรรมบทบาทสมมุติ กรณีตัวอย่าง หรือสถานการณ์จำลอง
กิจกรรมเป็นส่วนประกอบในการเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ ได้พัฒนาตนเอง และได้รับความสนุกสนาน ซึ่งจะจบลงด้วยคุณธรรมที่ให้ข้อคิด เช่น ความเสียสละ ความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู และเพิ่มลักษณะการเป็นผู้นำที่ดีและการเป็นผู้ตามที่ดี เป็นต้น

                                                     ประโยชน์ของการเข้าค่ายคุณธรรม

๑. นักเรียนได้เข้ารับการอบรม ฝึกฝน กาย วาจา และใจ ตามหลักธรรม
๒. มีความรู้พื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา และน้อมนำรับมาปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาตนเองให้เป็นลูกที่ดี ศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดี และพลเมืองที่ดีในที่สุด
๓) เกิดความรัก ความศรัทธา หวงแหนและปกป้องในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
๔) ทุกคนตระหนักในความเป็นไทย โดยเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทย ไม่นิยมอารยธรรมต่างชาติ 

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร