การปฏิบัติตนต่อศาสนสถาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 207.9K views



การปฏิบัติตนต่อศาสนสถาน
• การปฏิบัติตนต่อวัด

การไปวัดควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย โดยใช้เสื้อผ้าสีอ่อน ๆ หรือสีขาวไม่ควรสวมกางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสั้น
ขณะที่เราอยู่ในบริเวณวัด เราควรสำรวมกาย วาจา ไม่ควรส่งเสียงดังและไม่ยิงนกตกปลาในวัด 

• การปฏิบัติตนต่อศาสนสถานอื่น ๆ
๑. ช่วยกันรักษาให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่ขีดเขียนสิ่งใด ๆ ให้สกปรก
๒. บำเพ็ญประโยชน์โดยการช่วยกันทำความสะอาด
การทำความเคารพ เมื่อเดินผ่านวัดหรือ ศาสนสถานควรยกมือไหว้ด้วยความเคารพ 

การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัด
วัดเป็นสถานที่อำนวยคุณประโยชน์มากมาย วัดตั้งอยู่ทั่วทุกตำบลทุกหมู่บ้าน วัดมีความสำคัญต่อชีวิตส่วนบุคคลตลอดถึงส่วนรวม คือ ประเทศชาติ เป็นสถาบันสำคัญสถาบันหนึ่งใน ๓ สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
วัดเป็นสมบัติส่วนรวมของทุกคน เมื่อวัดเป็นสมบัติของเรา เราต้องบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัด ดังนี้
๑) ไม่ทำลายทรัพย์สมบัติของวัด เช่น ไม่ขีดเขียนกำแพงฝาผนัง หรือข้างฝา
๒) ไม่ลักขโมยทรัพย์สมบัติของวัด
๓) ป้องกันมิให้ผู้อื่นทำลายหรือลักขโมยทรัพย์สมบัติของวัด
๔) ช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุที่ชำรุดทรุดโทรมให้มั่นคงแข็งแรง โดยช่วยกันบริจาคทรัพย์ซ่อมแซมหรือชักชวนให้ผู้อื่นช่วยกันบำรุงรักษาวัด
๕) ช่วยกันรักษาความสะอาดศาสนสถานรวมทั้งบริเวณใด
๖) ปลูกต้นไม้และบำรุงรักษาต้นไม้ เพื่อให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่นสวยงาม
๗) บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนรวมแก่วัด เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ภาชนะต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัดแล้ว พระพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนต่อวัด ดังนี้
๑) แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งการสำรวมกิริยามารยาท ตลอดจนการเข้าไปในบริเวณวัดควรจะแต่งกายสุภาพเรียบร้อย
๒) ประพฤติตนอยู่ในขอบเขตศีลธรรมอันดีงาม เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยไม่ก่อการทะเลาะวิวาทกัน
๓) หมั่นเข้าวัดเพื่อทำบุญตักบาตร ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระในวันพระหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัด ถือว่าเป็นการบูชาพระคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยถือว่าวัดเป็นสมบัติของพุทธศาสนิกชนทุกคน เราต้องรักและหวงแหนวัด โดยช่วยกันทำนุบำรุงวัดเพื่อความมั่นคงถาวรของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทย

                                                                  การเรียนธรรมศึกษา

การเป็นชาวพุทธที่ดีนั้น จะต้องมีความรู้ทั้งด้านทางโลกและทางธรรม การศึกษาทางโลกจะช่วยในการประกอบอาชีพที่สุจริต ส่วนความรู้ทางธรรมเป็นความรู้ที่จะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตในแนวทางที่ถูกต้อง ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้กระทำความชั่ว และยังช่วยขัดเกลาให้เป็นคนดีมีเมตตา

• คำว่า “ธรรม” ในที่นี้จะเป็นศัพท์เฉพาะในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
• “ธรรม” คือ กฎแห่งความจริง อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์
กฎแห่งความจริงนี้ ไม่มีใครบัญญัติขึ้น แต่เป็นกฎที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ก็ตาม กฎแห่งความจริงนี้ก็มีอยู่ แต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้นไม่มีใครรู้กฎแห่งความจริงนี้อย่างถูกต้อง จนกระทั่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระองค์จึงทรงรู้อย่างถูกต้อง และเมื่อทรงรู้กฎแห่งความจริงนี้แล้ว ยังทรงพระกรุณาบอกให้ผู้อื่นรู้ตาม 

หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงได้มีการจารึกพระธรรมคำสอนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ คัมภีร์ที่จารึกพระธรรมนั้น เรียกว่า “พระไตรปิฎก” ซึ่งถือเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้ 

การเรียนธรรมศึกษา คือ การศึกษาพระธรรมวินัยและประวัติพระพุทธเจ้าพระสาวกและสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องที่คณะสงฆ์จัดให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยจัดให้สอบพร้อมกันทั่วประเทศ ในสัปดาห์หลังวันลอยกระทง เรียกว่า “สอบธรรมสนามหลวง”

                                                       ส่วนการเรียนรู้อาจทำได้หลายทาง เช่น
๑) การฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์
๒) การสนทนาธรรมกับผู้รู้ เช่น พระภิกษุ
๓) การเรียนตามหลักสูตรในโรงเรียน
๔) การอ่านหนังสือธรรมะ
๕) การฟังอภิปรายปัญหาธรรมะ 

                                                     การศึกษาธรรมของชาวพุทธในอดีต

มีวิธีการที่น่าสนใจ และถือเป็นแบบอย่างของการเรียนธรรมศึกษาในปัจจุบัน ดังนี้
๑) การจดบันทึกพระธรรม จะใช้วิธีจารลงบนใบลานโดยใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่า เหล็กจาร ไว้สำหรับขีดเขียน
 ๒) การฟังพระธรรมเทศนา ถือเป็นการศึกษาพระธรรมอย่างสูงสุด โดยจะเห็นธรรมาสน์สูงเด่นเป็นสง่าตามศาลาการเปรียญ บุคคลทุกชนชั้นจะฟังพระธรรมเทศนาโดยคารวะ
  ๓) การเรียนและการปฏิบัติของบรรพบุรุษ ที่น่าสนใจมากคือ การใช้อักษรย่อของข้อธรรมต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนมากจะใช้อักษรตัวต้นของศัพท์ธรรมเรียกว่า “หัวใจ” ซึ่งทำให้จำง่ายขึ้น
  ๔) ความสามารถของบรรพบุรุษในการประดิษฐ์อุปกรณ์การเรียน คือ เอาหัวใจธรรมนั้นเขียนลงในแผ่นผ้า แผ่นโลหะ หรือวัสดุอื่น ๆ โดยใช้เนื้อที่น้อยที่สุด แต่จุข้อธรรมให้ได้มากที่สุด และสะดวกในการนำติดตัวไปทุกแห่งสิ่งนั้นเรียนว่า “ยันต์” ซึ่งแปลว่า คล่อง เร็ว สะดวก

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร