พระไตรปิฎก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7.4K views



                                                                     พระไตรปิฎก

ความหมายของพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก แปลตามตัวอักษรว่า ตะกร้า ๓ ใบ  มากจากคำว่า ไตร แปลว่า สาม และ ปิฎก แปลว่า ตะกร้าหรือกระจาด ดังนั้น พระไตรปิฎก หมายถึง คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาที่ได้จัดรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันเป็นหมวดหมู่รวม ๓ ชุด
พระไตรปิฎก ถือเป็นแม่แบบในการตีความ หรืออธิบายความธรรมต่าง ๆ ที่ได้สอนอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากธรรม หรือข้อความทางพระพุทธศาสนาใด ๆ ขัดแย้งหรือคลาดเคลื่อนไปจากพระไตรปิฎกแล้ว ข้อความหรือธรรมนั้นก็ใช้ไม่ได้  พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงถูกจารึกด้วยอักษรของประเทศนั้น ๆ ดังเช่น ประเทศไทยก็จารึกด้วยอักษรไทย เนื้อหาทั้งหมดต้องเป็นไปอย่างเดียวกันทั้งสิ้น
• พระไตรปิฎกของประเทศไทยในปัจจุบันมีทั้งส่วนที่เป็นภาษาบาลี ซึ่งถือเป็นภาษาที่ใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและมีพระไตรปิฎกที่แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยและแบ่งเป็นเล่มที่กะทัดรัดแยกเป็นเล่มได้ทั้งหมด ๔๕ เล่ม
• แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้และนำหลักธรรมมาสั่งสอนบุคคลต่าง ๆ เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้วก็ตาม แต่ความรู้ต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกนั้น สามารถนำมาอธิบายให้เข้าใจในเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
• เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา  ชาวพุทธได้ยึดถือแนวคำสอนที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นหลักปฏิบัติ ข้อความรู้ต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกนั้นครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ อย่างมากมาย การศึกษาความรู้เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวพุทธทุกคน  ในชั้นนี้เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก คือ เรื่อง พระโมคคัลลานะเรียนวิชาแก้ง่วง
                                                         พระโมคคัลลานะเรียนวิชาแก้ง่วง

หลังจากที่พระโมคคัลลานะอุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน และได้บำเพ็ญเพียรอยู่ที่หมู่บ้านกัลวามุตตคาม ในแคว้นมคธ พระโมคคัลลานะรู้สึกง่วงเป็นยิ่งนัก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปโปรดและทรงสอนวิธีแก้ง่วง ๘ ประการ ให้พระโมคคัลลานะฟัง
                                                                  วิธีแก้ง่วง ๘ ประการ

๑.นึกคิดเรื่องใดแล้วเกิดความง่วง ก็ให้นึกเรื่องนั้นให้มาก ถ้ายังไม่หาย
๒. ให้ตรึกตรองเรื่องที่ได้เรียนได้ฟังมา ถ้ายังไม่หาย
๓. ให้ท่องข้อความที่ได้เรียนได้ฟังมา ถ้ายังไม่หาย
๔. ให้ย่อนหูทั้ง ๒ ข้างและเอามือลูบตัว ถ้ายังไม่หาย
๕. ให้ลุกขึ้นยืน แล้วเอาน้ำลูบตัว แหงนหน้ามองดูท้องฟ้า ถ้ายังไม่หาย
๖. ให้นึกถึงแสงสว่างในตอนกลางวัน แม้จะอยู่ในตอนกลางคืนก็ตาม ถ้ายังไม่หาย
๗. ให้เดินจงกรม คือ ลุกขึ้นเดินกลับไปกลับมาสักพัก และถ้ายังไม่หาย
๘. ให้นอนพัก โดยมีสติสัมปชัญญะตั้งใจว่าจะลุกขึ้น เมื่อตื่นแล้วให้ลุกขึ้นทันที

                                                             ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา เป็นคำยากที่ต้องแปล เพื่อให้เรียนรู้พระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าให้ถ่องแท้และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักเรียน ศัพท์ที่ต้องเรียนรู้สำหรับชั้นนี้คือ
• อุเบกขา
   อุเบกขา คือ การวางใจเป็นกลาง ได้แก่ การมีจิตเรียบตรงไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง วางเฉยและไม่ยินดียินร้าย พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำ ซึ่งควรได้รับผลดีหรือผลชั่วสมควรแก่เหตุที่ตนได้ทำไว้  รวมทั้งรู้จักการวางเฉยสงบใจมองดู เมื่อไม่มีกิจธุระใดที่ควรทำเพราะผู้อื่นเขารับผิดชอบได้แล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่เข้าไปก้าวก่ายยุ่งเกี่ยว

• อัญญานุเบกขา
    อัญญานุเบกขา คือ การวางเฉยแบบไม่รู้อะไร เรียกว่า เฉยแบบโง่นั่นเอง ซึ่งลักษณะของเฉยแบบโง่มักจะไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก จะนิ่งเงียบตลอดเวลา เช่น ถ้านักเรียนไม่เข้าใจในบทเรียนควรถามครู เพื่อประโยชน์ในการเรียนไม่ควรนิ่งเฉยหรือเก็บข้อสงสัยนั้น เพราะจะทำให้เราไม่ได้รับความรู้

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร