โอวาท ๓
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 181.9K views



                                                                       โอวาท ๓

• โอวาท ๓ คือ คำสอนที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนามี ๓ ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ที่วัดเวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ ในวันมาฆบูชา  หลักคำสอน ๓ ประการนี้ เรียกว่า  โอวาทปาฏิโมกข์  ถือเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องใส
• ๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง หมายถึง การไม่ทำความชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ  การไม่ทำชั่วตรงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ดังนี้
• เบญจศีล หรือ  ศีล  ๕  เป็นข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว
 ๑. เว้นจากที่การปลงชีวิต,เว้นจากการฆ่าการประทุษร้าย
๒. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้,เว้นจากการลัก โกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน
๓. เว้นจากการละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน
๔. เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง
 ๕. เว้นจากน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท,เว้นจากสิ่งเสพย์ติด  ให้โทษ

                                                                       ทุจริต ๓

ทุจริต ๓ หมายถึง การกระทำความชั่วทางกาย (กายทุจริต)  การกระทำความชั่วทางวาจา (วจีทุจริต) และการกระทำความชั่วทางใจ (มโนทุจริต) 

การประพฤติชั่วทางกาย ได้แก่
๑. การฆ่าสัตว์และการทำร้ายสัตว์หรือการเบียดเบียนผู้อื่น
๒. การลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น
๓. การประพฤติผิดในกาม หรือแย่งชิงของรักของผู้อื่น

การประพฤติชั่วทางวาจา ได้แก่
๑. การพูดเท็จ
๒. การพูดยุยงให้แตกแยกกัน
 ๓. การพูดคำหยาบ
๔. การพูดเพ้อเจ้อ 

การประพฤติชั่วทางใจ ได้แก่           
๑. การโลภอยากได้ของของผู้อื่น
๒. การคิดพยาบาทปองร้าย
๓. การเห็นผิดเป็นชอบ


                                                                     
   ทำความดีให้ถึงพร้อม


• เมื่อเราละเว้นจากการทำความชั่วแล้ว ก็ต้องหมั่นทำความดีควบคู่กันไปด้วย  จึงจะถือว่ามีความดีสมบูรณ์อย่างแท้จริง ส่งผลให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข  ดังนั้น เมื่อเราปฏิบัติเบญจศีลแล้ว จะต้องปฏิบัติเบญจธรรมควบคู่กับไปด้วย  


เบญจธรรม หมายถึง คุณธรรม ๕ ประการ คู่กับเบญจศีล ได้แก่
๑. เมตตากรุณา ความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ และความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ คู่กับศีลข้อที่ ๑
 ๒. สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต คู่กับศีลข้อที่ ๒
๓. กามสังวร ความสำรวม ระวัง รู้จักยับยั้ง ควบคุมตนไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คู่กับศีลข้อที่ ๓
๔. สัจจะ ความสัตย์ ความซื่อตรง คู่กับศีลข้อที่ ๔
 ๕. สติสัมปชัญญะ ระลึกได้รู้ตัวอยู่เสมอ คือฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิดรู้สึกตัวเสมอ สิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมาประมาท คู่กับศีลข้อที่ ๕ 

                                                                        สุจริต

สุจริต ๓ หมายถึง การประพฤติชอบทางกาย (กายสุจริต) การประพฤติชอบทางวาจา (วจีสุจริต) และการประพฤติชอบทางใจ (มโนสุจริต)
• การประพฤติชอบทางกาย ได้แก่                        
• มีความเมตตากรุณา
• ๒. เคารพในสิทธิและทรัพย์สินของผู้อื่น
• ๓. สำรวมในกาม
                                                                     

 การประพฤติชอบทางวาจา ได้แก่
๑. พูดความจริง
๒. พูดในทางส่งเสริม
๓. พูดคำไพเราะสุภาพ
๔. พูดแต่เรื่องที่มีประโยชน์ 
                                               

การประพฤติชอบทางใจ ได้แก่
 ๑. พอใจในสิ่งของที่ได้มาโดยถูกต้อง
๒. มีเมตตาต่อผู้อื่น และไม่คิดร้ายต่อใคร
๓. เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม 

                                                                           พรหมวิหาร ๔

• พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐมี ๔ ประการ คือ
๑. เมตตา ความรัก ความปรารถนาให้มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงมีความสุข
๒. กรุณา ความสงสาร อยากช่วยให้คนและสัตว์ทั้งปวงพ้นทุกข์
๓. มุทิตา ความยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดีหรือประสบผลสำเร็จ
๔. อุเบกขา การวางเฉย การวางใจเป็นกลาง 

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร