พุทธประวัติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 105K views



พุทธประวัติ

 เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีราชธานีเมืองหนึ่งชื่อว่า กรุงกบิลพัสดุ์ ตั้งอยู่ในอาณาจักร ชมพูทวีป มีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นผู้ครองนคร และมีพระมเหสีพระนามว่า พระนางสิริมหามายา 

 เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงมีพระครรภ์ จึงได้ทูลขออนุญาตจากพระราชสวามี เพื่อเสด็จไปยังกรุงเทวทหะ อันเป็นถิ่นกำเนิดของพระนาง ครั้นเมื่อขบวนเสด็จผ่านมาถึงสวนลุมพินี พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้นก็เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ 

 

 

 

 

 

 



พระโอรสประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะทรงประกอบพิธีขนานพระนาม โดย เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาประชุมเพื่อทำพิธี ในครั้งนั้นทรงขนานพระนามว่า สิทธัตถะ แปลว่า ผู้สำเร็จตามความประสงค์ และยังได้ทำนายว่า ถ้าพระโอรสอยู่ครองเมืองจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก



หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาได้สิ้นพระชนม์ลง  เจ้าชายสิทธัตถะจึงได้อยู่ในความดูแลของพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นน้องสาวของพระนางสิริมหามายา  เจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมพรรษาได้ ๗ พรรษา ดังนั้นพระราชบิดาให้ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักครูวิศวามิตร เจ้าชายสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วจนสิ้นความรู้ของอาจารย์ 

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา หรือ ยโสธรา และเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า ราหุล 

  
    

ตรัสรู้
ครั้งหนึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกประพาสอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ๔ ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทำให้พระองค์คิดว่า คนทั้งหลายล้วนต้องประสบการเกิด แก่ เจ็บ และตายไม่มีใครรอดพ้น และคิดว่าการออกบวชจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ พระองค์จึงเสด็จออกบวชในคืนนั้นโดยมีม้ากัณฐกะ และมีนายฉันนะเป็นผู้ติดตามและบวชที่ฝั่งแม่น้ำอโนมา 

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะผนวชแล้ว ได้ไปศึกษาอยู่ในสำนักอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ศึกษาจนสำเร็จก็ไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงเสด็จไปแสวงหาธรรมที่อื่นต่อไป 

    



ต่อมาพระองค์ได้บำเพ็ญทุกรกิริยากลั้นลมหายใจเข้าออก อดอาหาร จนพระวรกายผ่ายผอม ก็ยังไม่พบหนทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกวิธีทรมานร่างกายเป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ที่เฝ้าปรนนิบัติอยู่เห็นว่าพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญเพียรแล้วจึงได้พากันหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี



พระสิทธัตถะได้กลับมาเสวยอาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แล้วบำเพ็ญเพียรด้วยการนั่งสมาธิ ทำจิตให้เกิดสมาธิแน่วแน่ พิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติจึงเกิดความรู้แจ้งตรัสรู้ใน อริยสัจ ๔ ซึ่งถือเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา และได้รับการขนานพระนามใหม่ว่า พระพุทธเจ้า



โปรดชฎิล
ชฎิลเป็นนักบวชลัทธิหนึ่งที่บูชาไฟ และจัดเป็นลัทธิใหญ่ที่มีประชาชนนับถือมาก ในแคว้นมคธ พี่ชายคนโตชื่ออุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน คนที่สองชื่อ นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คน และคนสุดท้ายชื่อ คยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐ คน ตั้งอาศรมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 



เพื่อพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าประกาศศาสนาให้รวดเร็วจะต้องทำให้ชฎิล ๓ พี่น้องนับถือเสียก่อน เพราะทั้งสามเป็นผู้มีหมู่ชนนับถือมากมาย พระองค์จึงได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพี่ชายคนโตก่อน และแสดงธรรมแก่คนที่สองและคนที่สามตามลำดับ  ด้วยพระเทศนาชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร จนชฎิล ๓ พี่น้องเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและขอบวชในพระพุทธศาสนา  และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา ส่วนนักบวชที่เป็นสาวก จำนวน ๑,๐๐๐ คน ได้ขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วย 
    

โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
เมื่อพระพุทธเจ้าโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง จึงพร้อมด้วยพระอรหันต์สาวกจำนวน ๑,๐๐๓ องค์ ได้เสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้พระอุรุเวลกัสสปะชี้แจงแก่คนทั้งหลายถึงสาเหตุที่ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาพระอุรุเวลกัสสปะประกาศว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาและตัวท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า 



จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งข้าราชบริพาร จนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาพร้อมกับได้ประกาศเป็นสาวกของพระองค์  พระเจ้าพิมพิสารได้แสดงความเคารพนับถือพระรัตนตรัย  โดยทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน สวนไผ่ เพื่อให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวก เวฬุวัน นับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา 

พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เป็นพุทธสาวกที่สำคัญ ที่ถือเป็นแบบอย่างในความพากเพียรพยายาม ที่จะทำตนให้สำเร็จ ถือเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า และพระโมคคัลลานะได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้ามีเรื่องราวน่าสนใจดังนี้ 

   

ในระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้นครราชคฤห์ ซึ่งมีเจ้าลัทธิผู้หนึ่งชื่อ สัญชัย ตั้งสำนักอยู่ใกล้กรุงราชคฤห์ และมีสาวกประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งในบรรดาสาวกเหล่านั้นมีสาวกสองคนชื่อ อุปติสสะและโกลิตะ ทั้งสองคนนี้มีสติปัญญามาก พบว่าคำสอนของท่านสัญชัยไม่อาจนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ จึงตกลงกันว่า ถ้าผู้ใดเห็นธรรมก่อน ก็ให้กลับมาบอกแก่กัน
วันหนึ่งอุปติสสะได้พบกับพระอัสสชิ บังเกิดความเลื่อมใสจึงเข้าไปสนทนาและซักถามว่าใครเป็นอาจารย์ของท่านพระอัสสชิได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของท่าน



 ศาสดาได้สั่งสอนดังนี้
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุเกิดแห่งธรรมนั้น และตรัสความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้
เมื่อพระอัสสชิกล่าวจบ อุปติสสะก็ได้บรรลุธรรมเบื้องต้น และกลับมาแจ้งแก่โกลิตะ โกลิตะบรรลุธรรมเบื้องต้นเช่นเดียวกัน  อุปติสสะและโกลิตะจึงได้อำลาท่านสัญชัย และพาสหายอีก ๒๕๐ คน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวัน ทูลขอบวช



เมื่อบวชแล้วอุปติสสะ มีนามว่า พระสารีบุตร ส่วนโกลิตะ มีนามว่า พระโมคคัลลานะ ทั้งสองท่านได้ปฏิบัติธรรมโดยพากเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้รับส่วนพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย 



แสดงโอวาทปาฏิโมกข์
หลังจากที่พระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๙ เดือน ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ได้มีพระสงฆ์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระองค์ที่เวฬุวนารามโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน  ในการประชุมครั้งนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดง โอวาทปาฏิโมกข์  ซึ่งถือเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง 



ขอขอบคุณเนื้อหาจาก  พระมหาปรีชา ปภสสโร