สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 11.9K views



รายพระนามสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

ความเป็นมาของสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย

 

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทยนำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย

 

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่าย คามวาสี เป็นสังฆราชขวา สมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี และมาเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

 

ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีตำแหน่งสังฆปรินายก ๒ องค์ ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย ขวา ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า คณะเหนือ พระพนรัตน์เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า คณะใต้ มีสุพรรณบัตรจารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง ๒ องค์ แต่ที่สมเด็จพระพนรัตน์ โดยปกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้นเป็นสมเด็จทุกองค์

 

จึงเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นมหาสังฆปรินายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ที่พระพนรัตน์แต่เดิม ทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นสมเด็จทุกองค์ เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี วิธีการปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ราชธานี ก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปครอง ทำนองเจ้าประเทศราช เมืองใหญ่แต่ละเมือง จึงน่าจะมีสังฆราชองค์หนึ่ง เป็นสังฆปรินายกของสังฆบริษัทในเมืองนั้น ดังปรากฎเค้าเงื่อนในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่าพระสังฆราชอยู่หลายเมือง จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์

 

พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือฝ่ายที่พำนักอยู่ใกล้เมืองเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่า คามวาสี อีกฝ่ายหนึ่งบำเพ็ญสมณธรรมในที่สงบเงียบตามป่าเขา ห่างไกลจากบ้านเมืองเรียกว่า อรัญวาสี ภิกษุ แต่ละฝ่ายยังแบ่งออกเป็นคณะ แต่ละคณะจะมีพระราชาคณะปกครอง หัวหน้าพระราชาคณะเรียกว่า สมเด็จพระราชาคณะ

 

แบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ของไทย เริ่มจัดวางหลักตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีการพัฒนาเพิ่มเติมใน สมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยมาตามลำดับ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังจัดโดยมีตำแหน่งเปรียบเทียบดังนี้

สกลสังฆปรินายก ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช
มหาสังฆนายก ได้แก่ เจ้าคณะใหญ่
สังฆนายก ได้แก่ เจ้าคณะรอง
มหาสังฆปาโมกข์ ได้แก่ เจ้าคณะมณฑล
สังฆปาโมกข์ ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระราชาคณะ
สังฆวาห ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระครู

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามพระบรมราชวงค์ผู้ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทรงเศวตฉัตร ๕ ชั้น พระราชวงค์ชั้นรองลงมาเท่าที่ปรากฎมีชั้นหม่อมเจ้าผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำหน้า พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตร ๕ ชั้น

 

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้บัญญัติถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ว่า ในกรณีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนาม สมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เพื่อปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ ๔ รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกราบถวายบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย และจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป

 

ต่อมาได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สี)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดระฆังโฆษิตาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ดำรงตำแหน่ง อยู่ ๑๑ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๒๓ พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๙

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัด มหาธาตุยุวราชวังสฤษดิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๔ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ เมื่อพระชนมายุได้ ๗๐ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ อยู่ใน ตำแหน่ง ๓ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษด์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ดำรงตำแหน่ง ๒๐ พรรษาสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕ มีพระชนมายุได้ ๘๑ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบูรณะราชวรวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ทรงดำรงตำแหน่ง ๖ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๒ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๖ พรรษา

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์แรกกับเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ดำรงสมณศักดิ์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๖ รวม ๒ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับมหาสมณุตมาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๒ พรรษา เป็นพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ ๑๐ เดือน ก็สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระชมมายุได้ ๘๓ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๒ รวม ๖ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ ๘๗ พรรษา

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ดำรงพระอิสริยยศ ๒๒ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ พระชนมายุ ๖๒ พรรษา

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอิสริยยศ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๑๖ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระชนมายุได้ ๗๙ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๖ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ พระชนมายุ ๘๙ พรรษา

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นภวงศ์)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นภวงศ์) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๑๔ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ พระชนมายุ ๘๖ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตยาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๒ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๒ พรรษา สิ้นพระชนมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระชนมายุ ๙๑ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฺฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฺฐายี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๗ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ พระชนมายุ ๗๔ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๑ พรรษาเศษ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ พระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอยู่ในตำแหน่ง ๑๔ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พระชนมายุ ๙๑ พรรษา

 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ที่มาของภาพประกอบ : https://www.watbowon.com/load.htm 

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร ประสัตถพงศ์) 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร ประสัตถพงศ์) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน 

 


ที่มาของข้อมูล
- สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ [https://www.dhammathai.org/thailand/sangkharaja.php] สืบค้นเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
- รายพระนามสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ [https://th.wikipedia.org/wiki/] สืบค้นเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
- พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [https://w3c.senate.go.th/bill/bk_data/284-6.pdf] สืบค้นเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) [https://th.wikipedia.org/wiki/] สืบค้นเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) [https://th.wikipedia.org/wiki/สืบค้นเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐