ภาษาไทย ป. 6 เทคนิคเตรียมสอบ O-NET ป. 6 วิชาภาษาไทย รูปแบบอัตนัย (ข้อสอบข้อเขียน)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 316.4K views



 

 

 

     การสอบ O-NET ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ วิชาภาษาไทยเป็นวิชาแรกที่จะมีข้อสอบในส่วนของข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบแบบเขียน ที่ผ่านมาน้อง ๆ คุ้นชินกับการทำข้อสอบปรนัยที่มีตัวเลือกให้เลือกตอบ แต่เมื่อมีข้อสอบแบบเขียนเพิ่มขึ้นมา หลายคนอาจเริ่มวิตกว่า “ข้อสอบเขียนเป็นอย่างไร?” “แล้วจะเขียนตอบแบบไหน?” ทาง สทศ. จึงได้แนะนำแนวทางการทำข้อสอบ ตัวอย่างข้อสอบ และเทคนิคการเขียนคำตอบให้ได้คะแนน ดังนี้


ลักษณะข้อสอบ O-NET ป. 6 วิชาภาไทย
     ลักษณะข้อสอบ O-NET ป. 6 วิชาภาษาไทย ทั้งชุดให้เวลาทำ 80 นาที ข้อสอบมี 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนที่เป็นปรนัย 32 ข้อ ให้เวลาประมาณ 50 นาที และส่วนอัตนัย 2 ข้อ ให้เวลาประมาณ 30 นาที


ลักษณะข้อสอบอัตนัย
     ข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบแบบเขียนตอบ มีจำนวน 2 ข้อ คะแนน 20 คะแนน


ตัวอย่างข้อสอบ



รูปภาพจาก สทศ.

 

ข้อสอบข้อที่ 1 เขียนเล่าเรื่องจากภาพ
     ข้อสอบข้อนี้จะมีภาพให้หนึ่งภาพ และให้เราเขียนเล่าเรื่อง โดยการเล่าเรื่องคือ ต้องมีเหตุการณ์ มีตัวละคร มีการเคลื่อนไหวของตัวละคร ไม่ใช่เพียงแค่อธิบายหรือให้ข้อมูลบางอย่างของภาพ หรืออธิบายลักษณะบางอย่างของภาพเท่านั้น เรื่องราวที่เขียนต้องมีความเคลื่อนไหว มีเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันไป

เทคนิคการเขียนคำตอบเล่าเรื่องจากภาพให้ได้คะแนน
     1.เข้าใจคำสั่งของข้อสอบ อ่านคำสั่งของข้อสอบให้เข้าใจว่าให้ทำอะไร
     2.เขียนเล่าเรื่องนำเสนอแนวคิดสำคัญที่สอดคล้องกับภาพ เชื่อมโยงความคิดต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่วกวนซ้ำไปซ้ำมา
     3.ใช้คำ ถ้อยคำสำนวนได้ถูกต้องตรงตามความหมาย และเขียนโดยใช้ภาษาไทยมาตรฐานหรือภาษาไทยกลาง ไม่อนุญาตให้ใช้ภาษาถิ่น เมื่อเขียนคำตอบข้อสอบเสร็จแล้วให้อ่านทวนอีกครั้ง ถ้าพบว่าใช้ภาษาถิ่นให้แก้ไขเปลี่ยนไปใช้ภาษากลาง
     4.เขียนสะกดคำ ใช้เครื่องหมายยมก (ๆ) ได้ถูกต้อง ไม่ใช้อักษรย่อ ยกเว้น พ.ศ. และ ค.ศ. และระวังเรื่องการเว้นวรรคตอนให้ดี เพราะถ้าเว้นวรรคผิดอดได้คะแนนนะจ๊ะ
     5.ไม่เขียนเป็นบทร้อยกรองหรือคำกลอน เนื่องจากข้อสอบข้อนี้เป็นการวัดทักษะการเขียนไม่ใช่ทักษะคำประพันธ์ ถ้าเผลอเขียนเป็นคำกลอนมาคะแนนเป็น 0 เลยนะ
     6.ไม่ต้องตั้งชื่อเรื่อง ถึงชื่อเรื่องจะมีความน่าสนใจแค่ไหน แต่ในการตรวจไม่มีการให้คะแนนในส่วนนี้
     7.เขียนให้อยู่ในความยาว 4-7 บรรทัดเท่านั้น กรณีเขียนต่ำกว่า 4 บรรทัดจะถูกหักคะแนน แต่ถ้าเขียนเกิน 7 บรรทัดผู้ตรวจจะไม่ตรวจข้อความในบรรทัดที่เกิน ข้อนี้สำคัญนะ น้อง ๆ ต้องระวังให้ดี
     8.เขียนด้วยลายมือตัวบรรจง พยายามเขียนด้วยลายมือที่อ่านออก ไม่จำเป็นต้องสวยมากก็ได้ แค่ให้แน่ใจว่าผู้ตรวจจะอ่านคำตอบของเราออก (ถ้าผู้ตรวจอ่านไม่ออกคะแนนก็เป็น 0 จ้า)

 

 

ข้อสอบข้อที่ 2 เขียนสรุปใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่าน ข้อสอบข้อนี้จะมีบทอ่านมาให้

 


รูปภาพจาก สทศ.


เทคนิคการเขียนคำตอบสรุปใจความสำคัญให้ได้คะแนน
     1.อ่านและทำความเข้าใจบทอ่านก่อน ถ้าอ่านรอบแรกยังไม่เข้าใจให้อ่านซ้ำอีกรอบ
     2.สรุปประเด็นสำคัญของบทอ่านนั้น ในบทอ่านนั้นจะมีประเด็นสำคัญประมาณ 6 ประเด็น (อาจมากหรือน้อยกว่าก็ได้ขึ้นอยู่กับบทอ่านที่นำมาเป็นข้อสอบ) แต่ทั้งหมดจะนำมาเรียบเรียงเขียนสรุปไม่เกิน 3 บรรทัด
     3.เขียนสรุปใจความสำคัญไม่เกิน 3 บรรทัด ถ้าเกิน 3 บรรทัด ผู้ตรวจจะไม่ตรวจข้อความในบรรทัดที่เกินแม้ว่าข้อความในบรรทัดที่เกินมานั้นจะมีประเด็นสำคัญถูกต้องก็ตาม ต้องระวังให้ดีนะจ๊ะ
     4.เขียนสรุปใจความสำคัญด้วยภาษาของตัวเองอย่าพยายามลอกมาจากบทอ่าน
     5.เขียนด้วยลายมือตัวบรรจง พยายามเขียนด้วยลายมือที่อ่านออก ไม่จำเป็นต้องสวยมากก็ได้ แค่ให้แน่ใจว่าผู้ตรวจจะอ่านคำตอบของเราออก (ถ้าผู้ตรวจอ่านไม่ออกคะแนนก็เป็น 0 จ้า)
     6.สะกดคำ ใช้เครื่องหมายยมก (ๆ) ได้ถูกต้อง ไม่ใช้อักษรย่อ ยกเว้น พ.ศ. และ ค.ศ.

 


ตัวอย่างกระดาษคำตอบอัตนัยแบบเขียนตอบ


รูปภาพจาก สทศ

 


คำแนะนำและข้อควรระวังการเขียนตอบ ข้อสอบ O-NET วิชาภาษาไทย รูปแบบอัตนัย
     1.ให้เริ่มเขียนบรรทัดที่ 1
     2.เขียนคำตอบภายในกรอบที่กำหนดเท่านั้น (ห้ามเขียนในพื้นที่นอกกรอบ และห้ามเขียนด้านหลังกระดาษคำตอบ เพราะจะตรวจคำตอบภายในกรอบเท่านั้น)
     3.ถ้าต้องการลองเขียนร่างคำตอบ สามารถเขียนร่างคำตอบบนพื้นที่ว่างในชุดข้อสอบได้เท่านั้น ย้ำ! ห้ามเขียนร่างคำตอบในหน้ากระดาษคำตอบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
     4.เขียนโดยไม่ต้องเว้นบรรทัด
     5.ใช้ดินสอหรือปากกาในการเขียนคำตอบ
     6.ถ้าต้องการแก้ไขคำตอบ
        6.1.กรณีเขียนคำตอบด้วยดินสอ ให้ใช้ยางลบลบดินสอ
        6.2.กรณีเขียนตอบด้วยปากกา ให้ใช้ยางลบหมึก หรือน้ำยาลบคำผิด หรือ ขีดฆ่า
             ข้อควรระวัง : ระวังเรื่องความสะอาด อย่าทำให้สกปรก หรือทำให้ผู้ตรวจอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะจะไม่ได้คะแนน
     7.เขียนตอบในกระดาษคำตอบที่ระบุข้อมูลของผู้เข้าสอบเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนกระดาษคำตอบ
     8.เวลาในการทำข้อสอบมีให้ข้อละประมาณ 15 นาที (รวม 2 ข้อ 30 นาที) พยายามอย่าทำข้อสอบเกินเวลาที่กำหนด เพราะจะเสียเวลาการทำข้อสอบส่วนอื่น
     9.ระวัง! อย่าให้กระดาษคำตอบขาดหรือชำรุด

 


ตัวอย่างการเขียนตอบ


รูปภาพจาก สทศ

 


ที่มาข้อมูลจาก : สทศ