บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ออสเตรเลียและโอเชียเนีย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 403.2K views



 

 

 

   ทวีปออสเตรเลีย (Australia) เป็นทวีปเกาะที่มีขนาดเล็กที่เล็กที่สุดเมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ ส่วนโอเชียเนีย (Oceania) เป็นดินแดนที่ประกอบด้วยหมู่เกาะจำนวนมากในมหาสมุทรแปซิฟิก ออสเตรเลียและโอเชียเนียมีประเทศเอกราช 14 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศขนาดใหญ่ 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี กับดินแดนซึ่งเป็นหมู่เกาะขนาดเล็กจำนวน 11 ประเทศ และดินแดนเขตปกครองอีก 24 เขต ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
 

 

เนื้อที่ จำนวนประชากร และเมืองหลวงของประเทศในออสเตรเลีย–โอเชียเนีย พ.ศ. 2551

 

 

 

 

 

1. ออสเตรเลีย
   1.1 ความเป็นมาของออสเตรเลีย
   สันนิษฐานว่าชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลียหรือพวกแอบอริจินีได้อพยพมาจากทวีปเอเชียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ลูอิส ทอร์เรส (Luis Torres) ชาวสเปน ได้แล่นเรือเข้ามาสำรวจเป็นครั้งแรก แต่ไม่ได้ให้ความสนใจผืนแผ่นดินใหญ่นี้ ต่อมาวิลเล็ม แจนซูน (Willem Janszoon) ชาวดัตช์หรือฮอลแลนด์ได้เดินทางเข้ามาสำรวจและขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่า นิวฮอลแลนด์ (New Holland) ต่อมา อะเบล แจนซูน แทสมัน (Abel Janszoon Tasman) ได้เดินทางรอบเกาะออสเตรเลียเป็นผลสำเร็จ และพบเกาะวันดีเมน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อเกาะแทสเมเนีย จากนั้นวิลเลียม แดมเพียร์ (William Dampier) เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เดินทางไปถึงออสเตรเลีย และสำรวจดินแดนบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ แต่อังกฤษไม่ได้ให้ความสนใจในเกาะออสเตรเลียนัก ต่อมากัปตันเจมส์ คุก (James Cook) ชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อค้นคว้าและศึกษาวิชาดาราศาสตร์ และพบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของเกาะมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ยึดเป็นอาณานิคมของอังกฤษและตั้งชื่อว่า นิวเซาท์เวลส์ ซึ่งในระยะแรกรัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้สนใจดินแดนใหม่นี้เท่าใดนัก กระทั่ง พ.ศ. 2331 ชาวอังกฤษได้เริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐาน โดยรัฐบาลอังกฤษได้นำนักโทษเข้าไป ซึ่งตั้งหลักแหล่งครั้งแรกที่ซิดนีย์โคฟ และภายหลังได้มีคนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในออสเตรเลียมากขึ้น


   1.2 ลักษณะทางกายภาพของออสเตรเลีย
       1.2.1 ที่ตั้ง ขนาด และอาณาเขต
       ออสเตรเลียตั้งอยู่ทางซีกโลกใต้ระหว่างละติจูดที่ 10 องศา 41 ลิปดาใต้ ถึง 43 องศา 38ลิปดาใต้ และลองจิจูดที่ 113 องศา 09 ลิปดาตะวันออก ถึง 153 องศา 39 ลิปดาตะวันออก โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
       ทิศเหนือ         จดทะเลติมอร์ในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอาราฟูราในมหาสมุทรแปซิฟิก
       ทิศตะวันออก   จดทะเลคอรัลและทะเลแทสมันในมหาสมุทรแปซิฟิก
       ทิศใต้            จดมหาสมุทรอินเดีย
       ทิศตะวันตก     จดมหาสมุทรอินเดีย
       1.2.2 ลักษณะธรณีวิทยา
       ตามทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกแผ่นดินเลื่อน (plate tectonics) เชื่อกันว่าเกาะออสเตรเลียเป็นแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งของกอนด์วานาแลนด์ (Gondwanaland) ซึ่งเดิมเป็นผืนแผ่นดินใหญ่มากทางซีกโลกใต้ และแยกตัวออกมาเมื่อประมาณ 160 ล้านปีก่อน แล้วเคลื่อนตัวห่างออกไปทางทิศเหนืออย่างช้า ๆ พื้นที่ในเขตที่ราบสูงภาคตะวันตกและทางตอนเหนือของเขตที่สูงภาคตะวันออกของประเทศออสเตรเลียเป็นเขตหินเก่า มีอายุตั้งแต่ 3,000 ล้านปี ถึงประมาณ 750 ล้านปีมาแล้ว ส่วนบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกและในบริเวณแอ่งที่ต่ำภายในประเทศเป็นโครงสร้างที่มีอายุน้อยกว่า
       1.2.3 ลักษณะภูมิประเทศ
       ลักษณะภูมิประเทศของออสเตรเลียแบ่งได้ 3 เขต ดังนี้
          1. เขตที่สูงภาคตะวันออก
          2. เขตที่ราบภาคกลาง แบ่งออกเป็น 4 เขต ได้แก่ ที่ราบรอบอ่าวเกรตออสเตรเลียนไบต์ ที่ราบลุ่มแม่น้ำเมอร์รีย์และดาร์ลิง ที่ราบรอบทะเลสาบแอร์ และที่ราบรอบอ่าวคาร์เพนแทเรีย
          3. เขตที่ราบสูงภาคตะวันตก

 

 

 

 

 

       1.2.4 ภูมิอากาศ
       ประเทศออสเตรเลียมีเขตภูมิอากาศแตกต่างกันแบ่งได้ 7 เขต ดังนี้
          1. เขตภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน (Af)
          2. เขตภูมิอากาศร้อนชื้นแบบทุ่งหญ้าเขตร้อนหรือทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw)
          3. เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย (BS)
          4. เขตภูมิอากาศแบบทะเลทราย (BW)
          5. เขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Ca)
          6. เขตภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก (Cb)
          7. เขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Cs)

 

 

 

 

 

 

       1.2.5 ทรัพยากรธรรมชาติ
          1. ดิน พื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียเป็นที่สูงและเขตแห้งแล้ง ดินจึงขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินที่มีคุณภาพจะอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรมสำคัญของประเทศ
          2. น้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญ คือ น้ำบาดาล โดยมีแหล่งน้ำบาดาลที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก คือ เกรตอาร์ทีเชียนเบซิน (Great Artesian Basin)
          3. แร่ที่สำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน ทองคำ เหล็ก ปิโตรเลียม และแก๊สธรรมชาติ

 

 

 

 

 

 

          4. พืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่า พืชพรรณธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ พืชตระกูลยูคาลิปตัสและอะเคเชีย และสัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ จิงโจ้ โคอาลา ตุ่นปากเป็ด วอมแบต



   1.3 ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของออสเตรเลีย
       1.3.1 ประชากร
          1. ลักษณะประชากร แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ชนพื้นเมืองหรือแอบอริจินี (Aborigine) ชนผิวขาวและชนผิวเหลือง
          2. ภาษาและศาสนาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนที่มีผู้นับถือรองลงไป ได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาอิสลาม และศาสนายูดาห์
          3. การกระจายของประชากรมีประชากรหนาแน่นในเขตเมืองบริเวณชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงของรัฐต่าง ๆ ทั้ง 6 รัฐ ส่วนในเขตพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง ได้แก่ เขตภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้ง เขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย เขตทะเลทราย เขตที่สูง

 

 

 

 

 

 

       1.3.2 การเมืองการปกครอง
       ประเทศออสเตรเลียมีชื่อเป็นทางการว่า เครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) เป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสมาพันธรัฐ โดยประกอบด้วยรัฐ (state) จำนวน 6 รัฐ ได้แก่ ควีนส์แลนด์ นิวเซาท์เวลส์ วิกตอเรียเซาท์ออสเตรเลีย เวสเทิร์นออสเตรเลีย แทสเมเนีย และดินแดนซึ่งเป็นเขตปกครองอิสระหรือเทร์ริทอรี (territory) อีก 2 เขต ได้แก่ ออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี

 

 

 

 

 

 

       1.3.3 เศรษฐกิจ
          1. การเกษตร ที่สำคัญในประเทศออสเตรเลียมีดังนี้
             1) การเพาะปลูกพืชสำคัญที่ปลูก ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า กล้วย อ้อย สับปะรด ฝ้าย ยาสูบ องุ่น และส้ม
             2) การเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ แกะและโค ซึ่งออสเตรเลียมีการเลี้ยงแกะมากที่สุดในโลก
          2. การทำประมง ปริมาณสัตว์น้ำที่ออสเตรเลียจับได้มีไม่มากเพราะขาดแคลนแรงงานในการทำประมง บริเวณที่มีสัตว์น้ำชุกชุม ได้แก่ น่านน้ำในเขตชายฝั่งตะวันออกของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงหอยมุกกันมากที่เกาะเทิร์สเดย์
          3. การทำป่าไม้ ทางเขตภูมิอากาศอบอุ่นชื้นทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศมีป่าไม้ยูคาลิปตัสและอะเคเชียอยู่มาก และมีพื้นที่ป่าไม้กระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ในรัฐต่าง ๆ
          4. การทำเหมืองแร่ ที่สำคัญ ได้แก่ เหมืองถ่านหิน เหมืองแร่ทองคำ นอกจากนี้ยังมีเหมืองแร่อื่น ๆ เช่น ตะกั่ว สังกะสี และเงิน ปัจจุบันออสเตรเลียผลิตตะกั่วได้มากที่สุดในโลก และได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการผลิตแร่บ็อกไซต์ของโลก
          5. อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมทางการเกษตร ส่วนอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ได้แก่ การผลิตรถยนต์ การต่อเรือ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การกลั่นน้ำมัน การผลิตเส้นใย และการทอผ้า แหล่งอุตสาหกรรมอยู่ที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
          6. การค้า สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ วัตถุดิบ เชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น อาหารและสัตว์มีชีวิตสินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การขนส่ง อุปกรณ์พื้นฐานด้านการผลิตสินค้า เคมีภัณฑ์
       1.3.4 การคมนาคมและการขนส่ง
       การคมนาคมและการขนส่งของออสเตรเลียมีอยู่อย่างหนาแน่นทางด้านชายฝั่งตะวันออกของประเทศ
          1. ทางบก มีทางรถยนต์ที่ใช้ได้ทุกฤดูทั่วประเทศ เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงของรัฐต่าง ๆ และเมืองใหญ่อื่น ๆ และมีทางรถไฟข้ามทวีปสายยาวเชื่อมเมืองเพิร์ทกับเมืองซิดนีย์ มีชื่อว่า ทางรถไฟสายทรานส์ออสเตรเลียน
          2. ทางน้ำ ทางด้านตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย มีเมืองฟรีแมนเทิลเป็นท่าเรือที่สำคัญ และทางตะวันออก มีเมืองซิดนีย์ เมลเบิร์น โฮบาร์ตเป็นเมืองท่าเรือใหญ่
          3. ทางอากาศ นิยมใช้การคมนาคมขนส่งทางอากาศ เนื่องจากประเทศออสเตรเลียมีอาณาเขตกว้างใหญ่และมีภูมิประเทศที่ทุรกันดาร

 

 


2. นิวซีแลนด์
   นิวซีแลนด์ (New Zealand) เป็นประเทศเอกราช ตั้งอยู่บนเกาะในหมู่เกาะโปลินิเซีย ประกอบด้วยเกาะใหญ่ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน 2 เกาะ คือ เกาะเหนือ (North Island) และเกาะใต้ (South Island) กับเกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงอีกหลายสิบเกาะ


   2.1 ความเป็นมาของนิวซีแลนด์
   สันนิษฐานว่าชาวเมารีเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้ ต่อมานักเดินเรือชาวดัตช์ได้ค้นพบดินแดนแห่งนี้และตั้งชื่อว่า นิวซีแลนด์ จากนั้นก็มีนักเดินเรือเข้ามายังดินแดนแห่งนี้เรื่อยมา ต่อมากัปตันเจมส์ คุก (James Cook) ชาวอังกฤษเดินทางเข้ามายังเกาะนี้แล้วตั้งเป็นสถานีล่าปลาวาฬและแมวน้ำขึ้น และเริ่มมีพ่อค้า นักสอนศาสนาเดินทางเข้ามามากขึ้น กระทั่งกัปตันวิลเลียม ฮอบสัน (William Hobson) ชาวอังกฤษ ได้อ้างสิทธิความเป็นดินแดนของอังกฤษเหนือเกาะนี้ โดยชาวเมารีได้เซ็นสัญญายอมรับ เรียกว่า สนธิสัญญาไวตังกิ ระบุว่าให้นิวซีแลนด์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และฝ่ายอังกฤษก็รับประกันความเป็นเจ้าของที่ดินที่ชาวเมารีถือครองไว้ ต่อมานิวซีแลนด์ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองจากรัฐบาลอังกฤษและเป็นประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้


   2.2 ลักษณะทางกายภาพของนิวซีแลนด์
       2.2.1 ที่ตั้ง ขนาด และอาณาเขต
       นิวซีแลนด์เป็นหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 34 องศา 25 ลิปดาใต้ ถึง 47 องศา 17ลิปดาใต้ และลองจิจูดที่ 116 องศา 27 ลิปดาตะวันออก ถึง 178 องศา 35 ลิปดาตะวันออก มีอาณาเขตทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก และทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลแทสมัน ซึ่งเป็นน่านน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีช่องแคบคุกคั่นอยู่ระหว่างเกาะเหนือและเกาะใต้

 

 

 

 

 

 

       2.2.2 ลักษณะธรณีวิทยา
       นิวซีแลนด์ตั้งอยู่ในเขตภูเขาหินใหม่ที่เปลือกโลกยังมีความเคลื่อนไหว ไม่มั่นคง จึงมักมีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากอิทธิพลความร้อนภายในเปลือกโลก
       2.2.3 ลักษณะภูมิประเทศ
       นิวซีแลนด์ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือ เกาะเหนือและเกาะใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นที่สูงบริเวณกลางเกาะทั้ง 2 เกาะ และที่ราบบริเวณแคบ ๆ อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลของเกาะทั้งสอง
       2.2.4 ภูมิอากาศ
       นิวซีแลนด์มีอากาศอบอุ่นชื้นและมีฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี ในฤดูร้อนทั้งเกาะเหนือและเกาะใต้มีอากาศอบอุ่น ส่วนในฤดูหนาวทางเกาะเหนือมีอากาศอบอุ่น แต่ทางเกาะใต้มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นและมีหิมะตกในเขตที่สูง

 

 

 

 

 

 

       2.2.5 ทรัพยากรธรรมชาติ
          1. ดิน ทรัพยากรดินมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นดินภูเขาไฟ และบริเวณที่ราบดินตะกอนบริเวณปากแม่น้ำที่ปรากฏทั้งในเกาะเหนือและเกาะใต้ที่เหมาะแก่การทำเกษตรต่าง ๆ
          2. น้ำ ทรัพยากรน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ นำมาใช้ในการเกษตรและนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ
          3. แร่ ทรัพยากรแร่มีจำกัด แร่สำคัญที่ค้นพบ ได้แก่ ทองคำ ถ่านหิน น้ำมัน ปิโตรเลียม ซึ่งถ่านหินจะปรากฏอยู่บริเวณเกาะใต้เท่านั้น
          4. พืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่า ปัจจุบันนิวซีแลนด์มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ประมาณ 1 ใน 4 ของเนื้อที่ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ผลัดใบ บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเหนือมีป่าดิบในเขตละติจูดปานกลาง (rain forest) ที่อุดมสมบูรณ์ บริเวณเทือกเขาแอลป์ใต้มีพืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้ากว้างส่วนสัตว์ป่ามีนกมากกว่า 250 ชนิด รวมทั้งนกกีวีซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศ



   2.3 ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์
       2.3.1 ประชากร
          1. ลักษณะประชากร ประชากรส่วนใหญ่เป็นพวกผิวขาว รองลงมาเป็นชาวเมารี นอกนั้นเป็นชาวเกาะแปซิฟิกใต้ ชาวเอเชีย และชนชาติอื่น ๆ
          2. ภาษาและศาสนา มีภาษาราชการ 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษและภาษาเมารี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นอกนั้นนับถือศาสนาอื่น
          3. การกระจายของประชากร ประชากรประมาณ 3 ใน 4 อาศัยอยู่ในเกาะเหนือ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่วนเกาะใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงและภูเขาจึงมีประชากรเบาบาง
       2.3.2 การเมืองการปกครอง
       นิวซีแลนด์เป็นประเทศเอกราชในเครือจักรภพอังกฤษ มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
       2.3.3 เมืองสำคัญ
       ประเทศนิวซีแลนด์มีเมืองสำคัญ ได้แก่ เวลลิงตัน ไครสต์เชิร์ช และโอกแลนด์
       2.3.4 เศรษฐกิจ
          1. การเกษตร
             1) การเพาะปลูกพืชที่สำคัญ ได้แก่ ธัญพืชต่าง ๆ โดยปลูกมากในเขตที่ราบแคนเทอร์เบอรีทางด้านตะวันออกของเกาะใต้ ผักและผลไม้ เช่น กีวีฟรุต (kiwi fruit) และพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด หญ้าเลี้ยงสัตว์
             2) การเลี้ยงสัตว์ ทำรายได้ให้ประเทศมากที่สุด สัตว์เลี้ยงสำคัญ คือ แกะและโค ซึ่งแกะเป็นสัตว์ที่มีการเลี้ยงมากที่สุดในประเทศ
          2. การทำป่าไม้ เป็นป่าสนซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน แหล่งป่าไม้ที่สำคัญอยู่ในเขตที่ราบสูงภูเขาไฟทางตอนกลางของเกาะเหนือ
          3. อุตสาหกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมกระดาษและไม้ อุตสาหกรรมนมและเนย และอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะกระจายอยู่ตามเมืองท่าขนาดใหญ่ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดเล็กกระจายอยู่ตามแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่ต่าง ๆ
          4. การค้า สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์จากโลหะและขนแกะ สินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล อุปกรณ์การขนส่ง แร่เชื้อเพลิง สิ่งทอ และพลาสติก
       2.3.5 การคมนาคมและการขนส่ง
       การคมนาคมขนส่งของประเทศนิวซีแลนด์จำแนกได้ดังนี้
          1. ทางบก มีทางรถไฟยาวประมาณ 4,000 กิโลเมตร และมีถนนลาดยางที่ใช้ได้ทุกฤดูกาล แต่ทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์จะสร้างได้เฉพาะเขตชายฝั่งทะเล
          2. ทางน้ำ การคมนาคมขนส่งทางน้ำของนิวซีแลนด์สามารถติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตชายฝั่งทะเล และติดต่อกับต่างประเทศได้สะดวก โดยนิยมใช้เส้นทางลัดผ่านคลองปานามาไปทางชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ และผ่านคลองสุเอซไปทวีปยุโรป
          3. ทางอากาศ สายการบินแห่งชาติของประเทศนิวซีแลนด์ คือ แอร์นิวซีแลนด์ ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศของนิวซีแลนด์ คือ เวลลิงตัน โอกแลนด์ และไครสต์เชิร์ช

 

 


3. ปาปัวนิวกินี
   ปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea) เป็นประเทศเอกราชที่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเกาะนิวกินี ซึ่งเป็นเกาะในหมู่เกาะเมลานีเซีย เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเกาะกรีนแลนด์ เป็นดินแดนทางภาคตะวันออกของเกาะนิวกินี รวมทั้งหมู่เกาะบิสมาร์ก และเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอีกนับร้อยเกาะ


   3.1 ความเป็นมาของปาปัวนิวกินี
   ใน พ.ศ. 2069 นักสำรวจชาวโปรตุเกสชื่อ จอร์จ เดอ เมนีเซส (Jorge de Meneses) ได้เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนด้านชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะนิวกินี ต่อมาชาวดัตช์ได้เข้ามายึดครองดินแดนทางด้านตะวันตกของเกาะนี้ ปัจจุบัน คือ อีเรียนตะวันตกหรืออีเรียนจายา (Irian Jaya) ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2427 เยอรมนีได้เข้ามายึดครองบริเวณแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนิวกินีเพื่อตั้งสถานีการค้า และอังกฤษเข้าครอบครองแผ่นดินด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะแล้วผนวกไว้เป็นดินแดนของตนในเวลาต่อมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2448 อังกฤษจึงได้โอนดินแดนที่อยู่ในครอบครองของตนเองให้อยู่ในความดูแลของออสเตรเลีย ต่อมาใน พ.ศ. 2516 ออสเตรเลียจัดให้ปาปัวนิวกินีดำเนินการตั้งรัฐบาลของตนเอง และมีเอกราชสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2519 อีเรียนจายาแยกจากปาปัวนิวกินีด้วยเส้นเมริเดียนที่ 141 00' ตะวันออก


   3.2 ลักษณะทางกายภาพของปาปัวนิวกินี
       3.2.1 ที่ตั้ง ขนาด และอาณาเขต
       ปาปัวนิวกินีมีเนื้อที่ 461,693 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขต ทิศเหนือ และทิศตะวันออกจดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศใต้จดทะเลคอรัล และช่องแคบทอร์เรสในมหาสมุทรแปซิฟิก และทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดอีเรียนจายาของประเทศอินโดนีเซีย

 

 

 

 

 

 

       3.2.2 ลักษณะธรณีวิทยา
       ปาปัวนิวกินีตั้งอยู่ในเขตภูเขาหินใหม่ จึงมีภูเขาไฟมีพลังอยู่หลายลูก และเกาะบางแห่งก็เป็นเกาะภูเขาไฟ จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อย ๆ แต่เกาะบางแห่งเป็นเกาะปะการัง และมักมีเกาะขนาดเล็ก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเล็กน้อย และที่ผิวดินมีซากปะการังปกคลุม
       3.2.3 ลักษณะภูมิประเทศ
       ปาปัวนิวกินีมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มียอดเขาวิลเฮล์มเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ส่วนที่ราบมีลักษณะเป็นที่ราบแคบ ๆ และบางแห่งมีน้ำท่วมขัง ปาปัวนิวกินีมีแม่น้ำสายยาว 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำฟลายทางตอนใต้ และแม่น้ำเซปิกทางตอนเหนือ
       3.2.4 ภูมิอากาศ
       ปาปัวนิวกินีมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงตลอดปี เพราะตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรหรือเขตร้อน ประกอบกับมีภูมิประเทศเป็นเกาะและอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุม จึงได้รับความชื้นจากมรสุมทั้ง 2 ฤดู ทำให้มีปริมาณฝนสูง
       3.2.5 ทรัพยากรธรรมชาติ
       พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้นปกคลุมในเขตภูเขาและหุบเขาทั่วไป พื้นที่ด้านปลายลมและดินแดนภายในของเกาะเป็นเขตภูมิอากาศแห้งแล้ง มีพืชพรรณธรรมชาติแบบสะวันนา ทรัพยากรแร่ที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ ทองแดง เงิน และแก๊สธรรมชาติ



   3.3 ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของปาปัวนิวกินี
       3.3.1 ประชากร
          1. ลักษณะประชากร ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของปาปัวนิวกินีมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ประชาชนประกอบด้วยชนส่วนใหญ่ 2 เชื้อชาติ คือ ปาปวน และเมลานีเซียน
          2. ภาษาและศาสนา ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และภาษาพูดที่ใช้กันทั่วไป คือ ภาษาโมตู ศาสนาที่นับถือมากที่สุด คือ ศาสนาคริสต์ ซึ่งเดิมชาวปาปัวนิวกินีเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีศาสนาและมีความเชื่อแบบดั้งเดิม
          3. การกระจายของประชากร ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอยู่อย่างกระจัดกระจายในเขตชนบท แต่ปัจจุบันได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

       3.3.2 การเมืองการปกครอง
       ปาปัวนิวกินีมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเป็นประมุข โดยทรงมอบหมายและให้อำนาจแก่ข้าหลวงใหญ่ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในประเทศปาปัวนิวกินี มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเดียว
       3.3.3 เมืองสำคัญ
       ประเทศปาปัวนิวกินีมีเมืองสำคัญ ได้แก่ พอร์ตมอร์สบี แล และราเบาล์
       3.3.4เศรษฐกิจ
       สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ น้ำมันดิบ ทองแดง กาแฟ น้ำมันปาล์ม และเมล็ดโกโก้ ส่วนสินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล อุปกรณ์การขนส่ง และน้ำมันหล่อลื่น
       3.3.5 การคมนาคมและการขนส่ง
       ประเทศปาปัวนิวกินีขาดแคลนระบบการคมนาคมขนส่งที่ดี แต่มีภูมิประเทศเหมาะต่อการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดีได้หลายแห่ง ส่วนการคมนาคมทางอากาศใช้เครื่องบินขนาดเล็กระหว่างเมืองใหญ่ โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติที่เมืองพอร์ตมอร์สบีและเมืองแล

 

 


4. โอเชียเนีย
   โอเชียเนีย (Oceania) เป็นภูมิภาคที่ประกอบด้วยดินแดนของเกาะต่าง ๆ ประมาณ 25,000 เกาะ ทางตอนกลางและตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เรียกว่า หมู่เกาะทะเลใต้


   4.1 ความเป็นมาของโอเชียเนีย
   หมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกถูกค้นพบโดยนักเดินเรือชาวตะวันตกแต่ไม่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน จากนั้นมีชาวยุโรปกลุ่มแรกเดินทางเข้ามาอาศัย คือ พวกหมอสอนศาสนาคริสต์ และต่อมามีพ่อค้าและนักล่าปลาวาฬเข้ามา ในยุคแสวงหาอาณานิคมของมหาอำนาจชาติตะวันตก ดินแดนโอเชียเนียตกอยู่ในอำนาจของชาติตะวันตก จนกระทั่งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้ยกดินแดนในครอบครองของตนให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ดูแล ส่วนเยอรมนีหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว สันนิบาตชาติได้เข้าไปจัดการโดยมอบหมายดินแดนในครอบครองของเยอรมนีให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ดูแล และเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนเหล่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ โดยมีสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเป็นผู้ควบคุมดูแล ในปัจจุบันดินแดนเหล่านี้ต่างได้รับเอกราชแล้วเป็นส่วนใหญ่


   4.2 ลักษณะทางกายภาพของโอเชียเนีย
       4.2.1 ที่ตั้งและขนาด
       โอเชียเนียเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วยหมู่เกาะไมโครนีเซีย หมู่เกาะเมลานีเซีย และหมู่เกาะโปลินีเซีย บางทีก็หมายรวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มหมู่เกาะมลายูด้วย หากไม่นับประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินีแล้ว โอเชียเนียมีเนื้อที่รวมกันประมาณ 70,821 ตารางกิโลเมตร 

 

 

 

 

 

 

       4.2.2 ลักษณะธรณีวิทยาและภูมิประเทศ
       โอเชียเนียเป็นเกาะภูเขาหินใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านธรณีวิทยาเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะบริเวณชายขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้ภูมิประเทศของโอเชียเนียเป็นหมู่เกาะจำแนกได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
          1. หมู่เกาะภาคพื้นทวีป เป็นกลุ่มเกาะขนาดใหญ่และเป็นหมู่เกาะภาคพื้นทวีป มีต้นกำเนิดมาจากหินยุคโบราณ
          2. เกาะต่ำและเกาะสูง
             1) เกาะต่ำ เป็นภูเขาไฟที่จมน้ำและพื้นผิวมีปะการังปกคลุม เรียกอีกอย่างว่าเกาะปะการัง เป็นเกาะขนาดเล็ก มักมีรูปร่างคล้ายวงแหวนและมีลากูนอยู่ตรงกลาง
             2) เกาะสูง เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ ประกอบด้วยหินและดินภูเขาไฟ อาจเป็นเกาะขนาดใหญ่มีลักษณะสูงและลาดชัน หรืออาจเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กมีลักษณะรูปโดม


   4.3 กลุ่มของหมู่เกาะในโอเชียเนีย
       4.3.1 ไมโครนีเซีย (Micronesia)
       ไมโครนีเซีย (Micronesia) แปลว่า หมู่เกาะขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตร (ยกเว้นเกาะนาอูรูที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร) ประกอบด้วยหมู่เกาะ 4 กลุ่ม ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ หมู่เกาะกิลเบิร์ต กลุ่มเกาะแคโรไลน์ และหมู่เกาะมาเรียนา รวมทั้งเกาะนาอูรู เกาะเวก และเกาะมิดเวย์ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีประเทศเอกราช 5 ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐไมโครนีเซีย สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สาธารณรัฐนาอูรู สาธารณรัฐปาเลาในกลุ่มเกาะแคโรไลน์ และสาธารณรัฐคิริบาตีในหมู่เกาะกิลเบิร์ตและหมู่เกาะฟีนิกซ์

 

 

 

 

 

 

          1. ภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติ หมู่เกาะไมโครนีเซียตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น แต่มีความร้อนไม่มากนัก เนื่องจากได้รับอิทธิพลความชื้นจากทะเล ทำให้มีอุณหภูมิลดต่ำลงและสม่ำเสมอตลอดปี มีปริมาณฝนสูง ฤดูที่เด่นชัดมี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน พืชพรรณธรรมชาติจึงเป็นป่าดิบชื้น แต่พื้นที่ชายฝั่งมีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ
          2. ประชากร โดยทั่วไปมีผิวสีน้ำตาล ผมดำหยักศก รูปร่างสูงปานกลาง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบท มีภาษาพูดของตนเอง เชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการติดต่อ
          3. เศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองประเทศสาธารณรัฐปาเลามีการผลิตเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่สำคัญ ประเทศนาอูรูมีแร่ฟอสฟอรัสใช้ทำปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าออกสำคัญสินค้าออกสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว และผลิตภัณฑ์จากการทำประมงทะเล ส่วนสินค้าเข้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่ม เครื่องจักรกล อุปกรณ์การขนส่งและน้ำมันเชื้อเพลิง
       4.3.2 เมลานีเซีย (Melanesia)
       เมลานีเซีย (Melanesia) เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตร และอยู่ทางตะวันตกของโปลินีเซีย มาจากคำว่า เมลานิน (melanin) แปลว่า สีเข้ม หรือสีดำ ชาวตะวันตกขนานนามหมู่เกาะนี้ว่า หมู่เกาะมืด หรือหมู่เกาะดำ ประกอบด้วยเกาะนิวกินี หมู่เกาะทางทิศตะวันออกของเกาะนิวกินี ได้แก่ กลุ่มเกาะบิสมาร์ก หมู่เกาะแอดมิรัลตี หมู่เกาะโซโลมอน เกาะนิวแคลิโดเนีย หมู่เกาะวานูอาตู หมู่เกาะฟิจิ และหมู่เกาะขนาดเล็กจำนวนมาก ปัจจุบันมีประเทศเอกราช 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศหมู่เกาะโซโลมอน สาธารณรัฐวานูอาตู และสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 80,000 ตารางกิโลเมตร (ไม่รวมเกาะนิวกินี)

 

 

 

 

 

 

          1. ภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติ มีลักษณะภูมิอากาศคล้ายกับไมโครนีเซีย คือ ภูมิอากาศร้อนชื้น ในช่วงฤดูฝนมีลมพายุหมุนและน้ำหลาก พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้น แต่บริเวณพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ภายในของเกาะนิวกินีมีพืชพรรณธรรมชาติคล้ายคลึงกับทางภาคเหนือของประเทศออสเตรเลีย
          2. ประชากร ประกอบด้วยชนหลายเผ่า มีผิวสีเข้ม ตั้งแต่ผิวสีน้ำตาลจนถึงดำ แยกกันอยู่เป็นกลุ่มตามเกาะต่าง ๆ มีสภาพความเป็นอยู่และลักษณะทางวัฒนธรรมย่อยแตกต่างกัน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการติดต่อ
          3. เศรษฐกิจ สินค้าออกสำคัญ คือ ไม้ซุง มะพร้าวแห้ง น้ำมันมะพร้าว และผลผลิตจากการประมง สินค้าเข้า ได้แก่ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์อาหาร อุปกรณ์การขนส่ง และน้ำมันเชื้อเพลิง
       4.3.3 โปลินีเซีย (Polynesia)
       โปลินีเซีย (Polynesia) เป็นภาษากรีก แปลว่า เกาะจำนวนมาก ประกอบด้วยหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเส้นวันที่ และเรียงรายกันอยู่เป็นพื้นที่รูปสามเหลี่ยม โดยมีหมู่เกาะฮาวายเป็นชายขอบด้านทิศเหนือ เกาะอีสเตอร์ (ดินแดนของประเทศชิลี) เป็นชายขอบทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และนิวซีแลนด์เป็นชายขอบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โปลินีเซียเป็นกลุ่มของหมู่เกาะที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่าไมโครนีเซียและเมลานีเซีย แต่มีเนื้อที่ของพื้นแผ่นดินน้อยกว่า คือ มีเนื้อที่ประมาณ 8,000ตารางกิโลเมตร (ไม่รวมเนื้อที่ของเกาะฮาวายซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาและเนื้อที่ของประเทศนิวซีแลนด์)

 

 

 

 

 

 

   โปลินีเซียเป็นดินแดนในการปกครองของชาติตะวันตกทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกามานาน จึงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก มีประเทศเอกราช 3 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรตองกา ตูวาลู และรัฐเอกราชซามัว (ซามัวตะวันตก)
          1. ภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติเกาะส่วนใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์และทรอปิกออฟแคปริคอร์น คือ อยู่ในเขตร้อนและได้รับอิทธิพลจากลมค้า มีปริมาณฝนเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและภูมิประเทศ พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้น
          2. ประชากร โดยทั่วไปมีรูปร่างสันทัดแต่ค่อนข้างสูง มีผิวสีน้ำตาล ผมสีดำ หยักหรือหยิก เป็นชนเผ่าพันธุ์เลือดผสมระหว่างพวกผิวเหลืองเผ่ามาเลย์กับพวกผิวดำในดินแดนโอเชียเนีย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะภูเขาไฟที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ พูดภาษาของเผ่าตนและใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ยกเว้นเฟรนช์ซามัวใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นสื่อกลางในการติดต่อ
          3. เศรษฐกิจ สินค้าออกที่สำคัญ คือ มะพร้าวแห้ง น้ำมันมะพร้าว และผลผลิตจากการประมง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ อาหาร เครื่องจักรกล อุปกรณ์ การขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

 

 

 

 

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th