ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง บทร้อยกรอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 44.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ บทร้อยกรอง

 

นำเรื่อง

            รุ่งอรุณแห่งหัวใจ แต่งเป็นกลอนสุภาพ พรรณนาชมความงามของธรรมชาติยามเช้า

รุ่งอรุณแห่งหัวใจ

จินตนา ปิ่นเฉลียว

            แสงอาทิตย์ในยามเช้าสาดส่องไปทั่วทำให้โลกอบอุ่น มนุษย์ก็หวังจะมีชีวิตที่อบอุ่น เพราะทุกวันนี้ต้องหนาว (ทนทุกข์) จากความไม่มีคุณธรรมและโรคภัยไข้เจ็บ หวังว่าความเมตตาจะช่วยขจัดความมืดมนในชีวิต ขอให้จิตใจมนุษย์มีความรัก มีคุณธรรมและให้อภัย เพราะแสงแห่งความดีจะเข้ามาเพื่อหยุดการกระทำที่ไม่ดี 

 

ศัพท์น่ารู้

ขจัด                 กำจัด

ครรลอง             ทาง ทางไป แผลงจาก คลอง คระลอง

ผ่องพรรณ          ผิวพรรณเปล่งปลั่ง

พราย                ต่อมน้ำเล็ก ๆ ที่ผุดกระจายขึ้นจากน้ำ

ภพ                   โลกแผ่นดิน

รังสี                  แสงสว่าง

หล้า                 โลก แผ่นดิน

อารี                  เอื้อเฟื้อ มีแก่ใจ มีใจเผื่อแผ่

 

ผู้แต่ง

       นางจินตนา ภักดีชายแดน ในนามปากกา  จินตนา ปิ่นเฉลียว

 

สาระน่ารู้

คำไวพจน์

            คำที่เขียนต่างกัน แต่ความหมายเดียวกัน ทำให้มีคำใช้มากขึ้น ควรเลือกใช้คำให้ลงสัมผัสตามบังคับคำประพันธ์

การเปรียบเทียบ

            คำเปรียบ  ดุจ เหมือน ปาน เปรียบ ดัง แม้น ราวกับ สิ่งที่นำมาเปรียบ= อุปมา สิ่งที่ถูกนำไปเปรียบ=อุปไมย

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

            บรรยายถึงบรรยากาศตอนเช้าที่สดใส แม้จะพบความทุกข์ แต่ทุกคนต้องมีความหวังและสู้ต่อไป

ศิลปะการประพันธ์

            แต่งด้วยกลอนสุภาพ ใช้ภาษาสัญลักษณ์ที่ไพเราะสื่อความหมายดี คือ “แสงอรุณ” แทน ความหวัง ความอบอุ่น

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

            เนื้อเรื่องมุ่งให้กำลังใจแก่คนที่กำลังท้อ ต้องสู้ต่อด้วยการทำความดี เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองเหมือนแสงอรุณ

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

            เราต้องทำชีวิตให้รุ่งเรืองเหมือนแสงอรุณ อดทน ไม่ท้อ หมั่นสร้างความหวังและกำลังใจให้ตนเองอยู่เสมอ

 

นำเรื่อง

            ปิตุเรศมารดร รวมอยู่ในหมวด “กลั่นแสงกลอนกานท์” หนังสือ มณีพลอยร้อยแสง  กล่าวถึงพระคุณพ่อแม่

 

ปิตุเรศมารดร

                        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

            พ่อแม่มีบุญคุณมาก ให้ชีวิต ให้การศึกษา เลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ควรตอบแทนท่าน ลูกที่เชื่อฟังพ่อแม่จะเจริญ

 

ศัพท์น่ารู้

กล่อมเกลี้ยง        อบรมเลี้ยงดูให้มีนิสัยดี

ทิศา                  ทิศทาง ด้านข้าง เบื้อง

ธิดา                   ลูกสาว

สวาท                 ความน่ารัก  ความน่ายินดี

หนุน                  ส่งเสริม เพิ่มเติม 

สาระน่ารู้

มารดา บิดาเป็นพรหมของบุตร

            พ่อแม่มีธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ท่านให้กำเนิด สั่งสอน และอุปการะเราในทุกด้าน เราจึงควรตอบแทนด้วยการเลี้ยงท่าน ทำกิจของท่าน ดำรงวงศ์สกุล ประพฤติตนให้สมควร ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ 

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

            ปิตุเรศมารดร มีเนื้อหากล่าวถึงพระคุณของพ่อแม่ เมื่อเราโตขึ้นเราควรทดแทนพระคุณของท่าน

ศิลปะการประพันธ์

            บทร้อยกรองนี้เป็นกลอนสุภาพ ใช้คำง่าย เนื้อหาชวนให้ระลึกถึงพระคุณของบุพการี

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

            มุ่งให้ทุกคนระลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ และตอบแทนพระคุณของท่าน

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

            สอนให้รู้จักกตัญญู ตอบแทนพระคุณและเอาใจใส่พ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ

 

นำเรื่อง

             สักวาบทที่ ๑ ชื่อ สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน เป็นพระนิพนธ์ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เปรียบคำพูดกับกลิ่นหอมของดอกไม้และรสขมของบอระเพ็ดสักวาบทที่ ๒ ชื่อ สักวาดาวจระเข้ก็เหหก ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง กล่าวถึง ดาวจระเข้ที่มักปรากฏในตอนเช้ามืด

สักวา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ

            คำพูดดีราวกลิ่นดอกไม้ ที่ผู้ฟังอยากดมหรืออยากรับฟังเสมอ แต่คำพูดหยาบดั่งบอระเพ็ดขม ไม่มีใครอยากฟัง

 

สักวา

ของเก่า

            ยามใกล้รุ่งจะเห็นกลุ่มดาวจระเข้ส่องสว่าง มีน้ำค้าลง ลมพัดโชย พอแสงแดดสาดส่องกลุ่มดาวจระเข้ก็หายไป

ศัพท์น่ารู้

ดุเหว่า               นกกาเหว่า

พะยอม              ดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีสีขาว กลิ่นหอม

สกุณา               นก

หาว                  ท้องฟ้า

เห                    เบนไป เขว เฉ

ผู้แต่ง

            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ 

สาระน่ารู้

            กลอนสักวามีลักษณะบังคับคล้ายกลอนสุภาพ แต่ขึ้นต้นด้วยคำว่า สักวาหรือสักวา  และจบด้วยคำว่า เอย  

 

 กลอนสักวา 

 

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

            บทแรก กล่าวถึงการพูดจาไพเราะย่อมน่าฟัง บทที่สอง พรรณนาถึงบรรยากาศตอนรุ่งสาง

ศิลปะการประพันธ์

            บทแรก แต่งโดยใช้กลวิธีเปรียบเทียบ เปรียบคำพูดกับความหอมของดอกไม้ และความขมของบอระเพ็ด

            บทที่สอง แต่งโดยใช้กลวิธีพรรณนาบรรยากาศตอนรุ่งสางด้วยคำที่สละสลวย

ข้อคิด  คติคำสอน และความจรรโลงใจ

            บทแรก ให้แนวคิดว่าควรพูดไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดหยาบคายให้ร้ายผู้อื่น

            บทที่สอง ชื่นชมความงามธรรมชาติ บนท้องฟ้ายามใกล้รุ่ง

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

            บทแรก สอนให้พูดดีในทุกโอกาส พูดดีจนเป็นนิสัย

            บทที่สอง สอนให้รู้จักหาโอกาสผ่อนคลายอารมณ์ ด้วยการชมความงามธรรมชาติ

 

นำเรื่อง

            โคลงโลกนิติ เป็นคติสอนใจในการดำรงชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ รัชกาลที่ ๖ ทรงรับสั่งให้สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ตรวจชำระแล้วจารึก ณ วัดพระเชตุพนฯ 

โคลงโลกนิติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

            เมื่อต้องเสียทรัพย์เพื่อรักษาชื่อเสียงของตระกูลไว้ก็ควรยอมเสีย แม้เสียศักดิ์เสียเพื่อแลกกับความรู้ก็ควรยอมเสีย หากแพ้ใครก็ขอให้รักษาความซื่อสัตย์ไว้ แต่หากต้องเสียความซื่อสัตย์ สู้ยอมตายจะดีกว่า (เสียชีพอย่าเสียสัตย์)

            วิชาความรู้มีคุณค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง และอาจมากกว่าเมืองทั้งเมือง เพราะความรู้จะอยู่คู่ตัวไปจนตาย แม้โจรผู้ร้ายก็ไม่สามารถแย่งชิงได้ เราจึงควรเร่งศึกษาความรู้เอาไว้

 

ศัพท์น่ารู้

เบียน                 รบกวน ทำให้เดือดร้อน

สงวน                ถนอมรักษาไว้ หวงแหนไว้

สิน                   เงิน ทรัพย์

ผู้แต่ง

            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

สาระน่ารู้

            โคลงสี่สุภาพ

            หนึ่งบทมี ๔ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค วรรคแรก ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ เฉพาะวรรคหลังสุดท้ายมี ๔ คำ อาจมีคำสร้อย ๒ คำ ในวรรคหลังของบาทที่ ๒ และ ๔ บังคับคำเอก ๗ คำ คำโท ๔ คำ 

 

โคลงสี่สุภาพ

 

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

            บทที่ ๑ เสียทรัพย์ เสียศักดิ์ศรีก็เสียได้ แต่อย่าเสียความซื่อสัตย์

            บทที่ ๒ การใฝ่ศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะความรู้ใช้ในการเลี้ยงชีพ และไม่มีใครสามารถขโมยไปได้

ศิลปะการประพันธ์

            แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ใช้คำกินใจ

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

            ควรซื่อสัตย์ และหาความรู้ใส่ตัว

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

            สอนให้รู้ว่าก่อนทำอะไรให้คิดก่อนเสมอ และแนะนำการดำเนินชีวิตไม่ให้เกิดความผิดพลาด

 

คำสำคัญ รุ่งอรุณแห่งหัวใจ, ปิตุเรศมารดา, สักวา, โคลงโลกนิติ

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th