บทเรียนออนไลน์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง เรียนรู้ตัวเรา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 52.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

เรียนรู้ตัวเรา

 

 

ระบบประสาทกับการเจริญเติบโตและภาวะสุขภาพของวัยรุ่น
     ระบบประสาทเป็นระบบที่ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาททั่วร่างกาย ทำหน้าที่ร่วมกันในการควบคุมการทำงาน และการรับรู้ความรู้สึก อารมณ์ และความทรงจำต่างๆ โดยมีสมองและไขสันหลังเป็นระบบประสาทส่วนกลาง ทำหน้าที่คอยรับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ผ่านเส้นประสาทที่กระจายทั่วร่างกาย และระบบประสาทส่วนปลาย ประกอบด้วย เส้นประสาทสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง โดยเฉพาะระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะนอกอำนาจจิตใจ มีศูนย์กลางอยู่ในก้านสมอง ทำงานประสานกับฮอร์โมนจากระบบต่อมไร้ท่อ


ความสำคัญของระบบประสาทกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของวัยรุ่น
     ระบบประสาทเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของวัยรุ่น ที่แสดงออกมาทั้งในด้านพฤติกรรมและจิตใจ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในสมองของวัยรุ่น ทำให้ส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจยังไม่สมบูรณ์และชอบที่จะเสี่ยงลองหาประสบการณ์ต่าง ๆ ทำให้การคิดวิเคราะห์ขาดความชัดเจน มีความว้าวุ่นใจและเกิดความเครียดทางอารมณ์ได้ง่าย


ความสัมพันธ์ของระบบประสาทกับภาวะสุขภาพของวัยรุ่น
     ภาวะสุขภาพของวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทเช่น การเกิดโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคซึมเศร้า มักเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระดับของสารสื่อประสาทในสมองส่วนกลางที่ขาดความสมดุล หรือโรคไมเกรน พบว่า เกิดจากระบบประสาทผู้ป่วยไวต่อการเปลี่ยนแปลง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของเคมีในสมองขาดความสมดุล


การบำรุงรักษาระบบประสาท
     1. ไม่ให้เกิดการกระแทกบริเวณศีรษะ
     2. ป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางสมอง
     3. เลี่ยงยาต่างๆที่มีผลต่อสมอง รวมทั้ง และยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
     4. ผ่อนคลายความเครียด
     5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะพวกที่มีวิตามินบี 1 สูง


ระบบต่อมไร้ท่อกับการเจริญเติบโตและภาวะสุขภาพของวัยรุ่น
     ต่อมไร้ท่อ (endocrine gland) ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน (hormone) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) ต่อมไร้ท่อที่สำคัญ ได้แก่ ต่อมใต้สมองหรือต่อมพิทูอิทรี มีความสำคัญที่สุดเพราะฮอร์โมนที่ผลิตได้จะควบคุมการสร้างฮอร์โมนต่อมไร้ท่ออื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต ต่อมไทรอยด์ ผลิตฮอร์โมนควบคุมพลังงานการเผาผลาญ และต่อมเพศ จะควบคุมและกระตุ้นให้เจริญเติบโต มีหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์และฮอร์โมนต่าง ๆ ฮอร์โมนเพศชาย สร้างจากกลุ่มเซลล์เนื้อเยื่อของลูกอัณฑะ โดยเฉพาะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจในเพศชาย ส่วนฮอร์โมนเพศหญิง สร้างจากรังไข่ ผลิตฮอร์โมนเอสตราดิโอล (estradiol) และฟอลลิคิวลาร์ (follicular) ควบคุมและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเพศหญิง


ความสัมพันธ์ของระบบต่อมไร้ท่อกับภาวะสุขภาพของวัยรุ่น
ระบบต่อมไร้ท่อมีผลต่อสุขภาพวัยรุ่น มักปรากฏออกมาในลักษณะอาการต่าง ๆ ได้แก่
     – สิวฮอร์โมน เกิดจากการทำงานของต่อมหมวกไตที่เริ่มผลิตฮอร์โมนดีไฮโดรอีเพียนโดรสเตอโรน (dihydroepiandrosterone: DHEAS) และแอนโดรเจน ซึ่งจะไปกระตุ้นการหลั่งของต่อมไขมันกลายเป็น
หัวสิว
     – กลิ่นตัว เกิดจากร่างกายถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศ ต่อมเหงื่อจะเริ่มทำงาน โปรตีนกับไขมันซึ่งเป็นส่วนประกอบของเหงื่อจะถูกขับออกมาตามรูขุมขน เมื่อสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียจะเกิดการเน่าเปื่อยของหนังกำพร้าและทำให้มีกลิ่น
     – การปวดประจำเดือน โดยช่วงที่มีประจำเดือนเป็นช่วงที่ฮอร์โมนจากระบบต่อมไร้ท่อเปลี่ยนแปลงและร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่ำ


การบำรุงรักษาระบบต่อมไร้ท่อ
     1. รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ลดอาหารรสหวานจัด รับประทานเกลือเพื่อป้องกันโรคคอพอก
     2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ 6–8 แก้วต่อวัน
     3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
     4. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะมีผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อบางต่อม
     5. หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ
     6. พักผ่อนให้เพียงพอ


เกณฑ์มาตรฐานการเจริญเติบโตของร่างกาย
     คือ ข้อมูลตัวชี้วัดที่นำมาใช้อ้างอิงเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างอายุ น้ำหนัก และส่วนสูง เพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโต 

 

 

กราฟเเสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต

 

 

การพัฒนาตนเองให้เจริญเติบโตสมวัย
     คือ การปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและมีพัฒนาการต่าง ๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยลักษณะที่แสดงถึงการเจริญเติบโตสมวัย พิจารณาจากลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม


แนวทางในการพัฒนาตนเองให้เจริญเติบโตสมวัย
     1. หมั่นตรวจสอบภาวะการเจริญเติบโตทางร่างกายของตนเอง หากพบว่าค่าของน้ำหนักหรือส่วนสูงผิดไปจากเกณฑ์มาตรฐาน ควรรับการตรวจสอบจากแพทย์
     2. นำแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย 3 ประการ ประกอบด้วย
          – ต้องรับประทานอาหารมื้อหลักให้ครบ 3 มื้อ และครบ 5 หมู่
          – ดื่มนมวันละ 1–2 แก้ว
          – ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ
     3. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8–9 ชั่วโมง
     4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือสถานที่ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
     5. หลีกเลี่ยงภาวะความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

คำสำคัญ  ระบบประสาท  สมอง  ไขสันหลัง  ปฏิกิริยารีเฟลกซ์  โรคซึมเศร้า  โรคไมเกรน  ต่อมไร้ท่อ  ฮอร์โมน  ต่อมพิทูอิทารีหรือต่อมใต้สมอง  ต่อมหมวกไต  ต่อมไทรอยด์  สิวฮอร์โมน  กลิ่นตัว  การปวดประจำเดือน  เกณฑ์มาตรฐานการเจริญเติบโตของร่างกาย

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th