บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 46.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






สาระสำคัญประจำหน่วย
          1. สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่และสืบทอดลูกหลานต่อไปได้ ทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต มีสิ่งมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นหลากหลายสปีชีส์
          2. สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ถ้ามีสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งถูกทำลายหรือสูญหายไป ก็ จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศด้วย
          3. สิ่งมีชีวิตในสปีชีส์เดียวกันจะผสมพันธุ์และ สืบทอดลูกหลานต่อไปได้
          4. การเกิดสปีชีส์ใหม่ของสิ่งมีชีวิตมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ ทำให้สิ่งมีชีวิตต้อง ปรับตัวให้เข้ากับแหล่งที่อยู่ใหม่ จึงเกิดการแข่งขันกันในกลุ่มประชากร เป็นผลให้เกิดการคัดเลือกตาม ธรรมชาติเพื่อการอยู่รอดและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม นอกจากนี้ยังเกิดจากการแปรผันทาง พฤติกรรม ทำให้ลักษณะของประชากรแต่ละกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป เกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตขึ้น
          5. จำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น 5 อาณาจักร คือ อาณาจักรโมนีรา อาณาจักรโพรทิสตา อาณาจักรเห็ดราและยีสต์ อาณาจักรพืช และอาณาจักรสัตว์
          6. มนุษย์ได้พยายามนำคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตอย่างไม่ยั้งคิด ดังนั้นการอนุรักษ์และพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้อยู่คู่กับมนุษย์ต่อไป

Key words
          ความหลากหลายทางชีวภาพ : การอยู่ร่วมกันสิ่งมีชีวิตมากมายหลายสายพันธุ์ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
          สปีชีส์ : กลุ่มหรือประชากรของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะทั่วไปและลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกันในระดับโครโมโซม
          อาณาจักร : การแบ่งหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต
          การคัดเลือกโดยธรรมชาติ : การทำให้ประชากรมีลักษณะเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมสามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้


ความหลากหลายทางชีวภาพ
          สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ท้องถิ่นต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่เพื่อการดำรงชีวิตอยู่และเพื่อการแพร่พันธุ์ต่อไปได้ และเมื่อเวลาผ่านไปสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ได้ดี ก็จะสามารถดำรงชีวิตและสืบลูกหลานต่อไปได้ และจะถ่ายทอดลักษณะที่ปรับตัวได้ให้กับสิ่งมีชีวิตรุ่นต่อ ๆ มา ทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เกิดความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (species diversity) ความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) และความหลากหลายของระบบนิเวศ (ecosystem diversity) ซึ่งการที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายหลายสายพันธุ์ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งนี้รวมเรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (biological diversity)





สปีชีส์ของสิ่งมีชีวิต
          กลุ่มย่อยของการจัดลำดับหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตเรียกว่า สปีชีส์ (species) ซึ่งคือกลุ่มหรือประชากรของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะทั่วไปและลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกันในระดับโครโมโซม จึงสามารถผสมพันธุ์และถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมไปสู่ลูกหลานสามารถสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ต่อไปได้
          มนุษย์ในปัจจุบันจัดอยู่ในสปีชีส์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) มีเผ่าพันธุ์ใหญ่ ๆ 3 เผ่า ได้แก่ เผ่านิกรอยด์ เช่น ชนพวกนิโกร เผ่าคอเคซอยด์ เช่น ชนพวกยุโรป แอฟริกาเหนือ และเผ่ามองโกลอยด์ เช่น ชนในทวีปเอเชียและมองโกเลีย โดยมนุษย์เผ่าต่าง ๆ เหล่านี้สามารถผสมข้ามเผ่าได้ และให้ลูกหลานที่ไม่เป็นหมัน
          กลุ่มสิ่งมีชีวิตถ้าไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติ หรือผสมพันธุ์กันแล้วให้ลูกที่เป็นหมัน แสดงว่าเป็นคนละสปีชีส์กัน เช่น ม้าเพศเมียผสมพันธุ์กับลาเพศผู้แล้วได้ลูกผสมเป็นล่อที่เป็นหมัน จึงถือว่าม้าและลาเป็นสัตว์ต่างสปีชีส์กัน
          สิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์จะมีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสปีชีส์นั้น ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับสปีชีส์อื่น เช่น เต่าไทยบางสปีชีส์จะมีลักษณะแตกต่างจากสปีชีส์อื่น เช่น เต่าดำ (เต่าแก้มขาว) นอกจากนี้การอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างกันจะทำให้เกิดความแตกต่างทางพันธุกรรมที่หลากหลายภายในสปีชีส์เดียวกันได้ เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางพันธุกรรมในแต่ละรุ่นเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสปีชีส์ใหม่ขึ้น

          การเกิดสปีชีส์ใหม่
                    ชาลส์ ดาร์วิน ได้เดินทางไปสำรวจฝั่งทะเลของทวีปอเมริกาใต้ใน ค.ศ. 1831 และได้พบหมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos) และ หมู่เกาะแห่งนี้มีนกฟินช์ (finch) หรือนกกระจาบปีกอ่อนอาศัยอยู่หลายชนิด ซึ่งนกฟินช์จะมีความแตกต่างกันตรงที่ส่วนของปากเท่านั้น ดาร์วินได้สันนิษฐานว่า นกฟินช์เหล่านี้น่าจะสืบเชื้อสายมาจากนกฟินช์พวกที่อาศัยอยู่บนทวีปอเมริกาใต้มาก่อน เนื่องจากแต่เดิมทวีปอเมริกาใต้กับหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ต่อมามีปัจจัยการเคลื่อนไหวของพื้นผิวโลก ทำให้หมู่เกาะแยกตัวออกมาจากทวีปอเมริกาใต้ นกฟินช์กลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นสปีชีส์เดียวกันได้อพยพมาอยู่บนเกาะกาลาปากอส และได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยใหม่ นกฟินช์จึงมีรูปร่างและพฤติกรรมแตกต่างออกไปจากสปีชีส์เดิม จนกระทั่งเกิดวิวัฒนาการเป็นนกฟินช์สปีชีส์ใหม่ ๆ หลายสปีชีส์ ซึ่งจะมีลักษณะของปาก แหล่งที่อยู่ และอาหารที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น 4 พวก คือ พวกที่ใช้ปากจิกกินแมลงเป็นอาหาร พวกที่ใช้จะงอยปากคาบเศษไม้เพื่อแหย่แมลงให้ออกจากรูแล้วจิกกิน พวกกินพืชเป็นอาหาร และพวกที่ใช้จะงอยปากที่หนาและแข็งแรงจิกกินเมล็ดพืชที่มีเปลือกแข็งบนพื้นดินเป็นอาหาร
                    จากข้อสันนิษฐานของดาร์วินทำให้สรุปได้ว่า การเกิดสปีชีส์ใหม่เกิดจากสาเหตุของสภาพภูมิศาสตร์เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นกลไกการคัดเลือกตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดการแยกกลุ่มของประชากรสิ่งมีชีวิต โดยสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นผลให้เกิดความแตกต่างทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต 2 สปีชีส์อย่างชัดเจน




                    นอกจากสาเหตุของการแยกจากกันโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ (geographical speciation) สาเหตุออื่นได้แก่ การแปรผันทางพันธุกรรม เช่นพฤติกรรมการหาอาหาร ประชากรมีการหาอาหารอยู่ต่างบริเวณกัน พฤติกรรมการสืบพันธุ์ ประชากรเลือกผสมพันธุ์กันเฉพาะในกลุ่มย่อย ก็ทำให้เกิดเป็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันบนโลกได้

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
          นักชีววิทยาจึงได้จัดแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่หรือเป็น อาณาจักร (kingdom) โดยใช้ลักษณะร่วมบางอย่างที่คล้ายคลึงกันของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ในการจัดแบ่งสิ่งมีชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 5 อาณาจักร ดังนี้





          อาณาจักรโมนีรา
                    สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโมนีรา (Kingdom Monera) เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ มีลักษณะโครงสร้างไม่สลับซับซ้อน มีเซลล์เดียว ภายในเซลล์ไม่แสดงขอบเขตของนิวเคลียสชัดเจน ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้ ได้แก่ ไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) และแบคทีเรีย




          อาณาจักรโพรทิสตา
                    สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา (Kingdom Protista) ส่วนใหญ่มีเซลล์เดียว ซึ่งอาจเกาะกันเป็นกลุ่มหรือต่อกันเป็นสาย ไม่มีเนื้อเยื่อ ภายในเซลล์มีขอบเขตของนิวเคลียสชัดเจน มีทั้งประเภทที่สร้างสปอร์ที่เรียกว่า สปอโรซัว (sporozoa) และสัตว์ชั้นต่ำเซลล์เดียวที่เรียกว่า โพรโทซัว (protozoa) เช่น ยูกลีนาใช้หนวด (flagellum) ช่วยในการเคลื่อนที่ พารามีเซียมใช้ขน (cilia) ช่วยในการเคลื่อนที่ อะมีบาใช้เท้าเทียม (pseudopodium) ช่วยในการเคลื่อนที่




          อาณาจักรเห็ดราและยีสต์
                    สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรเห็ดราและยีสต์ (Kingdom Fungi) ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์รวมตัวกันเป็นกลุ่มของเส้นใยหรืออัดแน่นเป็นกระจุก มีผนังเซลล์คล้ายเซลล์พืช แต่ไม่มีคลอโรพลาสต์ สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ และดำรงชีวิตโดยการย่อยสลายสารอินทรีย์ แล้วจึงดูดเอาโมเลกุลที่ถูกย่อยเข้าสู่เซลล์ สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้ ได้แก่ เห็ด รา และยีสต์




          อาณาจักรพืช
                    สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืช (Kingdom Plantae) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเนื้อเยื่อ ประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น ราก ใบ ลำต้น ภายในเซลล์มีสารสีที่เรียกว่า คลอโรฟิลล์ สำหรับสังเคราะห์ด้วยแสง เพื่อสร้างอาหารสำหรับการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้พบได้ทั้งบนบกและในน้ำ ได้แก่ พืชทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่สาหร่าย (algra) เฟิร์น (fern) ไปจนถึงพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่




          อาณาจักรสัตว์
                    สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเนื้อเยื่อประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์ ไม่มีผนังเซลล์ ภายในเซลล์ไม่มีคลอโรฟิลล์สำหรับสังเคราะห์อาหารเองได้ จึงต้องอาศัยอาหารจากการกินสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ โดยมีอวัยวะรับความรู้สึก และสามารถดำรงชีวิตได้หลายลักษณะ ทั้งบนบก ในน้ำ ซึ่งบางชนิดเป็นปรสิต มีตั้งแต่สัตว์ชั้นต่ำ เช่น ไดอะตอม แพลงก์ตอน ฟองน้ำ ปะการัง และสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ ไปจนถึงสัตว์ชั้นสูงทั้งที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมงมุม กุ้ง ปู และหอย และที่มีกระดูกสันหลัง เช่น คน ลิง ช้าง และม้า





คุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ
          สิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง ต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันกลายเป็นระบบนิเวศที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถ้าสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งถูกทำลายหรือสูญพันธุ์ไป ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ มนุษย์ได้มีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการดำรงชีวิตรอดอย่างมากมาย





          ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ
                    1. ประโยชน์ทางตรง มีมากมายดังต่อไปนี้
                              1.1 เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ พืชมากกว่า 3,000 ชนิด สามารถใช้เป็นอาหารในการดำรงชีวิตได้ และมนุษย์ยังได้มีการนำพืชบางชนิดมาเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์ในเชิงเกษตรกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริโภคเป็นอาหาร นอกจากนี้มนุษย์ได้นำความรู้ทางด้านการเกษตรเข้ามาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ โดยนำมาเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ เพื่อใช้เป็นอาหารในการดำรงชีวิต




                              1.2 เป็นแหล่งผลิตยาที่สำคัญ พืชสมุนไพรจากป่าในธรรมชาติหลายชนิดนำมาเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการนำมาสกัดเป็นตัวยาที่ใช้สำหรับรักษาโรค เช่น ต้นเปล้าน้อยซึ่งมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เปลาโนทอล (plaunotol) ซึ่งใช้ในการผลิตยาเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้




                              1.3 เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ มนุษย์สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากป่าโดยการเก็บของป่าเพื่อนำมาทำเป็นอาหารและใช้ประโยชน์ในครัวเรือน พัฒนาผลผลิตจากป่าเป็นสินค้าส่งออก
เช่น โต๊ะหวาย เก้าอี้หวาย เป็นต้น นอกจากนี้ผลผลิตของพืชหลายชนิดถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันพืช ยาง และสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติสูงกว่าสารที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น
                              1.4 เป็นเสมือนคลังอเนกประสงค์ โดยทุกส่วนของต้นพืชสามารถใช้ประโยชน์ใช้สอยได้มากมายหลายรูปแบบ เช่น ส่วนของลำต้น ส่วนของผล เมล็ด หัวใต้ดิน เปลือกไม้แข็ง รวมถึงรากของพืชก็สามารถนำมาต้มเป็นอาหาร ส่วนของลำต้นพืชขนาดใหญ่ในป่า สามารถนำมาผลิตสินค้าประเภทไม้ส่งออก หรือไม้แปรรูป




                    2. ประโยชน์ทางอ้อม มีดังต่อไปนี้
                              2.1 เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ทำให้มนุษย์มีน้ำไว้ใช้ตลอดปี
                              2.2 เป็นแหล่งฟอกอากาศ เพราะต้นไม้ช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และคายแก๊สออกซิเจนสู่อากาศ ทำให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้น
                              2.3 เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ เนื่องจากป่าเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต จึงจัดเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ทางด้านชีววิทยา
                              2.4 เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่นำเงินตราเข้าประเทศ




                    ในปัจจุบันจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มนุษย์หาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ทำให้พืชและสัตว์ป่าบางชนิดเกิดการสูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอดของมนุษย์ได้

          การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
                    ในปัจจุบันมีแนวคิดในการนำทรัพยากรมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามหาวิธีบำรุงรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรที่ใช้ให้คงอยู่ต่อไปในระยะยาว ซึ่งมีวิธีการ คือ การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต และการอนุรักษ์หน่วยทางพันธุกรรม เช่น การอนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ
                    การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต
                              การคุ้มครองและรักษาถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตให้มีความสมบูรณ์ จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มีชีวิตอยู่รอดได้ในระยะยาว โดยถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ที่สำคัญก็คือ ป่า ดังนั้นมาตรการในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพจึงจำเป็นต้องรักษาป่าที่สมบูรณ์ที่เหลืออยู่ไว้ โดยกำหนดให้พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ทั้งหมดเป็นป่าอนุรักษ์ และประกาศให้พื้นที่ป่าที่ยังคงสภาพป่าอยู่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือป่าสงวนแห่งชาติ และต้องมีการสนับสนุนให้พื้นที่ป่าเหล่านี้ได้รับการรักษาไม่ให้มีการบุกรุกอย่างจริงจัง
                              นอกจากนี้ อีกมาตรการหนึ่งที่สำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้คงความหลากหลายทางด้านชีวภาพไว้ รวมทั้งการจัดให้มีศูนย์อนุรักษ์สิ่งมีชีวิตนอกถิ่นกำเนิด ที่ทำหน้าที่เป็นที่พักพิงชั่วคราวของพืชและสัตว์ก่อนนำกลับไปสู่ธรรมชาติ เช่น การจัดให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต




                              การอนุรักษ์หน่วยพันธุกรรมจึงจำเป็นต้องอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์ ทั้งที่เพาะปลูกขึ้นมาใหม่หรือที่มีอยู่ในป่าธรรมชาติ โดยการหยุดทำลายป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต รักษาและฟื้นฟูป่าธรรมชาติที่มีอยู่ให้คงความอุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนี้ การจัดตั้งศูนย์วิจัยทางการเกษตรเพื่อเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ที่สำคัญ ๆ การจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ หรือธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาพันธุ์พืชไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้สำหรับการเพาะปลูกและขยายพันธุ์พืชต่อไป
 



 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th