บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 282.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






สาระสำคัญ
          1. เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมแต่ละชนิดประกอบด้วยแอนติเจนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทำให้ร่างกาย
สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะมากำจัดได้
          2. ผิวหนังมีสภาพเป็นกรดอ่อนเพื่อทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
          3. ฟาโกไซต์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่กำจัดเชื้อโรคด้วยการเข้าล้อมและกลืนกิน เรียกว่า ฟาโกไซโทซิส เซลล์ทีจดจำ
          4. เซลล์ทีผู้ช่วยจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ทีที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมและเซลล์บีเพื่อกำจัดเชื้อโรค
          5. เซลล์บีเมื่อตรวจจับแอนติเจนได้จะแบ่งเป็นเซลล์พลาสมาเพื่อสร้างแอนติบอดีทำลายเชื้อโรค และ
เซลล์จดจำแอนติเจนที่เคยเข้าสู่ร่างกาย
          6. ระบบน้ำเหลืองประกอบด้วย น้ำเหลืองที่มีส่วนประกอบของเม็ดเลือดขาว ท่อน้ำเหลืองที่ลำเลียง
น้ำเหลืองไปทั่วร่างกาย และอวัยวะน้ำเหลืองที่มีหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ
          7. ภูมิคุ้มกันแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและภูมิคุ้มกันที่ได้รับจาก
ภายนอก
          8. การให้วัคซีนเป็นการนำแอนติเจนของเชื้อโรคที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงหรือตายแล้วมาฉีดเข้าร่างกาย
เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (สร้างเสริมเซลล์ทีจดจำและเซลล์จดจำ)
          9. การฉีดเซรุ่มเป็นการนำแอนติบอดีเข้าร่างกายเพื่อให้ทำลายแอนติเจนของเชื้อโรคได้ทันที
          10. การดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และ
หลีกเลี่ยงสารเสพติดและสุราจะช่วยให้สร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
          11. การให้และรับเลือดต้องทราบหมู่เลือดของผู้ให้และผู้รับเพื่อป้องกันการเกาะกลุ่มกันของเม็ดเลือด
          12. โรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในคนเป็นผลจากการได้รับเชื้อเอดส์ซึ่งเข้าไปทำลาย
เซลล์เม็ดเลือดขาว

Key words
          แอนติเจน : ส่วนประกอบที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่อยู่บริเวณพื้นผิวของเซลล์เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม
          แอนติบอดี : โปรตีนที่ทำหน้าที่ต่อต้านและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
          ฟาโกไซต์ : เซลล์เม็ดเลือดขาวหน้าที่กำจัดเชื้อโรคด้วยการล้อมและกลืนกิน
          ลิมโฟไซต์ : เซลล์ม็ดเลือดขาวที่ตรวจจับชนิดของแอนติเจนที่เข้าสู่ร่างกายก่อน จึงจะผลิตแอนติบอดีที่จำเพาะขึ้น
          วัคซีน : แอนติเจนของเชื้อโรคที่ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายภูมิคุ้มกันของร่างกาย


ภูมิคุ้มกันของร่างกาย
          ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ทำหน้าที่ป้องกัน กำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมตามธรรมชาติ ไม่ให้เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมเกิดอันตรายต่อร่างกาย

กลไกในการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย
          แอนติเจน (antigen) เป็นส่วนประกอบที่มีลักษณะเฉพาะอยู่บริเวณพื้นผิวของเซลล์เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ระบบภูมิคุ้มกันจึงสามารถตรวจจับได้ว่ามีแอนติเจนเข้าสู่ร่างกายและต้องกำจัดออก โดยจะมีกลไกในการป้องกันและกำจัด ดังนี้

          ผิวหนังและเยื่อบุเซลล์ในระบบหายใจและระบบย่อยอาหาร
                    สภาวะความเป็นกรดอ่อน ๆ บนผิวหนังและเหงื่อสามารถทำลายเชื้อโรคบางชนิดที่อยู่ตามผิวหนังได้ แต่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะถูกดักจับด้วยเยื่อเมือกเหนียว ๆ ที่เซลล์เยื่อบุผิวขับออกมา และถูกพัดโบกโดยขนเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ซิเลีย (cilia) ที่บริเวณเยื่อบุผิวหนังของระบบทางเดินหายใจ ทำให้สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณหลอดลมไปสู่หลอดอาหาร ลงสู่กระเพาะอาหารที่มีสภาวะเป็นกรด เชื้อโรคจึงถูกทำลายได้
          เซลล์เม็ดเลือดขาว
                    เซลล์เม็ดเลือดขาวจะคอยทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
                              1. ฟาโกไซต์ (phagocyte) หรือเซลล์กลืนกิน ถูกสร้างจากไขกระดูก ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคด้วยการล้อมและกลืนกิน โดยยื่นส่วนที่เรียกว่า เท้าเทียม (pseudopodium) เข้าโอบล้อมเชื้อโรค จากนั้นเชื้อโรคจะไหลเข้าสู่ถุงอาหารภายในเซลล์และถูกย่อยโดยเอนไซม์ เรียกกระบวนการนี้ว่า ฟาโกไซโทซิส (phagocytosis)




                              2. ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ถูกสร้างจากไขกระดูก มีหน้าที่ตรวจจับชนิดของแอนติเจนที่เข้าสู่ร่างกายก่อน แล้วจะผลิตเซลล์ที่สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้
                                        2.1 ลิมโฟไซต์ชนิดที (T-lymphocyte) หรือเซลล์ที (T-cell) สร้างจากต่อมไทมัส มีบทบาทเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันและอาการแพ้ต่าง ๆ ในร่างกาย แบ่งเซลล์ทีตามหน้าที่ได้ดังนี้
                                                  – เซลล์ทีผู้ช่วย (helper T-cell) ทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์บีสร้างแอนติบอดีจำเพาะขึ้นมาเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของเซลล์ทีชนิดอื่น
                                                  – เซลล์ทีทำลายสิ่งแปลกปลอม (cytotoxic T-cell) ทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม




                                        2.2 ลิมโฟไซต์ชนิดบี (B-lymphocyte) หรือเซลล์บี (B-cell) พบมากในปุ่มน้ำเหลือง (lymph node) ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี (antibody) เพื่อต่อต้านและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แอนติเจนและเซลล์ทีผู้ช่วย จะไปกระตุ้นเซลล์บีให้เกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์พลาสมา (plasma cell) ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีที่จำเพาะเพื่อทำลายแอนติเจนที่เข้าสู่ร่างกาย และเซลล์จดจำ (memory cell) ทำหน้าที่จดจำแอนติเจน ถ้าแอนติเจนชนิดเดิมเข้าสู่ร่างกาย เซลล์บีแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้น




          ระบบน้ำเหลือง
                    1. น้ำเหลือง (lymph) เป็นของเหลวที่ช่วยลำเลียงสารต่าง ๆ กลับสู่หลอดเลือดในระบบไหลเวียนเลือด โดยไหลซึมผ่านท่อน้ำเหลืองที่มีอยู่ทั่วร่างกาย
                    2. ท่อน้ำเหลือง (lymph vessel) น้ำเหลืองจะไหลซึมเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองฝอยแล้วเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองขนาดใหญ่ ซึ่งภายในจะมีลิ้นกั้นไม่ให้น้ำเหลืองไหลกลับ และไม่ไหลปนไปกับเลือดในระบบไหลเวียนโลหิต




                    3. อวัยวะน้ำเหลือง (lymphatic organ) มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ที่มาจากไขกระดูก เพื่อพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาว ประกอบด้วยอวัยวะสำคัญ ดังนี้
                              – ปุ่มน้ำเหลือง (lymph node) มีขนาดเล็กรวมกันเป็นกลุ่มตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ และขาหนีบ เป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์
                              – ทอนซิล (tonsil) เป็นกลุ่มปุ่มน้ำเหลืองซึ่งภายในมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์
                              – ม้าม (spleen) เป็นอวัยวะน้ำเหลืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาวที่ใช้ทำลายแบคทีเรียและสิ่งแปลกปลอม และยังทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้วอีกด้วย
                              – ต่อมไทมัส (thymus gland) อยู่บริเวณรอบหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจ เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ที่เดินทางมาที่ต่อมไทมัสจะพัฒนาเป็นเซลล์ทีเพื่อต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

     นอกจากนี้ร่างกายยังมีกลไกอื่นที่ช่วยเหลืออวัยวะทั้ง 4 ชนิดนี้อีก โดย สารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้น เช่น เกลือจากเหงื่อ เอนไซม์ในน้ำมูกและน้ำตา เพื่อทำลายเชื้อโรคไม่ให้ผ่านเข้าไปในร่างกายได้ หรือการไอหรือจาม เพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย




การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
          ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น
                    1. ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังจากการหายป่วยจากการติดเชื้อโรค โดยการจดจำของเซลล์ทีและเซลล์บี เมื่อร่างกายได้รับแอนติเจนชนิดเดิมซ้ำ ระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดทันที
                    2. ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการให้วัคซีน เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดเมื่อร่างกายได้รับการกระตุ้นจากการให้วัคซีน (vaccine) ซึ่งเป็นแอนติเจนของเชื้อโรคที่ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกาย โดยจะไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดีที่จำเพาะต่อแอนติเจนชนิดนั้น ๆ วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลายชนิด ดังนี้
                              – วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง
                              – วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรคที่ทำให้ตายแล้ว แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้
                              – วัคซีนที่ผลิตจากสารพิษหรือทอกซินที่ทำให้หมดพิษแล้ว
                    วัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องให้หลายครั้งหรือมีการกระตุ้นเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งเพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนให้ครบตามเวลาและจำนวนครั้งที่กำหนด

          ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายได้รับมา
                    1. ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ ทารกจะได้รับจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่จะมีผลคุ้มกันเพียงอายุประมาณ 6 เดือนหลังคลอด เท่านั้น
                    2. ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดเซรุ่ม โดยเซรุ่มเป็นน้ำเลือดที่มีแอนติบอดีที่เมื่อร่างกายได้รับแล้วจะสามารถต้านทานพิษของโรคนั้นได้ทันที

          การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันให้ถูกวิธีเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ดังนี้
                    1. การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
                    2. การออกกำลังกาย
                    3. การทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
                    4. การหลีกเลี่ยงสารเสพติดและสุรา
                    5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทางเพศ

หมู่เลือดและการถ่ายเลือด
          ระบบหมู่เลือดที่สำคัญที่สุด คือ หมู่เลือดระบบ ABO ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 หมู่ คือ หมู่ A หมู่ B หมู่ AB และหมู่ O โดยพิจารณาจากชนิดของแอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงและแอนติบอดีในน้ำเลือด ดังตาราง

          ตารางแสดง ชนิดของหมู่เลือด แอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดง แอนติบอดีในน้ำเลือด และหมู่เลือดที่สามารถรับเข้าสู่ร่างกายได้
 

หมู่เลือด

แอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดง

 

แอนติบอดีในน้ำเลือด

หมู่เลือดที่รับเข้าสู่ร่างกายได้

     A

   A

   แอนติ-B

   A หรือ O

     B

   B

   แอนติ-A

   B หรือ O

     AB

   A และ B

   ไม่มีแอนติบอดี

   A, B, AB หรือ O

     O

   ไม่มีแอนติเจน

   มีทั้งแอนติ-A และแอนติ-B

   O



          ในทางทฤษฎีหลักการถ่ายเลือดให้แก่ผู้ป่วย คือ เลือดของผู้ให้ต้องไม่มีแอนติเจนตรงกับแอนติบอดีของผู้รับ เช่น ผู้ที่มีหมู่เลือด A ซึ่งมีแอนติเจน A ไม่สามารถถ่ายเลือดให้กับผู้รับที่มีหมู่เลือด B หรือ O ได้ เพราะหมู่เลือด B และ O ของผู้รับมีแอนติ-A ผู้ที่มีหมู่เลือด A จึงสามารถถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือด A และ AB ได้เท่านั้น แต่ผู้ที่มีเลือดหมู่ AB ซึ่งไม่มีแอนติบอดี จะสามารถรับเลือดได้ทั้งหมู่ A, B, AB หรือ O แต่ในทางปฏิบัติแพทย์จะให้เลือดแก่ผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
          เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดความผิดปกติ จะทำให้ร่างกายเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น
                    1. โรคภูมิแพ้ เกิดขึ้นเนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างสารก่อภูมิแพ้ (แอนติเจน) ที่ร่างกายได้รับกับภูมิแพ้ที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าไปกระตุ้นในครั้งก่อน ๆ อาการที่เกิดขึ้น เช่น จะเกิดผื่น คัน หรือลมพิษ ในบางรายอาจแสดงอาการออกมาพร้อมกันหลายระบบ มีอาการช็อก หายใจไม่ออก และอาจถึงแก่ชีวิตได้
                    2. ภาวะการสร้างภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง เป็นความผิดปกติของกลไกในร่างกายที่ทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมาทำลายดีเอ็นเอในเซลล์ของตนเอง ทำให้เซลล์นั้นถูกทำลาย ที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคเอสแอลดี
                    3. โรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน เกิดจากเชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) ที่เข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์บีไปทีละน้อยจนหมด ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิต้านทานโรค ร่างกายจึงติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย ผู้ป่วยจึงมักเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน
 



 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th