บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่องการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางสังคม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.4K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางสังคม

 

 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
     การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ขององค์การสังคมที่ให้ความสำคัญกับขนาดขององค์การสังคม ประเภทขององค์การสังคม ลักษณะขององค์การสังคม รวมทั้งสถานภาพและบทบาท ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประกอบด้วย ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยทางธรรมชาติ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางสังคม และปัจจัยทางวัฒนธรรม และ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สถานการณ์ปกติ เช่น การค้าขาย และสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น เกิดสงคราม ส่วนรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แบ่งออกเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงแบบวางแผน เกิดจากความจงใจโดยมีการกำหนดทิศทาง ระยะเวลา สิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนซึ่งมีทั้งคนและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดวิธีการดำเนินการและสถานที่ที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย


การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย ประกอบด้วย
1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร พ.ศ. 2550 พบว่าประชากรไทยมีจำนวนประมาณ 66 ล้านคนเศษ การเพิ่มจำนวนประชากรของไทยมีลักษณะเช่นเดียวกันกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย คือ มีอัตราการเกิดสูงแต่อัตราการตายลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข
2. การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบครอบครัว แต่ยังคงมีระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ที่เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์” มาจนถึงปัจจุบัน
3. การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ปัจจุบันคนไทยได้รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองใหญ่ที่มีความรีบเร่ง มีค่านิยมการบริโภคสิ่งของที่ฟุ่มเฟือย และเน้นความสะดวกสบาย

 

ปัญหาทางสังคม
     ปัญหาทางสังคม หมายถึง สภาวการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควรและมีความรู้สึกว่าควรจะแก้ไขในรูปการกระทำร่วมกัน เพื่อให้ปัญหานั้นบรรเทาเบาบางลงหรือทำให้ดีขึ้น สาเหตุของปัญหาทางสังคม ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม สิ่งแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบสังคมที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ปัญหาสำคัญของสังคมไทย ได้แก่
1. ปัญหาประชากรของไทย มีปัญหาในช่วงอายุต่าง ๆ ดังนี้
     1) ทารก เช่น ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานปกติ เนื่องจากมารดาเจ็บป่วย รวมทั้งบริโภคอาหารไม่เพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์
     2) เด็กอายุ 1–6 ปี เช่น ปัญหาเด็กขาดความอบอุ่น เนื่องจากพ่อแม่ทำงานจนไม่มีเวลาดูแล
     3) เด็กในวัยเรียน (7–18 ปี) ได้แก่ การขาดโอกาสทางการศึกษา การขาดวินัยของการเป็นพลเมืองที่ดี เด็กไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม และปัญหาเด็กเร่ร่อน
     4) เยาวชน (18–25 ปี) ปัญหาสังคมของเยาวชน ได้แก่ ปัญหาเยาวชนขาดจุดมุ่งหมายในชีวิต และปัญหาเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง
     5) วัยทำงาน ปัญหาของคนวัยทำงานที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาความมั่นคงของครอบครัวไทย ปัญหาครอบครัวขาดความอบอุ่น ปัญหาขาดการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ปัญหาด้านแรงงาน และปัญหาเกษตรกรขาดความมั่นคงทางรายได้
     6) ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ขาดความรู้และออกกำลังกายน้อยจึงทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ
     7) ผู้พิการในสังคมไทย ปัจจุบันมีผู้พิการที่ยังขาดสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เหมาะสมและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ

 

 

การออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้สูงอายุสุขภาพแข็งแรงขึ้น

 

 

2. ปัญหาสุขภาวะของประชาชนไทย
     ปัจจุบันคนไทย 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศมีความเสี่ยงภัยด้านสุขภาวะ ขาดความคุ้มครองความมั่นคงทางสังคม นอกจากนี้คนไทยยังต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาขยะเป็นพิษ และอันตรายจากสารเคมีอีกด้วย
3. ปัญหาความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
     ประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่รับรู้และตระหนักถึงสิทธิ รวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองและให้บริการตามสิทธิที่พึงมีจากหน่วยงานของรัฐ
4. ปัญหาค่านิยมและการทำงานอาสาสมัคร
     อาสาสมัครของไทยยังขาดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ขาดการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครอย่างจริงจัง ขาดการจูงใจและการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร รวมทั้งอาสาสมัครยังไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการอย่างเหมาะสม เช่น กรณีประสบภัยจากการปฏิบัติหน้าที่
5. ปัญหาระบบและคุณภาพงานสวัสดิการสังคม
     ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดความเข้าใจในอุดมการณ์ หลักการและประเภทของงานสวัสดิการที่ถูกต้อง
6. การทุจริตและประพฤติมิชอบ
     การทุจริตและประพฤติมิชอบ มีอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ประกอบกับมีวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่ยังคงเป็นอุปสรรคขัดขวางการเสริมสร้างธรรมาภิบาล รวมทั้งการขาดคุณภาพและจิตสำนึกสาธารณะจึงทำให้ไม่สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากผลประโยชน์สาธารณะก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมและการทุจริตประพฤติมิชอบที่ซับซ้อนมากขึ้น

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม
แนวทางการแก้ไขปัญหาทางสังคม ได้แก่
1. ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาต้องร่วมกันพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม
2. ปัญหาจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ควรนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
3. ปัญหาจากการจัดระเบียบสังคมไม่จริงจัง ต้องดำเนินมาตรการจัดระเบียบสังคมในสถานที่ต่าง ๆ

แนวทางการพัฒนาสังคม
     การพัฒนาสังคม คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมตามแผนของสังคม และสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงคือโครงสร้างสังคม ซึ่งประกอบด้วย คน ระเบียบสังคม และวัตถุสิ่งของ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา อนามัย การศึกษาหรือไม่ก็ตาม
     ประเทศไทยมีวิวัฒนาการของการพัฒนาสังคมตั้งแต่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “สภาพัฒน์” หรือ “สภาพัฒนาฯ” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 โดยระยะแรกใช้ชื่อว่า “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” มี หน้าที่เสนอความเห็นและคำแนะนำ ตลอดจนข้อชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2500 คณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ดำเนินการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและจัดทำรายงาน โดยเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” และให้จัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศขึ้นเป็นการเฉพาะ และเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรับโครงสร้างการทำงานและเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” รวมทั้งได้จัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ฉบับแรกขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. 2515 จึงมีการนำกระบวนการวางแผนพัฒนาสังคมเข้ามาใช้ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่าง ๆ
1) แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504–2509) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” ซึ่งเป็นแผนฯ ฉบับเดียวที่มีระยะเวลาครอบคลุมรวม 6 ปี โดยเน้นด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มีการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน และเพิ่มผลผลิตทางสาขาเกษตรและอุตสาหกรรม
2) แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510–2514) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “กระจายโครงการพื้นฐานสู่ชนบท” โดยมุ่งเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ
การกระจายการพัฒนาไปทั่วประเทศโดยเฉพาะเขตทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม โดยเพิ่มคำว่า “สังคม” ในชื่อของแผนฯ
3) แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515–2519) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “จากเศรษฐกิจสู่การพัฒนาสังคม” เพื่อลดความแตกต่างของรายได้และบริการสังคม เน้นการดำเนินงานแนวใหม่ 3 ด้าน คือ ลดอัตราการเพิ่มของประชากร กระจายบริการด้านเศรษฐกิจและสังคม และสร้างโอกาสและขีดความสามารถของประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น มีเป้าหมายอยู่ที่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้แก่คนในชนบท พร้อมทั้งส่งเสริมการส่งออกและปรับปรุงโครงสร้างการนำเข้าเพื่อรักษาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้มั่นคง
4) แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520–2524) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “กระจายความเจริญสู่ชนบท” ใน 2 แนวทาง คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยขยายการผลิตด้านการเกษตร และปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อขยายการส่งออก การกระจายรายได้ และการมีงานทำในภูมิภาค เน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เร่งรัดการส่งออก รวมทั้งเร่งบูรณะและปรับปรุงการบริหารทรัพยากรหลักของชาติ
5) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525–2529) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “ยึดพื้นที่ในการพัฒนาทั้งรับและรุก” มีลักษณะเป็นแผนนโยบาย “ยึดพื้นที่” เช่น พื้นที่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาชนบท พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และพื้นที่เมืองหลัก เน้นแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลังในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ชนบทพออยู่พอกิน และช่วยเหลือตัวเอง ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปฏิรูประบบการบริหารงานพัฒนาของรัฐทุกภาคส่วน
6) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530–2534) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “ผลักดันความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง” เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งปรับปรุงระบบการบริหารและการจัดการ และยกระดับคุณภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อลดต้นทุน และเน้นกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท
7) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535–2539) มุ่งพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด “เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม” โดยรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ให้ระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ ให้เอกชนเป็นแกนนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน รวมทั้งพัฒนาปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริการพื้นฐาน การจัดหาพลังงาน และการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค
8) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540–2544) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ” มีการปรับแนวคิดใหม่จากเดิมที่เน้นการพัฒนา “เศรษฐกิจ” มาเน้นการพัฒนา “คน” คือ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” โดยพัฒนาศักยภาพของคน และพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาคน
9) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–2549) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “อัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำทางการพัฒนา” เพื่อสร้างความสมดุลทั้งด้านคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ “สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ” ใน 3 ด้าน คือ สังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และสังคมที่สมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน

10) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550–2554) มุ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” มีการพัฒนาแบบองค์รวมที่ยึด “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” เน้นการนำ “ทุนสังคม ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนเศรษฐกิจ” มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน โดยใช้ 5 ยุทธศาสตร์หลักเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนไทยและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ

 

Keyword  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม  ปัญหาทางสังคม  การพัฒนาสังคม  โครงสร้างสังคม  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th