บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การเมืองการปกครอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 42.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





1. เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทย
          การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                    – ทำให้ประเทศไทยยังคงความเป็นเอกราชอยู่ได้
                    – รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น มีการจัดระเบียบบริหารและปกครองประเทศ
                    – ปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน





          ผลกระทบต่อสังคมไทยในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปการปกครอง รัชกาลที่ 5 มีดังนี้
                    การปฏิรูปด้านการเมือง ทำให้เกิดผลกระทบ เช่น
                              – การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้เกิดการสร้างรัฐชาติขึ้น
                              – ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
                    การปฏิรูปด้านสังคม คือ การยกเลิกระบบทาสและไพร่ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่น เช่น
                              – ทำให้คนไทยเริ่มยอมรับความเท่าเทียมกัน
                              – ทำให้คนไทยมีสิทธิและเสรีภาพ
                              – ทำให้เกิดทหารขึ้นมา 2 ประเภท คือ ทหารกองประจำการและทหารกองเกิน ต่อมาได้กลายเป็นกรมทหารบกขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม และพัฒนาเป็นกองทัพบกในปัจจุบัน
                              – เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า
                              – เปิดโอกาสให้คนเลื่อนฐานะทางสังคมของตนเอง




                    การปฏิรูปด้านการคลัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น
                              – ทำให้แก้ไขปัญหาข้อบกพร่องของการเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                              – มีรายได้เป็นเงินเดือนที่แน่นอน
                              – ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายความเจริญ
          การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เปลี่ยนจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีผลกระทบต่อสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนี้




                     ด้านการเมืองการปกครอง ให้มีการจัดสถาบันทางการเมืองรองรับการใช้อำนาจอธิปไตยประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสถาบันทางการเมืองการปกครองที่สำคัญ มีดังนี้
                               – สถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนเป็นสถาบันที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
                               – สภาผู้แทนราษฎร ตั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง
                               – ศาล เป็นสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจตุลาการ พิจารณาคดีความ
                               – รัฐธรรมนูญ เป็นสถาบันการเมืองที่กำหนดการใช้อำนาจอธิปไตย
                               – พรรคการเมือง เป็นสถาบันที่รวมคนอุดมการณ์เดียวกันมาทำงานการเมือง
                               – การเลือกตั้ง พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
                               – การกระจายอำนาจปกครอง เพื่อให้ประชาชนได้ปกครองตนเองตามหลักประชาธิปไตย




                     ด้านสังคม มีผลกระทบ ดังนี้
                               – ด้านการศึกษา มีการจัดระบบการศึกษาใหม่ทั้งในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา และจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                               – ความเสมอภาคของประชาชน ทำให้ประชาชนชาวไทยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
                               – ด้านวัฒนธรรม คนในสมัยต่อมาจึงนิยมแต่งกายแบบสากลมากกว่าแต่งกายแบบดั้งเดิมของไทย
                    ด้านเศรษฐกิจ มีผลกระทบ ดังนี้
                               – ปรับปรุงแก้ไขเรื่องภาษีอากรต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม
                               – ออกกฎหมายห้ามมิให้เจ้าของที่ดินและนายทุนยึดเครื่องมือและที่ดินทำกินของชาวนา
                               – ลดอัตราค่าไปรษณียากร
                               – ปรับปรุงอัตราเงินเดือนของข้าราชการให้เป็นธรรมมากขึ้น

          เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีการออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรที่ปกครองประเทศในลักษณะเผด็จการ




                    การเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมไทยหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีดังนี้
                              – พัฒนาระบอบประชาธิปไตย การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมีโอกาสเติบโตขึ้น
                              – ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ
                              – กลุ่มประชาชนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพื่อเรียกร้องรักษาผลประโยชน์และสิทธิของกลุ่มตนได้
                              – ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพด้านอุดมการณ์
                              – การเติบโตของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันแทนที่พลังกลุ่มทหาร

          วิกฤตการณ์ทางการเมือง พฤษภาคม พ.ศ. 2535 กลุ่มชนชั้นกลางได้ต่อต้านการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ทางฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานโอวาทให้ปรองดองกัน เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงยุติลง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นเรียกว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535




                    วิกฤตการณ์การเมือง พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ก่อให้เกิดผลกระทบสังคมไทยที่สำคัญ ดังนี้
                              – ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพด้านการสื่อสารเพิ่มขึ้น
                              – สื่อสารมวลชนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น
                              – เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับการปฏิรูปการเมืองไทย กลุ่มนักวิชาการและกลุ่มปัญญาชนได้เรียกร้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จลงใน พ.ศ. 2540 และได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
                    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีดังนี้
                              – ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น
                              – เกิดองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้น
                              – ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น
                              – เกิดการปฏิรูประบบราชการ
                              – การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองมีความโปร่งใสขึ้น
                              – การตรวจสอบทุจริตมีความเข้มงวดขึ้น
                              – ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น
                              – นักการเมืองขวนขวายหาความรู้เพิ่มมากขึ้น

          วิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2548–2553 กลุ่มการเมือง 2 ฝ่าย ขัดแย้งกัน ชุมนุมประท้วงกันอยู่เสมอ




                    ผลกระทบต่อสังคมไทยจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2548–2553 มีดังนี้
                              – คนไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น
                              – คนไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน
                              – ประเทศชาติสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุน
                              – ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตกต่ำลง

2. หลักการเลือกรับข้อมูลข่าวสาร
          การเลือกรับข้อมูลข่าวสารนั้นมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
                    – เลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ดี
                    – รับข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ
                    – รับข้อมูลข่าวสารจากหลาย ๆ แหล่ง
                    – ทำความเข้าใจข้อมูลข่าวสารและรับข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากอคติ
                    – ร่วมรับผิดชอบในกระบวนการรับส่งข้อมูลข่าวสาร
                    – พัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร



 
 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th