บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การเมืองการปกครอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 116.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 การเมืองการปกครอง

 

 

ระบอบการปกครอง
     ระบอบการปกครอง หมายถึง รูปแบบในการดำเนินการปกครองประเทศ โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และระบอบการปกครองแบบเผด็จการ


การปกครองแบบประชาธิปไตย
     ประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด หลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหลักนิติธรรม การปกครองระบอบประชาธิปไตยมี 2 รูปแบบ คือ
1. ระบอบประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct-Democracy) เป็นระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง เช่น ประชาธิปไตยแบบนครรัฐกรีกที่ประชาชนในสมัยโบราณมีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาประชาชนโดยตรง เรียกว่า เอกคลีเซีย (Ecclesia)
2. ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative-Democracy) เป็นระบบที่เลือกตัวแทนของประชาชนเข้าสู่รัฐสภาเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชน จำแนกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
     1) รูปแบบรัฐสภา การปกครองรูปแบบนี้มีประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบ รัฐสภาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารประเทศ
     2) รูปแบบประธานาธิบดี มีต้นแบบ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา การปกครองรูปแบบนี้มีการแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาดตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจรัฐธรรมนูญของประเทศ
     3) รูปแบบผสมผสานกึ่งรัฐสภาหรือกึ่งประธานาธิบดี มีประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ประชาชนจะเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและผู้แทนราษฎรโดยตรง แต่จะเลือกตั้งวุฒิสภาโดยอ้อม


การปกครองแบบเผด็จการ
ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ หมายถึง ระบอบการปกครองที่ให้ความสำคัญกับผู้ปกครองหรือรัฐบาลมากกว่าเสรีภาพส่วนบุคคล ระบอบการปกครองแบบเผด็จการมีความแตกต่างกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในหลายประเด็น ทั้งในด้านอำนาจสูงสุดในการปกครอง การให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
แนวคิดเบื้องต้นของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ มีดังนี้
     1. เผด็จการในแนวคิดทางการเมือง มีแนวคิดว่ารัฐเป็นเสมือนผู้ที่พร้อมด้วยคุณธรรม ประชาชนจึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ
     2. เผด็จการในรูปแบบทางการปกครอง เป็นการรวมอำนาจ แสวงหา หรือยึดอำนาจรัฐ ส่วนใหญ่ใช้วิธีที่รุนแรง
     3. เผด็จการในการดำเนินชีวิต มีความเชื่อว่าคนเราเกิดมาย่อมมีความแตกต่างกัน เพื่อให้สังคมเป็นเอกภาพ ผู้ที่ด้อยกว่าจึงต้องปฏิบัติตามผู้ที่เหนือกว่า จนกลายเป็นแนวทางในการปฏิบัติของคนในสังคม
รูปแบบของอุดมการณ์เผด็จการแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เผด็จการอำนาจนิยมและเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม
1. เผด็จการอำนาจนิยม หมายถึง การปกครองที่ใช้อำนาจเป็นวิถีทางและเป็นจุดหมายปลายทาง โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้างระเบียบและการควบคุมตรวจสอบ แต่รัฐยังคงให้สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชาชน
2. เผด็จการเบ็ดเสร็จ หมายถึง การปกครองที่ผู้นำเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและใช้อำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว กำหนดจุดหมายปลายทางและวิธีการใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด การเมือง เศรษฐกิจ สังคม บุคคล และกิจกรรมของบุคคล จะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ พร้อมทั้งควบคุมเครื่องมือสื่อสารและปลูกฝังค่านิยมให้เยาวชนยึดมั่นตามแนวคิดของผู้นำ ต้นแบบของเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่
     1) ระบบเผด็จการนาซี ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำแห่งเยอรมัน อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

     2) ระบบเผด็จการฟาสซิสต์ ของเบนิโต มุสโสลินี อดีตผู้นำแห่งอิตาลี เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาได้ประสานกับขบวนการนาซีในประเทศเยอรมนี
     3) ระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ คาร์ล มากซ์ และฟรีดริช เองเงิลส์ เสนอหลักการนี้ในช่วงศตวรรษที่ 19 ต่อมาวลาดิมีร์ เลนิน นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ปฏิวัติรัสเซีย และเหมา เจ๋อตง นำไปปรับใช้ปฏิวัติประเทศจีน

 

 

 อดีตผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ของโลก

 

 

การปกครองของไทยและต่างประเทศ
     ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่มีปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการนี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงโดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจ 3 ประการ คือ
1. อำนาจนิติบัญญัติ หมายถึง สถาบันที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย คือรัฐสภา ประกอบด้วยสภาคู่ คือ
     1) สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้
เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 375 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 125 คน
     2) วุฒิสภา มีสมาชิกรวม 150 คน ประกอบ ด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาซึ่งจะมีจำนวนเท่ากับ 150 ลบด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง บทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ได้แก่ การกลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญต่าง ๆ การสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง และยังมีหน้าที่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

 

 

 การประชุมรัฐสภา

 


2. อำนาจบริหาร หมายถึง บุคคล คณะบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่นำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ สถาบันบริหารมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย กำหนดนโยบายการบริหาร รวมถึงนำนโยบายและกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วไปดำเนินการ
     องค์ประกอบของสถาบันบริหาร ได้แก่ ข้าราชการการเมือง คือ บุคคลซึ่งรับราชการในตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ คือ บุคคลที่ได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมายของหน่วยงาน รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณในกระทรวงที่สังกัด

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นข้าราชการประจำ

 


     การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นไปตามหลักการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง คือ เมืองหลวง หรือที่ทำการของรัฐบาล จำแนกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง หมายถึง การบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรม ผู้กำกับดูแลนโยบาย การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

 

 

กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

 

 

3. อำนาจตุลาการ หมายถึง ศาลและผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในศาล ซึ่งเป็นการกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ
    1) อำนาจตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันถือว่าอำนาจตุลาการจะขาดการเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ได้ จึงให้วุฒิสภาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ไปอยู่ในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดูแลอำนาจตุลาการด้านการตีความรัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำแนะนำของวุฒิสภา ขณะที่ศาลปกครองกำหนดให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคัดเลือกจากวุฒิสภา 2 คนและคณะรัฐมนตรีอีก 1 คน
     2) ศาล รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันวางหลักทั่วไปเกี่ยวกับหลักการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีว่าเป็นอำนาจศาล จำแนกเป็น
          (1) ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจพิพากษาพิจารณาคดีเกี่ยวกับกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญและคดีอื่นที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ
          (2) ศาลยุติธรรม มี 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาคดีเป็นอันดับแรก แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ ศาลชั้นต้นทั่วไปและศาลพิเศษและศาลชำนัญพิเศษ ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

 

 

ศาลฎีกา

 

 

          (3) ศาลปกครอง เป็นศาลอีกระบบหนึ่งที่แยกจากศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง
          (4) ศาลทหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายกำหนด 


ตัวอย่างการปกครองของประเทศที่คล้ายคลึงและแตกต่างกับไทย
     ประเทศที่มีการปกครองคล้ายคลึงกับไทย ได้แก่ ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ถึงปัจจุบัน) เป็นประมุขฝ่ายบริหาร ทรงมีบทบาทสำคัญด้านนิติบัญญัติ ทรงเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์และทรงเป็น “ผู้บริหารสูงสุด” ของคริสตจักรแห่งอังกฤษ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันสูงสุดของรัฐคือรัฐสภา และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดิ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศมิใช่องค์ประมุขและไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศ

 

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2

 


     ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแตกต่างกับไทย ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี มีมลรัฐต่าง ๆ 50 มลรัฐ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนกลาง การปกครองมลรัฐ และการปกครองท้องถิ่น และประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นประมุขและทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นผู้ช่วยในด้านการบริหารประเทศ


การพัฒนาประชาธิปไตยของไทย
ปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย
1. ปัญหาวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เป็นปัญหา ได้แก่ ปัญหาการขาดการให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน ปัญหาการไม่เป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ และปัญหาการเป็นประชาธิปไตยโดยอ้อม
2. ปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารกิจการสาธารณะยังคงมีปัญหา ซึ่งเป็นผลจากปัจจัย 2 ประการ คือ ประชาชนขาดความตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตน และขาดจิตสำนึก คือ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสิ่งแวดล้อม และประชาชน อาจมองว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ได้ทำให้ตนเองได้รับประโยชน์


ปัญหาดังกล่าวมีแนวทางแก้ไขดังนี้
1. ด้านวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ควรมีการเสริมสร้างความรู้ทางการเมืองแก่พลเมืองและควรส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการสาธารณะ 6 รูปแบบ คือ การรับรู้ข่าวสาร การปรึกษาหารือ การประชุมรับฟังความคิดเห็น การร่วมตัดสินใจ การใช้กลไกทางกฎหมาย และการกดดันรัฐบาลในรูปแบบต่าง ๆ


รัฐธรรมนูญ
1. การเลือกตั้ง
     การเลือกตั้ง หมายถึง การที่ราษฎรใช้สิทธิของตนลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนเพื่อทำหน้าที่แทนตนในการปกครองแต่ละระดับของประเทศ การเลือกตั้งในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ และการเลือกตั้งระดับชาติ เป็นการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนเข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภา
หลักการที่ช่วยให้การเลือกตั้งบรรลุจุดมุ่งหมาย มีดังนี้
     1. หลักการเลือกตั้งอิสระ คือ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีสิทธิเลือกสังกัดพรรคการเมือง
     2. หลักการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา
     3. หลักการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
     4. หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค
     5. หลักการออกเสียงทั่วไป คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึง
     6. หลักการลงคะแนนอย่างสะดวก คือ จัดให้ประชาชนลงคะแนนเสียงโดยสะดวก

 

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

 

     องค์กรที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ตามกระบวนการสรรหาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 4 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งแบบผสม คือ มีการเลือกตั้ง 2 แบบ ได้แก่
     1) ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตหนึ่งมี ส.ส. ได้ 1 คน (จำนวน 375 คน)
     2) ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เลือกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น ประชาชนสามารถเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียว (จำนวน 125 คน)

 

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

 

2. การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา รัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภามีสมาชิกรวม 150 คน ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และสมาชิกที่มาจากการสรรหา

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวิธีเลือกตั้งดังนี้
1. การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้เขตพื้นที่จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ ระดับสภาเทศบาลตำบลแบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกเขตละ 6 คน เทศบาลเมืองแบ่งเป็น 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกเขตละ 6 คน และเทศบาลนครแบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกเขตละ 6 คน ส่วนการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีจะใช้เขตเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร แต่ละเขตมีนายกเทศมนตรีได้ 1 คน
3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ใช้หมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง
4. การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดให้เขตปกครองเป็นเขตเลือกตั้งตามเกณฑ์จำนวนราษฎร 100,000 คน หากเกิน 150,000 คน ให้เพิ่มได้อีก 1 เขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกผู้สมัคร สก. ได้ 1 คน ส่วนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมีเขตกรุงเทพมหานครเป็นเขตเลือกตั้งและเลือกได้เพียงคนเดียว
5. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยา มี 4 เขตเลือกตั้ง แต่ละเขตเลือกสมาชิกเมืองพัทยาได้เขตละ 6 คน สำหรับการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาจะใช้เขตเมืองพัทยาเป็นเขตเลือกตั้ง โดยมีนายกเมืองพัทยาได้ 1 คน


การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม 2 ประเภท คือ
1. การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ได้แก่ การเสนอกฎหมาย การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง และการออกเสียงประชามติ
2. การมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ได้แก่ การกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาประเทศ การตัดสินใจทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การรวมตัวกันของกลุ่มประชาชน และการใช้สิทธิเลือกตั้ง


การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเรื่องต่อไปนี้
1. การตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจึงมีข้อห้าม 5 ประการ คือห้ามสมาชิกรัฐสภาดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ ห้ามสมาชิกรัฐสภาแทรกแซงการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ห้ามคณะรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในองค์กรธุรกิจ ห้ามคณะรัฐมนตรีแทรกแซงการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ และห้ามคณะรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัท
3. การถอดถอนออกจากตำแหน่ง
4. การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


รัฐบาล
     คณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐบาลมีความสำคัญในฐานะเป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ
อำนาจหน้าที่และบทบาทสำคัญของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ได้แก่
     1. การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน
     2. การจัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศและสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่
     3. การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจกรรมของท้องถิ่นได้เอง
     4. การพัฒนาระบบงานภาครัฐ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ
     5. การจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นเพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
     6. การดำเนินการให้หน่วยงานทางกฎหมายที่มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐตามกฎหมายและตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามหลักนิติธรรม
     7. การจัดให้มีแผนพัฒนาการเมืองรวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ เพื่อติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
     8. การดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม

 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีการจัดฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้มีความสัมพันธ์กัน โดยมีหลักการพื้นฐานดังนี้

     1. ประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เนื่องจากไม่ทรงมีพระราชดำริทางการเมือง แต่จะกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา
     2. รัฐสภาเป็นที่มาของรัฐบาลและเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รัฐบาลและรัฐสภาต่างมีความสัมพันธ์กันโดยรัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินได้ก็ด้วยความไว้วางใจของรัฐสภา ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สามารถยุบสภาเพื่อเป็นการถ่วงดุลกันและกัน สำหรับเหตุผลในการยุบสภานั้นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่ถือกันตามประเพณีการปกครองและตามสภาวการณ์ของประเทศ

 

Keyword  การเมืองการปกครอง  ระบบการปกครอง  การปกครองแบบประชาธิปไตย  การปกครองแบบเผด็จการ  การเลือกตั้ง

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th