อาหารและสารอาหาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 337.2K views



อาหารและสารอาหาร

 

อาหาร (food) คือ สิ่งที่เรารับประทานได้โดยปลอดภัยและให้สารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ในประเทศไทยมักจำแนกเป็น 5 หมู่ หรือ 5 กลุ่ม เพื่อเป็นแนวทางให้คนไทยบริโภคอาหารที่หลากหลายและครบส่วน อาหาร 5 หมู่ ได้แก่

หมู่ที่ 1 ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน

หมู่ที่ 2 ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ถั่ว ไข่

หมู่ที่ 3 ได้แก่ ไขมันและน้ำมัน

หมู่ที่ 4 ได้แก่ ผัก

หมู่ที่ 5 ได้แก่ ผลไม้

สารที่เป็นองค์ประกอบในอาหาร เรียกว่า สารอาหาร (nutrient) เป็นสารที่ร่างกายสามารถใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต จำแนกตามองค์ประกอบทางเคมีเป็น 6 ประเภท คือ คาร์โบไฮเดรต  โปรตีน ลิพิด วิตามิน  แร่ธาตุ และน้ำ

 

คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) เป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ส่วนใหญ่ของคาร์โบไฮเดรตที่มนุษย์ได้รับมาจากอาหารจำพวกน้ำตาลและแป้ง ซึ่งมีมากในธัญพืช ถั่ว และผักผลไม้ คาร์โบไฮเดรตประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน  จับตัวกันเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว น้ำตาลโมเลกุลคู่ และคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ การตรวจสอบน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวใช้สารละลายเบเนดิกต์ส่วนการตรวจสอบคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่พวกแป้งใช้สารละลายไอโอดีน

 

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/

 

โปรตีน (protein) เป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะและเซลล์ทุกเซลล์ ช่วยสร้างเสริมการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ และเป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน โปรตีนมีบทบาทสำคัญโดยเป็นเอนไซม์  ฮอร์โมน แอนติบอดี  อาหารที่พบโปรตีนมากได้แก่ เนื้อสัตว์  ไข่ นมและถั่ว โปรตีนประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน  ออกซิเจน และไนโตรเจน เป็นธาตุหลักจับกันเป็นกรดอะมิโน ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน กรดอะมิโนหลายโมเลกุล จับกันเป็นโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้น

 

อาหารประเภทโปรตีน
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/

 

ลิพิด (lipid) เป็นสารอาหารที่มีสมบัติไม่รวมตัวกับน้ำ ให้พลังงานสูง ช่วยในการดูดซึมวิตามินบางชนิด ในร่างกายพบใต้ผิวหนัง และรอบอวัยวะภายในต่างๆ ลิพิดมีหลายประเภท เช่น ไขมัน (fat) น้ำมัน (oil) คอเลสเทอรอล (cholesterol) เป็นต้น ลิพิดในอาหารมักเป็นสารประกอบประเภทเอสเตอร์ เช่น ไตรกลีเซอไรด์  (triglyceride) ประกอบด้วยกลีเซอรอลและกรดไขมัน กรดไขมันประกอบด้วยธาตุคาร์บอนและไฮโดรเจน

 

อาหารประเภทไขมัน
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/

 

วิตามิน (vitamin) เป็นสารอินทรีย์ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ร่ายกายต้องการปริมาณไม่มาก แต่เมื่อขาดวิตามิน จะส่งผลให้เกิดภาวะผิดปกติเนื่องจากความบกพร่องของกระบวนการเคมีในร่างกาย แหล่งที่พบ ความสำคัญ ตลอดจนผลจากการขาดวิตามินชนิดต่างๆ ศึกษาได้จากตารางต่อไปนี้

 

อาหารประเภทวิตามิน
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/

 

ตาราง แสดงแหล่งอาหาร ความสำคัญและผลจากการขาดวิตามินชนิดต่างๆ 

วิตามิน

แหล่งอาหาร

ความสำคัญ

ผลจากการขาด

ละลายในลิพิด

เรตินอล

(A)

ตับ  น้ำมันตับปลา ไข่ นม เนย ผักและผลไม้ที่มีสีเขียว
และเหลือง

ช่วยในการเจริญเติบโต 
บำรุงสายตา

เด็กไม่เจริญเติบโต

ผิวหนังแห้ง หยาบ  
มองไม่เห็นในที่สลัว

แคลซิเฟอรอล

(D)

นม เนย ไข่ ตับ

น้ำมันตับปลา

จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน  ช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส

โรคกระดูกอ่อน

แอลฟา โทโคเฟอรอล

(E)

ผักสีเขียว น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันรำ  น้ำมันถั่วเหลือง

ทำให้เม็ดเลือดแดงแข็งแรง

และไม่เป็นหมัน

โรคโลหิตจาง หญิงมีครรภ์อาจทำให้แท้งได้ ผู้ชายอาจเป็นหมัน

แอลฟา ฟิลโลควิโนน

(K)

ผักสีเขียว  ตับ

ช่วยในการแข็งตัวของเลือด

เลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ

ละลายในน้ำ

ไทอามีน

(B1)

ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง

เนื้อสัตว์ ตับ ถั่ว ไข่

ช่วยบำรุงระบบประสาท
และการทำงานของหัวใจ

โรคเหน็บชา

เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย

ไรโบเฟลวิน

(B2)

ตับ  ไข่ ถั่ว  นม  ยีสต์

ช่วยให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างปกติ  ทำให้ผิวหน้า  ลิ้น  ตามีสุขภาพดี  แข็งแรง

โรคปากนกกระจอก

ผิวหนังแห้งและแตก  ลิ้นอักเสบ

 ไนอาซิน

(B3)

เนื้อสัตว์ ตับ ถั่ว  ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง  ยีสต์

ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กระเพาะอาหาร ลำไส้ จำเป็นสำหรับสุขภาพของผิวหนัง  ลิ้น

เบื่ออาหาร  อ่อนเพลีย  ผิวหนังเป็นผื่นแดง  ต่อมาสีจะคล้ำหยาบ  และอักเสบเมื่อถูกแสงแดด

ไพริดอกซิน

(B6)

เนื้อสัตว์  ตับ  ผัก ถั่ว

ช่วยการทำงานของ
ระบบย่อยอาหาร

เบื่ออาหาร

ผิวหนังเป็นแผล

มีอาการทางประสาท

ไซยาโนโคบาลามิน

(B12)

ตับ ไข่ เนื้อปลา

จำเป็นสำหรับการสร้าง
เม็ดเลือดแดง  ช่วยให้การเจริญ

เติบโตในเด็กเป็นไปตามปกติ

โรคโลหิตจาง  ประสาทเสื่อม

กรดแอสคอร์บิก

(C)

ผลไม้และผักต่างๆ เช่น มะขามป้อม ผลไม้จำพวกส้ม มะละกอ ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า มะเขือเทศ คะน้า กะหล่ำปลี

ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง
ช่วยรักษาสุขภาพ
ของฟันและเหงือก

โรคเลือดออกตามไรฟัน

หลอดเลือดฝอยเปราะ

เป็นหวัดง่าย

 

แร่ธาตุ (mineral) เป็นสารอนินทรีย์ที่ร่างกายจำเป็นต้องมีอยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงจะสามารถทำงานได้ แร่ธาตุยังเป็นส่วนประกอบของสารหลายชนิดที่มีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของเซลล์และอวัยวะ  แร่ธาตุแต่ละชนิดมีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายแตกต่างกันและมีอยู่ในแหล่งอาหารต่างชนิดกัน ดังแสดงในตารางต่อไปนี้

 

อาหารประเภทแร่ธาตุ
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/

 

ตาราง แสดงแหล่งอาหาร ความสำคัญและผลของการขาดแร่ธาตุบางชนิด 

แร่ธาตุ

แหล่งอาหาร

ความสำคัญ

ผลจากการขาด

แคลเซียม

นม  เนื้อ ไข่ ผักสีเขียวเข้ม

สัตว์ที่กินทั้งเปลือกและกระดูก เช่น กุ้งแห้ง ปลา

เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟัน ช่วยในการแข็งตัวของเลือด  ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ

เด็กเจริญเติบโตไม่เต็มที่    ในหญิงมีครรภ์จะทำให้ฟันผุ

ฟอสฟอรัส

นม เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว

ผักบางชนิด เช่น เห็ดมะเขือเทศ

ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน

การดูดซึมคาร์โบไฮเดรต

การสร้างเซลล์ประสาท

อ่อนเพลีย

กระดูกเปราะและแตกง่าย

 ฟลูออรีน

ชา อาหารทะเล

เป็นส่วนประกอบของสารเคลือบฟัน  ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ

ฟันผุง่าย

แมกนีเซียม

อาหารทะเล

ถั่ว นม ผักสีเขียว

เป็นส่วนประกอบของเลือด และกระดูก ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

เกิดความผิดปกติของระบบ

ประสาทและกล้ามเนื้อ

โซเดียม

เกลือแกง ไข่ นม

ควบคุมปริมาณน้ำในเซลล์

ให้คงที่

เกิดอาการคลื่นไส้

เบื่ออาหาร ความดันเลือดต่ำ

เหล็ก

ตับ เนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่

ผักสีเขียว

เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์บางชนิดและฮีโมโกลบิน
ในเม็ดเลือดแดง

โลหิตจาง  อ่อนเพลีย

ไอโอดีน

อาหารทะเล  เกลือสมุทร

เกลือเสริมไอโอดีน

เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอกซิน ซึ่งผลิตจาก
ต่อมไทรอยด์

ในเด็กทำให้สติปัญญาเสื่อม  ร่างกายแคระแกรน ในผู้ใหญ่ 
จะทำให้เป็นโรคคอพอก

 

น้ำ (water) เป็นสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกายและช่วยในการควบคุมอุณหภูมิ  ร่างกายได้รับน้ำโดยการดื่มน้ำและจากอาหาร

 

น้ำ
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/

 

ในอาหารแต่ละชนิดอาจมีสารอาหารองค์ประกอบหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ข้าว มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก แต่ก็มีทั้งโปรตีน ลิพิด วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำอยู่ด้วยในปริมาณเล็กน้อย ทั้งนี้อาหารต่างชนิดกันจะมีส่วนประกอบของสารอาหารต่างกัน ทั้งชนิดและปริมาณ

 

ที่มา https://secondsci.ipst.ac.th/ 
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/