บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การเมืองการปกครอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 24K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 การเมืองการปกครอง

 

 

เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทย
เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทยในสมัยต่าง ๆ มีดังนี้
1. การปกครองในสมัยสุโขทัย
การปกครองของอาณาจักรสุโขทัยเดิมใช้รูปแบบปิตุราชา คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ผู้ปกครองมีความใกล้ชิดกับประชาชน เช่น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงแต่ เมื่อสิ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้ใช้การปกครองแบบธรรมราชา และเทวราชาแทน

 

 

อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

 

2. การปกครองในสมัยอยุธยา
การปกครองในสมัยอยุธยาช่วงต้นมีการปกครองแบบปิตุราชาเช่นเดียวกับสุโขทัย แต่ภายหลังปกครองแบบเทวราชา หรือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นสมมุติเทพ มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ คำสั่งหรือความต้องการของพระมหากษัตริย์ล้วนมีผลเป็นกฎหมาย
3. การปกครองในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การปกครองสมัยธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
4. การปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากชาติตะวันตกได้เข้ามาติดต่อค้าขายและนำวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ ทำให้ประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนการเมืองการปกครองโดยการวางรากฐานการปฏิรูปทางวัฒนธรรม มีศึกษาเรื่องภาษา วัฒนธรรม และสถานการณ์ของชาติตะวันตกเพื่อปกป้องเอกราช และพัฒนาการปกครอง แนวคิดในการพัฒนาการเมืองการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
     1) การศึกษาภาษาต่างประเทศ พระองค์ทรงศึกษาภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง และส่งเสริมให้ข้าราชการได้เรียนรู้ภาษาต่างประเทศด้วย เพื่อไม่ให้เสียเปรียบชาวต่างชาติ
     2) การบริหารราชการแผ่นดิน ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยราชการในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศ และฝึกข้าราชการให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติม

 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

5. การปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แนวคิดในการปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลัก 3 ประการ คือ
     1. การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น กำหนดอาณาเขตตามอำนาจของรัฐที่แผ่ไป เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกอ้างเอาดินแดนอีก
     2. การศาลและกฎหมายที่มีมาตรฐาน จากกรณีที่ต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงการศาลยุติธรรมและกฎหมายให้เป็นสากลยิ่งขึ้น
     3. การพัฒนาประเทศ ทรงริเริ่มนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น ประปา ไฟฟ้า ไปรษณีย์ และโทรเลข

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 


การจัดระเบียบการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
การจัดระเบียบการปกครองที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
     1. การปกครองส่วนกลาง มีการเปลี่ยนแปลงยกเลิกตำแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก รวมทั้งจตุสดมภ์ พร้อมแบ่งการบริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยประเทศ โดยให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการ ทั้งนี้เสนาบดีทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกัน และประชุมร่วมกันเป็นเสนาบดีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาและช่วยบริหารราชการแผ่นดินตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย
กระทรวงที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 มี 12 กระทรวง (ภายหลังยุบเหลือเพียง 10 กระทรวง)ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาว กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันตก ตะวันออก และฝ่ายมลายู กระทรวงต่างประเทศ จัดการเกี่ยวกับเรื่องการต่างประเทศ กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการในพระราชวัง กระทรวงเมืองหรือนครบาล ดูแลเรื่องตำรวจและราชทัณฑ์ กระทรวงเกษตราธิการ จัดการเรื่องเพาะปลูก เหมืองแร่ และป่าไม้ กระทรวงคลัง รับผิดชอบเกี่ยวกับภาษีอากรและงบประมาณแผ่นดิน กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องชำระคดีและการศาล กระทรวงยุทธนาธิการ จัดการเกี่ยวกับเรื่องทหาร (ภายหลังยุบรวมกับกระทรวงกลาโหม) กระทรวงธรรมการ รับผิดชอบเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และสงฆ์ กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบเรื่องการก่อสร้าง ถนน คลอง การช่าง ไปรษณีย์ โทรเลข และรถไฟ และกระทรวงมุรธาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาตราแผ่นดิน และงานระเบียบสารบรรณ (ภายหลังยุบรวมกับกระทรวงวัง)
     2. การปกครองส่วนภูมิภาค ทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกการปกครองหัวเมือง และให้เปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เพื่อจัดการปกครอง ดังนี้
     1) มณฑลเทศาภิบาล เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยเมืองตั้งแต่สองเมืองขึ้นไป มีสมุหเทศาภิบาลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งไปปกครองดูแล
     2) เมือง ประกอบด้วยอำเภอหลายอำเภอ มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อข้าหลวง เทศาภิบาล
     3) อำเภอ ประกอบด้วยท้องที่หลาย ๆ ตำบล มีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ
     4) ตำบล ประกอบด้วยท้องที่ 10–20 หมู่บ้าน มีกำนันเป็นผู้รับผิดชอบ
     5) หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านเรือน 10 หลังขึ้นไป มีราษฎรอาศัยประมาณ 100 คน เป็นหน่วยปกครองที่เล็กที่สุด มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ยกเลิกมณฑลเทศาภิบาล และเปลี่ยน เมือง เป็น จังหวัด
     3. การปกครองส่วนท้องถิ่น ทรงจัดให้บริหารในรูปสุขาภิบาล (คล้ายเทศบาลในปัจจุบัน) โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ขึ้นบังคับใช้ในกรุงเทพฯ ต่อมา พ.ศ. 2448 ได้จัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก คือ สุขาภิบาลท่าฉลอม ซึ่งได้ผลดีเป็นอย่างมาก จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) โดยแบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล และให้ใช้ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น
     นอกจากนี้ยังมีพระราชกรณียกิจที่เป็นการสร้างพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การเลิกทาส การสนับสนุนการศึกษา คือ ทรงจัดตั้งโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม พร้อมทั้งตั้งทุนพระราชทาน ส่งผู้มีความสามารถไปศึกษายังต่างประเทศ และการปฏิรูปการปกครอง โดยทรงเปิดโอกาสให้ข้าราชการมีส่วนรับผิดชอบในการบริหารมากขึ้น พร้อมทั้งทรงสนับสนุนการปกครองท้องถิ่น ดังที่จัดตั้งสุขาภิบาล ทำให้ประชาชนมีได้เรียนรู้ด้านการบริหาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 กำหนดการศึกษาภาคบังคับว่าให้เด็กที่อายุครบเกณฑ์ 7 ปี ต้องเข้ารับการศึกษาขั้นประถมศึกษา และมีทุนหลวงส่งนักเรียนไปศึกษายังต่างประเทศ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เป็นบรรทัดฐานของประเทศ ดังที่ทรงจัดตั้งดุสิตธานี เพื่อจำลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

 

ภาพเขียนภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม

 


6. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้แก่ ความบกพร่องของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก และผลกระทบจากนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ใน พ.ศ. 2468 เช่น เพิ่มภาษี ตัดทอนรายจ่ายในการบริหารประเทศ ตัดทอนเบี้ยเลี้ยงที่จำเป็นของข้าราชการ และปลดข้าราชการ เป็นต้น

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก

 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (ใช้ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ. 2475) ซึ่งกำหนดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ
     1. อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย
     2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กำหนดหน้าที่ความสัมพันธ์ของสถาบันการปกครองต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน
     3. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภาผู้แทนราษฎร อำนาจบริหารทางคณะกรรมการราษฎร และอำนาจตุลาการทางศาล
การจัดการปกครองตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มีการดำเนินการให้มีองค์กรและสถาบันทางการเมือง ดังนี้
     1. สภาผู้แทนราษฎร เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจออกพระราชบัญญัติ และดูแลควบคุมกิจการของประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คณะราษฎรเป็นผู้แต่งตั้ง จำนวน 70 คน ระยะที่ 2 ผู้แทนราษฎร มี 2 ประเภท ได้แก่ ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จังหวัดละ 1 คน (จังหวัดใดมีประชากรเกิน 100,000 คน ให้มี ส.ส. เพิ่มอีก 1 คน) ผู้แทนราษฎรในระยะที่ 1 มีจำนวนเท่ากับผู้แทนราษฎรประเภทแรก แต่ถ้ามีจำนวนน้อยกว่าให้ผู้แทนราษฎรในระยะที่ 1 เลือกเข้ามาแทนจนครบ และระยะที่ 3 ผู้แทนราษฎรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เมื่อประชาชนทั่วประเทศสอบไล่ชั้นประถมศึกษาได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด
     2. คณะกรรมการราษฎร เป็นฝ่ายบริหาร (เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา) มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสภา มีประธานคณะกรรมการราษฎร (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีเสนาบดี (เสมือนรัฐมนตรี) รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง
     3. ศาล ใช้อำนาจตุลาการ การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
ต่อมามีพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวร เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ดำเนินการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
7. เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ปกครองในลักษณะเผด็จการ อีกทั้งยังมีการทุจริตในหมู่ข้าราชการชั้นสูงและพรรคพวกของรัฐบาล ประกอบกับมีการทำรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักกฎหมายจึงร่วมกันลงชื่อคัดค้าน รัฐบาลจึงสั่งจับกุมผู้เรียกร้องจำนวน 13 คน คณะผู้เรียกร้องจึงได้ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุม เกิดการเดินขบวนร่วมกับประชาชนนับแสนคน ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ทำให้เหตุการณ์ลุกลามจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร ลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกจากราชอาณาจักร ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในกลุ่มมวลชนและทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ซึ่งผลกระทบต่อสังคมไทยในเวลาต่อมา

 

 

การชุมนุมและเดินขบวนของนิสิต นักศึกษาและประชาชน วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

 


8. เหตุการณ์ทางการเมือง วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
ปัญหาดังกล่าวเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มก้าวหน้า ในช่วง พ.ศ. 2518—2519 ที่กลุ่มนักศึกษาประท้วงการกลับมาของจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร มีกลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่ากลุ่มรักชาติ ปลุกระดมประชาชนโดยกล่าวหาว่าประชาชนที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพวกคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กำลังตำรวจร่วมกับบุคคลติดอาวุธได้บุกเข้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยิงผู้ประท้วงล้มตายไปหลายคน เกิดจลาจลจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ คณะทหารที่เรียกตนเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจเข้ามาจัดระเบียบบ้านเมือง โดยปราบปรามแกนนำนักศึกษา ทำให้นักวิชาการ นักการเมือง และนักศึกษาบางคนต้องหลบหนีเข้าป่าไปร่วมกับพวกคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขณะที่บางส่วนเดินทางออกนอกประเทศ หลังจากนั้น คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 โดยมีหลักสำคัญให้นายกรัฐมนตรีและคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญสมัยเผด็จการทหาร รัฐบาลนี้มีการบริหารประเทศแบบผูกขาดอำนาจและวางแผนพัฒนาประเทศระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งควบคุมปัญญาชนและปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเข้มงวด ทำให้ปัญญาชนและประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลหลบหนีไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายก็สลายตัวลงในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้นโยบายการเมืองนำทหาร ตามประกาศนโยบายที่ 66/2523

 

 

เหตุการณ์ชุมนมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

 

 

9. วิกฤตการณ์ทางการเมือง พฤษภาคม พ.ศ. 2535
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534 กลุ่มทหารชื่อว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมีพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้า ได้จัดการปกครองประเทศ โดยตั้งรัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 หลังจากนั้นได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยให้พลเอก สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของ รสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ จนเกิดการชุมนุมเรียกร้องให้พลเอก สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประการ เช่น ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่พลเอก สุจินดา ไม่ยอมทำตามและใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก การชุมนุมสงบลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ เพื่อพระราชทานโอวาทให้ปรองดองกัน พลเอก สุจินดา ยอมลาออก และประธานรัฐสภาเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

การชุมนุมของประชาชนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535

 


10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับการปฏิรูปการเมืองไทย
เดือนกันยายน พ.ศ. 2535 ที่นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เกิดกระแสปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ประชาชนส่วนหนึ่งจึงชุมนุมประท้วง จนมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ที่มีหลักการสำคัญ คือ ให้มีคณะผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐสภามาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพื่อป้องกันมิให้นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลสมัยต่อมา คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาว่า จะสนับสนุนให้มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 211 โดยคำนึงถึงข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเพื่อศึกษาเสนอแนวทางปฏิรูปการเมืองต่อรัฐบาล ในที่สุดรัฐสภามีมติอนุมัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และดำเนินการพิจารณากรอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 3 ประการ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเมืองการปกครองที่ผ่านมา หลักการดังกล่าว ได้แก่
     1. สิทธิหน้าที่และการมีส่วนร่วมของพลเมือง มีการเพิ่มสิทธิและหน้าที่ของประชาชน
     2. การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กำหนดมาตรฐานในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐครบถ้วนทุกด้าน เช่น จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
     3. สถาบันทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของการเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง กำหนดให้การอภิปรายนายกรัฐมนตรีทำได้ยากขึ้น และแยกอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจการเมือง
     หลังจากกำหนดกรอบแล้วก็มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดย จัดทำประชาพิจารณ์ขึ้นทั่วประเทศ ต่อมาจึงยกร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้วเข้าสู่ที่ประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด สภาร่างรัฐธรรมนูญลงมติเห็นชอบ จึงได้นำเข้าสู่รัฐสภา รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งและเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองแบบ รัฐธรรมนูญนิยม คือ เริ่มต้นจากการสร้างกฎเกณฑ์ทางการเมืองให้มีความสมบูรณ์ที่สุดโดยพิจารณาจากสภาพการเมืองในขณะนั้น พร้อมทั้งขจัดข้อบกพร่องในอดีต แล้วสร้างสรรค์สิ่งใหม่
11. การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2550
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2550 มาจากความขัดแย้งของประชาชน ระหว่างผู้ที่ไม่พอใจการบริหารงานของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับฝ่ายที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล จนเกิดการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีพลเอก สนธิ บุญรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ และมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
     เหตุผลของการทำรัฐประหารครั้งนี้ ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลรักษาการในขณะนั้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระถูกครอบงำทางการเมือง และมีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยบ่อยครั้ง ส่งผลให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 พร้อมทั้งดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีแนวคิดให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และสนองความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

หลังการการออกเสียงประชามติ ให้ความเห็นชอบ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จุดเด่น คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตัดสินใจด้วยการทำประชามติในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยและแยกประเภทไว้อย่างชัดเจน กำหนดให้มีหมวดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ลดจำนวนการเข้าชื่อของประชาชนในการเสนอกฎหมายเหลือ 10,000 คน การเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองเหลือ 20,000 คน และประชาชนที่เข้าชื่อตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไปสามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้


หลักการเลือกรับข้อมูลข่าวสาร
1. การเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ดี ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความทันสมัย และความสมบูรณ์ รวมทั้งตรงกับความต้องการ
2. การรับข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอาจมีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม
3. การรับข้อมูลข่าวสารจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อเปรียบเทียบและตรวจสอบความถูกต้อง
4. การทำความเข้าใจข้อมูลข่าวสารและรับข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากอคติ
5. การรับผิดชอบในกระบวนการรับข้อมูลข่าวสาร หลังจากได้รับข่าวสาร ควรโต้ตอบไปยังผู้ให้ข้อมูลด้วยความยุติธรรม และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์
6. การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร ควรพัฒนาทักษะการสื่อสารให้ทันต่อเทคโนโลยี

 

 

เทคโนโลยีต่าง ๆ

 

 

Key Word  การเมืองการปกครอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ปิตุราชา กระทรวง  ธรรมราชา รัฐธรรมนูญ  เทวราชา

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th