บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง ประโยค
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 56K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

ประโยค

 

 

พยางค์
     พยางค์ = เสียง (พยัญชนะ+สระ+วรรณยุกต์) ที่มีความหมายหรือไม่ก็ได้ บางพยางค์อาจมีตัวสะกด
๑. พยางค์หนัก ออกเสียงได้โดยลำพัง เช่น สวย นอน พัก กล้อง รูป
๒. พยางค์เบา ออกเสียงตามลำพังไม่ได้ เช่น สะดวก ครุ นิยมทัย สุคนธ์ กุหลาบ
๓. พยางค์ลดน้ำหนัก ออกเสียงเบาหรือสั้นลงเมื่อมีพยางค์หนักต่อท้าย เช่น บังทีชั้นก็เล่นกีฬา
๔. พยางค์เน้นหนัก เน้นเป็นพิเศษ เช่น ฉันบอกให้เธอทำเดี๋ยวนี้


คำ
คำ = เสียง + ความหมาย อาจประกอบด้วยพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้


กลุ่มคำ
กลุ่มคำ = คำที่นำมาเรียงต่อกัน แต่ยังมีความหมายไม่สมบูรณ์เป็นประโยค เช่น เขาพัดลมให้ไฟลุก
คำประสม = คำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป เกิดความหมายใหม่ มีเค้าความหมายเดิม เช่น พัดลม

ประโยค = ภาคประธาน + ภาคแสดง เป็นกลุ่มคำที่มีความหมายสมบูรณ์ เช่น ลมพัด


องค์ประกอบและหน้าที่ของกลุ่มคำ
     กลุ่มคำแบ่งออกเป็น ๗ ประเภทตามชนิดของคำที่เป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ กลุ่มคำนาม กลุ่มคำสรรพนาม กลุ่มคำกริยา กลุ่มคำวิเศษณ์ กลุ่มคำบุพบท กลุ่มคำสันธาน กลุ่มคำอุทาน โดยกลุ่มคำแต่ละชนิดจะทำหน้าที่อย่างคำชนิดนั้น ๆ เช่น กลุ่มคำนาม ทำหน้าที่อย่างนาม คือ เป็นบทประธาน กรรม ส่วนเติมเต็ม


ประโยค
๑. ประโยคความเดียว (เอกรรถประโยค) มีภาคประธานและภาคแสดงเดียว
การจำแนกประโยคความเดียว
     ๑. จำแนกตามบทกริยา
          ๑.๑ กริยาไม่มีกรรม (ประธาน กริยา) เช่น ราคาหุ้นขึ้น
          ๑.๒ กริยามีกรรม (ประธาน กริยา กรรม) เช่น ราษฎรมีเสรีภาพ
          ๑.๓ กริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม (ประธาน กริยา ส่วนเติมเต็ม) เช่น ประเทศเป็นบ้าน
          ๑.๔ กริยาช่วย (ประธาน กริยาช่วย กริยา กรรม/ส่วนเติมเต็ม) เช่น ชายไทยต้องเป็นทหาร
     ๒. จำแนกตามลำดับองค์ประกอบ
          ๒.๑ เริ่มด้วยผู้กระทำ เช่น น้ำประปาไหล รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
          ๒.๒ เริ่มด้วยผู้ถูกกระทำ
               ๑) ผู้ถูกกระทำทำหน้าที่เป็นบทประธาน เช่น ผู้ร้ายถูกตำรวจจับ
               ๒) ผู้ถูกกระทำทำหน้าที่เป็นบทกรรม เช่น ดาวเทียมประเทศไทยมีเองตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๗
          ๒.๓ เริ่มด้วยบทกริยา
               ๑) เน้นบทกริยา คำ เกิด มี ปรากฏ ขึ้นต้นประโยค
               ๒) เป็นประโยคคำสั่ง/ขอร้อง/หรือวิงวอน ละผู้กระทำ เช่น งดสูบบุหรี่
     ๓. จำแนกตามความมุ่งประสงค์ของผู้ส่งสาร ได้แก่ ประโยคบอกเล่า ปฏิเสธ คำสั่ง/ขอร้อง/วิงวอน คำถามในลักษณะให้เลือกหรือต้องการคำตอบรับ/ปฏิเสธ


หลักการเรียงบทขยายในประโยคความเดียว
     ขยายอะไรมักวางไว้หลังสิ่งนั้น เช่น ขยายประธานวางไว้หลังประธาน ขยายกรรมวางไว้หลังกรรม ขยายส่วนเติมเต็มวางไว้หลังส่วนเติมเต็ม ขยายกริยาวางไว้หลังกริยา หากกริยามีบทกรรมหรือส่วนเติมเต็มให้วางไว้หลังกรรมหรือส่วนเติมเต็ม หรือวางไว้หลังบทขยายกรรมหรือบทขยายส่วนเติมเต็มนั้น
     หากบทขยายกริยาทำหน้าที่บอกปฏิเสธหรือบอกเวลา ให้วางบทขยายไว้หน้าหรือหลังกริยา เช่น
          ชาวพุทธมิได้งดบริโภคเนื้อสัตว์ ชาวพุทธหางดบริโภคเนื้อสัตว์ไม่
          ในไม่ช้ากรุงเทพฯจะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน กรุงเทพฯจะมีรถไฟฟ้าใต้ดินในไม่ช้า
     หากวิเศษณ์ที่ขยายบทกริยา มักวางบทขยายหน้าบทกริยา เช่น

          ประชาธิปไตยในประเทศไทยค่อย ๆ พัฒนามาตามลำดับ

 

๒. ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค) รวมประโยคความเดียว โดยใช้สันธานเป็นตัวเชื่อม
ลักษณะของประโยคความรวม
     ๑. ประโยคความเดียวมีใจความเป็นอิสระแก่กัน หากมีใจความขยายซึ่งกันและกัน ถือเป็นประโยคความซ้อน
     ๒. การเปลี่ยนรูปของประโยคความรวม อาจรวมภาคแสดงโดยใช้สันธานเชื่อมภาคประธาน (พ่อและแม่มีความเมตตาแก่ลูก) รวมภาคประธานโดยใช้สันธานเชื่อมภาคแสดง (หัวหน้าชั้นเรียนหนังสือเก่งและมีความประพฤติดี) รวมภาคประธานและกริยาโดยใช้สันธานเชื่อมส่วนเติมเต็ม (เป็น ราหุลเป็นโอรสของพระเวสสันดรในพระนามว่าชาลี และโอรสของพระพุทธเจ้าในพระชาติต่อมา) และละประโยคท้ายคงไว้แต่สันธาน (เราควรรับประทานหมากพลูหรือไม่)
ประเภทของประโยคความรวม
     ๑. เนื้อความคล้อยตามกัน สันธาน และ ทั้ง...และ แล้วก็ แล้ว...ก็ แล้วจึง แล้ว...จึง พอ...ก็
ข้อสังเกต และ ทั้ง กับ ต้องเชื่อมบทประธาน กริยา หรือส่วนเติมเต็มเท่านั้น ถ้าทำหน้าที่อื่นจัดเป็นประโยคความเดียว เช่น สามีกับภรรยาขับรถ (เชื่อมประธาน) สามีขับรถกับภรรยา (บุพบท ความเดียว)
     ๒. เชื่อมความขัดแย้งกันหรือต่างตอนกัน สันธาน แต่ แต่ทว่า ถึง...ก็ ทั้งที่...ก็ กว่า...ก็ ฝ่าย ส่วน
ข้อสังเกต หากคำดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมประโยค จัดเป็นประโยคความเดียว เช่น พม่ายกทัพแต่กรุงหงสาวดี (บุพบท ความเดียว)
     ๓. แสดงความเลือกอย่างหนึ่งอย่างใด สันธาน หรือ มิฉะนั้น มิฉะนั้นก็ มิฉะนั้น...ก็ ไม่เช่นนั้น ไม่เช่นนั้น...ก็
ข้อสังเกต หรือ ใช้เป็นคำถามละประโยคท้าย หรือเชื่อมบทประธาน กริยา ส่วนเติมเต็มเท่านั้น ถ้าเชื่อมบทอื่นหรือเป็นวิเศษณ์บอกคำถาม จัดเป็นประโยคความเดียว เช่น พระครูวัดฉลองเคยเป็นเด็กวัดมาก่อนหรือ (คำถามละประโยคท้าย) มอมจำกลิ่นของนายไม่ได้เทียวหรือ (วิเศษณ์บอกคำถาม ความเดียว)
     ๔. แสดงความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน (เหตุ+ผล) สันธาน จึง เพราะฉะนั้นจึง เพราะฉะนั้น...จึง
ข้อสังเกต ถ้า ผล+เหตุ จัดเป็นประโยคความซ้อน

 

๓. ประโยคความซ้อน ประโยคหลัก (มุขยประโยค) + ประโยคย่อย (อนุประโยค)
ประเภทของประโยคความซ้อน
     ๑. ประโยคย่อยทำหน้าที่อย่างคำนามหรือนามานุประโยค โดยเป็นบทประธาน บทกรรม หรือส่วนเติมเต็มของประโยคหลัก อาจมีคำวิเศษณ์เชื่อมความ ที่ ที่ว่า ซึ่ง อัน หรือสันธาน ให้ ว่า เชื่อมข้างหน้าก็ได้
     ๒. ประโยคย่อยทำหน้าที่ขยายคำนามหรือคำสรรพนามในประโยคหลักหรือคุณานุประโยค โดยมีคำสรรพนามเชื่อมประโยค ที่ ซึ่ง อัน เป็นบทเชื่อม ประโยคย่อยทำหน้าที่แทนคำนามหรือสรรพนามซึ่งเป็นบทประธาน บทกรรม หรือส่วนเติมเต็มของประโยคหลัก
ข้อสังเกต ที่ ซึ่ง อัน ที่ไม่ใช่คำสรรพนามเชื่อมความ ไม่ทำให้ข้อความเป็นประโยคความซ้อน เช่น สุนทรภู่ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี (บุพบท ความเดียว)
     ๓. ประโยคย่อยทำหน้าที่อย่างคำวิเศษณ์หรือวิเศษณานุประโยค โดยใช้สันธานเชื่อม เมื่อ ขณะที่ ตั้งแต่ ก่อน หลังจาก เพราะ เพราะว่า เนื่องจาก จนกระทั่ง อย่างที่ ราวกับ เหมือน
ข้อสังเกต ถ้าคำเชื่อมไม่ใช่สันธาน แต่ทำหน้าที่บุพบทเชื่อมคำกับคำ จะเป็นประโยคความเดียว เช่น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงประกอบวีรกรรมเหมือนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (บุพบท ความเดียว)

 

๔. ประโยคแสดงเงื่อนไข ประโยคเงื่อนไข + ประโยคผลที่ตามมา
          ๑. ประโยคแสดงเงื่อนไขที่มีลักษณะคล้ายประโยคความรวม มีใจความคล้อยตามกัน สันธาน ถ้า ถ้า...ก็ หาก หากว่า หาก...ก็ แม้ แม้ว่า แม้...ก็ เช่น ถ้าเราสวดมนต์ก่อนนอนเราจะนอนหลับง่าย
          ๒. ประโยคแสดงเงื่อนไขที่มีลักษณะคล้ายประโยคความซ้อน ประโยคย่อยขยายคำนามหรือคำสรรพนามในประโยคหลัก สันธาน เฉพาะที่ เท่าที่ หรือ ประโยคย่อยขยายคำกริยาในประโยคหลัก สันธาน ต่อเมื่อ ก็ต่อเมื่อ ทั้งนี้ต้อง ในกรณีที่ เช่น เจ้านายจะเข้ารับราชการได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ความสามารถสูง

 

๕. ประโยคซับซ้อน
ประโยคความรวมที่ซับซ้อน
          ๑. ประโยคความรวมซับซ้อนที่มีใจความอย่างเดียวกัน เช่น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ พ่อค้า และประชาชนทั่วไปร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชาที่สนามหลวง (ความเดียว ๕ ประโยค สันธาน และ)
          ๒. ประโยคความรวมซับซ้อนที่มีใจความต่างกัน มีทั้งใจความคล้อยตามและขัดแย้ง เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งและขัดแย้ง เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งและเป็นเหตุเป็นผล เช่น ถึงฝนจะตก ฟ้าจะร้อง พายุจะพัด น้ำจะท่วม และเวลาจะค่ำเพียงใด ฉันก็จะไปให้ได้ (คล้อยตาม ขัดแย้ง)
ประโยคความซ้อนที่ซับซ้อน
     ๑. มีประโยคหลักและประโยคย่อยอย่างละหลายประโยค เช่น ฉันไม่เชื่อที่เขาพูดว่าเขาไม่เคยคิดว่าฉันมุ่งร้ายต่อเขา (ประกอบด้วยประโยคความซ้อนที่มีประโยคย่อยเป็นบทกรรมซ้อนกัน ๓ ประโยค)
     ๒. มีประโยคหลักหนึ่งประโยคและประโยคย่อยซึ่งทำหน้าที่อย่างเดียวกันหลายประโยค
          ๒.๑ ประโยคย่อยทำหน้าที่ขยายนามหรือสรรพนามในประโยคหลักและประโยคย่อย เช่น ทหารซึ่งรักษาการณ์ตามชายแดน ซึ่งเป็นแหล่งหลบซ่อนอันมีลักษณะเป็นหุบเขาและป่าทึบของผู้ก่อการร้ายที่ไม่ปรากฏสัญชาติต้องระวังภัยอันจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ (ประโยคหลัก คือ ทหารต้องระวังภัย และประโยคย่อย ๕ ประโยค ขยายนามในประโยคหลักและประโยคย่อยด้วยกัน)
          ๒.๒ ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่ขยายกริยาหรือวิเศษณ์ในประโยคหลักและประโยคย่อย เช่น เจ้าหน้าที่ควรขจัดการรุกล้ำที่สาธารณะ ตั้งแต่การกระทำผิดเริ่มขึ้นเพราะการปล่อยปละละเลยไว้เนิ่นนานมักก่อปัญหามากมายอย่างที่การแก้ไขจะทำได้ยาก (ประโยคหลัก คือ เจ้าหน้าที่ควรขจัดการรุกล้ำที่สาธารณะ และมีประโยคย่อยขยายกริยา ควรขจัด กับประโยคย่อยขยายวิเศษณ์ มากมาย)
     ๓. มีประโยคหลักหนึ่งประโยคและประโยคย่อยซึ่งทำหน้าที่ต่าง ๆ กันหลายประโยค เช่น ก่อนที่ไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน จะเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้จริงจัง จนมีสภาพทัดเทียมเกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์แล้ว ไทยต้องเร่งพัฒนาความพร้อมของประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น (ประโยคหลักคือ ไทยต้องเร่งพัฒนาความพร้อมของประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ประโยคย่อยอื่นทำหน้าที่ต่างกัน)

 

๖. ประโยคระคน นำประโยคความเดียว ความรวม ความซ้อน และเงื่อนไขมารวมกัน
     ๑. ประโยคความรวมที่มีใจความคล้อยตามกันกับประโยคความซ้อน ซึ่งมีประโยคย่อยทำหน้าที่บทประธานของประโยคหลัก เช่น ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนักประชาธิปไตยและทรงอบรมสั่งสอนพระราชโอรสอย่างถูกทางปรากฏชัดแจ้งในพระบรมราโชวาทของพระองค์
     ๒. ประโยคความรวมที่มีใจความขัดแย้งกันกับประโยคความซ้อน ซึ่งมีประโยคย่อยขยายคำนามในประโยคหลัก เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้หนี้แทนพระราชโอรส แต่จะทรงลงพระอาญาแก่พระราชโอรสที่ทรงก่อหนี้นั้นไว้
     ๓. ประโยคความรวมที่มีใจความเลือกเอาอย่างหนึ่งอย่างใดกับประโยคความซ้อนที่มีประโยคย่อยขยายกริยาในประโยคหลัก เช่น เจ้านายต้องมีความรู้ความสามารถมากเป็นพิเศษ มิฉะนั้นก็จะไม่ได้เข้ารับราชการเพราะเจ้านายจะต้องได้เฉพาะตำแหน่งสูงสมควรแก่พระเกียรติยศและพระปรีชาสามารถเท่านั้น
     ๔. ประโยคแสดงเงื่อนไขกับประโยคความรวม ประโยคเงื่อนไขหลายประโยคจะเชื่อมกันด้วยสันธาน เพื่อบอกความคล้อยตามกัน บอกความเลือกอย่างหนึ่งอย่างใดและความคล้อยตามกัน บอกความความคล้อยตามและความขัดแย้งกัน เช่น หากเราล้างหน้า ลุกขึ้นยืน เดินไปเดินมา เพ่งแสงสว่าง หรือใช้ไม้พันสำลียอนหูแล้วยังง่วงเหงาหาวนอนอีก เราก็ควรลงเอนกายกับพื้นหรือไม่ก็นอนหลับเสียเลย (เลือกและคล้อยตาม)
     ๕. ประโยคแสดงเงื่อนไขกับประโยคความซ้อน ประโยคเงื่อนไข หรือประโยคผลที่ตามมาอาจถูกขยายด้วยประโยคย่อย เช่น หากประเทศอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน มีความมั่นคงยั่งยืนเพียงใด คนไทยก็ย่อมอยู่อย่างสุขสงบยั่งยืนเพียงนั้น (อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน เป็นประโยคย่อยที่ขยายประโยคเงื่อนไข)


สรุป
ประโยคในภาษาไทยมีหลายชนิดทั้งประโยคความเดียว ประโยคความรวม ประโยคความซ้อน และประโยคแสดงเงื่อนไข ตลอดจนส่วนขยายของประโยค เราจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับพยางค์ คำ และ กลุ่มคำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเข้าใจประโยค และนำไปใช้ในการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง

 

คำสำคัญ
พยางค์ คำ กลุ่มคำ ประโยคความเดียว ประโยคความรวม ประโยคความซ้อน ประโยคแสดงเงื่อนไข ประโยคซับซ้อน ประโยคละคน 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th