บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง การเลือกใช้คำและกลุ่มคำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 149.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

การเลือกใช้คำและกลุ่มคำ

 

 

การใช้คำ
๑. ความหมายของคำ
     ๑.๑ คำที่มีความหมายเฉพาะ
          ๑) คำที่มีความหมายตามตัวกับความหมายเชิงอุปมา
ความหมายตามตัว = ความหมายเดิม เช่น ลูกเสือคล้ายลูกแมว (ลูกของเสือ)
ความหมายเชิงอุปมา =ความหมายเทียบเคียง เช่น การที่เขาอุปการะลูกของโจรที่ถูกประหารชีวิตไว้เท่ากับเลี้ยงลูกเสือไว้ในบ้าน (ลูกของโจร)
          ๒) คำที่มีความหมายนัยตรงกับความหมายนัยประหวัด
ความหมายนัยตรง = ความหมายตามตัว หรือความหมายเชิงอุปมาที่เข้าใจทั่วไป
ความหมายในประหวัด = ความหมายเชิงอุปมา ชวนให้หวนคิดไปทางใดทางหนึ่ง เช่น เจ้าพ่อ หมายถึง ผู้มีอิทธิพลในถิ่นนั้น อาจนึกประหวัดว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม หรือคนทุรศีลก็ได้
     ๑.๒ คำที่มีความหมายเปรียบเทียบกับคำอื่น
          ๑) คำที่มีความหมายเหมือนกันหรืออย่างเดียวกัน
คำไวพจน์ คือ คำพ้องความหมาย เช่น บอก กล่าว เล่า แจ้ง แถลง ดำรัส ทูล มีพระดำรัส มีพระราชดำรัส มีพระราชกระแส หมายถึง พูด
คำไวพจน์ไม่สามารถใช้แทนกันได้ทุกคำ ต้องคำนึงถึงระดับภาษา ความเป็นทางการ โอกาส ความคุ้นเคย เช่น ภาษาสุภาพกับไม่สุภาพ ภาษาแบบแผนกับไม่แบบแผน ภาษาสำหรับเด็กกับผู้ใหญ่ ภาษาสามัญกับภาษาการประพันธ์
          ๒) คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือร่วมกัน
บางคำมีความหมายบางส่วนร่วมกัน แต่มีความหมายเฉพาะต่างกัน

ความหมาย

ร่วม

ศัพท์

ความหมายเฉพาะ

ตัวอย่าง

ไม่ตรง

โกง

ใช้กับหลัง

หลังโกง

โก่ง

ไม่ตรงอย่างคันธนู ใช้กับของแบนยาว

คิ้วโก่ง แผ่นไม้โก่ง

โค้ง

ไม่ตรงมากกว่าโก่ง ใช้กับของเล็กยาว

เส้นโค้ง ทางโค้ง

คด

ใช้กับของเล็กยาว สิ่งปลูกสร้าง จิตใจ

ทางคด วิหารคด ใจคด

งอ

ปลายหักโค้งเข้าหาตัว หน้าไม่พอใจ

ตะปูงอ หน้างอ

ทำให้

ไม่สะดวก

กีดขวาง

ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งาน

วางของกีดขวางทางเดิน

ขัดขวาง

ใช้กับพฤติกรรมทั่วไป

เขาขัดขวางไม่ให้ฉันได้เลื่อน

ตำแหน่ง

ขัดขืน

การไม่ทำตาม

คนร้ายขัดขืนการจับกุมของ

ตำรวจ

ดูแล

ครอบครอง

ยึดถือไว้ สิทธิปกครอง

ชาวบ้านครอบครองที่ดินผืนนี้

โดยเข้าอยู่อาศัยมาหลายสิบปี

คุ้มครอง

รักษาหรือปกป้อง

เขาบนบานเทพเจ้าให้ช่วย

คุ้มครองภัยอันตราย

ปกครอง

ดูแลด้วยการดำเนินการหรือจัดการ

หัวหน้าปกครองลูกน้อง

 

          ๓) คำที่มีความหมายตรงกันข้าม
ความหมายตรงข้ามภายในตัว ไม่ต้องใช้คำว่า ไม่ ประกอบข้างหน้า เช่น รวย-จน ชนะ-แพ้
          ๔) คำที่มีความหมายครอบคลุมคำอื่น
ความหมายกว้างครอบคลุมคำจำพวกเดียวกัน เช่น เครื่องสำอาง เครื่องครัว สุขภัณฑ์

 

๒. การเลือกใช้คำ
     ๒.๑ ใช้คำให้ตรงความหมาย
ไม่ใช้คำที่มีความกำกวม ควรใช้บริบทช่วยเพื่อระบุความชัดเจนของคำให้มีความหมายตรงตามที่ต้องการ ใช้คำเชื่อม คำบุพบท ลักษณนาม คำขยายให้เหมาะสมกับเรื่องราว เช่น
          – เขารักลูกน้องมาก ต้องระบุให้ชัดเจนว่า ลูกของน้อง หรือ ลูกน้องร่วมงาน
          – ลักษณนาม รูป ใช้กับภิกษุสามเณร องค์ ใช้กับสิ่งที่เคารพบูชาในศาสนา และใช้เป็นลักษณะนามของอวัยวะหรือของบางอย่างในพระเจ้าแผ่นดิน
          – ลักษณนาม โรง ใช้กับสิ่งปลูกสร้างซึ่งเรียกว่าโรง หลัง ใช้กับสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นเรือน
          – ใช้ จ้ะ จ๊ะ จ๋า ค่ะ คะ ขา ให้ถูกต้อง
     ๒.๒ ใช้คำให้ตรงความนิยม
คำที่มีความหมายเหมือนกัน มักใช้ต่างกันตามความนิยม เช่น คำที่มีความหมายว่า มาก ได้แก่ ชุก ใช้กับผลไม้ ชุม ชุกชุม ใช้กับสัตว์ คนไม่ดี ความเจ็บไข้ ดก ใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นต้น
     ๒.๓ ใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะบุคคล
ใช้คำให้สุภาพและเหมาะสมกับโอกาส สถานที่ และบุคคล
     ๒.๔ การใช้คำไม่ซ้ำซาก
เลือกใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดความแตกต่าง ดึงดูดความสนใจ


การเรียงร้อยประโยค
๑. การเชื่อม
     – คล้อยตาม = และ ทั้ง ทั้ง...และ อีกทั้ง รวมทั้ง อนึ่ง อีกประการหนึ่ง
     – ขัดแย้ง = แต่ แต่ทว่า แม้ แม้แต่ แม้ว่า กว่า...ก็
     – เลือก = หรือ หรือไม่ก็ มิฉะนั้น มิฉะนั้น...ก็
     – เหตุผล = จึง เลย เพราะฉะนั้น...จึง
     – ลำดับเวลา = แล้ว แล้วจึง แล้วก็ และแล้ว ต่อจากนั้น
     – เงื่อนไข = ถ้า แม้...ก็ หากว่า เมื่อ...ก็
๒. การซ้ำ
กล่าวซ้ำคำเดิมในประโยคถัดไป อาจมีวิเศษณ์ชี้เฉพาะ นี่ นั่น โน่น เช่น ผลไม้ที่รับประทานมีทั้งส้ม กล้วยหอม และมะละกอ ส้มหมดก่อน ที่สุดกล้วยหอมยังเหลืออยู่บ้าง มะละกอไม่มีใครแตะต้องเลย
๓. การละ
ละคำที่ซ้ำกับคำในประโยคแรก เช่น ดวงตะวันเริ่มผุดขึ้นตรงขอบฟ้า เป็นรูปกลมแสงสด เริ่มทอแสงจ้าขึ้นเรื่อย ๆ ในไม่ช้าก็เปล่งรัศมีเรืองสว่างไปทั่วโลก (ละคำ ดวงตะวัน ในประโยคหลัง)
๔. การแทน
นำคำหรือวลีอื่นที่มีใจความอย่างเดียวกันมาแทน เช่น ทุกคนได้เห็นลูกช้าง มีความยินดี จับงวง ลูบใบหู ส่งกล้วยให้กิน ฉันเองก็เช่นกัน


การใช้สำนวน
๑. ลักษณะของสำนวนไทย
สำนวนไทยมีลักษณะเป็นคำคมที่มีความหมายโดยนัย ต้องอาศัยการตีความ อาจแสดงโดยการเปรียบเทียบ สอดแทรกความคิดเห็น หรือคำติชม มีสัมผัสคล้องจองเพื่อให้เกิดความไพเราะ
๒. ประเภทของสำนวนไทย
     ๑) สำนวน มีความหมายในเชิงเปรียบเทียบ อาจมีเสียงสัมผัสคล้องจอง เช่น ปีกกล้าขาแข็ง ผักชีโรยหน้า
     ๒) คำพังเพย กล่าวลอย ๆ เป็นคำติชมหรือแสดงความคิดเห็น เช่น เกลือเป็นหนอน กบเลือกนาย
     ๓) สุภาษิต คติสอนใจให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
     ๔) อุปมาอุปไมย เปรียบเทียบระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดภาพพจน์ เช่น กินเหมือนหมู
๓. การใช้สำนวนไทย
การใช้สำนวนไทยควรศึกษาความหมายของสำนวนก่อน แล้วใช้สำนวนให้ถูกต้องตามคำเดิม ตรงความหมาย สอดคล้องกับเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร พอเหมาะไม่ฟุ่มเฟือย และเหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น
     – สุนัขเรื้อนตัวนี้ดูน่าเกลียดน่าชัง ควรใช้คำว่า น่าเกลียด เพราะ น่าเกลียดน่าชัง ใช้กับเด็ก
     – เขาจะทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ก่อนลาจากวงการนี้ ควรใช้คำว่า ทิ้งทวน หมายถึง ทำเป็นครั้งสุดท้าย
     – สำนวนที่ใช้ผิดคำเดิม เช่น ปรักหักพัง (ไม่ใช้ สลักหักพัง) คาหนังคาเขา (ไม่ใช้ คาหลังคาเขา)
๔. คุณค่าของสำนวนไทย
สำนวนไทยนับว่าเป็นศิลปะทางภาษาที่เป็นมรดกสืบทอดต่อกันมา มีความไพเราะสละสลวย ช่วยสื่อความหมายได้ชัดเจนขึ้น ให้ข้อคิด สะท้อนความเชื่อ และสืบสานวัฒนธรรมมิให้สูญหาย


การสะกดคำ
๑. คำที่ประวิสรรชนีย์และไม่ประวิสรรชนีย์
     ๑) คำที่ประวิสรรชนีย์
          (๑) คำไทยแท้ที่ออกเสียงสระอะ ไม่มีพยัญชนะสะกด เช่น กะทัดรัด ขะมักเขม้น ปะทะปะทัง
          (๒) คำจากภาษาอื่นที่พยางค์ท้ายออกเสียงสระอะ เช่น พันธนะ ศิลปะ สวัสติกะ อมตะ
          (๓) คำกร่อนที่กลายเสียงจากภาษาอื่น เช่น ฉะนั้น (กร่อนจาก ฉันนั้น) ตะปู (กร่อนจาก ตาปู)
          (๔) คำจากภาษาอื่น พยางค์ที่ออกเสียงสระ อะ เต็มมาตรา เช่น กะละมัง บะหมี่ ดะโต๊ะ กำมะถัน
          (๕) พยางค์ต้นหรือกลางที่มีพยัญชนะควบ กร คร ชร ตร ปร พร สร เช่น กระจง คระไล ชระง่อน
          (๖) คำอัพภาส หรือคำซ้ำอักษรหน้าศัพท์ออกเสียงสระ อะ เช่น คะครื้น (ครื้น) ยะยิ้ม (ยิ้ม)
     ๒) คำที่ไม่ประวิสรรชนีย์
          (๑) พยางค์ที่ออกเสียง อะ แต่ไม่ใช่พยางค์สุดท้าย เช่น กตัญญู คติ สฤษฏ์ อคติ
          (๒) พยางค์ที่เป็นอักษรนำ เช่น ขนม ขยะ ฉมวก ฉงน สนาม
          (๓) ตัวสะกดที่ออกเสียง อะ เช่น ปรกติ สัปดน อลหม่าน
          (๔) คำเฉพาะที่ได้รับการยกเว้น เช่น ณ (แปลว่า ใน ณ ที่นี้) ธ (แปลว่า เธอ ธ ประสงค์ใด)
          (๕) คำจากภาษาเขมรที่อ่านออกเสียงอย่างอักษรนำหรือออกเสียง อะ ไม่เต็มเสียง
          (๖) คำสมาส เช่น ภารกิจ รัตนตรัย วีรชน สาธารณสุข อิสรภาพ
          (๗) พยางค์ต้นหรือกลางที่ออกเสียง อะ ของคำจากภาษาอังกฤษ ยุโรป ประวิสรรชนีย์หรือไม่ก็ได้
๒. การใช้   -ำ   -ัม   -รรม   ไ-   ใ-    -ัย
     ๑) การใช้ -ำ
          (๑) ใช้กับคำไทยแท้ เช่น กำ จำ นำ ดำ ลำ ทองคำ รำมะนาด
          (๒) ใช้กับคำที่แผลงมาจากภาษาอื่น เช่น กำแหง (แข็ง) ตำรวจ (ตรวจ) รำไพ (รวิ)
          (๓) คำเขมรที่ลงอาคม คือ ทำคำกริยาให้เป็นนาม เช่น กำเนิด (เกิด) บำเพ็ญ (เพ็ญ) อำนาจ (อาจ)
          (๔) คำภาษาอื่นๆ เช่น กำมะลอ กำยาน รำมะนา สำปั้น
     ๒) การใช้ -ัม
          (๑) คำบาลีสันสกฤตที่มีพยัญชนะวรรค ปะ (บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม) ตามหลัง เช่น คัมภีร์ สัมมา อัมพร
          (๒) คำที่เกิดจากคำนฤคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ปะ เช่น สัมปชัญญะ (สํ + ปชญญ)
          (๓) คำที่มาจากภาษาอังกฤษ เช่น กรัม รัมมี่ ปั๊ม สกรู
     ๓) การใช้ -รรม
ใช้กับคำสันสกฤตที่มี “รฺม” ประสมอยู่ เช่น กรรม จรรม ธรรม
     ๔) การใช้   (ไม้มลาย)
          (๑) ใช้กับคำไทยแท้ทุกคำ เช่น ไกล ไต่ ไจ ไป ไฟ ไหล ไส ไว
          (๒) คำที่มาจากภาษาเขมร เช่น ไข ได ไถง ไผท
          (๓) คำที่มาจากภาษาสันสกฤต เช่น ไพบูลย์ ไอศวรรย์ ไศล
          (๔) คำบาลีสันสกฤตที่แผลงมาจาก อิ, อี, เอ เช่น ไมตรี (แผลงจาก เมตฺติ) ไพจิตร (แผลงจาก วิจิตร)
          (๕) คำที่มาจากภาษาอื่น ๆ เช่น ไมล์ อะไหล่ เจียระไน ไวตะมิน ไหหลำ ไอร์แลนด์
     ๕) การใช้   (ไม้ม้วน)
คำไทยแท้ ใกล้ ใคร ใคร่ ใจ ใช่ ใช้ ใด ใต้ ใน ใบ ใบ้ ใฝ่ ใย สะใภ้ ใส ใส่ ให้ ใหญ่ ใหม่ หลงใหล
     ๖) การใช้ -ัย
ใช้กับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตเท่านั้น รูปเดิมของคำมีตัว ย ตาม เช่น วินัย (วินย) สมัย (สมย)
๓. การใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต (  ์ )
     ๑) ใช้กับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต อังกฤษ เช่น สังข์ องค์ สงฆ์ จันทร์ ปอนด์ ไมล์
     ๒) ตัวการันต์อาจเป็นพยัญชนะตัวเดียวหรือหลายตัวก็ได้ เช่น รักษ์ ลักษณ์ ลักษมณ์ ยนตร์ อินทร์
     ๓) ตัวการันต์อาจอยู่กลางคำก็ได้ เช่น ฟิล์ม เสิร์ฟ โอห์ม เทอร์โมมิเตอร์ ฟังก์ชัน
     ๔) ตัวการันต์อาจมีรูปสระกำกับก็ได้ เช่น โพธิ์ สิทธิ์ กษัตริย์ พันธุ์ บาทบงสุ์
     ๕) พยัญชนะสะกดที่ควบกับ ร ใช้เป็นตัวการันต์ไม่ได้ เช่น จักร มิตร สมุทร นริศร
     ๖) พยัญชนะสะกดที่ควบกับ ร ใช้เป็นตัวการันต์ได้ เพราะไม่ใช่ตัวสะกด เช่น พักตร์ ศาสตร์


ความงามกับภาษา
๑. การเลือกคำ
     ๑.๑ ความหมายของคำ
          ๑) ใช้คำที่มีความหมายตรงตามที่ผู้เขียนมุ่งประสงค์
บางคำใกล้เคียงกัน แต่ความหมายต่างกัน ต้องใช้ให้ถูกต้อง เช่น วางใจ ไว้ใจ กักกัน กักขัง อนุญาต อนุมัติ ปฏิญญา ปฏิญาณ เกลี้ยกล่อม กล่อมเกลา แข็งกร้าว แข็งแกร่ง
          ๒) ใช้คำที่มีความหมายสอดคล้องกับบริบท ซึ่งได้แก่ คำหรือข้อความแวดล้อม
เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับลักษณะเรื่อง เช่น เรื่องสดุดีบุคคลใช้ศัพท์สูง เรื่องวิชาการใช้ศัพท์บัญญัติ
          ๓) ใช้คำไวพจน์ให้สอดคล้องกับบริบท
คำไวพจน์ไม่สามารถใช้แทนกันได้ทุกคำ ควรคำนึงถึงบริบทและระดับภาษา เช่น ดงผู้ร้าย ไม่สามารถใช้ ป่าผู้ร้าย, ตา ไม่สามารถใช้แทน เนตร ได้
         ๔) ใช้คำให้เหมาะสมแก่ลักษณะของคำประพันธ์
คำสร้อย เช่น เทอญ นา แล แลนา เอย เฮย แฮ ใช้เฉพาะในโคลงและร่าย ส่วน เอย ใช้ลงท้ายดอกสร้อยและสักวา ฉันท์นิยมใช้คำบาลีสันสกฤตมากกว่าคำประพันธ์ชนิดอื่น บังคับคำครุ
     ๑.๒ เสียงของคำ
          ๑) คำเลียนเสียงธรรมชาติ
คำเลียนเสียงธรรมชาติจะกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก ช่วยสร้างภาพพจน์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
          ๒) คำที่มีเสียงวรรณยุกต์เรียงตามลำดับรูปวรรณยุกต์
เรียงคำตามรูปวรรณยุกต์สามัญ เอก โท ไว้ต่อเนื่องกัน เพื่อให้ไพเราะ เช่น

 

                                         โคแดงแรงแร่งแร้ง                 รุยราย

                                   จับไผ่ไทรเทริงหวาย                      หว่ายหว้าย

                                   ควายเสี้ยวเสี่ยวเสียวปลาย             เขาโค่ง

                                  หวงห่วงห้วงน้ำก้าย                      เกี่ยวเกี้ยวเครียมครึม

                                                                              (โคลงอักษรสามหมู่: พระศรีมโหสถ)

 


          ๓) คำที่มีเสียงสัมผัส
สัมผัสอักษรและสัมผัสสระ ให้เกิดความคล้องจอง เปล่งเสียงได้สะดวกและชวนฟัง พบทั้งในร้อยกรองและร้อยแก้วที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การสนทนา คำขวัญ โฆษณาต่าง ๆ เช่น คลุกคลีตีโมง โง่เง่าเต่าตุ่น

          ๔) คำพ้องรูปพ้องเสียง
 คำที่เขียนเหมือนกัน มีเสียงสระหรือพยัญชนะเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน เช่น กา หมายถึง ชื่อนก กับ กา หมายถึง ภาชนะใส่น้ำ
          ๕) คำย้ำหรือข้อความย้ำ
การกล่าวซ้ำคำหรือข้อความเดียวกันเพื่อเน้นความหมายให้หนักแน่นยิ่งขึ้น

 

                                                        เจ็บรักเจ็บจากช้ำ          เจ็บเยียว ยากนา

                                         เจ็บใคร่คืนหลังเหลียว                   สู่หย้าว

                                         เจ็บเพราะลูกมาเดียว                     แดนท่าน

                                         เจ็บเร่งเจ็บองค์ท้าว                       ธิราชร้อนใจถึง ลูกฤๅ

                                                                                                                 (ลิลิตพระลอ)                                              

          ๖) คำซ้ำ
ซ้ำเสียงคำเดิม ในร้อยแก้วจะใช้ไม้ยกมก แต่ในร้อยกรองจะเขียนเต็มรูปคำ ลดความหนักของความหมาย แต่เพิ่มความเสนาะของเสียง
          ๗) เสียงหนักเบา
คำครุและคำลหุบังคับในคำประพันธ์ประเภทฉันท์ และใช้กับคำประพันธ์ชนิดอื่น ทำให้เกิดจังหวะลีลาซึ่งกระทบต่อความรู้สึก เช่น หงอยเหงา ซึมเศร้า ท้อถอย ขบขัน ร่าเริง คึกคัก แข็งกล้า ฮึกเหิม
๒. การเรียงคำ
     ๒.๑ เรียงข้อความโดยวางสาระสำคัญไว้ท้ายสุด
ข้อความเงื่อนไขอยู่ตอนต้น ผลอยู่ตอนท้าย เช่น ถึงแม้งานนี้จะยากแต่เขาก็พยายามทำจนสำเร็จ
     ๒.๒ เรียงข้อความที่มีความสำคัญเท่า ๆ กันคู่เคียงไป
ใช้สันธานแสดงความคล้อยตามกันหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นคำเชื่อม เช่น ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
     ๒.๓ เรียงใจความจากความสำคัญน้อยไปยังความสำคัญมากขึ้นตามลำดับขั้น
          ๑) คนเราเมื่อเกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายในที่สุด

          ๒)                            เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม                  ดนตรี

                                  อักขระห้าวันหนี                             เนิ่นช้า

                                  สามวันจากนารี                             เป็นอื่น

                                  วันหนึ่งเว้นล่างหน้า                       อับเศร้าศรีหมอง

  (โคลงโลกนิติ: สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


     ๒.๔ เรียงใจความให้เน้นหนักขึ้นไปตามลำดับ แต่คลายลงในตอนท้ายอย่างฉับพลันหรือจบลงด้วยสิ่งที่ด้อยกว่าอย่างพลิกความคาดหมาย

 

                                            ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้                มีพรรณ

                                   ภายนอกแดงดูฉัน                          ชาดบ้าย

                                   นางเอกภาพยนตร์อัน                     สวยสุด

                                   แท้ที่จริงเป็นหม้าย                         ลูกตั้งแปดคน

(โคลงโลกนิติจำแลง: รัชกาลที่ ๖)


     ๒.๕ เรียงถ้อยคำให้เป็นประโยคคำถามเชิงวาทศิลป์
คำถามเชิงวาทศิลป์ไม่เน้นหาคำตอบ แต่เน้นให้คำตอบซึ่งแฝงอยู่ในคำถาม
๓. การใช้โวหาร
     ๓.๑ การสร้างบุคคลสมมุติ
สมมุติให้สิ่งต่าง ๆ แสดงกริยาอาการ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์ เรียกว่า บุคคลวัต (บุคคลาธิษฐาน)
     ๓.๒ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง
          ๑) อุปลักษณ์ เปรียบเป็น ใช้คำว่า เป็น คือ ใช่ เท่า ต่าง หรือละคำเปรียบ
          ๒) อุปมา เปรียบเหมือน ใช้คำว่า กล คล้าย เฉก เสมือน ประดุจ ประหนึ่ง ปาน ปูน เพียง ราว ราวกับ
          ๓) นามนัย เปรียบโดยใช้ส่วนประกอบที่เด่นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
          ๔) อุปมานิทัศน์ เปรียบเทียบโดยยกเรื่องราวมาประกอบ
          ๕) ปฏิพากย์ เปรียบโดยใช้คำตรงข้าม
          ๖) สัญลักษณ์ เปรียบแทน ใช้สิ่งที่มีคุณสมบัติบางอย่างร่วมกันมาแทน
          ๗) การกล่าวผิดความเป็นจริง อติพจน์ (กล่าวเกินจริง) หรือ อวพจน์ (กล่าวน้อยกว่าจริง)
     ๓.๓ การใช้เสียงคำสร้างภาพและความหมายพิเศษ
คำนึงถึงความหมายและเสียงของคำ เป็นลักษณะเช่นเดียวกับการเลือกใช้คำ


สรุป
พื้นฐานในการสื่อสารได้ถูกต้องตามหลักภาษา ต้องเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำ การใช้ถ้อยคำ การใช้สำนวน การเขียนสะกดคำ และความงามในภาษา

 

คำสำคัญ
ความหมายนัยตรง ความหมายนัยประหวัด คำไวพจน์ การเชื่อม การซ้ำ การละ การแทน การใช้สำนวน การสะกดคำ ประวิสรรชนีย์ ไม้มลาย ไม้ม้วน ตัวการันต์ เสียงของคำ การเรียงคำ บุคคลวัต
การเปรียบเทียบ 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th