ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง การสร้างคำตามหลักเกณฑ์ของภาษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 20.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

คำไทยแท้และคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ

 

 

ลักษณะของคำไทยแท้
๑. เป็นคำพยางค์เดียว คำไทยแท้ส่วนมากเป็นคำพยางค์เดียว
     ๑) คำนาม เช่น คำเรียกเครือญาติ เช่น พ่อ แม่ น้า ลุง ป้า คำเรียกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้า หู ตา ปาก คำเรียกชื่อเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เตียง หมอน ถ้วย ชาม คำเรียกชื่อเครื่องมือในการประกอบอาชีพพื้นบ้าน เช่น จอบ เสียม เกวียน เรือ คำเรียกชื่อทางภูมิศาสตร์ เช่น ดาว ป่า ดิน ไฟ
     ๒) คำสรรพนาม เช่น ฉัน เธอ เขา
     ๓) คำกริยา เช่น คิด กิน พูด นอน
     ๔) คำวิเศษณ์ เช่น ดี เลว ใหญ่ เล็ก หนึ่ง สอง
     ๕) คำสันธาน เช่น แม้...ว่า แต่ และ ก็
     ๖) คำบุพบท เช่น ใต้ ใกล้ ใน ข้าง
     ๗) คำอุทาน เช่น ว้าย อุ๊ย โธ่
๒. เป็นภาษาคำโดดหรือภาษาเรียงคำ ในภาษาไทยเรียงลำดับประโยคตามหลักประธาน+กริยา+กรรม ซึ่งความหมายของคำและความสัมพันธ์ทางไวยากรณ์จะได้ชัดเมื่อใช้คำพ้องเสียงประกอบประโยค เช่น
เขาถือขัน : ขัน หมายถึง ภาชนะตักน้ำ เป็นกรรมของประโยค อยู่หลังกริยา ถือ ซึ่งเป็นกริยาต้องมีกรรม
เขาพูดขัน : ขัน หมายถึง น่าหัวเราะ เป็นคำวิเศษณ์ เพราะอยู่หลังคำกริยา พูด ซึ่งเป็นกริยาไม่มีกรรม
นอกจากนี้ภาษาไทยยังใช้การเรียงคำบอกลักษณะไวยากรณ์อื่น ๆ เช่น เพศ กาล ชนิดของคำ ซึ่งต่างกับภาษาซึ่งใช้การเปลี่ยนรูปภายในคำเพื่อแสดงลักษณะดังกล่าว เช่น

ภาษาไทย

ภาษาบาลีสันสกฤต

นกตัวผู้-นกตัวเมีย

ปักษิน (นกตัวผู้) ปักษินี (นกตัวเมีย)

คนผู้ชาย-คนผู้หญิง

นร (คนผู้ชาย) นรี นารี (ผู้หญิง)

ภาษาไทย

ภาษาอังกฤษ

เขาไป

He goes.

เขากำลังไป

He is going.

เขาไปแล้ว

He has gone.

.

ภาษาไทย

ภาษาเขมร

ภาษาอังกฤษ

กิน (กริยา)

เกิด (กริยา)

speak (กริยา)

การกิน (นาม)

การกิน (นาม)

speech (นาม)

 

๓. มีเสียงวรรณยุกต์แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่ง ความหมายของคำจะเปลี่ยนไปตามเสียงวรรณยุกต์ เช่น คำไทยแท้ กัน กั่น กั้น ทา ท่า ท้า มา ม่า ม้า
คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตหรือภาษาอื่น ๆ เช่น เกณฑ์ สิงห์ ครีม (cream)ไม่สามารถเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์เพื่อให้มีความหมายใหม่ได้
คำบาลีสันสกฤตที่ไทยนำมาใช้ เมื่อเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์มีเพียงบางคำที่มีความหมายคงเดิม เช่น เสนหา เสน่หา สิเนหะ สิเน่หา
๔. ไม่นิยมเสียงควบกล้ำ แต่มีบางคำเป็นคำควบกล้ำ มักเป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร
คำไทยแท้ เช่น เกรง กลัว ผลิ ความ คำที่มาจากภาษาเขมร เช่น ขจี เจริญ เสด็จ
คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น เกษตร ทฤษฎี วิทยุ
๕. มีระบบการเขียนสะกดตัวโดยเฉพาะ มีหลักการเขียนสะกด ดังนี้
     ๑) ใช้พยัญชนะต้นร่วมกับคำบาลีสันสกฤต เขมร และภาษาชาติอื่น ๆ คือ ก ข ค ง จ ฉ ช ต ถ ท น ป ผ พ ม ย ร ล ว ส ห
     ๒) ไม่นิยมใช้พยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ เป็นพยัญชนะต้น ยกเว้นคำว่า ฆ่า ระฆัง เฆี่ยน ศอก ศึก ธ เธอ ณ ฯพณฯ และสระ ฤ ฤๅ ซึ่งส่วนมากใช้กับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต
     ๓) ใช้พยัญชนะสะกดตรงตามมาตรา
แม่กก คำไทยแท้ส่วนมาก ใช้ ก สะกด เช่น นก เล็ก จิก ผัก คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น เลข เมฆ
คำที่มาจากภาษาอังกฤษ เช่น ปิกนิก (picnic) เทคนิค (technique)
แม่กด คำไทยแท้ส่วนมาก ใช้ ด สะกด เช่น มด เปิด คาด ผัด คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น ปรากฏ ครุฑ รส คำที่มาจากภาษาอังกฤษ ใช้ ด จ ศ ษ ส สะกด เช่น ออฟฟิศ (office) โบนัส (bonus)
แม่กน คำไทยแท้ส่วนมาก ใช้ น สะกด เช่น กิน นอน เห็น แดน คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ใช้ ญ ณ น ร ล ฬ สะกด เช่น บุญ พร กาฬ คำที่มาจากภาษาเขมร ใช้ ญ น ร ล สะกด เช่น เจริญ เดิน ถกล
แม่กบ คำไทยแท้ส่วนมาก ใช้ บ สะกด เช่น กบ ขาบ คืบ งับ คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ใช้ ป พ ภ สะกด เช่น รูป ภาพ คำที่มาจากภาษาอังกฤษ ใช้ บ ป ฟ สะกด เช่น ริบบิ้น (ribbon) แก๊ป (cap)
     ๔) ไม่ใช้ตัวการันต์ คำที่ใช้ตัวการันต์ส่วนมากมาจากภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาอังกฤษ
คำไทยแท้ เช่น จัน (ผลไม้ชนิดหนึ่ง) ปอน (ซอมซ่อ)
คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น จันท์ จันทร์ (ดวงเดือน)
คำที่มาจากภาษาอังกฤษ เช่น ปอนด์ (หน่วยเงินตราอังกฤษ)
     ๕) ใช้สระใอ ๒๐ คำ
     ๖) ใช้สระไอ นอกจากคำที่ใช้สระใอ ๒๐ คำ จะใช้ ไอ ไม่นิยมใช้รูปอัยและไอย เช่น ไกล บันได
     ๗) วางคำขยายไว้หลังคำถูกขยาย เช่น ปากกาสีแดง (สีแดง เป็นคำขยาย ปากกา เป็นคำถูกขยาย)
     ๘) ใช้ลักษณนาม บอกลักษณะของนามที่อยู่ข้างหน้าซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภาษาไทย เช่น ปากกา ๕ ด้าม หนังสือ ๒ เล่ม

 

คำไทยแท้ที่มีลักษณะคล้ายคำที่มาจากภาษาอื่น
๑. คำไทยแท้มีหลายพยางค์
     ๑) เกิดจากการกร่อน โดยออกเสียงพยางค์แรกเป็นเสียง อะ เช่น ตัวขาบ กร่อนเสียงเป็น ตะขาบ  สาวใภ้ กร่อนเสียงเป็น สะใภ้
     ๒) เกิดจากการแทรกเสียง มีการแทรกเสียง อะ ลงไปตรงกลาง แล้วมีการกลืนเสียงกับตัวสะกดของคำหน้า ส่วนใหญ่จะออกเสียง กะ หรือ กระ เช่น ลูกเดือก แทรกเสียงเป็น ลูกกะเดือก ลูกกระเดือก ผักเฉด แทรกเสียงเป็น ผักกะเฉด ผักกระเฉด
     ๓) เกิดจากการเติมเสียง โดยการเติมพยางค์ต่าง ๆ ลงหน้าคำหรือกลางคำ ตามหลักภาษาเขมร
เติมพยางค์หน้า เพื่อให้คำมีความหมายหนักแน่นขึ้น เช่น ทับ เป็น ประทับ ทำเป็น กระทำ
เติมพยางค์กลาง เพื่อให้คำต่างชนิดหรือมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ลูกตา เป็น ลูกกะตา

๒. ใช้พยัญชนะเดิมซึ่งเป็นพยัญชนะเฉพาะคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เป็นพยัญชนะต้น คือ ฆ ญ ฒ ณ ธ ภ ศ เช่น ฆ่า ญวน เฒ่า
๓. ใช้พยัญชนะสะกดไม่ตรงมาตรา
     ๑) แม่กน ใช้ ญ ร ล สะกด เช่น ขวัญ หาญ กล
     ๒) แม่กด ใช้ จ ฎ ษ ศ สะกด เช่น ดุจ ดาษดา เลิศ กฎ
     ๓) แม่กบ ใช้ ป สะกด เช่น กอปร (ประกอบ) สัปดน
๔. ใช้ รร ส่วนมากเปลี่ยนรูปมาจากคำที่ใช้ ระ เป็นอักษรควบ เช่น ประจุ เป็น บรรจุ
๕. ใช้ ฤ ฤๅ ซึ่งเป็นสระสันสกฤต คำไทยแท้ที่ใช้ ฤ ฤๅ เช่น ฤ ฤๅ (มักใช้ในคำประพันธ์)
๖. ใช้ ไ–ย ซึ่งส่วนมากเปลี่ยนรูปมาจาก เ–ยฺย ในภาษาบาลีสันสกฤต คำไทยแท้ที่ใช้ ไ–ย เช่น ไมยราบ

 

ลักษณะของคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
๑. คำที่มาจากภาษาบาลี
ภาษาบาลี มักจะปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและตำราเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ลักษณะของคำที่มาจากภาษาบาลี มีข้อสังเกต ดังนี้
     ๑. สระในภาษาบาลีมี ๘ เสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
     ๒. พยัญชนะในภาษาบาลีมี ๓๓ ตัว คือ

แถว

วรรค

แถวที่ ๑

แถวที่ ๒

แถวที่ ๓

แถวที่ ๔

แถวที่ ๕

วรรคกะ

วรรคจะ

วรรคฏะ

วรรคตะ

วรรคปะ

เศษวรรค

ย ร ล ว ส ฬ ห  ˚(นิคหิต)

 

     ๓. พยัญชนะวรรคแถวที่ ๑, ๓ และ ๕ เท่านั้นที่ใช้เป็นตัวสะกด
     ๔. ภาษาบาลีมีหลักเกณฑ์การสะกดคำ ดังนี้
          ๑) แถวที่ ๑ เป็นตัวสะกด แถวที่ ๑ หรือ ๒ ในวรรคเดียวกัน เป็นตัวตาม เช่น สัจจะ เมตตา ทุกข์
          ๒) แถวที่ ๓ เป็นตัวสะกด แถวที่ ๓ หรือ ๔ ในวรรคเดียวกัน เป็นตัวตาม เช่น อัคคี พยัคฆ์
          ๓) แถวที่ ๕ เป็นตัวสะกด พยัญชนะทุกตัวในวรรคนั้นตามได้ แต่ต้องอยู่ในวรรคเดียวกัน เช่น กัญญา
     ๕. พยัญชนะวรรค ฏ นิยมตัดตัวสะกดเดิม แล้วใช้ตัวตามสะกดแทน เช่น รัฏฐ เป็น รัฐ วุฑฒิ เป็น วุฒิ
     ๖. ถ้าตัวสะกดและตัวตามเป็นตัวเดียวกัน มักตัดออกหนึ่งตัว เช่น อิสสระ เป็น อิสระ ยุตติ เป็น ยุติ
     ๗. คำบาลีนิยมใช้ตัว ฬ เช่น กีฬา อาสาฬหบูชา
     ๘. คำบาลีนิยมใช้ ริ เช่น กิริยา อริยะ
ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาบาลี เช่น บัณฑิต บริจาค รัตติกาล ปรีติ
๒. คำที่มาจากภาษาสันสกฤต
ภาษาสันสกฤต ไทยนำมาใช้ทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณคดี และใช้เป็นคำราชาศัพท์ ลักษณะของคำที่มาจากภาษาสันสกฤต มีข้อสังเกต ดังนี้
     ๑. สระในภาษาสันสกฤตมี ๑๔ เสียง อะ อา อิ อี อุ อู ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เอ โอ ไอ เอา
     ๒. พยัญชนะในภาษาสันสกฤตมี ๓๕ ตัว เพิ่มจากภาษาบาลี ๒ ตัว คือ ศ และ ษ

แถว

วรรค

แถวที่ ๑

แถวที่ ๒

แถวที่ ๓

แถวที่ ๔

แถวที่ ๕

วรรคกะ

วรรคจะ

วรรคฏะ

วรรคตะ

วรรคปะ

เศษวรรค

ย ร ล ว ศ ษ ส ฬ ห  ˚(นฤคหิต)

 

     ๓. ภาษาสันสกฤตมีการสะกดคำไม่แน่นอนอย่างภาษาบาลี คำที่ใช้ตัวสะกดอย่างคำบาลี เช่น ศานติ ฤทธิ์ เป็นต้น คำที่ใช้ตัวสะกดตัวตามอย่างไรก็ได้ เช่น สัตย์ มิตร เป็นต้น คำที่ใช้ตัวสะกดแต่ไม่มีตัวตาม เช่น พนัส กริน เป็นต้น
     ๔. คำสันสกฤตใช้ ฑ ในขณะที่คำบาลีใช้ ฬ เช่น จุฑา กรีฑา
     ๕. คำสันสกฤตใช้ ศ ษ เช่น ศรีษะ อภิเษก
     ๖. คำสันสกฤตใช้ ฤ ฤๅ ไอ เอา เช่น ฤษี เสาร์
     ๗. คำสันสกฤตใช้ รร (ร หัน) เช่น กรรม อัศจรรย์
     ๘. คำสันสกฤตนิยมใช้คำควบกล้ำ เช่น จักร สมัคร เพชร
หมายเหตุ คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต จะไม่มีรูปวรรณยุกต์ และไม่มีไม้ไต่คู้กำกับ ยกเว้น เล่ห์ พ่าห์ เสน่ห์ กระบี่ เท่ห์ พุทโธ่ ซึ่งเราเติมรูปวรรณยุกต์ขึ้นภายหลัง
ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เช่น กษัตริย์ โคตร จรรยา ศตวรรษ
วิธีนำคำบาลีสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย
     ๑. เลือกคำที่ออกเสียงสะดวก

บาลี

สันสกฤต

ไทยใช้

สิปฺป

ศิลฺป

ศิลปะ

ขนฺติ

กษานฺติ

ขันติ

 

 

 

 

     ๒. เปลี่ยนเสียงสระหรือพยัญชนะ เช่น ไวทฺย -> แพทย์     กษีณ -> เกษียณ
     ๓. เพิ่มหรือลดเสียงของคำ เช่น สามเณร -> เณร      อุโบสถ -> โบสถ์
     ๔. เปลี่ยนความหมายให้ต่างจากเดิม แต่ยังมีเค้าความหมายเดิม
พิสมัย หมายถึง รักใคร่หลงใหล (เดิม = ประหลาดใจ)
อนาถ หมายถึง น่าสงสาร น่าสลดใจ (เดิม = ไม่มีที่พึ่ง)
     ๕. กำหนดความหมายใหม่ มีการกำหนดความหมายต่างกันหรือใช้ต่างกัน เช่น
โทรทัศน์ (คำบาลี)         = กระบวนการถ่ายทอดเสียงและภาพจากที่หนึ่งไปยัง
                                    อีกที่หนึ่ง โดยเปลี่ยนภาพให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสู่อากาศ
โทรทรรศน์ (คำสันสกฤต) = กล้องส่องดูสิ่งที่อยู่ไกลให้เห็นใกล้

๓. คำที่มีมาจากภาษาเขมร
ภาษาเขมรมีรูปแบบและการออกเสียงคล้ายกับภาษาไทย ส่วนใหญ่ภาษาไทยนำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์
ลักษณะของคำที่มาจากภาษาเขมร มีข้อสังเกต ดังนี้
     ๑. ไม่นิยมใช้รูปวรรณยุกต์ ยกเว้น เสน่ง เขม่า
     ๒. พยัญชนะต้นมักเป็นคำควบกล้ำและเป็นคำที่ใช้อักษรนำ เช่น อักษรควบ เช่น เขลา โปรด สรง อักษรนำ เช่น ขนง ขจี ถวาย
     ๓. ใช้ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา มักใช้ จ ญ ร ล ส เป็นตัวสะกด เช่น เสด็จ กังวล เพ็ญ ตรัส ขจร
     ๔. คำสองพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วย กำ คำ จำ ชำ ดำ ตำ ทำ มักเป็นคำที่แผลงมาจากภาษาเขมร เช่น กำนัล ดำเนิน คำนับ ตำรา จำแนก ทำนบ ชำรุด
     ๕. นิยมเติมอุปสรรค บัง บัน บำ บรร หน้าคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อให้มีความหมายของคำเปลี่ยนไป เช่น บัง จาก เกิด เป็น บังเกิด บำ จาก เพ็ญ เป็น บำเพ็ญ บัน จาก เทิง เป็น บันเทิง บรร จาก ทุก เป็น บรรทุก
     ๖. คำที่ขึ้นต้นด้วย ประ บางคำแผลงมาจากคำเขมรที่ขึ้นต้นด้วย ผ เช่น ประจง แผลงมาจาก ผจง ประสาน แผลงมาจาก ผสาน
     ๗. ใช้เติมคำกลางลงในคำนาม คำกริยา หรือ คำวิเศษณ์ เพื่อให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป เช่น จอง เป็น จำนอง ติ เป็น ตำหนิ เปรอ เป็น บำเรอ
     ๘. ไม่นิยมประวิสรรชนีย์ เช่น ลออ ฉบับ ฉงน
     ๙. คำราชาศัพท์บางคำมาจากภาษาเขมร เช่น บรรทม ทรง เสวย
วิธีนำคำเขมรมาใช้ในภาษาไทย
     ๑. เลือกคำที่ออกเสียงได้สะดวก เช่น กราบ เขนย ฉลอง ตรัส
     ๒. เปลี่ยนแปลงเสียงสระหรือพยัญชนะ เช่น เดิรฺ -> เดิน      ขฺนีย -> เขนย
     ๓. เปลี่ยนแปลงความหมาย เช่น ดัด = ปลุก (เขมร) ทำให้อ่อนตาม (ไทย), บำเพ็ญ = ทำให้เต็ม (เขมร) ทำความดี, ทำความเพียร (ไทย)
     ๔. กำหนดความหมายขึ้นใหม่ แต่ใกล้เคียงกับความหมายเดิม เช่น
ทบวง หมายถึง หน่วยงานที่มีฐานะต่ำกว่ากระทรวงแต่สูงกว่ากรม (เดิม = หัว)
ตำรวจ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ (เดิม = ผู้ตรวจ)
     ๕. แผลงอักษรให้มีรูปต่าง ๆ เช่น ผฺทม -> บรรทม      โสฺวย -> เสวย
ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาเขมร เช่น กังวล เขนย เชลย ไผท

๔. คำที่มาจากภาษาจีน
ลักษณะของคำที่มาจากภาษาจีน มีข้อสังเกต ดังนี้
      ๑. เป็นคำที่มักมีเสียงวรรณยุกต์ตรีหรือจัตวา และมีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง คือ ก จ ต บ ป อ มากกว่าพยัญชนะต้นอื่น เช่น เจ๊ ตุ๊ย บ๊วย ก๋ง
     ๒. มักเป็นคำที่ประสมด้วยสระเอียะและสระอัวะ เช่น เพียะ เจี๊ยะ ยัวะ
ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาจีน เช่น ก๊ก ตงฉิน ไต๋ ยี่ห้อ

๕. คำที่มาจากภาษาอังกฤษ
     ๑. นำคำภาษาอังกฤษมาใช้โดยตรง เพราะยังไม่มีคำที่เป็นภาษาไทยใช้ เช่น เกียร์ ไมโครโฟน
     ๒. คำภาษาอังกฤษที่มีการบัญญัติศัพท์เป็นคำภาษาไทยแล้ว มีวิธีใช้ ๒ ลักษณะ คือ
          – นิยมใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เช่น แบงก์-ธนาคาร
          – นิยมใช้คำภาษาอังกฤษแม้จะมีการบัญญัติเป็นคำภาษาไทยแล้วก็ตาม เช่น ฟรี-ได้เปล่า
ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาอังกฤษ เช่น ก๊อบปี้ แท็กซี่ ปิกนิก แบงก์

 

ตัวอย่างคำภาษาต่างประเทศอื่นที่ใช้ในภาษาไทย
คำที่มาจากภาษาชวา เช่น บุหงา มะงุมมะงาหรา ตุนาหงัน อสัญแดหวา
คำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย เช่น กุหลาบ ลูกเกด จาระบี บัดกรี ยี่หร่า สุหร่าย องุ่น
คำที่มาจากภาษามลายู เช่น กระดังงา กะหรี่ รองเง็ง สลัด โสร่ง
คำที่มาจากภาษาพม่า เช่น กะปิ กากี ส่วย
คำที่มาจากภาษาญี่ปุ่น กิโมโน คามิคาเซ่ ซากุระ ซามูไร ยูโด สุกียากี้

 

สรุป
การศึกษาเรื่องคำในภาษาไทยจะทำให้เราบอกได้ว่าคำใดเป็นคำไทยแท้ คำใดเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น และในการนำมาใช้ควรใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทยของเราไว้

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th