วิชาภาษาไทย เรื่อง การพัฒนาทักษะการพูด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 28K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
 


หลักเกณฑ์การพูด
   การเลือกหัวข้อเรื่อง
ควรเลือกให้เหมาะสมกับโอกาสที่พูดและผู้ฟัง
   การกำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดเป้าหมายและเตรียมเนื้อหา/วิธีพูดที่สอดคล้องกัน
   การกำหนดขอบเขต ความยากง่ายของเรื่องที่พูด โดยคำนึงถึงพื้นความรู้ของผู้ฟัง
   การรวบรวมข้อมูล การค้นคว้าจากตำรา สื่อสิ่งพิมพ์ สัมภาษณ์บุคคล สำรวจข้อมูลปฐมภูมิ
   การวางโครงเรื่อง ต้องนำเรื่องให้น่าติดตาม ลำดับเนื้อหาตามเวลา/ความสำคัญ สรุปให้ประทับใจ
   การเรียบเรียงเรื่อง นำข้อมูลที่ค้นคว้ามาเรียบเรียงตามโครงเรื่อง ใส่รายละเอียดให้ครอบคลุมเนื้อหา
   การนำเสนอเรื่อง ผู้พูดควรมีความมั่นใจ ใช้น้ำเสียง ท่าทาง และสื่อประกอบการพูดที่เหมาะสมกับเนื้อหา มีกลวิธีการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจ ใช้โวหาร สำนวน สุภาษิตที่กินใจ

 

การใช้ภาษาในการพูด
   ๑. วัจนภาษา
คือ ภาษาคำพูด ควรใช้คำพูดที่กินใจ กระชับ ชัดเจน เหมาะสมกับกาลเทศะและผู้ฟัง ใช้ภาษาต่างประเทศเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงพื้นฐานของผู้ฟังด้วย
   ๒. อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช่คำพูด เช่น การใช้สายตาสอดส่ายไปยังผู้ฟัง การแสดงสีหน้าเพื่อดึงดูดความสนใจ การแสดงท่าทางและการวางตัวให้เหมาะสม

 

การพูดเชิงวิเคราะห์วิจารณ์
   
การพูดที่แยกเรื่องเป็นส่วนย่อย ให้ผู้ฟังเข้าใจความเกี่ยวเนื่องของแต่ละส่วน ผู้พูดต้องเข้าใจเรื่องอย่างลึกซึ้ง มีใจเป็นกลาง นำเสนอตรงไปตรงมา ควรพูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ด้วยภาษาสุภาพและมีมารยาท
 

การพูดในโอกาสต่างๆ
   การพูดสรุปความ 
ควรจับประเด็นให้ได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แยกแยะข้อเท็จจริง - ข้อคิดเห็น แล้วนำประเด็นสำคัญมาเรียงให้สละสลวย ใช้น้ำเสียง ท่าทางให้เหมาะสมกับเรื่อง
   การกล่าวคำอวยพร ในการกล่าวอวยพรบุคคล เริ่มด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของโอกาสที่อวยพร ถ้าอวยพรผู้เสมอกันหรือผู้ใหญ่กว่า ให้กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนแล้วตามด้วยพร จากนั้นจึงเชิญชวนให้ดื่มอวยพร (กรณีเลี้ยงอาหาร) ส่วนการกล่าวอวยพรหน่วยงานก็มีลักษณะคล้ายกัน แต่ต้องกล่าวถึงความสำคัญของหน่วยงานเพิ่มเติม หลังการกล่าวถึงความสำคัญของโอกาสที่อวยพร
   การพูดในที่ประชุมชน ทั้งในที่สาธารณะ/สื่อมวลชนล้วนมีผู้ฟังจำนวนมาก แบ่งเป็น ๔ ลักษณะ คือ การพูดโดยอ่านจากต้นฉบับ การพูดโดยท่องจำ การพูดอย่างฉับพลัน การพูดที่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า

 


   การพูดหน้าชั้นเรียน ควรเลือกเรื่องที่มีคุณค่า วิเคราะห์ผู้ฟังซึ่งเป็นเพื่อนๆ ว่าสนใจเรื่องใด ดูปฏิกิริยาจากผู้ฟังด้วย พูดให้ครบภายในกำหนดเวลา และประเมินผลการพูดเพื่อปรับปรุงในครั้งต่อไป
 

   การพูดในที่ประชุม ควรกำหนดจุดประสงค์ของการประชุม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมในเนื้อหา การประชุมจะช่วยประสานความคิดและได้ทัศนะใหม่ๆ ที่กว้างขึ้น องค์ประชุมประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ และผู้เข้าประชุม ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้
     ประธาน มีหน้าที่กำหนดการประชุม เรียกประชุม ดำเนินการประชุม ต้องวางตัวเป็นกลางและเปิดโอกาสให้แต่ละคนพูด ไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดการขัดแย้งหากรุนแรงอาจสั่งพักหรือเลื่อนการประชุม
     รองประธาน ทำหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
     เลขานุการ เตรียมสถานที่ ส่งหนังสือเชิญประชุมล่วงหน้า บันทึกการประชุม ติดตามมติที่ประชุม
     ผู้เข้าประชุม ทำความเข้าใจหนังสือเชิญประชุม และเอกสารที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ จดข้อความสำคัญ และรักษามารยาทในการประชุม

     วิธีดำเนินการประชุม ผู้เข้าประชุมลงชื่อ ประธานกล่าวเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมซึ่งมักเริ่มจากการรับรองรายงานการประชุมครั้งก่อน ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความคิดเห็นโดยการยกมือแล้วรอให้ประธานอนุญาตจึงจะพูดได้ การลงมติหากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานจะเป็นผู้ชี้ขาด

 

   การพูดโน้มน้าวใจ เป็นการพูดให้ผู้ฟังคล้อยตามผู้พูดควรกำหนดจุดมุ่งหมายและมีความรู้ในเรื่องที่พูด ใช้ถ้อยคำและน้ำเสียงที่เหมาะสม ควรมีหลักฐานอ้างอิงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ จุดประสงค์ในการพูดโน้มน้าวใจมี ๓ ประการ คือ ให้ผู้ฟังเลิกปฏิบัติ ให้ปฏิบัติตาม ให้ปฏิบัติต่อไป
 

มารยาทในการพูด
   
ผู้พูดควรรักษามารยาททั้งในด้านการแต่งกายให้สุภาพ การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ การใช้คำพูดที่เหมาะสม การรักษาเวลาในการพูด การควบคุมอารมณ์ ใช้สติแก้ปัญหา และการรับฟังความคิดเห็นของผู้ฟังควรใช้เหตุผลในการโต้ตอบ
 

สรุป
   
การพูดในโอกาสต่างๆ ได้ดี ต้องรู้การใช้ภาษา หลักเกณฑ์การพูด และมารยาทในการพูด

คำสำคัญ :  การพูด การกล่าวอวยพร การพูดในที่ประชุมชน การพูดในที่ประชุม การพูดโน้มนาวใจ
 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th