ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง คำไทยแท้และคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 137.4K views



 ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
 


ลักษณะของคำไทยแท้
   ๑. เป็นภาษาคำพยางค์เดียว มีเสียงวรรณยุกต์แน่นอน และไม่นิยมควบกล้ำ
   ๒. เป็นภาษาคำโดดหรือภาษาเรียงคำ ประธาน + กริยา + กรรม มี เพศ กาล ชนิดของคำ ซึ่งไม่เปลี่ยนรูปเหมือน ภาษาอื่น เช่น นกตัวผู้ - นกตัวเมีย (ปักษิณ - ปักษินี) เขาไป - เขาไปแล้ว (He goes - He has gone)
 



   ๓. มีการเขียนโดยเฉพาะ
        ๑) ใช้พยัญชนะต้นร่วมกับภาษาอื่น แต่ไม่นิยมใช้ ฆ ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ และสระ ฤ ฤๅ
        ๒) สะกดตรงตามมาตรา และไม่ใช้ตัวการันต์
        ๓) ใช้สระ ใอ ๒๐ คำ นอกนั้น ใช้สระ ไอ
 

คำไทยแท้ที่มีลักษณะคล้ายคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
   ๑. คำไทยแท้ที่มีหลายพยางค์ เนื่องจากการกร่อนเสียง การกลมกลืนเสียง การเติมพยางค์
   ๒. ใช้พยัญชนะเดิมคล้ายคำบาลีสันสกฤต คือ ฆ ญ ฒ ณ ธ ภ ศ เช่น ฆ่า ญวน เฒ่า ณ ธง ภูผา ศึก
   ๓. ใช้พยัญชนะสะกดไม่ตรงมาตรา คือ ญ ร ล แม่กน จ ฎ ษ ศ แม่กด ป แม่กบ
   ๔. ใช้ รร ส่วนมากมาจากคำที่ใช้ ระ เป็นอักษรควบ เช่น ประจุ (บรรจุ) กระโชก (กรรโชก)
   ๕. ใช้ ฤ ฤๅ เช่น ฤ ฤๅ (หรือ, อะไร, ไม่ ในคำประพันธ์) ฤๅสาย (ผู้เป็นใหญ่)
   ๖. ใช้ ไ-ย เช่น ไมยราบ (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง)
 

คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
   - คำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
     ภาษาบาลีไม่นิยมควบกล้ำ แต่ภาษาสันสกฤตนิยมควบกล้ำ และใช้ รร มีพยัญชนะเพิ่มจากภาษาบาลีคือ ศ ษ และสระเพิ่มจากภาษาบาลี คือ ไอ เอา ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ
 

หลักสังเกตคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
   ๑. เป็นคำหลายพยางค์ ไม่นิยมรูปวรรณยุกต์
   ๒. ประสมด้วยพยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฤ ฬ เช่น เมฆ โลภ ฤดี จุฬา
   ๓. มีตัวสะกดแตกต่างจากภาษาไทย และมักมีตัวการันต์
   ๔. พยัญชนะควบกล้ำ นิยมใช้ในภาษาสันสกฤตเท่านั้น
 

   - คำที่มาจากภาษาเขมร
     มีการเปลี่ยนแปลงคำที่ยืมมาโดยการแผลงคำสะกดไม่ตรงมาตรา (แม่กด แม่กน) ไม่นิยมใช้ตัวการันต์ แต่นิยมควบกล้ำ เช่น ขจัด เขมา (ดำ) เสบียง เสด็จ เฉพาะ ฉบับ
 

   - คำที่มาจากภาษาจีน
     มักมีเสียงวรรณยุกต์ตรีหรือจัตวา พยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง และมักประสมสระเอียะ อัวะ เช่น เจ๊ ตุ๊ย บ๊วย ก๋ง เกี๊ยะ เจี๊ยะ ยัวะ
 

   - คำที่มาจากภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ
     คำภาษาชวา เช่น ยาหยี อังสนา บุหรง บุหงา ตันหยง มะเดหวี กริชโนรี
     คำภาษาเปอร์เซีย เช่น องุ่น กุหลาบ ลูกเกด ตรา บัดกรี คาราวาน ยี่หร่า สนม สักหลาด ราชาวดี
     คำภาษาอังกฤษ เช่น ทีม โค้ช คอนเสิร์ต แท็กซี่ เพนกวิน ดีเซล เกม นีออน เรดาร์ สวิตช์
 

สรุป
   การศึกษาเรื่องคำในภาษาไทยทำให้เราได้รู้ว่าคำใดเป็นคำไทยแท้ คำใดมาจากภาษาต่างประเทศ ซึ่งลักษณะของคำดังกล่าวมีความแตกต่างที่สามารถสังเกตได้

คำสำคัญ : คำไทยแท้ คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ คำภาษาจีน คำภาษาเขมร คำภาษาบาลีสันสกฤต 
 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th