ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 290.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

ชนิดและหน้าที่ของคำ

 

 

องค์ประกอบของคำ
“คำ” ประกอบด้วยเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ใช้สร้างประโยคเพื่อสื่อสาร คำในภาษาไทยมีหลายชนิดและหน้าที่


ชนิดและหน้าที่ของคำ
แบ่งด้วยเกณฑ์หน้าที่และความหมายได้ ๗ ชนิด ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน และคำอุทาน


คำนาม
คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ สภาพ ทั้งมีตัวตนและไม่มีตัวตน ได้แก่
๑. สามานยนาม คือ คำนามทั่วไป ไม่เจาะจง เช่น เสื้อผ้า ต้นไม้
๒. วิสามานยนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น ดอกกุหลาบ กรุงเทพฯ
๓. สมุหนาม คือ คำนามบอกหมวดหมู่ เช่น ฝูงนก เหล่าลูกเสือ วงดนตรี
๔. อาการนาม คือ คำนามบอกอาการ สร้างจากคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ ได้แก่ คำว่า การ นำหน้าคำกริยา เช่น การนอน การกิน และคำว่า ความ นำหน้าคำวิเศษณ์หรือคำกริยาเกี่ยวกับความรู้สึก เช่น ความหวัง ความรู้
๕. ลักษณนาม คือ คำนามบอกลักษณะของคำนามอื่น อยู่หลังคำบอกจำนวน เช่น กลอน ๓ บท ลักษณนามต่างจากสมุหนามตรงที่อยู่หลังจำนวนนับหรือคำนามทั่วไป ส่วนสมุหนามจะอยู่หน้าคำนามทั่วไป เช่น คณะนักแสดง (สมุหนาม) นักแสดง ๑ คณะ (ลักษณนาม)


หน้าที่ของคำนาม
๑. ประธานของประโยค เช่น นักเรียนเดินข้ามถนน
๒. กรรมของประโยค เช่น ลุงปลูกต้นไม้
๓. ส่วนขยาย เช่น สัตว์น้ำต้องอยู่ในน้ำ (ขยายประธาน)
๔. ส่วนเติมเต็ม เช่น ฉันเป็นคนไทย
๕. อยู่หลังคำบุพบท เช่น หนังสืออยู่ในรถ
๖. คำเรียกขาน เช่น พ่อจ๋า หนูกลับมาแล้ว


คำสรรพนาม
คำสรรพนาม คือ คำใช้เรียกแทนคำนามเพื่อไม่ต้องกล่าวนามซ้ำ มี ๖ ชนิด ได้แก่
๑. บุรุษสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้ในการสื่อสาร ได้แก่ บุรุษที่ ๑ (แทนผู้พูด) เช่น ฉัน บุรุษที่ ๒ (แทนผู้ฟัง) เช่น คุณ บุรุษที่ ๓ (แทนผู้ที่กล่าวถึง) เช่น เขา มัน
๒. ปฤจฉาสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้ถามเพื่อคำตอบ เช่น อะไรแตก
๓. วิภาคสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามเพื่อชี้ซ้ำและแยกเป็นส่วน ๆ ได้แก่ ต่าง บ้าง กัน เช่น ชาวสวนต่างเก็บผลผลิต หากคำเหล่านี้ทำหน้าที่อื่น เช่น ต่างคนก็ต้องทำงาน ถือเป็นคำวิเศษณ์
๔. อนิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ คล้ายปฤจฉาสรรพนามแต่ไม่ใช่คำถาม เช่น ใคร ๆ ก็อยากรู้
๕. นิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามชี้เฉพาะหรือบอกระยะ ได้แก่ นี่ นั่น โน่น เช่น นี่คืองานของเขา
๖. ประพันธสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ทำหน้าที่แทนนามข้างหน้าและเชื่อมประโยค ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน เช่น นักเรียนที่ตั้งใจเรียนจะได้คะแนนดี


หน้าที่ของคำสรรพนาม
๑. ประธานของประโยค เช่น ฉันกำลังอ่านหนังสือ
๒. กรรมของประโยค เช่น ครูทำโทษพวกเรา
๓. ส่วนเติมเต็ม เช่น ตุ๊กตานี้หน้าตาเหมือนเธอ
๔. คำเชื่อมในประโยคความซ้อน เช่น คนที่ทำผิดต้องได้รับโทษ


คำกริยา
คำกริยา คือ คำแสดงอาการของนามหรือสรรพนามที่เป็นประธานของประโยค มี ๔ ชนิด ได้แก่
๑. อกรรมกริยา คือ คำกริยาที่สมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องมีกรรมตามหลัง เช่น งูเลื้อย โทรศัพท์ดัง
๒. สกรรมกริยา คือ คำกริยาที่ต้องมีกรรมตามหลังจึงสมบูรณ์ เช่น แมวกินปลา
๓. วิกตรรถกริยา คือ คำกริยาที่ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ต้องการคำนามหรือคำสรรพนามมาเป็นส่วนเติมเต็ม ได้แก่ เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ ราวกับ เช่น หวัดเป็นโรคติดต่อ เธอเหมือนแม่
๔. กริยานุเคราะห์ คือ คำกริยาช่วยที่เติมหน้ากริยาหลักให้มีความหมายชัดขึ้น มี ๒ ลักษณะ คือ
     – เป็นกริยาช่วยอย่างเดียว ได้แก่ ย่อม กำลัง จะ พึง ควร น่า อย่า เช่น พ่อกำลังล้างจาน
     – เป็นกริยาต่างจำพวก ได้แก่ อยู่ ได้ แล้ว จะ คง ถ้าไม่ได้ประกอบกริยาอื่นจะจัดเป็นอกรรมหรือสกรรมกริยา เช่น ลุงปลูกต้นไม้อยู่ (อยู่ เป็นกริยานุเคราะห์) แต่ เขาอยู่บ้าน (อยู่ เป็นอกรรมกริยา)   


หน้าที่ของคำกริยา
๑. กริยาหลักของประโยค เช่น สุดาล้างมือ
๒. ประธานของประโยค เช่น นอนเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด
๓. กรรมของประโยค เช่น ฉันชอบเล่นดนตรี
๔. ขยายกริยาหลัก เช่น พ่อกำลังอ่านหนังสือพิมพ์
๕. เป็นส่วนขยาย เช่น เขากินมะม่วงสุก (ขยายกรรม)


คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ คือ คำขยายคำอื่นให้มีความหมายชัดขึ้นหรือมีเนื้อความต่างไป ใช้ประกอบ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ มี ๑๐ ชนิด ได้แก่
๑. ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกลักษณะ สี กลิ่น ขนาด ความรู้สึก เช่น พ่อชอบน้ำเย็น (ความรู้สึก)
๒. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกเวลา ได้แก่ เช้า สาย อดีต อนาคต ก่อน หลัง นาน เช่น ฉันกลับบ้านดึก
๓. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกสถานที่ ได้แก่ ใกล้ ไกล ห่าง บน ใต้ บก ซ้าย เช่น รถวิ่งเลนซ้าย
๔. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกปริมาณหรือจำนวน ได้แก่ มาก น้อย หนึ่ง ที่หนึ่ง หลาย หมด บรรดา เช่น นี่คือเงินทั้งหมดที่เหลือ
๕. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ชี้เฉพาะ ได้แก่ นี่ นั้น ทั้งนี้ อย่างนี้ ดังนั้น เอง เฉพาะ เช่น เขาซื้อโต๊ะตัวนี้
๖. อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ไม่ชี้เฉพาะ ได้แก่ อะไร ไหน อย่างไร เช่น ของอะไรมีค่าก็ควรเก็บ
๗. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์แสดงคำถาม ได้แก่ อะไร ทำไม หรือ ไหน กี่ อย่างไร เช่น เขาต้องการอะไร
๘. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ขานรับหรือโต้ตอบ ได้แก่ ครับ คะ ค่ะ จ๊ะ โว้ย เช่น สวัสดีครับ
๙. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์แสดงการปฏิเสธ ได้แก่ ไม่ ไม่ใช่ มิได้ อย่า เช่น สิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา
๑๐. ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์เชื่อมประโยค ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ ที่ว่า เพื่อว่า เช่น เขาทำให้ฉันไว้ใจ ต่างกับประพันธสรรพนาม คือ ประพันธวิเศษณ์จะวางติดกับคำกริยาหรือวิเศษณ์ เช่น เพื่อนยอมรับที่เขาเป็นคนดี แต่ประพันธสรรพนามจะวางติดกับคำนามหรือสรรพนาม เช่น เพราะเขาเป็นคนที่ดี เพื่อนจึงยอมรับ


ตำแหน่งการวางคำวิเศษณ์
๑. วางไว้หลัง ได้แก่ วางหลังคำนามเพื่อขยายนาม เช่น เก้าอี้ขาว วางหลังกริยาเพื่อขยายกริยา เช่น เขาพูดเก่ง วางหลังกรรมเพื่อขยายกริยา เช่น เขาผัดผักอร่อย วางหลังคำวิเศษณ์เพื่อขยายวิเศษณ์ เช่น พี่ขับรถเร็วมาก
๒. วางไว้หน้า ได้แก่ วางหน้าคำนาม เช่น ปวงชนชาวไทย (วิเศษณ์ขยายนาม) มากคนก็มากความ (วิเศษณ์บอกปริมาณ) วางหน้าคำกริยา เช่น เขาไม่รู้ (วิเศษณ์บอกปฏิเสธ)
๓. วางไว้ทั้งหน้าและหลัง ได้แก่ วิเศษณ์บอกคำถามหรือไม่ชี้เฉพาะ เช่น อะไรที่เธอขอ เธอขออะไร


หน้าที่ของคำวิเศษณ์
๑. ขยายประธาน เช่น รถใหม่วิ่งเร็ว
๒. ขยายกริยา เช่น เต่าคลานช้า
๓. ขยายกรรม เช่น ฉันชอบมะม่วงหวาน ๆ
๔. ขยายส่วนขยาย เช่น แม่ครัวปรุงแกงอร่อยมาก


คำบุพบท
คำบุพบท คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อม ๒ คำให้สัมพันธ์กัน อาจนำหน้าคำนาม สรรพนาม หรือกริยาที่ทำหน้าที่เป็นนามก็ได้
๑. บอกเครื่องใช้หรืออาการร่วมกัน ได้แก่ กับ ด้วย โดย ตาม เช่น พ่อกับพี่
๒. บอกผู้รับหรือความประสงค์ ได้แก่ แก่ แด่ เพื่อ ต่อ เช่น เขาบริจาคเงินแก่โรงเรียน 
๓. บอกสถานที่ต้นทางหรือสาเหตุ ได้แก่ แต่ จาก เช่น เขาบินมาจากต่างประเทศ
๔. บอกสถานที่ ได้แก่ ที่ ใต้ บน เหนือ ล่าง ใกล้ ไกลใน นอก เช่น บ้านอยู่ใกล้วัด
๕. บอกความเป็นเจ้าของ ได้แก่ ของ แห่ง ใน เช่น คุณค่าของภาษาไทย
๖. บอกเวลา ได้แก่ เมื่อ ตั้งแต่ ก่อน หลัง เช่น เมื่อคืน ตั้งแต่เที่ยง
๗. บอกสาเหตุ ได้แก่ เพราะ เนื่องจาก เนื่องแต่ เช่น เพราะความขยัน เนื่องแต่ภัยสงคราม

 

คำสันธาน
คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค ข้อความกับข้อความ
หน้าที่ของคำสันธาน
๑. เชื่อมคำ เช่น ครูและนักเรียน
๒. เชื่อมประโยค ได้แก่
     ๑) ความต่อเนื่องหรือคล้อยตาม ได้แก่ และ แล้ว...จึง แล้ว...ก็ พอ...ก็ เช่น พอทำงานเสร็จเขาก็นอน
     ๒) ความขัดแย้งกัน ได้แก่ แต่ แต่ก็ แต่ทว่า กว่า...ก็ เช่น กว่าเขาจะมา พวกเราก็กลับกันแล้ว
     ๓) ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ มิฉะนั้น มิฉะนั้น...ก็ หรือ เช่น เขาโกหกหรือเธอโกหก
     ๔) ความเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่ จึง เพราะฉะนั้น...จึง เพราะ เช่น เพราะเขาตั้งใจจึงมีผลงานเสมอ
     ๕) เชื่อมใจความหลักกับใจความขยาย ได้แก่ บอกเวลา (เมื่อ ก่อน จาก) เช่น เขาออกไปเมื่อหมาเห่า บอกความเปรียบ (เหมือน คล้าย) เช่น รู้ด้วยตนเองดีกว่าฟังคนอื่น บอกเหตุผล (เพราะ) เช่น ครูไม่มาเพราะป่วย
ข้อสังเกตคำบุพบทและคำสันธาน บางคำเป็นได้ทั้งคำบุพบทและคำสันธาน เช่น แม่เลี้ยงแมวเหมือนลูก (เหมือน เป็นคำบุพบท) แม่เลี้ยงแมวเหมือนมันเป็นลูกของตัวเอง (เหมือน เป็นคำสันธาน)

 

คำอุทาน
คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงความรู้สึก มี ๒ ชนิด
๑. อุทานแสดงอารมณ์ มีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) อยู่ด้านหลัง ได้แก่ สงสัย เช่น เอ๊ะ! อ้าว! เสียใจ เช่น อนิจจา! ประหลาดใจ เช่น โอ้โฮ! เข้าใจ เช่น อ๋อ! โกรธ เช่น ชิชะ! สงสาร เช่น พุทโธ่! บอกให้รู้ตัว เช่น เฮ้ย! โว้ย!
๒. อุทานเสริมบท ใช้เสริมคำอื่นเพื่อให้คล้องจอง หรือเป็นคำสร้อยในคำประพันธ์ คำเสริมอาจอยู่ข้างหน้า เช่น โรงเล่าโรงเรียน อยู่ข้างหลัง เช่น กลับบ้านกลับช่อง หรืออยู่กลางคำอื่น เช่น ผลหมากรากไม้ ส่วนคำสร้อยอื่น เช่น นา แลนา แฮ เอย เฮย

 

สรุป
ภาษาไทยมีคำ ๗ ชนิด ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน และคำอุทาน แต่ละชนิดมีลักษณะและหน้าที่ต่างกัน หากรู้เรื่องชนิดของคำจะทำให้สร้างประโยคเพื่อติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น

 

คำสำคัญ  คำนาม  คำสรรพนาม  คำกริยา  คำวิเศษณ์  คำบุพบท  คำสันธาน  คำอุทาน 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th