ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง การสร้างคำตามหลักเกณฑ์ของภาษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 44.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

การสร้างคำตามหลักเกณฑ์ของภาษา

 

 

วิธีสร้างคำในภาษาไทย

คำในภาษาไทยแต่เดิมเป็นคำพยางค์เดียว ต่อมามีวิธีการสร้างคำใหม่ ได้แก่ คำที่สร้างใหม่โดยเฉพาะเรียกว่าคำมูล และคำที่สร้างจากคำมูลได้แก่ คำซ้ำ คำซ้อน และคำประสม

๑. คำมูล คือ คำที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัว มีพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ มีทั้งคำไทยแท้และคำยืมภาษาอื่น ส่วนมากเป็นคำยืม เช่น บาลีและสันสกฤต (อนุชา เชษฐา) เขมร (ขนง ผกา) อังกฤษ (ฟรี เค้ก เต็นท์) มี ๒ ชนิด
     ๑. คำมูลพยางค์เดียว คือ คำพยางค์เดียวที่มีความหมายในตัวเอง เช่น คำไทยแท้ เช่น พ่อ แม่ หู กิน คำยืมภาษาจีน เช่น เกี๊ยว โต๊ะ ก๋ง คำยืมภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สุข ทุกข์ บาป คำยืมภาษาอังกฤษ เช่น ไมล์ กอล์ฟ
     ๒. คำมูลหลายพยางค์ คือ คำ ๒ พยางค์ขึ้นไปที่มีความหมายในตัวเอง ได้แก่ คำไทยแท้ เช่น มะระ คำยืมภาษาจีน เช่น บะหมี่ คำยืมภาษาบาลีสันสกฤต เช่น ประสูติ บริสุทธิ์ คำยืมภาษาอังกฤษ เช่น แบตเตอรี่ แท็กซี่
คำมูลหลายพยางค์อาจประกอบจากพยางค์ที่ไม่มีความหมายเลย เช่น จิงโจ้ มีความหมายบางพยางค์ เช่น จิปาถะ (ปา มีความหมาย) หรือมีความหมายทุกพยางค์แต่ไม่เกี่ยวกับความหมายของคำมูลนั้น เช่น ชมพู่

 

๒. คำซ้ำ คือ คำมูลที่ออกเสียงซ้ำกัน มักใช้ไม้ยมกแทนคำหลัง มีลักษณะดังนี้
     ๑. เป็นได้ทั้งคำนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ บุพบท และคำบอกจำนวน เช่น น้อง ๆ หนู ๆ เพลีย ๆ
     ๒. คำซ้อนที่แยกกันซ้ำ เช่น ลูบ ๆ คลำ ๆ อด ๆ อยาก ๆ
     ๓. คำซ้ำที่ประสมกันแล้วได้ความหมายใหม่ เช่น งู ๆ ปลา ๆ
     ๔. เปลี่ยนวรรณยุกต์คำหน้าเพื่อเน้นความหมาย เช่น เบื๊อเบื่อ
     ๕. คำที่เป็นคำซ้ำได้อย่างเดียว เช่น รถตุ๊ก ๆ เดือดปุด ๆ ยอง ๆ

ความหมายของคำซ้ำ
๑. บอกพหูพจน์ เช่น เล่นกับเพื่อน (เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์) เล่นกับเพื่อน ๆ (เพื่อน ๆ เป็นพหูพจน์)
๒. เน้นความ มักเปลี่ยนคำหน้าเป็นเสียงตรี เช่น ดี๊ดี หมายถึง ดีมาก
๓. ความเบาลง เช่น ใหญ่ ๆ หมายถึง ไม่ใหญ่ทีเดียว
๔. บอกคำสั่ง คือ ทำให้วลีเป็นประโยคคำสั่ง เช่น พูดดี (วลี) พูดดี ๆ (ประโยคคำสั่ง)
๕. เปลี่ยนความหมาย โดยไม่ใกล้เคียงความหมายเดิม เช่น กล้วย (ผลไม้) กล้วย ๆ (ง่าย)
๖. แยกคำซ้อนเป็นคำซ้ำ เช่น พี่ ๆ น้อง ๆ
คำที่ออกเสียงซ้ำกันไม่ถือเป็นคำซ้ำถ้าไม่ได้เกิดคำใหม่และความหมายไม่เปลี่ยน เช่น เราควรเก็บของให้เป็นที่ที่ชั้นวาง ที่ คำแรกเป็นคำนาม ที่ คำหลังเป็นคำบุพบท จึงไม่ถือเป็นคำซ้ำและใช้ไม้ยมกไม่ได้ นอกจากนี้บางคำที่ออกเสียงซ้ำกันก็อาจไม่ใช่คำซ้ำแต่เป็นคำมูล เช่น จะจะ นานา

 

๓. คำซ้อน คือ คำที่เกิดจากคำมูลภาษาใดก็ได้ตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาประกอบเป็นคำที่มีความหมายใหม่
     ๑. ความหมายทำนองเดียวกัน ได้แก่ ความหมายใหม่อยู่ที่คำใดคำหนึ่ง เช่น หน้าตา (ความหมายอยู่ที่ หน้า) ความหมายใหม่กว้างกว่าเดิม เช่น ข้าวปลา (คือ อาหารทั้งหมด) ความหมายใหม่มีเค้าคำเดิม เช่น เดือดร้อน (คือ เป็นทุกข์) และความหมายใหม่อยู่ที่คำแรกและคำสุดท้าย เช่น ฤกษ์งามยามดี (คือ ฤกษ์ดี)
     ๒. ความหมายอย่างเดียวกัน เช่น รากฐาน บ้านเรือน เมื่อคำหนึ่งเป็นภาษาถิ่น ความหมายจะอยู่ที่คำไทยมาตรฐาน เช่น ทองคำ (คำ เป็นภาษาถิ่นเหนือและอีสาน หมายถึง ทอง) เมื่อคำหนึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ ความหมายอยู่ที่คำไทย เช่น สร้างสรรค์ (คำว่า สรรค์ เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง สร้าง)
     ๓. ความหมายตรงข้ามกัน ความหมายใหม่จะกว้างกว่าเดิม เช่น มากน้อย หมายถึง ปริมาณสิ่งต่าง ๆ

ชนิดของคำซ้อน
๑. คำซ้อนเพื่อความหมาย คือ การซ้อนคำมูลที่มีความหมายเหมือนกัน เช่น โง่เขลา ข้าทาส ใกล้เคียงกัน เช่น เรือแพ คัดเลือก หรือตรงข้ามกัน เช่น เท็จจริง ผิดชอบ
๒. คำซ้อนเพื่อเสียง (คำคู่) คือ การซ้อนคำมูลที่มีเสียงใกล้เคียงกัน ได้แก่ ซ้อนเสียงพยัญชนะต้น เช่น ทรัพย์สิน ซ้อนเสียงสระและพยัญชนะท้าย เช่น แร้นแค้น ซ้อนเสียงพยัญชนะต้นและสระ เช่น ออดอ้อน


ความหมายของคำซ้อน ได้แก่ ความหมายชัดขึ้น เช่น ใหญ่โต (คือ ใหญ่มาก) ความหมายกว้าง เช่น พี่น้อง (คือ ญาติทั้งหมด) ความหมายแคบ เช่น เงียบเชียบ (คือ เงียบ) ความหมายอุปมา เช่น ดูดดื่ม (คือซาบซึ้ง)


๔. คำประสม คือ คำมูล ๒ คำขึ้นไปที่มีความหมายต่างกันมาประกอบกัน ทำให้เกิดคำที่มีความหมายใหม่
     ๑. เกิดจากคำไทยกับคำไทย เช่น ม้าเร็ว ลูกน้ำ กล้วยไม้
     ๒. เกิดจากคำไทยกับคำภาษาอื่น ได้แก่ คำไทยกับคำบาลีสันสกฤต เช่น ผลไม้ พลเรือน คำไทยกับคำเขมร เช่น วันเพ็ญ เดินทาง คำไทยกับคำจีน เช่น บะหมี่น้ำ โต๊ะเรียน คำไทยกับคำอังกฤษ เช่น เรียงเบอร์ รถเมล์
     ๓. เกิดจากคำภาษาอื่นกับคำภาษาอื่น เช่น เคมีภัณฑ์ เทคนิคการแพทย์
     ๔. เกิดจากการใช้คำย่อของกลุ่มคำที่มีความหมายกว้าง (เช่น ชาว ผู้ นัก ช่าง เครื่อง) เช่น ชาวนา ผู้ใหญ่
     ๕. เกิดจากคำมูลที่มีความหมายหลักอยู่ส่วนต้น (เรียกว่าคำตั้ง) และคำมูลที่เป็นคำขยายอยู่ด้านหลัง เช่น ประธานสภา ผลผลิต ยกเว้นเมื่อคำขยายเป็นภาษาบาลีสันสกฤต และคำตั้งเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาบาลีสันสกฤต คำขยายจะอยู่ข้างหน้า เช่น พระราชดำรัส ราชวัง


ความหมายของคำประสม
๑. ความหมายใหม่แต่มีเค้าเดิม เช่น ดาวเทียม (คือ ยานโคจรในอวกาศเหมือนดาว แต่ไม่ใช่ดาวจริง)
๒. ความหมายต่างจากคำเดิม เช่น กันสาด (คือ เพิงที่ต่อจากชายคาเพื่อไม่ให้ฝนสาด)
๓. ความหมายเปรียบเทียบ เช่น ดอกฟ้า (คือ หญิงสูงศักดิ์)
นอกจากนี้บางคำอาจมีความหมายหลายอย่าง เช่น หมาวัด หมายถึง หมาที่อาศัยในวัด (ความหมายใหม่แต่มีเค้าเดิม) หรือชายต่ำศักดิ์ที่หมายปองหญิงสูงศักดิ์ (ความหมายเปรียบเทียบ)


โครงสร้างของคำประสม
๑. ขึ้นต้นด้วยคำนาม ได้แก่ คำนาม + คำนาม เช่น แม่บ้าน เก้าอี้ดนตรี คำนาม + คำกริยา เช่น โรงเรียน ของเล่น คำนาม + คำวิเศษณ์ เช่น มดแดง น้ำเน่า คำนาม + คำบุพบท เช่น เบี้ยล่าง ของนอก
๒. ขึ้นต้นด้วยคำกริยา ได้แก่ คำกริยา + คำนาม เช่น กินใจ เสียหน้า คำกริยา + คำกริยา เช่น ชี้ขาด กันเปื้อน คำกริยา + คำวิเศษณ์ เช่น อวดดี วางโต คำกริยา + คำบุพบท เช่น เป็นกลาง เห็นด้วย
๓. ขึ้นต้นด้วยคำวิเศษณ์ ได้แก่ คำวิเศษณ์ + คำนาม เช่น หลายหน้า น้อยใจ
๔. ขึ้นต้นด้วยคำบุพบท ได้แก่ คำบุพบท + คำนาม เช่น ในหลวง กลางแปลง


วิธีสร้างคำประสม
๑. คำตั้งเป็นคำนาม คำประสมจะทำหน้าที่เหมือนคำนาม ได้แก่ คำขยายเป็นคำนามหรือคำสรรพนาม เช่น พ่อครัว พระคุณท่าน คำขยายเป็นคำวิเศษณ์ เช่น ถั่วเขียว ผู้ดี และคำขยายเป็นคำกริยา เช่น สมุดพก
๒. คำตั้งเป็นคำกริยา คำประสมจะทำหน้าที่เหมือนคำกริยา ได้แก่ คำขยายเป็นคำนาม เช่น กินลม จับตา คำขยายเป็นคำกริยา เช่น ค้นคว้า ตื่นเต้น และคำขยายเป็นคำวิเศษณ์ เช่น วางโต เป็นกลาง อวดดี
๓. คำตั้งเป็นคำวิเศษณ์ คำประสมจะทำหน้าที่เหมือนคำวิเศษณ์ ได้แก่ คำขยายเป็นคำนาม เช่น หลายใจ สองหัว และคำขยายเป็นคำวิเศษณ์ เช่น เขียวหวาน สุกดิบ (วัน)
๔. คำตั้งเป็นคำบุพบท คำประสมจะทำหน้าที่เหมือนคำบุพบท ได้แก่ คำขยายเป็นคำนาม เช่น ในที ซึ่งหน้า และคำขยายเป็นคำกริยา เช่น ตามมีตามเกิด


๕. คำพ้อง คือ คำที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกัน มี ๔ ประเภท ได้แก่
     ๑. คำพ้องเสียง คือ คำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่รูปเขียนและความหมายต่างกัน เช่น เศรษฐีสั่งฆ่าพวกข้าทาสที่ไร้ค่า (ข้า คือ บ่าวไพร่ / ค่า คือ ราคา คุณประโยชน์ / ฆ่า คือ ทำให้ตาย)
     ๒. คำพ้องรูป คือ คำที่เขียนเหมือนกัน แต่การออกเสียงและความหมายต่างกัน เช่น ครูทำสัญลักษณ์รูปสระอาไว้ที่ขอบสระ (สระ (สะ) คือ แอ่งน้ำขนาดใหญ่ / สระ (สะ-หระ) คือ เสียงของตัวอักษรจำพวกหนึ่ง)
     ๓. คำพ้องความ (คำไวพจน์) คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน แต่ออกเสียงและเขียนต่างกัน เช่น นภา เวหา หาว อัมพร คคนางค์ หมายถึง ท้องฟ้า ดง เถื่อน ไพร พนา วนา หมายถึง ป่า
     ๔. คำพ้องรูป–พ้องเสียง คือ คำที่เขียนและออกเสียงเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน เช่น เขาเก็บเขาสัตว์มาจากบนภูเขา (เขา คือ สรรพนามบุรุษที่ ๓ / เขา คือ ภูเขา / เขา คือ อวัยวะบนหัวสัตว์สำหรับป้องกันตัว)

 

สรุป
คำในภาษาไทยมีการเกิดขึ้น คงอยู่ และสูญไป เมื่อมีคำสูญไปก็มีการสร้างคำใหม่ในภาษา อาจเป็นการสร้างคำขึ้นโดยเฉพาะคือคำมูล หรือนำคำมูลมาสร้างเป็นคำใหม่ ได้แก่ คำซ้ำ คำซ้อน และคำประสม

 

คำสำคัญ  คำมูล  คำซ้อน  คำซ้ำ  คำประสม

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th