บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง โลกและทรัพยากรธรรมชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 124.6K views



สาระสำคัญ

ตอนที่ 1 โลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
          1. โลกประกอบด้วยส่วนที่เป็นของแข็ง เรียกว่า ธรณีภาค ส่วนที่เป็นของเหลว เรียกว่า อุทกภาค ส่วนที่เป็น  อากาศ เรียกว่า บรรยากาศ และสิ่งมีชีวิต เรียกว่า ชีวภาค
          2. โครงสร้างของโลกแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ เปลือกโลก เนื้อโลก และแก่นโลก
                    – เปลือกโลกเป็นชั้นที่อยู่นอกสุด แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่  เปลือกโลกชั้นบน ส่วนใหญ่เป็นหินไซอัล ซึ่งเป็นหินแกรนิต และเปลือกโลกชั้นล่าง ส่วนใหญ่เป็นหินไซมา ซึ่งเป็นหินหินบะซอลต์
                    – เนื้อโลกอยู่ถัดจากเปลือกโลกเข้าไป บางส่วนของชั้นนี้เป็นหินเหลวหนืดและหลอมละลายปนกันอยู่
                    – แก่นโลกแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ แก่นโลกชั้นนอก ประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิลหลอมละลายปนกันอยู่ และแก่นโลกชั้นใน ประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิลที่อยู่ในสภาพของแข็ง
          3. การผุพังอยู่กับที่ การกร่อน การพัดพา การทับถม และการตกผลึก เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เปลือกโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดภูมิลักษณ์ต่าง ๆ ขึ้นบนผิวโลก
          4. การผุพังอยู่กับที่ คือ กระบวนการของการเปลี่ยนสภาพ ทำให้หินที่โผล่ขึ้นมาบนผิวโลกเกิดการสึกกร่อน ผุพังแตกสลายลง แบ่งเป็น 3 ประเภท  ได้แก่ การผุพังอยู่กับที่ทางกายภาพหรือการผุพังอยู่กับที่เชิงกล การผุพังอยู่กับที่ทางเคมี และการผุพังอยู่กับที่ทางชีวภาพ
          5. การกร่อน คือ กระบวนการที่ทำให้สารที่เป็นองค์ประกอบของเปลือกโลก เช่น ดิน หิน ค่อย ๆ หลุดกระจายออกไป
          6. การพัดพา คือ กระบวนการที่พัดพาเศษหิน ดิน แร่ธาตุ และอินทรียวัตถุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
          7. การทับถมและการตกตะกอน คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อตัวกลางที่ทำให้เกิดการพัดพา เช่น น้ำ ลม ธารน้ำแข็งอ่อนกำลังหรือหยุดลง ทำให้ตะกอนที่พัดพามาสะสมตัวและทับถมกัน
          8. เมื่อสภาวะแวดล้อมธรรมชาติอยู่ใต้อุณหภูมิและความดันที่เหมาะสม ธาตุและสารประกอบจะตกผลึก เป็นแร่การตกผลึกในธรรมชาติ เช่น การเกิดหินย้อย หินงอก

ตอนที่ 2 ดิน
          1. องค์ประกอบของดิน ได้แก่ อินทรียวัตถุ แร่ธาตุที่ได้จากการสลายตัวของหินและแร่ น้ำ และอากาศ
          2. ดินมีลักษณะและสมบัติแตกต่างกันตามชนิดของหินต้นกำเนิดดิน ลักษณะภูมิประเทศ และระยะเวลาใน
การเกิดดิน
          3. ชั้นหน้าตัดของดินแบ่งเป็น 5 ชั้น ได้แก่ ชั้น O เป็นชั้นอินทรียวัตถุ ชั้น A เป็นชั้นดินแร่ ชั้น B เป็นชั้นสะสมของแร่ ชั้น C เป็นชั้นการผุพังของหิน และชั้น R เป็นชั้นหินดาน
          4. เนื้อดินจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ ดินทราย ดินเหนียว และดินร่วน
          5. สีของดินเป็นสมบัติที่สะท้อนถึงสภาพแวดล้อม กระบวนการเกิดดิน แร่ที่เป็นองค์ประกอบของดินสภาพ การระบายน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น
          6. สมบัติทางเคมีของดิน ได้แก่ สภาพความเป็นกรด–เบสของดิน สามารถทดสอบได้ด้วยกระดาษลิตมัส ยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์ และเครื่องวัด pH
          7. การปรับปรุงคุณภาพของดินทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเพิ่มแร่ธาตุในดินโดยการใส่ปุ๋ย การใช้สารเคมีปรับสภาพดินที่มีปัญหา และการปลูกพืชเพื่อช่วยป้องกันดินเสื่อมสภาพ

ตอนที่ 3 หินและแร่
          1. หินที่เป็นส่วนประกอบของผิวโลก มีลักษณะทางกายภาพและทางเคมีที่แตกต่างกัน ลักษณะทางกายภาพสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น สี เนื้อหิน การเรียงตัวของชั้นหิน และซากดึกดำบรรพ์ที่อยู่ในหิน สมบัติทางเคมีสามารถทดสอบได้ด้วยกรดไฮโดรคลอริก
          2. หินจำแนกตามลักษณะการเกิดเป็น 3 ชนิด คือ หินตะกอน หินอัคนี และหินแปร
          3. หินอัคนีเกิดจากการเย็นตัวของหินหนืดหรือแมกมาซึ่งแทรกขึ้นมาจากส่วนลึกภายในโลก
          4. หินชั้นหรือหินตะกอนเกิดจากการทับถมของเศษหิน ดิน ทราย ที่เกิดการกร่อนหรือแตกหลุดออกมาจากหินเดิม แล้วถูกกดทับอัดตัวแน่นโดยมีตัวเชื่อมประสาน หรืออาจเกิดจากการตกตะกอนโดยปฏิกิริยาเคมี
          5. หินแปรเกิดจากการแปรสภาพเนื่องจากความร้อนและความกดดันภายในโลก ทำให้หินเดิมซึ่งอาจเป็นหินอัคนีเปลี่ยนแปลงรูปร่างและส่วนประกอบ
          6. วัฏจักรของหิน คือ การเปลี่ยนแปลงของอัคนี หินตะกอน และหินแปร โดยกระบวนการทางธรณีวิทยามีผลทำให้หินทั้ง 3 ชนิดเกิดการเปลี่ยนแปลงจากหินชนิดหนึ่งไปเป็นหินอีกชนิดหนึ่ง
          7. แร่ หมายถึง ธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่มีเนื้อเดียว เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะทางโครงสร้างและส่วนประกอบทางเคมีที่แน่นอน
          8. สมบัติทางกายภาพของแร่ ได้แก่ สี สีผงละเอียด ผลึก ความแข็ง ความวาว การให้แสงผ่านรอยแตก และความถ่วงจำเพาะ
          9. แร่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มแร่ประกอบหิน หมายถึง แร่ที่เป็นส่วนประกอบของหิน และกลุ่มแร่เศรษฐกิจ หมายถึง แร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แร่โลหะและแร่อโลหะ
          10. เชื้อเพลิงธรรมชาติ เช่น ปิโตรเลียม ถ่านหิน และหินน้ำมัน
          11. ปิโตรเลียม คือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีธาตุคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก ปิโตรเลียมมี 2 สถานะ คือ น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ
          12. ถ่านหินเป็นหินเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟได้ มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ มีธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน ถ่านหินที่มีจำนวนคาร์บอนสูงและมีธาตุอื่นต่ำจะเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดี 
          13. หินน้ำมันเป็นหินคล้ายกับหินที่เป็นแหล่งปิโตรเลียม มีสารอินทรีย์อุ้มน้ำมันอยู่ในเนื้อหิน ถ้านำหินน้ำมันไปอบด้วยความร้อนสูงจะได้น้ำมันดิบที่สามารถนำไปกลั่นเป็นน้ำมันได้

ตอนที่ 4 แหล่งน้ำธรรมชาติ
          1. น้ำที่ปกคลุมผิวโลก ได้แก่ น้ำในทะเลและมหาสมุทร น้ำจืดในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง และบึง และน้ำบาดาลน้ำแข็งที่ขั้วโลกและบนยอดเขา และไอน้ำในอากาศ
          2. น้ำที่มนุษย์ใช้บริโภคส่วนใหญ่เป็นน้ำจืด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ น้ำบนดินและน้ำใต้ดิน
          3. แหล่งน้ำบนดินมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทางน้ำและความเร็วของกระแสน้ำ มนุษย์รู้จักและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบนดินมากที่สุด
          4. แหล่งน้ำใต้ดินแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ น้ำในดินหรือน้ำใต้ดินชั้นบน คือ น้ำที่ซึมอยู่ในดิน และน้ำบาดาล คือ น้ำที่กักเก็บอยู่ระหว่างช่องว่างหรือโพรงของชั้นหิน
          5. มนุษย์ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในด้านต่าง ๆ เช่น การอุปโภคและบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง การพักผ่อนหย่อนใจ และใช้เป็นแหล่งอาหาร
          6. วิธีการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ปลูกป่า พัฒนาแหล่งน้ำ ป้องกันการเกิดมลพิษของน้ำ ให้ความรู้แก่ประชาชน และใช้น้ำอย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ตอนที่ 1 โลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 

โลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
          โลกเป็นดาวเคราะห์หินดวงหนึ่งในระบบสุริยะ ปกคลุมไปด้วยน้ำถึง 3 ใน 4 ส่วนของพื้นโลก และอีก 1 ส่วนเป็นพื้นดิน

โครงสร้างของโลก
          โลกประกอบด้วยสสารต่าง ๆ มากมาย มีทั้งสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ซึ่งสามารถเปลี่ยนสถานะได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม พื้นผิวโลกประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้




          1. ธรณีภาค (lithosphere) คือ ส่วนที่เป็นเปลือกแข็งอยู่ชั้นนอกสุดของโลก ประกอบด้วยดิน หิน และแร่
          2. อุทกภาค (hydrosphere) คือ ส่วนที่เป็นน้ำบนผิวโลก เช่น ทะเล มหาสมุทร แม่น้ำ และธารน้ำแข็ง
          3. บรรยากาศ (atmosphere) คือ ส่วนที่เป็นอากาศที่อยู่รอบตัวเราและห่อหุ้มโลก
          4. ชีวภาค (biosphere) คือ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น คน สัตว์ และพืช

          นอกจากนี้ยังมีส่วนที่อยู่ลึกลงไปถึงใจกลางของโลกที่ซึ่งข้อมูลทางปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟปะทุ และแผ่นดินไหวนำมาช่วยในการศึกษาโครงสร้างภายในโลกได้เป็นอย่างดี ซึ่งพบว่าภายในโลกตั้งแต่พื้นผิวโลกจนถึงจุดศูนย์กลาง แบ่งเป็นชั้นต่าง ๆ ได้ 3 ชั้น ดังนี้
          1. เปลือกโลก (crust) เป็นส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุดของโลก มีความหนาประมาณ 5–40 กิโลเมตร ประกอบด้วยส่วนที่เป็นพื้นดิน หินแข็ง และพื้นน้ำ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
                   1.1 เปลือกโลกชั้นบน ส่วนใหญ่เป็นหินไซอัล ประกอบด้วยสารประกอบซิลิกาและอะลูมินา
                   1.2 เปลือกโลกชั้นล่าง เป็นหินไซมา ประกอบด้วยสารประกอบซิลิกาและแมกนีเซีย ซึ่งเป็นหินบะซอลต์ของเปลือกโลกส่วนที่เป็นท้องมหาสมุทร และรองอยู่ใต้หินไซอัล
          2. เนื้อโลก (mantle) ประกอบด้วยหินและแร่ธาตุต่าง ๆ บางส่วนของชั้นนี้เป็นหินเหลวหนืดที่ร้อนจัด สามารถเคลื่อนตัวไปมาได้ในวงจำกัด อาจมีแก๊สและของแข็งรวมอยู่ด้วย เมื่อแทรกดันขึ้นมาหรือพุ่งออกสู่ผิวโลก เรียกว่า ลาวา
          3. แก่นโลก (core) เป็นส่วนที่อยู่ชั้นในสุด ประกอบด้วยธาตุเหล็กและนิกเกิลเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งส่วนที่เป็นของแข็งและส่วนที่เป็นของเหลวที่ร้อนจัด แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ แก่นโลกชั้นนอก เป็นชั้นของเหลวที่ร้อนจัด ประกอบด้วยธาตุเหล็กและนิกเกิล และแก่นโลกชั้นใน ประกอบด้วยธาตุเหล็กและนิกเกิล แต่เนื่องจากเป็นชั้นที่อยู่ลึกมากจึงมีความดันและอุณหภูมิสูง ทำให้อนุภาคของเหล็กและนิกเกิลถูกอัดแน่นจนเป็นของแข็ง


การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
          การผุพังอยู่กับที่
          การผุพังอยู่กับที่ (weathering) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้หินที่โผล่ขึ้นมาบนผิวโลกเกิดการสึกกร่อน ผุพังแตกสลายลง เนื่องจากสภาพอากาศ น้ำฝน น้ำแข็ง ลม รวมทั้งพืชและสัตว์ การผุพังอยู่กับที่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
            1. การผุพังอยู่กับที่ทางกายภาพหรือการผุพังอยู่กับที่เชิงกล เป็นกระบวนการที่ทำให้หินแตกสลายเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อย ๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางแร่

           2. การผุพังอยู่กับที่ทางเคมี เป็นกระบวนการผุพังที่ทำให้สมบัติทางเคมีของหินเปลี่ยนไป เช่น น้ำฝนที่เป็นกรดจะกัดกร่อนหินบางประเภท เป็นต้น

            3. การผุพังอยู่กับที่ทางชีวภาพ เป็นกระบวนการผุพังอยู่กับที่ที่เกิดจากการกระทำของสิ่งมีชีวิต เช่น การเจริญเติบโตของรากพืชจะทำให้รอยแตกในชั้นหินขยายกว้างขึ้นได้ ไลเคนส์ที่เจริญอยู่บนหิน จะผลิตกรดบางชนิดที่สามารถย่อยสลายผิวของหินได้ เป็นต้น 


           การกร่อน
           ผลของการผุพังอยู่กับที่จะทำให้เกิดกองเศษหิน ต่อมาเมื่อมีตัวการต่าง ๆ มากระทำ เช่น ทางน้ำ ธารน้ำแข็ง หรือลมจะพัดพาเอาเศษหินเหล่านั้นไป ทำให้เศษหินเสียดสีกับหินก้อนอื่น ๆ หรือวัตถุบริเวณที่หินเคลื่อนที่ผ่าน ทำให้เกิดการกร่อน ขณะเดียวกันเศษหินก็จะมีขนาดเล็กลง เรียกการทำลายนี้ว่า การกร่อน (erosion)
                    การกร่อนโดยคลื่น คลื่นในทะเลจะพัดพาหิน กรวด และทรายไปกัดเซาะหน้าผา ทำให้หน้าผาเกิดการกร่อนและพัดพาเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่หลุดออกมาให้เคลื่อนที่ไปทับถมกันในบริเวณต่าง ๆ ตามชายฝั่ง
                    การกร่อนโดยกระแสน้ำกระแสน้ำ จะพัดพาเอาเศษหิน กรวด ทราย มากัดเซาะท้องน้ำและชายฝั่ง ถ้าทางน้ำไหลผ่านหุบเขาในพื้นที่ภูเขาสูง น้ำจะไหลแรงกัดเซาะหินเป็นร่องลึก จะเกิดลักษณะภูมิประเทศที่เรียกว่า หุบเขารูปตัววี เมื่อน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หินบริเวณท้องน้ำที่มีความแข็งอ่อนไม่เท่ากัน จึงเกิดการกัดกร่อนไม่เท่ากัน เกิดเป็นน้ำตกหรือน้ำโจนขึ้น
                    การกร่อนโดยธารน้ำแข็ง ในบริเวณที่หนาวจัด เช่น แถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ จะมีหิมะตกลงมาสะสมและแข็งตัวเป็นก้อนน้ำแข็ง เรียกว่า หิมะน้ำแข็ง เมื่อมีมากจะมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก เรียกว่า ธารน้ำแข็งเมื่อธารน้ำแข็งเคลื่อนที่ลงจากภูเขา จะทำให้เกิดการบด กระแทก และขัดสีกับหินบริเวณที่ธารน้ำแข็งเคลื่อนที่ผ่าน ทำให้ผิวหน้าหินเกิดการกร่อน
                    การกร่อนโดยกระแสลม ในเขตอากาศแห้งแล้งและพื้นดินไม่มีพรรณพืชมาปกคลุม กระแสลมจะพัดพาเศษกรวด ดิน หิน ทราย ไปปะทะกับสิ่งกีดขวางทำให้เกิดภูมิลักษณะต่าง ๆ เช่น โขดหินรูปเห็ด เขาโดดในทะเลทราย แอ่งพัดกราดในทะเลทราย สันทรายและเนินทรายรูปต่าง ๆ
                    การกร่อนโดยแรงโน้มถ่วงของโลกสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกจะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้ตกลงสู่ที่ต่ำหรือตกสู่พื้นโลกเสมอ ดังนั้น ส่วนต่าง ๆ ของเปลือกโลกจึงถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกเกิดการกร่อน เช่น ภูเขาหินปูนถล่มเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก


          การพัดพาและทับถม
          การพัดพา (transportation) และการทับถม (deposition) เป็นกระบวนการที่เศษหิน กรวด ดิน หรือตะกอนต่าง ๆ รวมเรียกว่า วัตถุพัดพา ถูกกระแสน้ำพัดพาไปเสียดสีกับหินอื่นหรือท้องน้ำทำให้สึกกร่อน และเมื่อการไหลของน้ำอ่อนกำลังหรือหยุดลง ตะกอนที่พัดพามาจะเกิดการสะสมตัวทับกันเป็นชั้น ๆ ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ เช่น
          1. ทางน้ำโค้งตวัดหรือบึงโค้ง เกิดจากน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำมีการกัดเซาะข้างลำธาร สลับกับการทับถมของตะกอนตามชายฝั่งที่อยู่ตรงข้าม ทำให้เกิดทางน้ำที่คดโค้งไปมา เรียกว่า ทางน้ำโค้งตวัด เมื่อน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลไปตามร่องน้ำที่เกิดใหม่ ร่องน้ำเก่าจะถูกตะกอนทับถมให้สูงขึ้นจนกลายเป็นบึงโค้ง หรือทะเลสาบรูปแอก (mort lake)
           การกร่อนของฝั่งน้ำหรือตลิ่งจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความคดเคี้ยว ความลาดชันของท้องน้ำ ความเร็วและความแรงของกระแสน้ำ ถ้าฝั่งน้ำมีความคดเคี้ยวน้อย ท้องน้ำมีความลาดชันน้อย กระแสน้ำไหลช้า ริมฝั่งก็จะมีการกร่อนน้อย ตะกอนจะถูกพัดพาไปได้ไม่ไกล แต่ถ้าฝั่งน้ำมีความคดเคี้ยวมาก ท้องน้ำมีความลาดชันมาก กระแสน้ำไหลเร็วและแรง ริมฝั่งก็จะมีการกร่อนมาก ตะกอนจะถูกพัดพาไปได้ไกล
          2. ที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) หรือที่ราบลุ่มน้ำ เกิดจากปริมาณน้ำที่ไหลไปตามลำน้ำมีมากเกินกว่าร่องน้ำจะรับได้ น้ำจึงเอ่อล้นไปยังที่ราบ 2 ฟากฝั่ง และเกิดการทับถมของตะกอนน้ำพาอยู่ตามบริเวณชายฝั่งใกล้ลำน้ำ และยังทำให้เกิดคันดินธรรมชาติ ซึ่งเป็นตะกอนที่ทับถมกันเป็นเนินหรือเป็นสันขนานไปกับชายฝั่งของลำน้ำ ที่ราบน้ำท่วมถึงนี้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเพาะปลูก
          3. เนินตะกอนรูปพัด เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากหุบเขาชันลงสู่หุบเขาหรือที่ราบ ทำให้น้ำมีความเร็วลดลง และไม่สามารถพัดพาตะกอนต่าง ๆ ต่อไปได้ จึงเกิดการทับถมของตะกอนน้ำพาแผ่กระจายเป็นรูปพัดขึ้นมาในบริเวณปากหุบเขาชัน เรียกว่า เนินตะกอนน้ำพารูปพัด ถ้าตะกอนสะสมตัวพูนสูงขึ้นเป็นรูปกรวย เรียกว่า เนินตะกอนน้ำพารูปกรวย
          4. ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เมื่อกระแสน้ำไหลออกสู่ทะเล กระแสน้ำบริเวณปากแม่น้ำจะไหลช้าลง ทำให้มีตะกอนที่ไหลมาพร้อมกับกระแสน้ำทับถมสะสมอยู่ตลอดเวลา ตะกอนก็ทับถมกันมากขึ้นจนกระทั่งมีระดับสูงพ้นน้ำกลายเป็นแผ่นดินแผ่กระจายออกตรงปากน้ำ มีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม จึงเรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยม (delta) ดินดอนสามเหลี่ยมก็จะมีลักษณะและขนาดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณของตะกอนที่กระแสน้ำพัดพามา รวมทั้งความรุนแรงของคลื่น และกระแสน้ำในบริเวณปากแม่น้ำสายนั้น ๆ


          การตกผลึก
          แก๊สบางชนิด เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปนอยู่ในอากาศ จะรวมตัวน้ำฝนที่ตกลงมา น้ำฝนจะมีสภาพเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3) ที่ น้ำฝนจะละลายสารประกอบในหินปูน เช่น แคลไซต์ ออกมา หยดน้ำที่มีแร่แคลไซต์ละลายอยู่นี้ เมื่อน้ำระเหยออกไปหมดจะทำให้แคลไซต์ตกผลึก และหนาขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นหินงอก หินย้อย


ตอนที่ 2 ดิน
ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้




 

กระบวนการเกิดดิน
          ดินเกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ จนได้วัตถุต้นกำเนิดดิน และเมื่อรวมผสมคลุกเคล้ากับฮิวมัส (humus)  (เป็นอินทรียวัตถุ เช่น ซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์) โดยมีสิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินช่วยย่อยสลายก็จะกลายเป็นดิน (soil) ซึ่งลักษณะดินในแต่ละบริเวณจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับธรณีสัณฐาน (landform) สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ดินอยู่

ลักษณะทั่วไปของดิน
          1. องค์ประกอบของดิน
                     ดินประกอบด้วยดินเหนียว (clay) ทรายแป้ง (silt) ทราย เศษหิน สารอินทรีย์ น้ำ และแก๊สต่าง ๆ ในอัตราส่วนต่าง ๆ กัน แต่โดยทั่วไปอัตราส่วนขององค์ประกอบต่าง ๆ มีดังนี้
                  1. แร่ธาตุ ประมาณร้อยละ 45 ได้จากการสลายตัวของหินและแร่
                  2. อินทรียวัตถุ ประมาณร้อยละ 5 เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพังของซากพืชซากสัตว์
                  3. น้ำ ประมาณร้อยละ 25 อยู่ในช่องว่างระหว่างดิน
                  4. อากาศ ประมาณร้อยละ 25 ได้แก่ แก๊สต่าง ๆ ที่อยู่ในช่องว่างระหว่างดิน
          2. ชั้นหน้าตัดดิน
                     เมื่อใช้ระดับความลึกและส่วนประกอบของดินในแต่ละชั้นเป็นเกณฑ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชั้น




                  1. ชั้น O : ชั้นอินทรียวัตถุ อยู่บริเวณผิวดิน มีการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ จึงมีฮิวมัสอยู่มาก เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช
                  2. ชั้น A : ชั้นดินแร่ ประกอบด้วยสารอินทรีย์ที่สลายตัวแล้วผสมคลุกเคล้ากับแร่ธาตุที่อยู่ในดิน
                  3. ชั้น B : ชั้นสะสมของแร่ มีการสะสมตะกอนและแร่ที่มีองค์ประกอบของเหล็ก อะลูมิเนียมคาร์บอเนต และซิลิกา ที่ถูกชะล้างมาจากดินชั้นบน ทำให้ดินมีเนื้อแน่น มีความชื้นสูง และมีจุดประ (mottle) สีส้มแดงกระจายอยู่ทั่วไปในชั้นหน้าตัดดิน ส่วนมากจะเป็นดินเหนียว
                  4. ชั้น C : ชั้นการผุพังของหิน มีหินผุและเศษหินที่เกิดจากการแตกหักของหินดาน ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดของดิน
                  5. ชั้น R : ชั้นหินดาน เป็นชั้นหินที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน ยังไม่มีการผุสลายตัวเป็นดิน
          3. เนื้อดิน
                    ดินแต่ละแห่งจะมีลักษณะของเนื้อดินแตกต่างกัน เนื่องจากมีปริมาณของทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวที่ผสมกันอยู่ในดินต่างกัน จำแนกดินได้เป็น 3 ประเภท คือ
                  1. ดินทราย ประกอบด้วยอนุภาคของทราย ซึ่งมีขนาดใหญ่ประมาณ 0.05–2 มิลลิเมตร ประมาณร้อยละ 65 ขึ้นไปโดยน้ำหนัก และมีทรายแป้งและดินเหนียวประมาณร้อยละ 20 และ 15 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ เม็ดดินมีขนาดใหญ่ มีความพรุนมาก น้ำซึมผ่านง่ายและไม่อุ้มน้ำ
                  2. ดินเหนียว ประกอบด้วยอนุภาคของดินเหนียว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 0.002 มิลลิเมตร ตั้งแต่ร้อยละ 40 ขึ้นไปโดยน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีทรายแป้งและทรายประมาณร้อยละ 45 และ 10 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ มี เนื้อแน่นและละเอียด ลื่นมือ ความพรุนน้อย น้ำซึมผ่านได้ยากและอุ้มน้ำได้ดี
                  3. ดินร่วน ประกอบด้วยอนุภาคของทราย โคลนตม และดินเหนียว โดยมีปริมาณดินเหนียวไม่มากนัก ซึ่งส่วนประกอบของดินร่วนจะมีทรายแป้ง ทราย และดินเหนียวประมาณร้อยละ 42 40 และ 18 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ เนื้อดินมีความพรุนมาก ค่อนข้างโปร่ง น้ำและอากาศไหลผ่านดินได้ดีกว่าดินเหนียว และอุ้มน้ำได้ดีกว่าดินทราย
          4. สีของดิน
                   สีของดินเป็นสมบัติที่สะท้อนถึงสภาพแวดล้อม กระบวนการเกิดดิน แร่ที่เป็นองค์ประกอบดิน สภาพการระบายน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้นได้ เช่น
                   – ดินสีน้ำตาลหรือสีดำ เป็นดินที่ มีอินทรียวัตถุมาก มีความอุดมสมบูรณ์สูง ในบริเวณที่ลุ่มต่ำ หน้าดินจะมีสีคล้ำ และดินด้านล่างมีสีเทา แสดงว่า ดินมีการระบายน้ำไม่ดี
                   – ดินสีขาวหรือสีเทาอ่อน เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีการระบายน้ำดี อาจเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดมีสีจาง หรือมีทรายปนอยู่มาก
                   – ดินสีเหลืองหรือสีแดง เป็นดินที่มีการผุพังสลายตัวสูง มีออกไซด์ของเหล็กปนอยู่มาก มักพบบริเวณที่สูงตามเนินเขา
                   – ดินสีเทาปนน้ำเงิน เป็นดินที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา มีการระบายน้ำไม่ดี มีสารประกอบของเหล็กที่มีสีเทา พบบริเวณนาข้าวที่มีน้ำขัง
                   – ดินสีประ หรือดินที่มีหลายสีผสมกัน เป็นดินที่อยู่ในสภาพที่มีน้ำแช่ขังสลับกับสภาพที่ดินแห้ง มักพบในดินนาซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร
 

สมบัติบางประการและการปรับปรุงคุณภาพของดิน
          ความเป็นกรด–เบสของดิน
                    ความเป็นกรด–เบสของดิน ตรวจสอบจะทำโดยนำดินมาผสมกับน้ำกลั่น ใช้แท่งแก้วคนให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน แล้วนำส่วนที่เป็นของเหลวไปทดสอบความเป็นกรด–เบสของดินโดยใช้อินดิเคเตอร์ อินดิเคเตอร์ที่นิยมใช้ คือ
                    1. กระดาษลิตมัส มี 2 สี คือ สีแดงและน้ำเงิน ซึ่งจะให้ผลดังนี้
                              – ดินที่เป็นกรดจะเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง แต่ไม่เปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสสีแดง
                              – ดินที่เป็นเบสจะเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากสีแดงเป็นสีน้ำเงิน แต่ไม่เปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสสีน้ำเงิน
                              – ดินที่เป็นกลางจะไม่เปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสทั้งสีน้ำเงินและสีแดง
                    2. ยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์ มีทั้งชนิดสารละลายและกระดาษ ถ้าเป็นแบบกระดาษจะสีเหลืองและมีแผ่นเทียบสีค่า pH ตั้งแต่ 1–14 ถ้านำดินที่เป็นกรดมาทดสอบจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีส้ม แดง หรือส้มแดง แต่ถ้านำดินที่เป็นเบสมาทดสอบจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงิน
                    นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบความเป็นกรด–เบสของดินได้จากโดยใช้หัววัดของเครื่องวัด pH จุ่มลงไปในสารละลาย ผลที่ได้จะแสดงออกมาเป็นตัวเลข โดยดินที่เป็นกรดจะมีค่า pH น้อยกว่า 7 ถ้าดินที่เป็นกลางจะมีค่า pH เท่ากับ 7 และถ้าดินที่เป็นเบสจะมีค่า pH มากกว่า 7
                    โดยปกติดินจะมีค่า pH อยู่ในช่วง 4.0-10.0 ความเป็นกรด–เบสของดินจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช เพราะพืชจะนำธาตุอาหารที่อยู่ในดินไปใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับค่า pH เช่น ธาตุฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปสารละลาย พืชสามารถดูดไปใช้ได้ง่าย เมื่อดินมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.0-7.0 และจุลินทรีย์ต่าง ๆ ในดินจะเจริญเติบโตและทำงานได้ดี เมื่อดินมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.0-7.0 เป็นต้น

          การปรับปรุงคุณภาพของดิน
                    กรมพัฒนาที่ดินได้จำแนกดินในบริเวณต่าง ๆ ในประเทศไทยออกเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่า ชุดดิน โดยในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีลักษณะแตกต่างกัน บริเวณเขตภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม ถ้าเป็นบริเวณที่มีน้ำมากจะปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นบริเวณภูเขาดินจะมีสีดำเข้ม ร่วนซุย จึงเหมาะต่อการปลูกพืชไร่ และในบริเวณริมแม่น้ำส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนและดินร่วนค่อนข้างเหนียว ส่วนดินในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนมากจะเป็นดินทราย เราจึงควรใช้ประโยชน์จากดินในแต่ละบริเวณให้ห้เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับดินที่อาจตามมาได้

          สาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อมสภาพและขาดความอุดมสมบูรณ์ มีดังนี้
                    1. การชะล้างพังทลายของหน้าดินจากการกระทำของธรรมชาติ ทำให้ผิวดินขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่า จะทำให้พืชที่คลุมดินถูกทำลาย เมื่อฝนตกลงมาก็จะเกิดการกัดเซาะหน้าดิน ปุ๋ยและแร่ธาตุในดินจึงถูกชะล้างไป
                    2. การปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำเดิมเป็นเวลานาน ทำให้ปุ๋ยและแร่ธาตุบางชนิดที่อยู่ในดินลดน้อยลง
                    3. การขาดความรู้ความเข้าใจ และใช้ดินอย่างไม่ระมัดระวัง เช่น เผาพืชหรือหญ้าในไร่นา ทำให้แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและจุลินทรีย์ในดินถูกทำลายไป และการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพและมีสารพิษตกค้างอยู่ในดิน

          การปรับปรุงคุณภาพของดิน
                    1. การใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มแร่ธาตุในดิน และยังช่วยให้ดินมีความพรุนมากขึ้น น้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งมีวิธีการดังนี้
                         1. การใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้กับพืช
                         2. การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จะช่วยให้ดินมีความพรุนมากขึ้น เนื้อดินไม่แน่น และอุ้มน้ำได้ดี เช่น ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสด ซึ่งจะต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
                   2. การใช้สารเคมีปรับสภาพดินที่มีปัญหา มีแนวทางแก้ไขดังนี้
                        1. ดินเปรี้ยว เป็นดินที่มีสภาพเป็นกรด โดยทั่วไปจะแก้ไขโดยใส่ปูนขาวหรือดินมาร์ลที่มีสภาพเป็นด่างลงในดิน เพื่อปรับให้ดินมีสภาพเป็นกลาง
                        2. ดินเค็ม เป็นดินที่มีเกลืออยู่ในปริมาณมาก แก้ไขโดยใช้น้ำจืดชะล้าง และอาจเติมผงกำมะถันหรือแคลเซียมซัลเฟตลงไปในดิน เพื่อปรับให้ดินกลายเป็นเกลือซัลเฟต จะได้ใช้น้ำชะออกมาได้ง่าย
                        3. ดินฝาด เป็นดินที่มีสภาพเป็นเบสสูง ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช และการแก้ไขทำได้ยาก และซับซ้อน
                   3. การปลูกพืชเพื่อป้องกันดินเสื่อมสภาพ มีแนวทางดังนี้
                        1. ปลูกพืชหมุนเวียน เป็นการปลูกพืชต่างชนิดกันบนพื้นที่เดียวกันหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินตลอดเวลา
                        2. การปลูกพืชสลับแถว เป็นการปลูกพืชต่างชนิดลงบนพื้นที่แปลงเดียวกัน โดยทำในพื้นที่ที่เป็นไหล่เขา มีความลาดเอียงของพื้นที่มากกว่าท้องทุ่งที่เป็นที่ราบ จะช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลและลมที่พัดได้ 
                        3. การปลุกพืชคลุมดิน เป็นการปลูกวัชพืชชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้า เช่น หญ้าแฝก คลุมดินระหว่างแถวที่ปลูกพืชสวนหรือพืชไร่ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน ทำให้ดินพังทลายได้ยากขึ้น
                        4. การปลูกพืชกำบังลม
                        5. การปลูกป่าหรือการปลูกพืชแบบวนเกษตร เป็นการปลูกต้นไม้ควบคู่กับพืชเกษตรบนพื้นที่เดียวกัน จะช่วยอนุรักษ์ให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น
                        6. ปลูกพืชตามแนวระดับ ขวางการลาดเอียงของพื้นที่
                        7. ปลูกพืชแบบขั้นบันได ลดการกร่อนของดินและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน


ตอนที่ 3 หินและแร่
ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้




 

หินและแร่
          หินเป็นของแข็งที่ประกอบด้วยแร่ชนิดเดียวหรือหลายชนิดที่เกาะรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ

ลักษณะทั่วไปของหิน
          หินมีลักษณะทางกายภาพและสมบัติทางเคมีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการเกิดและองค์ประกอบของหินแต่ละชนิด ดังนี้
          ลักษณะทางกายภาพของหิน เป็นลักษณะที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า เช่น สี เนื้อหิน การเรียงตัวเป็นชั้น และซากดึกดำบรรพ์ที่อยู่ในหิน และยังสามารถใช้แว่นขยายส่องดูเพื่อสังเกตหินอย่างละเอียดได้
          สมบัติทางเคมีของหิน สามารถทดสอบได้โดยการหยดกรดบางชนิด เช่น กรดไฮโดรคลอริก ลงไปในหิน ถ้าหินชนิดใดทำปฏิกิริยากับกรดจะมีฟองแก๊สเกิดขึ้น

          เมื่อแบ่งหินออกตามลักษณะการเกิดจะสามารถแบ่งหินได้เป็น 3 ประเภท คือ หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร ซึ่งจะมีกระบวนการเกิดและสมบัติทั่วไปที่แตกต่างกัน ดังนี้
          หินอัคนี
          การเกิดหินอัคนี
          หินอัคนี (igneous rock) มีกระบวนการเกิดอยู่ 2 แบบ คือ หินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวของหินหนืดหรือแมกมา (magma) ใต้เปลือกโลก โดยแมกมาที่มีอุณหภูมิสูงจะดันแทรกตัวขึ้นมาสู่เปลือกโลกระดับหนึ่ง แล้วอุณหภูมิลดลง และเย็นตัวลงพร้อมกับเกิดการแข็งตัวอย่างช้า ๆ ก่อนที่จะออกสู่ผิวโลก เกิดเป็นหินที่เรียกว่า หินอัคนีแทรกซอน (intrusive igneous rock) เช่น หินแกรนิต หินไดออไรต์ หินแกบโบร และหินแพริโดไทต์
          ส่วนการเกิดหินอัคนีอีกลักษณะหนึ่ง คือ เกิดจากการแข็งตัวของลาวาบนพื้นผิวโลก เมื่อภูเขาไฟปะทุ แมกมาจะพุ่งขึ้นมาบนผิวโลกเป็นของเหลวร้อนที่เรียกว่า ลาวา แล้วลาวาจะเย็นลงและแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้หินอัคนีที่มีลักษณะเป็นรูพรุน เช่น หินพัมมิซ และหินสคอเรีย แต่บางชนิดจะมีเนื้อเนียนเป็นแก้ว เช่น หินออบซิเดียน ส่วนลาวาที่ดันตามขึ้นมาภายหลังแล้วไหลไปตามพื้นโลกและแข็งตัวเป็นผลึกที่ผิวโลก ซึ่งมีขนาดเล็กและเนื้อแน่น เรียกว่า หินอัคนีพุ (extrusive rock) หรือหินภูเขาไฟ เช่น หินไรโอไรต์ หินบะซอลต์ และหินแอนดีไซต์ ลาวาที่พ่นออกมาอาจนำแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ จากเปลือกโลกขึ้นมาด้วย พอแข็งตัวจึงมีผลึกที่มีสีสันต่างกัน เกิดเป็นหินบะซอลต์ ถ้ามีสีอ่อนจะประกอบด้วยผลึกของแร่ควอตซ์และแร่เฟลด์สปาร์สีอ่อนซึ่งตกผลึกที่อุณหภูมิต่ำ แต่ถ้ามีสีเข้มจะประกอบด้วยผลึกของแร่โอลิวีนและแร่ไพรอกซีน ซึ่งตกผลึกที่อุณหภูมิสูง

          ชนิด แหล่งที่พบ และประโยชน์ของหินอัคนี
                    1. หินแกรนิต เกิดจากการเย็นตัวของแมกมาอย่างช้า ๆ ใต้ผิวโลก มีเนื้อหยาบถึงหยาบมาก เนื้อหินสม่ำเสมอ สีอ่อน อาจมีดอกดวง และมีผลึกแร่เกาะประสานกันแน่น นำมาใช้ทำหินประดับ ปูพื้นผนังอาคาร และหินแกะสลัก หินแกรนิตบางชนิดยังเป็นต้นกำเนิดของแร่ดีบุกอีกด้วย
                    2. หินบะซอลต์ เกิดจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็วของลาวาบนผิวโลก มีเนื้อแน่น ละเอียด สีดำเข้ม มักมีรูพรุน ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หินบะซอลต์ในบางบริเวณจะเป็นต้นกำเนิดของอัญมณี 
                    3. หินออบซิเดียน เกิดจากการเย็นตัวของลาวาอย่างรวดเร็ว พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะบริเวณภูเขาไฟ ในอดีตใช้ในการทำอาวุธ ในปัจจุบันใช้ประดับตกแต่งวัตถุขนาดเล็ก
                    4. หินไรโอไลต์ เกิดจากลาวาไหลขึ้นมาบนผิวโลกแล้วนำแร่ธาตุต่าง ๆ ขึ้นมาด้วย อาจมีแร่ดอกสีอ่อน มีน้ำหนักเบา ประกอบด้วยแร่ควอตซ์ (quartz) เฟลด์สปาร์ (feldspar) และแร่อื่น ๆ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกและก่อสร้าง
                    5. หินพัมมิซ เกิดจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็วของลาวาที่พุ่งออกมาจากภูเขาไฟที่ปะทุ แต่ขณะที่เย็นตัวมีฟองแก๊สผุดขึ้นจึงทำให้หินมีรูพรุนและเบาจนลอยน้ำได้ มีสีขาว สีเทาอ่อน หรือสีครีม เมื่อถูกอากาศสีจะเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลเหลือง พบบริเวณชายทะเล นำมาใช้ทำวัสดุขัดถูภาชนะ
                    6. หินแกบโบร เกิดจากการเย็นตัวและแข็งตัวของแมกมาอย่างช้า ๆ จึงมีเนื้อหยาบ ผลึกแร่ใหญ่ สีเข้ม ประกอบด้วยแร่ไพรอกซีน (pyroxene) และโอลิวีน (olivine) อยู่เป็นกลุ่มก้อน มีขนาดเล็กกว่าหินแกรนิต ใช้ในการก่อสร้างและการผลิตนิกเกิล เหล็ก และทองแดง และใช้เป็นหินประดับ 

          หินตะกอน
          การเกิดหินตะกอน
          หินตะกอน (sedimentary rock) เกิดจากการทับถมของโคลน ตะกอน สารต่าง ๆ ที่เกิดจากการผุพังของหินและถูกพัดพามาทับถมกันใต้ทะเลหรือแอ่งน้ำ และมีวัตถุประสานภายใต้ความร้อนและความดันสูง จนกลายเป็นหินตะกอน ซึ่งขั้นตอนพื้นฐานในการเกิดหินตะกอนมี 4 ขั้น ดังนี้
                    1. การผุพัง (weathering) จากการกระทำของลมและกระแสน้ำ หินจะกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก
                    2. การกัดเซาะ (erosion) หินที่ผุพังจะถูกกัดเซาะโดยกระแสลมและน้ำ
                    3. การตกตะกอน (deposition) ตะกอนที่เกิดจากการกัดเซาะจะตกตะกอนสะสมอยู่บนผิวโลกจนเป็นชั้นหนา
                    4. การฝังหรือการกดทับ (burying) ตะกอนที่สะสมจะได้รับแรงกดจากน้ำหนักของตะกอนทำให้ตะกอนอัดแน่นมากขึ้น สารที่แทรกอยู่ระหว่างรูพรุนของเม็ดตะกอน เช่น น้ำปูน น้ำสนิมเหล็ก น้ำซิลิกา และน้ำโคลน จะเป็นวัตถุเชื่อมประสานให้ตะกอนยึดติดกันแน่นขึ้น

          ตะกอนขนาดใหญ่ตกตะกอนลงไปก่อน และตะกอนขนาดเล็กจะตกตะกอนทีหลัง จึงเกิดการทับถมเป็นชั้นตะกอนที่ขนานกันและเรียงลำดับขนาดตะกอนจากเม็ดใหญ่ขึ้นไปสู่เม็ดเล็ก เมื่อเวลาผ่านไปตะกอนเหล่านี้จะแข็งตัวเป็นหิน เรียกลักษณะของชั้นหินแบบนี้ว่า การวางชั้นแบบเรียงขนาด (graded bedding)  

          ชนิด แหล่งที่พบ และประโยชน์ของหินตะกอน
          ในแต่ละท้องถิ่นจะมีชนิดของหินตะกอนที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดและกระบวนการเกิด
 

กระบวนการเกิด

ตัวอย่างหินตะกอน

1. หินตะกอนชนิดเม็ด เกิดจากกระบวนการสะสมและทับถมของตะกอนต่าง ๆ เป็นหินตะกอนที่พบมากที่สุด

หินทราย หินทรายแป้ง หินกรวดมน หินกรวดเหลี่ยม และหินดินดาน

2. หินตะกอนที่เกิดจากการย่อยสลายและแปรสภาพของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ

ถ่านหิน หินปูนจากซากปะการัง

3. หินตะกอนที่เกิดจากการระเหยของน้ำในสารละลาย หรือเกิดจากการสะสมของสารที่ละลายอยู่ในน้ำ

เกลือหิน หินปูนที่ตกตะกอนจากน้ำทะเล

 

                    1) หินทราย มีเนื้อหยาบถึงละเอียด มีลักษณะเป็นเม็ดทรายอัดกันแน่น โดยมีเหล็กออกไซด์และซิลิกาเป็นวัตถุ ใช้ในการก่อสร้างและทำหินประดับ
                    2) หินดินดานและหินโคลน หินดินดานมีเนื้อละเอียดมาก ประกอบด้วยแร่ดินเหนียว มีลักษณะเป็นชั้นหรือมีแนวแตกถี่ แต่ถ้าเนื้อหินประกอบด้วยดินเหนียวและทรายแป้ง จะไม่มีแนวถี่และไม่เป็นชั้นชัดเจน จะเป็นหินโคลน นำมาใช้ในการผสมทำปูนซีเมนต์ และใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก
                    3) หินกรวดมนและหินกรวดเหลี่ยม มีเนื้อหยาบ ถ้าประกอบด้วยหินกรวดที่มีลักษณะมน เรียกว่า หินกรวดมน แต่ถ้าประกอบด้วยหินกรวดที่มีลักษณะเหลี่ยม เรียกว่า หินกรวดเหลี่ยม นำมาใช้ในการก่อสร้างและใช้เป็นหินประดับ
                    4) หินปูน มีเนื้อแน่น ประกอบด้วยแร่แคลไซต์เป็นส่วนมาก ใช้ทำปูนซีเมนต์ ปูนขาว และใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังและน้ำตาล
                    5) หินคาร์บอน เกิดจากการสะสมของซากสิ่งมีชีวิตจำพวกพืชที่ปรากฏอยู่ตามป่าหรือมาบ (ที่ลุ่มกว้างใหญ่) เมื่อตะกอนของซากพืชเหล่านี้ถูกแรงกดดันมาก ๆ ก็จะอัดตัวกันแน่นกลายเป็นหินคาร์บอนที่มักพบในรูปของถ่านหินนั่นเอง

          หินแปร
          กระบวนการเกิดหินแปร
          การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของธาตุต่าง ๆ ในหินเดิม และโครงสร้างผลึกก็เปลี่ยนแปลงไป จะเกิดเป็นหินชนิดใหม่ที่มีสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และแร่เดิมที่อยู่ในหินอาจมีการเรียงตัวใหม่เป็นแบบริ้วขนาน (foliation) เป็นแถบลายสลับสีหรือเกิดการตกผลึกใหม่ เรียกหินที่เกิดใหม่จากกระบวนการนี้ว่า หินแปร (metamorphic rock)

          ชนิด แหล่งที่พบ และประโยชน์ของหินแปร
                    1. หินชนวน แปรสภาพมาจากหินดินดานและหินทัฟฟ์ มีแร่ควอตซ์และไมกา (mica) เป็นส่วนประกอบสำคัญ มีเนื้อละเอียด เป็นแผ่นบาง ๆ แซะเป็นแผ่นได้ง่าย นำมาใช้ทำหินประดับ ปูพื้น และมุงหลังคา 
                    2. หินฟิลไลต์ แปรสภาพมาจากหินดินดานและหินทัฟฟ์ มีลักษณะคล้ายหินชนวนแต่เนื้อหยาบกว่า มีไมกาเป็นส่วนประกอบมากขึ้นผิวหน้าจึงเรียบเป็นมัน นำมาใช้ทำหินประดับ
                    3. หินชีสต์ แปรสภาพมาจากหินดินดานและหินทัฟฟ์ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยไมกา ฮอร์นเบลนด์ และควอตซ์ มีลักษณะเป็นแผ่นแร่เรียงตัวในแนวขนานกัน มีเนื้อหยาบ พบทั่วไปบริเวณใกล้แหล่งหินอัคนี นำมาใช้ทำหินประดับ
                    4. หินไนส์ แปรสภาพมาจากหินทรายและหินแกรนิต มีลักษณะเป็นริ้วขนาน เนื้อแน่นและแข็งจะมีแถบของแร่ต่าง ๆ ถ้าเป็นไบโอไทต์และฮอร์นเบลนด์จะมีสีเข้ม แต่ถ้าเป็นควอตซ์และเฟลด์สปาร์จะมีสีจาง พบตามเชิงเขาที่เกิดเป็นหินชั้น นำมาใช้ทำหินประดับและครก
                    5. หินควอร์ตไซต์ แปรสภาพมาจากหินทราย มีลักษณะเป็นเม็ด เนื้อแน่นแข็ง ละเอียด สีขาวบริสุทธิ์หรือสีครีม ประกอบด้วยแร่ควอตซ์เป็นส่วนใหญ่ มักอยู่รวมกับหินแปรอื่น นำมาใช้ในการทำหินก่อสร้างและหินประดับ
                    6. หินอ่อน แปรสภาพมาจากหินปูนและหินโดโลไมต์ ประกอบด้วยผลึกของแร่แคลไซต์ มีเนื้อละเอียดถึงหยาบ เนื้อแน่น มีหลายสี นำมาใช้ในการก่อสร้างและทำหินประดับ 

            หินแต่ละชนิดจะมีกระบวนการเกิด การดำรงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงอย่างสัมพันธ์กัน หมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไป เรียกกระบวนการดังกล่าวว่า วัฏจักรของหิน



 

          กระบวนการทางธรณีวิทยาที่ทำให้เกิดวัฏจักรของหิน มีดังนี้
                    1. การหลอมเหลว กระบวนการนี้ทำให้หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร เกิดการหลอมเหลวเป็นหินหนืด ที่เมื่อเย็นตัวลงจะเกิดการตกผลึกกลายเป็นหินอัคนีอีก
                    2. การผุพังและการกัดเซาะ กระบวนการนี้ทำให้หินแตกออกเป็นเศษหินชิ้นเล็กชิ้นน้อย และจะถูกพัดพามาทับถมกลายเป็นตะกอนทับถมแล้วผ่านกระบวนการอัดตัว การเชื่อมประสาน การแทนที่ การระเหยของน้ำ และการเปลี่ยนแปลงรูปผลึก จนทำให้หินเหล่านี้กลายเป็นหินตะกอน
                    3. การแปรสภาพ กระบวนการนี้เกิดจากการที่หินได้รับความร้อน ความกดดัน การเคลื่อนที่ของเปลือกโลก และปฏิกิริยาทางเคมีของของเหลวและแก๊ส จนทำให้ลักษณะเนื้อหินหรือส่วนประกอบเปลี่ยนแปลงไป หรือเปลี่ยนไปทั้ง 2 อย่าง ทำให้เกิดหินแปร

แร่
          แร่เป็นส่วนประกอบของเปลือกโลก มีลักษณะทางโครงสร้างและส่วนประกอบทางเคมีที่แน่นอนหรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ในวงที่จำกัด เกิดจากการตกผลึกของธาตุและสารประกอบเมื่อสภาวะแวดล้อมธรรมชาติอยู่ภายใต้อุณหภูมิและความดันที่เหมาะสม กระบวนการเกิดแร่มีผลต่อโครงสร้างของแร่ โดยแร่แต่ละชนิดจะมีการเรียงตัวของธาตุที่เป็นองค์ประกอบต่างกันจึงทำให้แร่มีสมบัติต่างกัน

          ลักษณะและสมบัติทางกายภาพของแร่
          โดยทั่วไปจะนิยมตรวจสอบสมบัติของแร่ด้วยวิธีการทางกายภาพ โดยสามารถตรวจสอบได้ดังนี้
                    1. สี (colour) เป็นสมบัติเฉพาะตัวของแร่ที่เห็นเด่นชัด แต่ไม่เหมาะที่จะยึดเป็นเกณฑ์ที่ตายตัว เพราะแร่บางชนิดอาจมีหลายสี หรือแร่บางชนิดอาจมีสีคล้ายกัน เช่น
                              – แร่ควอตซ์ ถ้ามีสีม่วงใสเรียกว่า แอเมทิสต์ หรือพลอยสีดอกตะแบก ถ้ามีผลึกใสรวมกันอยู่เรียกว่า โป่งข่าม
                              – พลอย ถ้ามีสีแดงเรียกว่า ทับทิม สีน้ำเงินเรียกว่า ไพลิน สีเหลืองเรียกว่า บุษราคัม และสีเขียวเรียกว่า เขียวส่อง
                              นอกจากนี้แร่ชนิดอื่นก็มีสีต่างกันไป เช่นเหล็กมีสีดำ แร่กำมะถันมีสีเหลือง  
                    2. สีผงละเอียด (streak) เมื่อนำแร่มาทำให้เป็นผงละเอียดจึงจะสังเกตเห็นว่ามีสีแตกต่างกัน การตรวจสีผงละเอียดจึงจะทำให้ทราบว่าเป็นสีของแร่ชนิดใด เช่น
                    3. ผลึก (crystal) เป็นรูปร่างลักษณะเป็นเหลี่ยมเป็นมุมของแร่ซึ่งเป็นสมบัติเฉพาะตัวของแร่แต่ละชนิดที่เห็นได้เด่นชัด 
                    4. ความแข็ง (hardness) แร่ต่างชนิดกันจะมีความแข็งต่างกัน ขึ้นอยู่กับการจับตัวของโมเลกุลและอะตอมของแร่ ระดับความแข็งของแร่ชนิดต่าง ๆ ได้มีการจัดไว้ตามมาตรฐานความแข็งของโมส์



 

                    5. ความวาว (luster) คือ สมบัติการสะท้อนแสง ซึ่งแร่แต่ละชนิดอาจมีความวาวแบบโลหะ แบบแก้ว หรือแบบน้ำมัน
                   6. การให้แสงผ่าน แบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ
                             – โปร่งใส ได้แก่ แร่ที่ใสจนมองผ่านจากข้างหนึ่งทะลุออกไปอีกข้างหนึ่งได้ เช่น แร่ควอตซ์บริสุทธิ์ และแร่มัสโคไวต์
                             – โปร่งแสง ได้แก่ แร่ที่ยอมให้แสงผ่านได้ แต่ไม่สามารถมองทะลุผ่านได้ เช่น แร่แคลไซต์ และแร่ยิปซัม
                             – ทึบแสง ได้แก่ แร่ที่ไม่ยอมให้แสงผ่านเลยแม้แต่ตรงขอบบาง ๆ หรือริม ๆ เช่น แร่แกรไฟต์
                   7. รอยแตก (fracture) เป็นสมบัติของแร่ที่แตกออกตามแนวระนาบของผลึก ซึ่งแร่บางชนิดเท่านั้นที่มีรอยแตก เช่น แร่ไมกามีแนวแตกเป็นแผ่นบางได้
                   8. ความถ่วงจำเพาะ (specific gravity) คือ ความหนาแน่นสัมพัทธ์ของแร่ (อัตราส่วนระหว่างความหนาแน่นของแร่ต่อความหนาแน่นของน้ำ) หรือเป็นอัตราส่วนระหว่างน้ำหนักของแร่ต่อน้ำหนักของน้ำที่มีปริมาตรเท่าแร่ ความหนาแน่นสัมพัทธ์ของแร่และความถ่วงจำเพาะของแร่สามารถหาได้ดังนี้




          ชนิดและประโยชน์ของแร่
                    1. กลุ่มแร่ประกอบหิน คือ แร่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญภายในหิน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น
                               1. แร่ควอตซ์ ใช้ในอุตสาหกรรมแก้วหรือทำวัสดุขัดสี เช่น กระดาษทราย ทำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ทำเครื่องมือทางแสง เช่น ปริซึม เลนส์ และเครื่องประดับ
                               2. แร่เฟลด์สปาร์ ใช้เป็นตัวเคลือบผิวในอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ
                               3. แร่ไมกา ใช้ทำฉนวนไฟฟ้าหรือทำเป็นวัตถุโปร่งใสในการทำตะเกียง เศษที่เหลือจากการทำฉนวนจะถูกนำมาใช้ทำกระดาษปิดฝาผนัง ทำให้ฝาผนังมีความแวววาว ใช้ผสมกับน้ำมันทำเป็นตัวหล่อลื่น หรือใช้ทำวัสดุทนไฟ
                    2. กลุ่มแร่เศรษฐกิจ คือ แร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท คือ แร่โลหะกับแร่อโลหะ
                               1. แร่โลหะ จะอยู่ในรูปของสารประกอบออกไซด์ของโลหะ ซึ่งประกอบด้วยโลหะกับออกซิเจน ดังนั้น ก่อนนำมาใช้ประโยชน์จะต้องถลุงแร่ให้ได้สารบริสุทธิ์ก่อน
 

 

ชื่อแร่

แหล่งที่พบ

ประโยชน์

ดีบุก

ส่วนมากพบทางซีกตะวันตกของประเทศติดชายแดนเมียนมาร์ ภาคใต้พบเกือบทุกจังหวัด ภาคเหนือพบในจังหวัดกำแพงเพชร ตาก เชียงใหม่ ลำปาง ภาคตะวันออกพบที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี

นำมาใช้เคลือบโลหะต่าง ๆ ที่ทำเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ใช้ผสมกับตะกั่ว เงิน หรือทองแดงเป็นโลหะบัดกรี ใช้ผสมกับเงินและปรอทสำหรับทำสารอุดฟันทางทันตกรรม สารประกอบดีบุกใช้เป็นส่วนผสมของสีทาบ้าน ยาสีฟัน และการฟอกน้ำตาล

ทองแดง

พบที่จังหวัดเลย หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และกาญจนบุรี

มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ทำเหรียญกษาปณ์และเหรียญตราต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญในโลหะผสมหลายชนิด เช่น ทองเหลือง และบรอนซ์

ทองคำ

แหล่งทองคำที่สำคัญ เช่น แหล่งโต๊ะโม๊ะ จังหวัดนราธิวาส อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แหล่งชาตรี จังหวัดพิจิตร และจังหวัดเลย

นิยมนำมาทำเครื่องประดับที่มีค่า ใช้เป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนเงินตรา ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เครื่องมือวิทยาศาสตร์และทันตกรรม

ตะกั่วและสังกะสี

ส่วนใหญ่พบที่จังหวัดกาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และยะลา

ใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมโลหะบัดกรี โลหะผสมสังกะสี ใช้ในอุตสาหกรรมแผ่นเหล็กชุบสังกะสี ข้อต่อท่อเหล็กชุบสังกะสี

พลวง

แหล่งพลวงที่สำคัญพบในจังหวัดลำพูน ลำปาง ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี

ใช้ในการทำโลหะผสม โดยผสมตะกั่วและดีบุกในการทำตะกั่ว ตัวพิมพ์โลหะบัดกรีบางชนิด ใช้เป็นส่วนประกอบของกระสุนปืน ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ขีดไฟ ยาง ผ้าทนไฟ และอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบ

ทังสเตน(วุลแฟรม)

ส่วนใหญ่พบร่วมกับแร่ดีบุก ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เขาศูนย์ อำเภอฉวาง จังหวันครศรีธรรมราช คลองสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โลหะทังสเตนใช้ทำไส้และขั้วหลอดไฟฟ้า ชิ้นส่วนบริเวณผิวสัมผัสของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำฉากป้องกันความร้อนและรังสีในอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องฉายรังสีเอกซ์และเตาอุณหภูมิสูง

เหล็ก

ส่วนใหญ่พบที่บริเวณเขาทับควาย ในเขตอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เลย และ

กาญจนบุรี

ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็ส่วนผสมของปูนซีเมนต์ คอนกรีตเสริมใยเหล็ก เหล็ก และเหล็กกล้า

แทนทาลัม

ส่วนใหญ่พบร่วมกับแร่ดีบุก ในจังหวัดตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง กาญจนบุรี ราชบุรี และ

อุทัยธานี

ใช้ในการอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และใช้ในการสร้างเครื่องยนต์ไอพ่นและยานจรวด


                              2. แร่อโลหะ เป็นแร่ที่มีอโลหะเป็นองค์ประกอบ ไม่ต้องผ่านการถลุงเพื่อแยกให้บริสุทธิ์ก่อนนำไปใช้ แร่อโลหะบางชนิดมีผลึกสวยงามสามารถเจียระไนและนำไปเป็นเครื่องประดับได้ เรียกแร่ชนิดนี้ว่า รัตนชาติ (gemstone)

 

ชื่อแร่

แหล่งที่พบ

ประโยชน์

ใยหิน

พบในจังหวัดอุตรดิตถ์และนราธิวาส

ใช้เป็นวัตถุทนไฟในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุกันความร้อน

ดินขาว

พบที่จังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ และปราจีนบุรี

ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา อิฐ กระเบื้อง กระดาษ ยาง และสี 

เกลือหิน

แหล่งเกลือหินพบอยู่ทั่วไป แต่ที่มีการผลิตทำเป็นเหมืองแล้ว ได้แก่ แหล่งเกลือหิน บริษัทเกลือไทย จำกัด อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แหล่งเกลือหินบ้านส้ม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบของโซเดียมและคลอรีนเพื่อผลิตกรดเกลือ และสารประกอบโซเดียมที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติกฟอกสี ทำน้ำประปา ยาฆ่าแมลง และอุตสาหกรรมอาหาร

แร่รัตนชาติ
– เพชร
 – ทับทิมแซปไฟร์
    – พลอยตระกูลควอตซ์

 พบร่วมกับดีบุกในลานแร่บริเวณจังหวัดภูเก็ตและพังงาพบมากในเขตอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อำเภอเขาสมิง และอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราดพบมากที่จังหวัดจันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ลำปาง และลำพูน

นำมาใช้ทำเครื่องประดับ
นำมาใช้ทำเครื่องประดับ ในสมัยโบราณมีการนำมาใช้บำบัดโรคและเป็นเครื่องรางของขลัง
นำมาใช้ทำเครื่องประดับ นาฬิกา และผงขัดต่างๆ

ยิปซัม

พบในจังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกระบี่

ใช้ทำปูนปลาสเตอร์ วัตถุดิบในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และใช้ปรับสภาพความเป็นกรด เป็นด่างของดิน


เชื้อเพลิงธรรมชาติ
          เชื้อเพลิงธรรมชาติ (mineral fuels) มีหลายชนิด เช่น ปิโตรเลียม ถ่านหิน และหินน้ำมัน

          ปิโตรเลียม
          ปิโตรเลียม (petroleum) เป็นสารไฮโดรคาร์บอนซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีธาตุคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก และมีธาตุอื่นปนอยู่ด้วย เช่น กำมะถัน ออกซิเจน และไนโตรเจน

                    กระบวนการเกิดปิโตรเลียม
                    ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์บนบกและในทะเลหรือมหาสมุทรเป็นเวลาหลายล้านปี เมื่อชั้นตะกอนทับถมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ น้ำหนักที่เพิ่มและแรงบีบอัดจะทำให้กรวดทรายและชั้นโคลนกลายเป็นหิน และซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ในชั้นตะกอนจะย่อยสลายเป็นสารอินทรีย์ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความร้อนและความกดดันใต้ชั้นธรณีของผิวโลก จะทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารอินทรีย์กลายเป็นปิโตรเลียมในที่สุด โดยสามารถแบ่งปิโตรเลียมตามสถานะได้ 2 ชนิด คือ
                              – น้ำมันดิบ เป็นของเหลว ประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเป็นสารกำมะถัน ไนโตรเจน และสารประกอบออกไซด์อื่น เมื่อนำไปกลั่นจะได้เป็นน้ำมัน
                              – แก๊สธรรมชาติ มีสภาพเป็นแก๊สที่ประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนเป็นหลัก ที่เหลือเป็นแก๊สไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์

                    ภายในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมจะมีแก๊สธรรมชาติอยู่ด้านบนเนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่าน้ำมันดิบที่อยู่ด้านล่าง ของเหลวและแก๊สนี้จะแทรกซึมอยู่ตามรูพรุน โพรง หรือช่องแตกของหิน

                    การใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียม
                    ปิโตรเลียมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม กลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมี ผลิตเม็ดพลาสติก เป็นแก๊ส LPG สำหรับหุงต้ม และแก๊ส CNG สำหรับรถยนต์

                    แหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย
                    แหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญในประเทศไทย เช่น แหล่งฝาง ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งบงกช แหล่งทานตะวัน ในอ่าวไทย แหล่งสิริกิติ์ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร แหล่งวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และแหล่งบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย

          ถ่านหิน
          ถ่านหิน (coal) เป็นแร่เชื้อเพลิงที่ประกอบด้วยธาตุที่สำคัญ ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน เกิดจากการสะสมของซากพืชตามแอ่งตะกอนน้ำตื้น ที่ทับถมกันเป็นเวลานานหลายล้านปี ถ่านหินที่มีจำนวนของคาร์บอนสูงและมีธาตุอื่นต่ำจัดว่าเป็นถ่านหินคุณภาพดี เมื่อนำไปเผาจะให้ความร้อนสูง

                    กระบวนการเกิดถ่านหิน
                              1. ถ่านหินจะเกิดขึ้นบริเวณที่แผ่นดินยุบตัวลงหรือมีระดับต่ำกว่าบริเวณรอบ ๆ และเป็นพื้นที่ชื้นแฉะ ซึ่งเอื้อต่อการเกิดพืชอย่างหนาแน่น พืชเหล่านั้นมีการเกิดขึ้นและตายลงต่อเนื่องกันเป็นช่วง ๆ ทำให้ซากพืชสะสมทับถมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
                              2. เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทำให้มีตะกอนดินมาทับถมซากพืช รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้ซากพืชที่ทับถมกันอยู่ได้รับความร้อนและแรงกดดัน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางกายภาพจนแปรสภาพไปเป็นพีต
                              3. เมื่อผ่านไปเป็นเวลานาน ความร้อนและแรงกดดันภายในโลกทำให้พีตอัดตัวกลายเป็นถ่านหิน ซึ่งคุณลักษณะของถ่านหินขึ้นอยู่กับลักษณะและชนิดของพันธุ์ไม้
                              4. ต่อมาชั้นหินและชั้นดินจะทับถมปกคลุมถ่านหินไว้ ยิ่งถ้าอยู่ในระดับลึกจะได้รับความร้อนและแรงกดดันภายในโลกมาก ทำให้เปลี่ยนแปลงสภาพถ่านให้มีคุณภาพดีขึ้น
 

ชนิดถ่านหิน

ลักษณะ/คุณภาพ

ปริมาณคาร์บอน

พีต (peat)

เป็นวิวัฒนาการลำดับแรกของการเกิดถ่านหิน ประกอบด้วยซากพืชซึ่งบางส่วนสลายตัวไปแล้ว เมื่อแห้งสามารถใช้งานเป็นเชื้อเพลิงได้เช่นเดียวกับถ่านไม้ มีสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูพรุน ติดไฟจะให้ความร้อนน้อย

60%

ลิกไนต์ (lignite)

เปลี่ยนสภาพมาจากพีตอัดตัวเป็นลิกไนต์ มีซากพืชหลงเหลืออยู่เล็กน้อย มีความชื้นมาก มีสีเข้ม เนื้อแข็ง ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและน้ำมัน

55–60%

ซับบิทูมินัส (subbituminous)

ลิกไนต์เปลี่ยนแปลงสภาพเป็นซับบิทูมินัส มีสีดำ เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดี เหมาะสมต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า

77%

บิทูมินัส (bituminous)          

เป็นถ่านหินเนื้อแน่น แข็ง มีลักษณะเป็นชั้น ๆ ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพดี ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อการถลุงเหล็ก

80–90%

แอนทราไซต์ (anthracite)

เป็นถ่านหินคุณภาพดีที่สุด เนื่องจากน้ำและสารต่าง ๆ ระเหยออกหมดเหลือแต่คาร์บอน มีเนื้อแข็ง ดำ วาว เมื่อเผาแล้วให้ความร้อนสูง

มากว่า 86%

 

                    การใช้ประโยชน์จากถ่านหิน
                    ถ่านหินส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า การบ่มใบยาสูบ การผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตอาหาร และยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ทำถ่านสังเคราะห์ ทำคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็งแกร่งแต่มีน้ำหนักเบา ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ

                    แหล่งถ่านหินในประเทศไทย
                    แหล่งถ่านหินที่สำคัญของประเทศไทยมี 2 แห่ง คือ เหมืองลิกไนต์แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และเหมืองลิกไนต์กระบี่ จังหวัดกระบี่

          หินน้ำมัน
          หินน้ำมัน (oil shale) เป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากการทับถมกันเป็นเวลาหลายล้านปีของสารอินทรีย์รวมกับเศษหิน ดิน ทราย สารอินทรีย์จะอุ้มน้ำมันอยู่ในเนื้อหิน เมื่อถูกทำให้ร้อนด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งประมาณ 500 องศาเซลเซียส จะให้น้ำมันและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

                    กระบวนการเกิดหินน้ำมัน
                    หินน้ำมันเกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่เคยอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่มาก่อน เกิดการทับถมสะสมรวมกับเศษหิน ดิน ทรายเป็นเวลานับล้านปี ภายใต้สภาวะที่มีแก๊สออกซิเจนเล็กน้อย อุณหภูมิสูง และมีแรงกดทับจากเปลือกโลก ทำให้ซากพืชซากสัตว์เกิดการแปรสภาพเป็นสารคล้ายยางเหนียว ๆ เรียกว่า คีโรเจน (kerogen) ส่วนเศษหิน ดิน ทรายต่าง ๆ ที่มีสารคีโรเจนปนอยู่ด้วยจะแปรสภาพเป็นหินตะกอนสีเข้ม เรียกว่า หินน้ำมัน หินหินน้ำมัน มี 2 ประเภท ดังนี้
                               1. สารประกอบอนินทรีย์ ประกอบด้วย กลุ่มแร่ซิลิเกตและกลุ่มแร่คาร์บอเนต แร่ธาตุเหล่านี้เกิดจากการผุพังของชั้นหินจากกระบวนการทางกายภาพและทางเคมี
                               2. สารประกอบอินทรีย์ ประกอบด้วยบีทูเมนและคีโรเจน ถ้าหินน้ำมันมีสารอินทรีย์ปนอยู่ในปริมาณสูงจะเป็นหินน้ำมันที่มีคุณภาพดี แต่ถ้ามีสารอนินทรีย์ปนอยู่มาก จะเป็นหินน้ำมันคุณภาพต่ำ

                      การใช้ประโยชน์จากหินน้ำมัน
                               1. ใช้เป็นเชื้อเพลิง ความร้อนที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้
                               2. ใช้สกัดเป็นน้ำมัน โดยนำมาสกัดจะได้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันเบนซิน และยังได้ยางมะตอยและถ่านหินด้วย
                               3. กากที่เหลือใช้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เช่น ผสมกับปูนซีเมนต์ หรืออิฐก่อสร้าง

                       แหล่งที่พบหินน้ำมันในประเทศไทย
                       ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ โดยเฉพาะแหล่งหินน้ำมันแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นแหล่งหินน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


ตอนที่ 4 แหล่งน้ำธรรมชาติ
ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้




 

แหล่งน้ำธรรมชาติ
          น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดไปเนื่องจากน้ำสามารถหมุนเวียนเป็นวัฏจักรได้ เป็นของเหลวที่เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างแก๊สออกซิเจนและไฮโดรเจน มีน้ำครอบคลุมผิวโลกถึงร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มถึงประมาณร้อยละ 97.15 มีน้ำจืดเพียงประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น ในร้อยละ 3 นี้แบ่งออกเป็นน้ำแข็งที่อยู่ตามขั้วโลกและบนยอดเขาร้อยละ 1.75 น้ำจืดในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และน้ำบาดาลร้อยละ 0.73 และน้ำจืดที่เป็นไอน้ำในอากาศร้อยละ 0.01 

แหล่งน้ำธรรมชาติ
          แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ น้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน

          น้ำบนดิน
          แหล่งน้ำบนดินหรือน้ำผิวดิน มีทั้งแหล่งน้ำจืดและแหล่งน้ำเค็ม เช่น แม่น้ำต่าง ๆ ลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาบ มหาสมุทร แหล่งน้ำต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากฝนที่ตกลงสู่ยอดเขา และหิมะหรือน้ำแข็งบนยอดเขาละลาย แล้วไหลลงจากยอดเขาลงสู่ที่ต่ำ ทำให้ดินและหินในบริเวณที่น้ำไหลผ่านถูกกัดเซาะกลายเป็นร่องน้ำหรือทางน้ำ ร่องน้ำที่ถูกกัดเซาะซ้ำ ๆ เป็นเวลานานจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นและไปรวมกับร่องน้ำอื่นทำให้เกิดเป็นลำธารและแม่น้ำในที่สุด แม่น้ำหลาย ๆ สายก็จะมารวมกันแล้วไหลลงสู่ทะเล
          ประเทศไทยถือว่ามีแหล่งน้ำบนดินอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ
 

ภาค

ชื่อแม่น้ำ

ชื่อหนอง บึง ทะเลสาบ

เหนือ

แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำสาย แม่น้ำปาย แม่น้ำเปย แม่น้ำยวม

     กว๊านพะเยา

ใต้

แม่น้ำตาปี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำกระบุรี แม่น้ำพังงา แม่น้ำตรัง

     ทะเลสาบสงขลา ทะเลน้อย ทะเลหลวง

ตะวันออก

แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำประแสร์ แม่น้ำเวฬุ แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด

 

ตะวันตก

แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำเพชรบุรี

 

ตะวันออก เฉียงเหนือ

แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำโขง แม่น้ำเลย แม่น้ำสงคราม

     หนองหาน หนองญาติ

กลาง

แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสะแกกรัง

     บึงบอระเพ็ด

 

          แหล่งน้ำผิวดินสามารถจำแนกตาระดับความเค็มเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
                    1. แหล่งน้ำจืด เป็นแหล่งน้ำที่มีความเค็มไม่เกิน 0.5 ppt (น้ำที่มีเกลือละลายอยู่ไม่เกิน 0.5 ส่วนในพันส่วน ppt: part per thousand) แหล่งน้ำจืดยังแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
                              1. แหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำ ลำธาร น้ำจะไหลจากที่หนึ่งไปยังที่อื่น ๆ เสมอ โดยไหลไปรวมกันเป็นลำธารที่ใหญ่ขึ้น เรียกว่า แควน้ำ
                              2. แหล่งน้ำนิ่ง เช่น บึง หนอง ทะเลสาบน้ำจืด ซึ่งบางแหล่งเป็นแห่งน้ำปิด บางแห่งจะมีทางออกติดต่อกับแม่น้ำ ลำธาร แหล่งน้ำนิ่งจะไม่มีการขึ้นลงของน้ำ แต่จะเคลื่อนที่โดยอาศัยกระแสลม เป็นแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำจากน้ำฝน หรือน้ำที่ท่วมท้นมาจากแม่น้ำในช่วงฤดูฝน หรือการไหลเข้ามาของน้ำจากลำธาร
                    2. แหล่งน้ำกร่อย เป็นแหล่งน้ำที่อยู่ระหว่างแหล่งน้ำจืดกับแหล่งน้ำเค็มหรือทะเล ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำทะเลขึ้นถึง มีความเค็มประมาณ 0.5–25 ppt เป็นแหล่งรวมของพืชพรรณและสัตว์น้ำนานาชนิด
                    3. แหล่งน้ำเค็ม ได้แก่ ทะเลและมหาสมุทร ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญเป็นจำนวนมาก เช่น ชายทะเล ป่าชายเลน ทรัพยากรประมง แนวปะการัง แร่ธาตุในน้ำทะเลและใต้ทะเล

            องค์ประกอบของน้ำทะเลจะมีสารประกอบเกลือในน้ำทะเลหลายชนิด อีกส่วนหนึ่งมาจากเกลือแร่ที่ไหลผ่านขึ้นมาตามรอยแตกของพื้นโลก ทับถมกันอยู่ใต้ทะเล น้ำทะเลจึงมีความเค็มค่อนข้างคงที่ พื้นผิวโลกที่อยู่ใต้ท้องทะเลและมหาสมุทรจะมีลักษณะภูมิประเทศและความลึกที่แตกต่างกันซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้



 

                    1. ไหล่ทวีป เป็นส่วนที่อยู่ติดกับแผ่นดินและเป็นเขตน้ำตื้น ซึ่งอาจแผ่ออกไปได้ไกลถึง 1,500 กิโลเมตร และลึกประมาณ 20–550 เมตร เป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้ในการทำประมงและเลี้ยงสัตว์
                    2. ลาดทวีป ต่อจากไหล่ทวีปลึกลงไปสู่ก้นมหาสมุทร มีลักษณะความลาดชัน บริเวณนี้มีความลึกประมาณ 180–360 เมตร
                    3. เนินทวีป เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างลาดทวีปและแอ่งมหาสมุทร มีความลาดเอียงไม่มากนัก มีความลึก 1,400–5,100 เมตร
                    4. แอ่งมหาสมุทร เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากเนินทวีป ประกอบด้วยที่ราบทะเลลึก สันเขา มหาสมุทร เหวทะเลลึก และภูเขาไฟใต้สมุทร

          ชายฝั่งทะเลซึ่งเกิดจากกระบวนการสะสมของตะกอน ส่วนบริเวณที่มีน้ำทะเลขึ้นลงจะทำให้ความเร็วของน้ำที่ไหลเข้าออกจากปากแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเกิดตะกอนสะสมตัวเป็นที่ราบน้ำขึ้นถึงชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญและป้องกันชายฝั่งจากลมพายุและคลื่นจากทะเล
 

          น้ำใต้ดิน
                    1. น้ำในดินหรือน้ำใต้ดินชั้นบน เกิดจากดินที่พื้นผิวดูดซับน้ำฝนที่ตกลงมาจนกระทั่งอิ่มตัว ปริมาณที่เหลือจะซึมลงไปในชั้นดินที่ตื้น ๆ ไม่ลึกมากนัก เรียกน้ำที่ซึมอยู่ในดินนี้ว่า น้ำในดิน และเรียกระดับน้ำที่อยู่บนสุดของชั้นนี้ว่า ระดับน้ำในดิน น้ำในชั้นนี้มีออกซิเจนละลายอยู่มากพอสมควรและละลายเอาแร่ธาตุต่าง ๆ ไว้ด้วย จึงเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่มีสารแขวนลอยปนอยู่มาก จึงมีความขุ่นมาก ไม่ค่อยสะอาด จึงไม่นิยมนำมาบริโภค  
                    2. น้ำบาดาล เป็นน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกลงไป โดยซึมผ่านลงมาจากผิวดินแล้วซึมผ่านชั้นดินลงไปขังตัวอยู่ระหว่างช่องว่างหรือโพรงของชั้นหินเกิดเป็นชั้นน้ำบาดาล (ground water) และเรียกระดับน้ำที่อยู่บนสุดของชั้นนี้ว่า ระดับน้ำบาดาล
                    น้ำบาดาลมีการไหลผ่านชั้นดินทราย ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ จึงเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี ซึ่งสามารถสูบเอาไปใช้ประโยชน์ได้

          วัฏจักรของน้ำ
          น้ำเป็นทรัพยากรที่มีการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนเป็นวัฏจักร โดยเริ่มจากน้ำจากเมื่อแหล่งน้ำจืด ทะเล มหาสมุทร การหายใจของพืชและสัตว์ ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะระเหยกลายเป็นไอขึ้นไปในบรรยากาศ แล้วเมื่อไปกระทบกับอากาศเย็นจะกลั่นตัวเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ แล้วรวมกันเป็นเมฆ จากนั้นจะเกิดการควบแน่นแล้วตกลงมาเป็นฝนกลับสู่พื้นดิน พื้นน้ำ และสิ่งมีชีวิต วนเวียนเป็นวัฏจักร เรียกว่า วัฏจักรของน้ำ
 

การใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์แหล่งน้ำในท้องถิ่น
          ความสำคัญและประโยชน์ของแหล่งน้ำ
                    1. ใช้ในการอุปโภคและบริโภค โดยนำมาใช้สำหรับการดื่มกิน ใช้ชำระล้างสิ่งสกปรก ประกอบอาหาร
                    2. ใช้เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ โดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ พืชน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์
                    3. ใช้เพื่อการเกษตร โดยใช้ในการปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ
                    4. ใช้เพื่อการอุตสาหกรรม โดยนำมาใช้ล้างวัตถุดิบ ล้างเครื่องจักร ระบายความร้อนในโรงงาน
                    5. ใช้เพื่อการคมนาคมขนส่ง โดยเป็นเส้นทางการเดินเรือ และขนส่งสินค้า
                    6. ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการสร้างเขื่อนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า
                    7. ใช้เป็นแหล่งเพื่อการนันทนาการและพักผ่อน เช่น ชายทะเล แม่น้ำ น้ำตก ที่มีทัศนียภาพอันสวยงาม

          การกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อแหล่งน้ำ
                    1. การกลายสภาพเป็นเมือง การระบายน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชนลงสู่แหล่งน้ำ จึงเกิดมลพิษในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น
                    2. การทำลายป่า การตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำ จะทำให้เกิดปัญหาลำน้ำตื้นเขิน ขาดแคลนน้ำ และน้ำท่วมได้ง่าย
                    3. การชลประทาน เช่น การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการกักกรวด หิน ดิน และทรายเอาไว้ทางตอนบนของลำน้ำ และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ป่าไม้        
                    4. การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล การนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณมาก ทำให้ปริมาณการไหลซึมของน้ำตามธรรมชาติไหลมาทดแทนไม่ทัน และระดับน้ำใต้ดินลดลง อาจเกิดการทรุดตัวของแผ่นดินได้
                    5. การผลิตทางการเกษตร การใช้ยาฆ่าแมลง การใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกิดการสะสมสารพิษในแหล่งน้ำ
                    6. การระบายสิ่งโสโครกลงสู่แหล่งน้ำ ขยะมูลฝอย น้ำทิ้งจากแหล่งชุมชนทำให้เกิดการขาดออกซิเจนของน้ำในแหล่งน้ำ เนื่องจากแบคทีเรียในลำน้ำมีการใช้ออกซิเจนสูงขึ้น น้ำในแหล่งน้ำจึงเกิดการเน่าเสีย

          การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ
                     1. การปลูกป่า
                     2. การพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีสภาพตื้นเขินควรมีการขุดลอกแหล่งน้ำให้กว้างและลึกใกล้เคียงกับสภาพเดิม
                     3. การป้องกันการเกิดมลพิษทางน้ำ โดยไม่ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำ ควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ
                    4. การให้ความรู้แก่ประชาชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของแหล่งน้ำ และผลกระทบของน้ำเสียที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
                    5. การใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่นไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ขณะแปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ และเปิดเมื่อต้องการใช้ควรหมั่นตรวจดูรอยรั่วของท่อประปา ก๊อกน้ำ เป็นต้น


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th