บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ดิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 62.4K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้


ธรรมชาติของดิน
          กระบวนการเกิดดิน
                    เกิดจากการผุพังและสลายตัวของหินและแร่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากน้ำ ลม และแสงแดด เมื่อวัตถุต้นกำเนิดดินและฮิวมัสผสมคลุกเคล้ากันโดยมีจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตในดินช่วยย่อยสลายก็จะกลายเป็นดิน
                    เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ ชั้นของดินจะหนาและมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อมอสส์และพืชที่อยู่บริเวณนี้ตายลงก็จะถูกย่อยสลายรวมกับดิน แมลง หนอน แบคทีเรีย และเห็ดราจะเริ่มเข้ามาอาศัยในรากของพืชและดิน หญ้าและต้นไม้ขนาดเล็กก็จะเริ่มเจริญเติบโตในบริเวณนี้ เมื่อพืชและสัตว์ตายลงจุลินทรีย์ก็จะย่อยสลายให้กลายเป็นฮิวมัส หนอนและแมลงที่อยู่ใต้ดินจะขุดโพรงหรือรูซึ่งเป็นการช่วยผสมฮิวมัสและเศษหินที่แตกสลายเข้าด้วยกัน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้พืชบริเวณนี้เจริญเติบโตได้



 

                    ดินแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ
                              ๑. ดินชั้นบน มีสีเข้มและมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะต่อการปลูกพืช
                              ๒. ชั้นใต้ผิวดิน มีสีจางและมีความอุดมสมบูรณ์น้อย
                              ๓. ชั้นหินที่ยังไม่แตก
 

          องค์ประกอบของดิน
                    ประกอบด้วยซากพืชซากสัตว์ แร่ธาตุต่าง ๆ น้ำ และอากาศ

          ชนิดของดิน
                    ๑. ดินเหนียว มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี แต่อุ้มน้ำได้ดี จับยึดและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้สูง เหมาะกับการทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน
                    ๒. ดินร่วน มีฮิวมัสอยู่มากจึงเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำและอากาศได้ดีปานกลาง พืชส่วนใหญ่จึงเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน
                    ๓. ดินทราย มีการระบายน้ำและอากาศได้ดี ความอุ้มน้ำและความอุดมสมบูรณ์ต่ำ จับยึดธาตุอาหารพืชได้น้อย ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก

                    ดินแต่ละชนิดมีสมบัติต่างกัน ทำให้ลักษณะของเนื้อดิน สีดิน และปริมาณแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในดินแตกต่างกัน โดยดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยทั่วไปควรมีลักษณะดังนี้
                              ๑. เนื้อดิน ควรเป็นดินร่วน
                              ๒. โครงสร้างของดิน ต้องโปร่งและร่วนซุย
                              ๓. ความเป็นกรดเป็นด่าง ต้องมีความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสม
                              ๔. ความสามารถในการอุ้มน้ำ ต้องเป็นดินที่อุ้มน้ำและระบายอากาศได้ดี
                              ๕. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ต้องเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง   
           
                    การปลูกพืชต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่ปลูกด้วย เพราะพืชแต่ละชนิดจะปลูกในดินต่างชนิดกัน





 
ประโยชน์ของดิน
          การใช้ประโยชน์จากดิน
                    ๑. การเกษตรกรรม
                    ๒. การเลี้ยงสัตว์
                    ๓. พื้นที่ป่าไม้
                    ๔. แหล่งที่อยู่อาศัย
                    ๕. อุปกรณ์เครื่องใช้และการก่อสร้าง
 



การปรับปรุงดินและการบำรุงรักษาดิน
                    ปัญหาของดินอาจเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า การใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณมากเกินไป การขุดหน้าดินไปขาย รวมทั้งกระบวนการกัดเซาะและการพังทลายของดินที่เกิดจากกระแสลมและกระแสน้ำก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง
                    นอกจากการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักซึ่งเป็นอาหารของพืชให้กับดินแล้ว เรายังสามารถบำรุงดินในท้องถิ่นได้อีกหลายวิธีดังแสดงในตาราง
 

วิธีบำรุงรักษาดินในท้องถิ่น

ผลที่เกิดขึ้นกับดิน

๑. การปลูกพืชแบบขั้นบันได

ชะลอการไหลของน้ำ ลดการกร่อนของดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้

๒. การปลูกพืชคลุมดิน

ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินไว้ไม่ให้ถูกน้ำและลมชะล้างและพัดพา

๓. การปลูกหญ้าแฝก

ป้องกันไม่ให้ถูกน้ำชะล้างและพังทลาย รักษาความชุ่มชื้นให้ดิน

๔. การใส่ปุ๋ยอินทรีย์และการไถพรวน

เพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย น้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก

๕. การทำทางระบายน้ำ

ช่วยระบายน้ำสู่แหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการเกิดภาวะน้ำขังจนดินอุ้มน้ำไม่ไหวและเกิดการพังทลายของดิน

๖. การปลูกพืชหมุนเวียนกับพืชตระกูลถั่ว

เพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th